อเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์กรีกเลือดร้อน-บุคลิกซับซ้อน แต่นำทัพข้ามโลกพิชิตทั่วแดน

ภาพโมเสก พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช
ภาพโมเสกของอเล็กซานเดอร์มหาราช ที่ House of the Faun เมือง Pompeii

อเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์ผู้มีพระเนตรประหลาด ข้างหนึ่งเป็นสีน้ำเงินงามสดใสดุจสีของท้องฟ้า ส่วนพระเนตรอีกข้างหนึ่งดำสนิทดุจราตรี พระเนตรทั้ง 2 ข้างส่งประกายแวววาวอยู่เป็นนิตย์

พระองค์เป็นกษัตริย์นักรบชาวกรีกโบราณ (356-323 ก่อนคริสตกาล) เป็นกษัตริย์นักรบที่ทรงอานุภาพมาก ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดพระองค์หนึ่งว่าเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ ทรงยกทัพยึดครองประเทศในย่านเอเชียน้อย (ตุรกี) และเอเชียกลาง รวมทั้งอียิปต์ มาจนถึงตะวันตกเฉียงเหนือของชมพูทวีป (อินเดีย)

ก่อนจะถอนทัพกลับแคว้นมาซิโดเนีย ซึ่งอยู่ตอนเหนือของประเทศกรีซ ได้ทรงวางกองกำลังไว้จำนวนหนึ่ง ณ เมืองบูเซฟาลา และคันธารา อันน่าจะเป็นที่มาของพระพุทธรูปปางคันธารราฐ (พระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์ เด่นมากที่รอยยับซับซ้อนอันประณีตของรอยผ้าจีวรที่ทรงหุ้มพระวรกาย) อันมีพื้นฐานมาจากงานปั้นเทพเจ้าของชาวกรีก เป็นที่รู้กันว่าอเล็กซานเดอร์ยึดครองที่ใดได้ก็จะถ่ายทอดความคิดกรีกด้านต่าง ๆ ไว้ ณ ที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประติมากรรม สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตแบบกรีกไว้ด้วย

กำเนิด “อเล็กซานเดอร์มหาราช”

อเล็กซานเดอร์มหาราช คือ Alexander the Great III แห่งมาซิดอน กษัตริย์แห่งมาซิโดเนีย แคว้นใหญ่แคว้นหนึ่งตอนเหนือของประเทศกรีกโบราณ ฐานะของแคว้นมาซิโดเนียขณะนั้นเทียบได้กับเอเธนส์ เทสซาลี เธเวส ไมซินี และสปาร์ตา กล่าวกันว่ามาซิโดเนียเป็นบ้านป่า เอเธนส์เป็นเมืองนักปราชญ์ เธเวสเป็นเมืองโบราณ ไมซินีเป็นเมืองพ่อค้า และเมืองสปาร์ตาเป็นเมืองนักรบ

อเล็กซานเดอร์มหาราช ยืน หน้า สุสาน ของ พระเจ้าไซรัสมหาราช
อเล็กซานเดอร์มหาราชที่หน้าสุสานของพระเจ้าไซรัสมหาราช (Cyrus II of Persia)

ประสูติเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ปี 356 (ก่อนคริสตกาล) ณ เมืองเปลลา (Pella) มาซิโดเนีย มีพระวรกายสง่าผ่าเผย มีเส้นพระเกศาสีน้ำตาล ปรกพระนลาตดุจสิงโต ทรงเป็นจอมทัพที่เข้มแข็งและอัจฉริยะ มักทรงนำทัพบนหลังม้าชื่อบูเซฟาลัส (Buccephalus) เป็นประจำ (คำว่า บูเซฟาลัส ภาษากรีกโบราณแปลว่า หัววัวตัวผู้ – Ox’s head)

พระบิดาคือ ฟิลิปที่ 2 แห่งมาซิดอน และพระมารดาโอลิมปีอัส (Olympeus) เจ้าหญิงแห่งเอปิรัส (Epirus) พระธิดาของกษัตริย์เนโอปโทเลมัส (Neoptolemus)

พระมารดาโอลิมปีอัส ทรงศรัทธาเทพดิโอนิซูส และจอมดนตรีออร์ฟิอัส เป็นพิเศษ อันโน้มนำทำให้อเล็กซานเดอร์ทรงใฝ่พระทัยไปในทางเดียวกัน (เทพดิโอนิซูส คือเทพแห่งไวน์ โรมันเรียกว่าเทพแบคคัส ส่วนออร์ฟิอัสนั้น นัยว่าเป็นบุตรของเทพอพอลโล และเป็นที่โปรดปรานของบรรดาเทพทั้งหลายในอัจฉริยะแห่งดนตรีของเขา แม้แต่พระยายมยังยอมคืนชีวิตให้ภรรยาของออร์ฟิอัสที่ตายไปเพราะถูกงูกัด)

