ความหมายของธรรมเนียม “การสวม” พระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งเริ่มสมัยรัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราว พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2394 ทรงสวม พระมหาพิชัยมงกุฎ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2394 (ภาพจาก หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

ในอดีต “พระมหาพิชัยมงกุฎ” มีความสําคัญเท่าเทียมกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ เมื่อเจ้าพนักงานทูลเกล้าฯ ถวายพระมหาพิชัยมงกุฎใน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็จะทรงรับไว้แล้วทอดวางข้างพระองค์โดยมิได้ทรงสวม

กระทั่งใน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงได้รับพระมหาพิชัยมงกุฎแล้วทรงสวมพระเศียร อันเป็นประเพณีที่ได้รับอิทธิพลจากราชสํานักยุโรป ซึ่งถือคติว่าพระมหากษัตริย์จะทรงดํารงสภาวะอันสมบูรณ์สูงสุดก็ต่อเมื่อได้ทรงสวมมงกุฎแล้ว

นับแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา จึงถือว่าพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ที่มีความสําคัญเป็นอย่างยิ่ง และถือว่าในขณะที่ทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นช่วงเวลาที่สําคัญยิ่งในพระราชพิธี โดยพระมหาราชครูพราหมณ์จะทูลเกล้าฯ ถวายพระมหาพิชัยมงกุฎ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงรับ และทรงสวมที่พระเศียรด้วยพระองค์เอง

เจ้าพนักงานภูษามาลาผู้ใหญ่กราบบังคมแต่งพระมหาพิชัยมงกุฎให้ตรง แล้วผูกพระรัตนกุณฑลเบื้องหลังถวาย ในขณะที่ทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎนั้น พราหมณ์พิธีเป่าสังข์ขับบัณเฑาะว์ประโคมแตรสังข์ดุริยางค์ ทหารยิงปืนถวายคำนับ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาทั่วพระราชอาณาจักร

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ผศ. ดร. พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ “เครื่องประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”, เสวยราชสมบัติกษัตรา, สำนักพิมพ์ มติชน 2562


ปรับเนื้อหาและเผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 3 พฤษภาคม 2567