นัยของพระราชลัญจกรในรัตนโกสินทร์ แสดงพระราชอำนาจปกครองราชการแผ่นดิน

เพลินพิศ กำราญ อธิบายเกี่ยวกับเรื่อง “พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินและประจำพระองค์” ในบทความที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร “ศิลปากร” ของกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2524 และได้ตีพิมพ์ซ้ำใน ศิลปวัฒนธรรม เมษายน 2525 โดยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากรและผู้เขียน

หมายเหตุ : กองบรรณาธิการปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนเมื่อนำมาเผยแพร่ใหม่ในพ.ศ. 2562


พระราชลัญจกร คือตราสำหรับพระมหากษัตริย์ใช้ประทับในเอกสารสําคัญอันแสดงถึงพระราชอํานาจในการปกครองบริหารราชการแผ่นดิน หรือเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงเป็นพระประมุขของประเทศชาติ ผู้เขียนจึงได้รวบรวมลักษณะและความหมายของพระราชลัญจกรประจําพระองค์ไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาดังนี้

พระราชลัญจกรสําหรับแผ่นดินและประจําพระองค์รัชกาลที่ 1

เป็นตรางา ลักษณะกลม รูปปทุมอุณาโลม มีอักขระ อุ อยู่กลาง อุ มีลักษณะเป็นม้วนกลม คล้ายลักษณะความหมายของพระปรมาภิไธยว่า ด้วง จึงใช้อักขระ อุ เป็นมงคลแก่พระปรมาภิไธย และเพื่อความงดงามจึงล้อมรอบด้วยกลีบบัว เพราะดอกบัวเป็นพฤกษชาติที่เป็นสิริมงคลของพระพุทธศาสนา

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้ประทับในต้นเอกสารสําคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ และปรากฏมีใช้ประทับในเงินพดด้วงสําหรับซื้อขาย ชําระหนี้ ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคตแล้ว ต่อมาเมื่อมีการเชิญพระบรมอัฐิธาตุไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธเทวปฏิมากรพระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จึงได้สลักรูปปั้นนูนพระราชลัญจกรปทุมอุณาโลมประดิษฐานที่ผ้าทิพย์ด้วย

พระราชลัญจกรสําหรับแผ่นดินและประจําพระองค์รัชกาลที่ 2

เป็นตรางา ลักษณะกลม รูปครุฑจับนาค เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่าฉิม ตามความหมายของวรรณคดีไทยคือพญาครุฑ ดังนั้น จึงนำรูปครุฑจับนาคมาเป็นเครื่องหมายแทนพระปรมาภิไธยในพระราชลัญจกร

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้ประทับในต้นเอกสารสำคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ และปรากฏมีใช้ประทับในเงิดพดด้วงสำหรับซื้อขาย ชำระหนี้

ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตแล้ว ต่อมาได้มีการเชิญพระบรมอัฐิธาตุไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม ซึ่งมีตำนานกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ และพระเศียรพระประธานเป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ทรงปั้นตกแต่ง จึงได้สลักรูปปั้นนูนพระราชลัญจกรครุฑจับนาคประดิษฐานไว้ที่ผ้าทิพย์ด้วย

พระราชลัญจกรสําหรับแผ่นดินและประจําพระองค์รัชกาลที่ 3

เป็นตรางา ลักษณะกลม รูปปราสาท เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ทับ หมายความว่า ที่อยู่ หรือ เรือน ดังนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชลัญจกรเป็นรูปปราสาท

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น สําหรับใช้ประทับในต้นเอกสารสําคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ และมีปรากฏใช้ประทับในเงินพดด้วงสําหรับซื้อขาย ชําระหนี้

ครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว เมื่อได้มีการเชิญพระบรมอัฐิธาตุไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอนันตคุณ อดุลยญาณบพิตร พระประธานในพระอุโบสถวัดราชโอรสาราม ซึ่งเป็นวัดที่พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์และสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด ได้สลักรูปปั้นนูนพระราชลัญจกรปราสาทประดิษฐานที่ผ้าทิพย์ด้วย

พระราชลัญจกรสําหรับแผ่นดินและประจําพระองค์รัชกาลที่ 4

เป็นตรางา ลักษณะกลมรี รูปพระมหามงกุฎ เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า มงกุฎ ซึ่งเป็นศิราภรณ์สําคัญของพระมหากษัตริย์ อยู่ในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ มีจักรบริวาร 2 ข้าง ที่ริมขอบทั้ง 2 ข้างมีพานทองสองชั้นวางพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่ง วางสมุดตําราข้างหนึ่ง พระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรหมายถึงพระฉายาเมื่อทรงผนวชว่า วชิรญาณ ส่วนสมุดตําราหมายถึงทรงศึกษาเชี่ยวชาญในทางอักษรศาสตร์และดาราศาสตร์

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์ ใช้ประทับในเงินพดด้วงและเหรียญกษาปณ์สำหรับซื้อขาย ชำระหนี้ ในรัชกาลนี้เริ่มเชิญพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินและประจําพระองค์ สลักรูปปั้นนูนประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถพระอารามหลวงที่ทรงสร้างหรือทรงปฏิสังขรณ์เป็นส่วนใหญ่ เช่น หน้าบันพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม บานพระทวารประดับมุกพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น