อเล็กซานเดอร์เป็นศิษย์เอกของอริสโตเติล ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาปรัชญา ศิลปวัฒนธรรม และวิชาแห่งความเข้าใจชีวิตและพฤติกรรมมนุษย์ (จิตวิทยา) เมื่อรบชนะครอบครองเมืองใด อเล็กซานเดอร์จะดูแลผู้แพ้และราษฎรแห่งเมืองนั้นอย่างเห็นอกเห็นใจ จึงไม่เพียงแต่ชนะศึกสงครามเท่านั้น ยังชนะใจผู้คน ณ เมืองนั้น ๆ ด้วย ทรงเป็นที่รักและยำเกรงแก่เหล่าทหารหาญ ทรงโปรดประทับในค่ายหรือกระโจมแบบชีวิตชาวสปาร์ตา (Spartan life) โดยโน้มเอียงไปทางมีชีวิตง่าย ๆ นอนกลางดินกินกลางทรายเช่นนั้น

กษัตริย์ผู้มีบุคลิกภาพซับซ้อน?

บุคลิกภาพของอเล็กซานเดอร์ ทรงห้าวหาญ เด็ดขาด แต่ค่อนข้างโมโหร้าย มีพระทัยร้อนและชวนทะเลาะ เช่นคราวหนึ่งเมื่อยาตราทัพเข้าเอเชียไมเนอร์ ขณะผ่านเมืองกอร์ดิอุม ก็ได้พบปมเชือกปริศนาตั้งไว้ให้ใคร ๆ ได้ปลดแก้ หากแก้ได้ก็จะเป็นผู้ได้รับชัยชนะและมีความรุ่งเรืองในชีวิต อเล็กซานเดอร์ได้ทรงพยายามแก้ปมเชือกปริศนา (Gordian knot) นั้น แต่ไม่อาจปลดแก้ได้ กริ้วมาก ถึงกับชักพระแสงดาบฟันปมเชือกขาดสะบั้น!

อย่างไรก็ตาม ทรงมีบุคลิกภาพที่ซับซ้อน (Multiplicity of Souls) คือมีทั้งร้อนและเย็น หยาบกระด้างและนุ่มนวลอย่างยิ่ง อันมีเสน่ห์ดึงดูดผู้ใหญ่ให้เมตตา แม้กับพระมารดาแท้ ๆ ของศัตรูยังให้ความรักอเล็กซานเดอร์ดุจพระโอรส เรื่องมีอยู่ว่า ทรงสู้รบกับพระราชาดาริอุสแห่งเปอร์เซีย ซึ่งมีกองกำลังเหนือกว่าหลายเท่า แต่อเล็กซานเดอร์ก็ทรงเอาชนะจนได้ โดยยึดค่ายของดาริอุสไว้ทั้งหมด

ค่ายดังกล่าวนั้นมั่งคั่ง อลังการ และแสนสมบูรณ์ คือมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายนานัปการ เช่นมีอ่างอาบน้ำทองคำ เป็นต้น รวมทั้งพระมารดานามว่าซิสซิแกมบิส และพระมเหสีสเตทีรา (Stateira) พร้อมกับเจ้าหญิงพระธิดาอีกหลายองค์ และนางในฮาเร็มจำนวนหนึ่งด้วย

พระมารดาองค์นี้นี่แหละที่ทรงโปรดอเล็กซานเดอร์ประดุจโอรส เมื่อสงครามการต่อสู้ยุติลง พระมารดาได้อิสรภาพ แต่ไม่ทรงโปรดเสด็จกลับบ้านเกิด

อเล็กซานเดอร์ทรงมีน้ำใจกว้างขวาง ไม่เพียงแต่จะเอาชนะศึกเท่านั้น แม้กับพระสหายหรือคนกันเองก็เอาชนะใจได้ด้วย พระองค์มีสหายสนิทมากมายหลายคน คนหนึ่งในจำนวนนั้นชื่ออพิลลีส (Apilles) ผู้เป็นอาร์ติสต์ และอาสาวาดภาพนู้ดจากสนมรูปงามนางหนึ่งนามว่าแพนคาสปี (Pancaspe) และเขาก็เกิดพึงใจนางเข้าจนได้ เมื่อทรงทราบเช่นนั้นก็ทรงยกนางให้เป็นสมบัติของพระสหายในทันที พระองค์ได้ไว้แต่ภาพนู้ดเท่านั้น

คราวหนึ่งเมื่อทรงรบได้ชัยชนะแล้ว จับเชลยไว้ได้จำนวนมาก เชลยผู้หนึ่งเป็นสตรีสูงศักดิ์และอาวุโส ได้ตรงเข้าถวายคารวะอเล็กซานเดอร์ซึ่งทรงยืนอยู่กับพระสหายนายพลคนหนึ่ง สตรีสูงศักดิ์ผู้นั้นสำคัญผิดคิดว่าท่านนายพลคืออเล็กซานเดอร์ ขณะที่เธอถวายคารวะนั้นก็รู้ตัวว่าสำคัญผิดไปแล้ว จึงตกใจอย่างยิ่ง อเล็กซานเดอร์ทรงสังเกตดูก็รู้ในอาการตกใจนั้นดี จึงทรงกล่าวปลอบใจว่า

