พระเจ้าเปารวะ ในหนังแสดงโดยบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ กษัตริย์ที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงชม

บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ รับบทพระเจ้าโปรุส (เปารวะ) ในภาพยนตร์ อเล็กซานเดอร์ (2004) ภาพจาก Alexander (2004) / Warner Bros. Pictures

ความยิ่งใหญ่ของอินเดียเป็นที่รับรู้ของคนทั่วโลก เรื่องราวในประวัติศาสตร์ทั้งหลายกลายมาเป็นอิทธิพลสำคัญของผู้คนจวบจนปัจจุบัน รายนามเหตุการณ์ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์อินเดียซึ่งเกี่ยวข้องกับมหาอำนาจในอดีตกาล มีช่วงที่ตะวันตกสนใจคือห้วงที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช นำทัพเข้าถึงอินเดีย ในกาลนั้นมีพระนามของกษัตริย์ที่ต่อกรกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ นั่นคือพระเจ้าโปรุส (เปารวะ)

ภาพยนตร์อเล็กซานเดอร์ (Alexander) เมื่อปี 2004 ฉายภาพเส้นทางของกษัตริย์แห่งมาซีโดเนีย หลากหลายด้าน แน่นอนว่า มุมที่พลาดไม่ได้คือการยกทัพปราบปรามดินแดนต่างๆ พระองค์เผชิญหน้ากับกองทัพของอินเดีย ซึ่งพระนามของผู้นำฝั่งอินเดียที่รบกับพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ตามที่แวดวงประวัติศาสตร์รับรู้กันมีนามของพระเจ้าโปรุส (ในสันสกฤตเรียกว่า เปารวะ) ในภาพยนตร์ฮอลลีวูด ตัวละครนี้รับบทโดยบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ นักแสดงชาวไทยที่ผันตัวมาทำงานสาธารณกุศลในหลายปีหลัง

นักประวัติศาสตร์บอกเล่าเหตุการณ์เมื่อช่วง 330 ปีก่อนคริสต์ศักราช ว่า ช่วงเวลานั้น พระเจ้าอเล็กซานเดอร์แห่งมาซีโดเนีย เป็นกษัตริย์ในช่วงที่เกิดจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่และมีอำนาจ พระองค์ได้รับชัยชนะในการรบกับพระเจ้าดาริอุสที่ 3 กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์อาคิเมนิด จากนั้นก็เริ่มปราบปรามดินแดนที่เคยอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิเปอร์เซียมาก่อน เปอร์เซียในช่วงเวลานั้นไม่อยู่ในสภาพปกครองดินแดนที่ห่างไกลอย่างมีประสิทธิภาพมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว

เอแอล บาชาม นักวิชาการที่ศึกษาประวัติศาสตร์อินเดียอธิบายว่า ก่อนหน้านี้มีกองทหารเล็กๆ จากตะวันตกของแม่น้ำสินธุ พร้อมช้าง 15 เชือก เคยต่อสู้กับพระเจ้าดาริอุสก่อนหน้านั้นกว่า 100 ปี ชาวกรีกเองก็รบกับชาวอินเดียมาก่อน ปรากฏหลักฐานในบันทึกของเฮโรโดตัสว่า ทหารอินเดียเหล่าหนึ่งรบในกองทัพเปอร์เซียในยุทธการที่พลาเต้

ภายหลังพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทำสงครามในแคว้นบักเตรีย (ติดกับพรมแดนทาจิกิสถานและอัฟกานิสถานในปัจจุบัน) เขตลุ่มแม่น้ำออกซุส พระองค์ข้ามเขาฮินดูกูซ และยึดครองแถบเมืองกาบุล แม้จะเผชิญการต่อต้านอย่างดุเดือดจากชาวเขา แต่แน่นอนว่าย่อมไม่เป็นผล พระองค์นำทัพข้ามหุบเขาไปถึงแม่น้ำสินธุ และข้ามแม่น้ำในฤดูใบไม้ผลิ 326 ปีก่อนคริสต์ศักราช

พระเจ้าโอมผิส (สันสกฤตเขียนว่า อัมภิ) (Omphis) ผู้ปกครองแห่งตักษศิลา ยอมจำนนโดยไม่มีการต่อต้าน แต่ถัดไปจากแม่น้ำเฌลัม เป็นดินแดนภายใต้การปกครองของกษัตริย์นักรบ พระนามว่า พระเจ้าโปรุส (เปารวะ) แม้แต่พระเจ้าโอมผิสก็ทรงเกรงกลัว และถึงกับยอมจำนนต่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์