พระราชลัญจกรประจําพระองค์รัชกาลที่ 5

เป็นตรางา ลักษณะกลมรี ขนาดกว้าง 5.5 เซนติเมตร ยาว 6.8 เซนติเมตร รูปพระเกี้ยวยอดมีรัศมี ประดิษฐานบนพานทองสองชั้น เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า จุฬาลงกรณ์ ซึ่งแปลความหมายว่า เป็นศิราภรณ์ชนิดหนึ่งอย่างมงกุฎ เคียงด้วยฉัตรบริวาร 2 ข้าง ที่ริมขอบทั้ง 2 ข้าง มีพานทองสองชั้นวางพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่ง วางสมุดตําราข้างหนึ่ง พระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรและสมุดไทยนั้นเป็นการเจริญรอยจําลองจาก พระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นพระบรมชนกนาถ

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน เช่น ใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ ใช้ประทับในเงินพดด้วงและเหรียญกษาปณ์ซึ่งใช้ซื้อขาย ชําระหนี้ ใช้เป็นตราหน้า หมวกทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า และเชิญประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถพระอารามหลวงที่ได้ทรงสร้างและทรงปฏิสังขรณ์ เช่น วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หน้าบันพระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมบพิตร เป็นต้น

พระราชลัญจกรประจําพระองค์รัชกาลที่ 6

เป็นตรางา ลักษณะกลมรี กว้าง 5.5 เซนติเมตร ยาว 6.8 เซนติเมตร รูปวชิราวุธมีรัศมี ประดิษฐานบนพานทองสองชั้น ตั้งอยู่เหนือตั่ง มีฉัตรบริวาร 2 ข้าง เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า วชิราวุธ ซึ่งหมายความถึงศัตราวุธของพระอินทร์

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเครื่องหมายราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ กับใช้พระราชลัญจกรนี้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ ตราวชิรมาลา เหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ นอกจากนี้โปรดเกล้าฯ ให้ใช้ปักเป็นธงเครื่องหมายประจํากองเสือป่า ปักผ้าทิพย์หน้ามุขเด็จพลับพลาที่ประทับในงานพระราชพิธีต่าง ๆ และเชิญประดิษฐานที่หน้าบันโรงเรียนวชิราวุธ เป็นต้น

พระราชลัญจกรประจําพระองค์รัชกาลที่ 7

เป็นตรางา ลักษณะกลมรี กว้าง 5.4 เซนติเมตร ยาว 6.7 เซนติเมตร รูปพาดพระแสงศร 3 องค์ คือ พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรอัคนีวาต พระแสงศร ประลัยวาต เบื้องบนมีรูปพระแสงจักรและพระแสงตรีศูลอยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ มีบังแทรกตั้งอยู่ 2 ข้าง กับมีลายกนกแทรกอยู่ระหว่างพื้น พระแสงศร 3 องค์นี้เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ประชาธิปกศักดิเดชน์ ซึ่งมาจากความหมายของศัพท์วรรคสุดท้ายที่ว่า เดชน์ แปลว่า ลูกศร

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น สําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน เช่น ใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ เป็นต้น

พระราชลัญจกรประจําพระองค์รัชกาลที่ 8

เป็นตรางา ลักษณะกลม ศูนย์กลางกว้าง 7 เซนติเมตร รูปพระโพธิสัตว์ประทับบนบัลลังก์ดอกบัว ห้อยพระบาทขวาเหยียบบัวบาน หมายถึงแผ่นดิน พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม และมีเรือนแก้วด้านหลังแทนรัศมี มีแท่นรองรับ ตั้งฉัตรบริวาร 2 ข้าง เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า อานันทมหิดล ซึ่งแปลความหมายว่า เป็นที่ยินดีของแผ่นดิน เพราะพระองค์ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยโดยความยกย่อง ยินดีของเอนกนิกรชาวไทย ประหนึ่งพระโพธิสัตว์เสด็จมาประทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ทวยราษฎร์ทั้งมวล

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสําหรับใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสําคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน เช่น ใช้ประทับกํากับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ เป็นต้น

พระราชลัญจกรประจํารัชกาลที่ 9 (อ้างอิงจากหนังสือ “องค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”)

พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำแผ่นดินรัชกาลที่ 9 (ภาพจาก หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

พระราชลัญจกรประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์แกะสลักจากงา มีพระปรมาภิไธยบนขอบรอบพระราชลัญจกร ใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญอันเป็นราชการแผ่นดินทั้งปวงประจำรัชสมัยเช่น รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติพระราชกฤษฎีกา พระราชกำหนด ประกาศพระบรมราชโองการต่าง ๆ เป็นต้น

พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำแผ่นดินรัชกาลที่ 9 เป็นตรางา มีลักษณะกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8.4 เซนติเมตร สูง 13.4 เซนติเมตร

พุทธศักราช 2538 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสร้างพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ด้วยทองคำ
ขึ้นอีกองค์หนึ่ง เพิ่มจากองค์เดิมซึ่งสร้างด้วยงาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๙๓ ซึ่งมีสภาพชำรุดเนื่องจากใช้มานานกว่า 45 ปี

พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ทองคำประจำรัชกาลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างด้วยทองคำทั้งองค์
มีรูปลักษณะเช่นเดียวกันกับพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำรัชกาลตรางา ด้านบนองค์พระราชพระราชลัญจกรติดตราสัญลักษณ์พระราชพิธีกาญจนาภิเษก