“ไม่เป็นไรหรอกแม่นาง โปรดอย่าได้กังวลใจเลย เขาก็เป็นอเล็กซานเดอร์ด้วยเช่นกัน”

ครั้งเมื่อยึดค่ายดาริอุสได้นั้น ดาริอุสปรารถนาจะได้สมบัติทั้งหมดคืน จึงเสนอค่าไถ่เป็นทองคำหนักถึง 10,000 ทาเลนท์ (ทอง 1 ทาเลนท์ เท่ากับ 27 กิโลกรัม) แก่อเล็กซานเดอร์

ทูตผู้ทำหน้าที่ต่อรอง มิได้กราบทูลโดยตรงกับพระองค์ แต่ได้เจรจาผ่านท่านนายพลคนสนิทนามว่าพาร์เมนิโอ (Parmenio) ท่านนายพลพิจารณาแล้ว เห็นว่าสมน้ำสมเนื้อพอจะรับได้ จึงกราบทูลว่า “ถ้าข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็จะตกลง” อเล็กซานเดอร์ตรัสตอบยิ้มๆ ว่า “ตกลงได้เลย ถ้าฉันเป็นพาร์เมนิโอ”

อันว่าภาพลักษณ์และบุคลิกภาพของอเล็กซานเดอร์นั้นค่อนข้างหลากหลาย น่าจะเป็นเพราะได้แรงบันดาลใจจากเทพและบุคคลสำคัญอื่น ๆ เช่น ทรงศรัทธาเทพแห่งไวน์ดิโอนิซูส จากเฮอร์คิวลิสจอมพลังซึ่งถือกันว่ากึ่งเทพ จากวีรบุรุษนักรบอคิลลิส และจากพระราชาไซรัสมหาจักรพรรดิแห่งเปอร์เซียในอดีต

นอกจากนั้นทรงโปรดโฮเมอร์ ผู้แต่งสงครามกรุงทรอย โดยทรงจำเรื่องราวได้ขึ้นใจตั้งแต่ต้นจนจบ

ตำนานการสู้รบของอเล็กซานเดอร์ย่อมมีความเป็นพิเศษและสลับซับซ้อนอย่างยิ่ง คือหลังจากจัดการนครรัฐต่าง ๆ ในกรีซเรียบร้อยแล้วก็ทรงเข้ายึดเอเชียไมเนอร์ไปจนถึงอียิปต์ ครอบครองเอเชีย ไปจนถึงอินเดียด้านตะวันตกเฉียงเหนือ และที่นี่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำไฮดาสพีส ทรงสูญเสียม้าคู่พระทัยบูเซฟาลัสไปอย่างสุดแสนเสียดาย ณ ริมฝั่งน้ำนั้น ทรงสร้างเมืองขึ้นเมืองหนึ่งชื่อเมืองบูเซฟาลา เพื่อเป็นที่ระลึกถึงม้าแสนรักของพระองค์

อเล็กซานเดอร์ สู้รบ กับ ทหารอินเดีย
อเล็กซานเดอร์สู้รบกับทหารอินเดียในสมรภูมิที่ไฮดาสพีส

ในอินเดีย เหล่าทหารที่สู้รบมานาน 4-5 ปี โดยมิได้หยุดเลยนั้น เกิดอารมณ์เบื่อหน่ายการสงครามและขอกลับบ้าน ซึ่งพระองค์ทรงยินยอม แต่ก็มีทหารจำนวนหนึ่งไม่ยอมกลับ ทหารเหล่านั้นมีครอบครัวอยู่ ณ เมืองด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ผู้สืบทอดศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตแบบชาวกรีกไว้ ณ ที่นั้นด้วย

เมื่อพระองค์ทรงถอยทัพกลับมาประทับ ณ เมืองบาบิโลน ก็สวรรคตอย่างมีเงื่อนงำ [วันที่ 10 หรือ 11 มิถุนายน ปี 324 (ก่อนคริสตกาล)] ด้วยพระชนมายุเพียง 33 พรรษา การสิ้นพระชนม์ของพระองค์มีการตั้งข้อสังเกตหลายอย่าง บ้างว่าถูกลอบวางยาพิษด้วยพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีรากเป็นพิษ และบ้างก็ว่าเพราะตรากตรำศึกหนักมายาวนาน ประกอบกับทรงดื่มจัด พระวรกายจึงอ่อนแอลง และสิ้นพระชนม์ลงด้วยโรคภัยอะไรก็ได้เมื่อพระวรกายทรุดโทรม

พระศพของอเล็กซานเดอร์มหาราช

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “อเล็กซานเดอร์มหาราช” เขียนโดย ส.สีมา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กันยายน 2562