บาชาม บรรยายว่า พระเจ้าโปรุส ซึ่งในภาพยนตร์ฮอลลีวูดรับบทโดยบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เป็นบุรุษสูงใหญ่ สง่างาม กล้าหาญ และหยิ่งทะนง เป็นที่ประทับใจของพวกกรีก แต่ท้ายที่สุดพวกกรีกก็ปราบกองทัพของพระเจ้าโปรุส พร้อมกับจับกุมกษัตริย์แห่งปัญจาบพระองค์นี้ไว้ได้ โดยพวกกรีกก็ต้องข้ามแม่น้ำเฌลัมไปอย่างยากลำบาก

อ่านเพิ่มเติมกำเนิดป่อเต็กตึ๊ง คณะเก็บศพฯที่ร.6พระราชทานทุน สู่แรงบันดาลใจภารกิจสาธารณกุศลของ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์

บางระจันกับนายทองเหม็น ประวัติศาสตร์ในวรรณกรรม บทที่ส่งบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ชูรางวัล

นักวิชาการที่ศึกษาอินเดียบรรยายว่า เมื่อพวกกรีกนำตัวพระเจ้าโปรุสออกมาแสดงหน้าผู้พิชิต พระองค์มีบาดแผล 9 แห่ง เกือบไม่สามารถพยุงตัวได้ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ตรัสถามว่าจะให้ปฏิบัติอย่างไร พระเจ้าโปรุสตรัสอย่างกล้าหาญว่า “ให้เหมาะกับข้า-เหมือนกับกษัตริย์” ร่ำลือกันว่าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ทรงประทับใจกษัตริย์พระองค์นี้แม้ว่าจะอยู่ในฐานะเชลยศึกก็ตาม พระองค์คืนอาณาจักรให้ปกครองในฐานะประเทศราช เมื่อกรีกถอนทัพกลับ พระองค์ให้พระเจ้าโปรุสปกครองดูแลปัญจาบ

เมื่อปราบพระเจ้าโปรุสได้แล้ว พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงปราบปรามเผ่าต่างๆ และอาณาจักรเล็กๆ อีกหลายแห่ง แต่เมื่อมาถึงเบอาส พระองค์ต้องถอยกลับ เพราะแม่ทัพของพระองค์เตือนว่าอาจเกิดกบฏในกองทัพเนื่องจากทหารหวั่นเกรงการเดินทัพในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์จำต้องถอยทัพกลับผ่านแคว้นปัญจาบ ทรงตีฝ่าลงมาตามแม่น้ำสินธุ และเผชิญกับการต่อสู้จากนักรบหลายเผ่า พอถึงบริเวณปากน้ำ ทรงแบ่งกองทัพ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งกลับเมโสโปเตเมียทางทะเล อีกส่วนเดินทางทางบกโดยพระองค์ทรงนำทัพเอง การเดินทางต้องผ่านดินแดนมะกรานที่แห้งแล้งและปราศจากผู้อาศัย พระองค์สูญเสียกำลังพลไปมากมายในช่วงผ่านดินแดนที่แห้งแล้ง

กองทัพทั้งสองมาถึงลุ่มแม่น้ำยูเฟรติส รวมกับกองทัพเล็กๆ ส่วนหนึ่ง แม้ว่าพระองค์ปรารถนาจะควบคุมดินแดนเอเชียที่ปราบได้ แต่สถานการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น มีกบฏเกิดขึ้นหลายส่วนในอินเดีย ขณะที่พระองค์ก็สิ้นพระชนม์อย่างกะทันหัน เมื่อ 323 ปีก่อนคริสต์ศักราช อาณาจักรมาซีโดเนียในอินเดียก็สั่นคลอน มีบันทึกว่า ยูดามุส แม่ทัพคนสุดท้ายของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ถอนตัวจากดินแดนตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียเมื่อ 317 ปีก่อนคริสต์ศักราช

สิ่งที่ชาวกรีกพบเห็นหรือรับรู้ในการเดินทัพไปถึงอินเดียนั้น ส่วนหนึ่งทำให้พวกเขารู้สึก “ประทับใจ” และยกย่องในความกล้าหาญของทหารอินเดีย ความซื่อสัตย์และความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของชนเผ่าในปัญจาบและซินด์


อ้างอิง:

Basham, A.L.. อินเดียมหัศจรรย์. กาญจนี ละอองศรี บรรณาธิการแปล. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2559


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 18 กันยายน พ.ศ.2562