เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องแสดงสถานะพระราชา ย้อนรากอิทธิพลอินเดียสู่รัตนโกสินทร์

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
เครื่องราชกกุธภัณฑ์

ย้อนราก “เครื่องราชกกุธภัณฑ์” เครื่องแสดงสถานะพระราชา จากอิทธิพลอินเดียสู่รัตนโกสินทร์

ความเป็นมาและอิทธิพลทางแนวคิด

เครื่องราชกกุธภัณฑ์คือเครื่องที่ใช้เพื่อแสดงถึงสถานะของความเป็นพระราชาหรือพระเจ้าแผ่นดิน คือสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์แสดงว่าผู้ที่มีครอบครองเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยสมบูรณ์

Advertisement

แนวคิดเครื่อง ราชกกุธภัณฑ์” ของไทยได้รับอิทธิพลจากอินเดีย โดยนำมาใช้เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระเจ้าอยู่หัวหรือพระมหากษัตริย์ไทยนับตั้งแต่สมัยโบราณ หลักฐานที่สำคัญในเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในเอกสารหลายฉบับ ถ้าดูจากหลักฐานเก่าที่สุดในเอกสารที่เขียนเป็นภาษาไทยคือในเอกสารที่เรียกกันว่าจารึกของพระมหาธรรมราชา พระยาลิไท มีการอ้างถึงในเรื่องกษัตริย์ทั้ง 4 ทิศ หรือในจารึกนครชุมใช้คำว่า จตุรทิศ

ของที่นำมาอภิเษกให้พระยาลิไท ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหาธรรมราชา ระบุไว้ว่า มกุฎ พระขรรค์ชัยศรี และเศวตฉัตร สะท้อนให้เห็นว่าในของที่มีการนำมาแสดงถึงสถานะหรือความเป็นพระราชาของกษัตริย์ไทย เราพบหลักฐานอย่างน้อยในสมัยสุโขทัย

สิ่งที่สำคัญคือ พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นของสูงสุดเป็นเครื่องแสดงพระราชอำนาจสูงสุด เช่นเดียวกับพระขรรค์ชัยศรี ซึ่งเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำคัญมาตั้งแต่โบราณ

จารึกวัดศรีชุมพูดถึงพ่อขุนผาเมืองอภิเษกกับพระนางสิงขรมหาเทวี ระบุไว้ว่า ผีฟ้าเจ้าเมืองศรีโสธรปุระ พระเจ้าพระนครยโศธรปุระ คือกษัตริย์เขมรโบราณ พระราชทานพระราชธิดา พระขรรค์ชัยศรี และพระนามให้กับพ่อขุนผาเมือง เพื่อสถาปนาให้เป็น กมรเตงอัญผาเมือง

แนวคิดชุดนี้น่าจะได้รับอิทธิพลจากอินเดียผ่านมาทางเขมรโบราณและสืบทอดมาที่สุโขทัย จะเห็นร่องรอยว่าในความคิดของสังคมไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยนั้น เรามีความคิด ความรู้ ความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องที่แสดงสถานะความเป็นพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับในสมัยอยุธยา เมื่ออ่านในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ จะกล่าวถึงเมื่อมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือพระราชพิธีราชาภิเษกจะมีระบุว่า พราหมณ์จะต้องเป็นผู้นำเครื่องราชาภิเษกอย่างเช่น เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ นำมาถวายเพื่อแสดงถึงพระองค์ได้เป็นพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชกกุธภัณฑ์
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี (พระแส้จามรีด้ามแก้วและพัดวาลวิชนี)และฉลองพระบาท

หลักฐานสมัยรัตนโกสินทร์

หลักฐานสำคัญที่กล่าวถึง เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ก็สืบเนื่องไปจนถึงรัตนโกสินทร์ ในยุครัตนโกสินทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์โปรดให้สร้างเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ขึ้นใหม่ทั้งหมด เพราะว่าของเดิมในสมัยอยุธยาสูญเสียไปหลังสมัยสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา คราว พ.ศ. 2310 เมื่อพระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ครั้งแรก เป็นการปราบดาภิเษกอย่างย่อ

หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2328 จึงมีการสร้างเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และของใช้ต่างๆ เครื่องราชูปโภค และของที่จะใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมบูรณ์แล้ว จึงโปรดให้มีการบรมราชาภิเษกอีกครั้งใน พ.ศ. 2328

ในครั้งนี้มีเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ครบชุด ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ (เป็นของสำคัญที่สุด) ถัดมาคือ พระขรรค์ชัยศรี วาลวิชนี ธารพระกร และฉลองพระบาทเชิงงอน

ของชุดนี้เป็นของที่ครบชุดซึ่งปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยสมัยรัชกาลที่ 1 มีระบุไว้ตั้งแต่ต้นในตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยา บอกว่า เจ้าพระยาเพชรพิไชย เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี พระราชสงคราม พระยาอุทัยมนตรี ได้มาประชุมกัน แล้วแต่งตำราบรมราชาภิเษกขึ้นใหม่ เพราะของเดิมสูญหาย

หลักฐานสำคัญอีกชิ้นคือหนังสือปัญจราชาภิเษก เป็นตำราที่สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน เรียบเรียงทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 1 ในตำรานี้กล่าวถึงเรื่องเครื่องสำหรับราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ ในตัวปัญจราชาภิเษกระบุไว้ชัดเจนว่า ลักษณะเครื่องสำหรับราชาภิเษกของสมเด็จพระมหากษัตริย์นั้น คือพระมหามงกุฎ พระภูษารัตกัมพล พระขรรค์ พระเศวตฉัตร เกือกทองประดับแก้วฉลองพระบาท สำหรับราชาภิเษกของสมเด็จพระมหากษัตริย์ สำหรับตำรานี้ไม่ได้ตรงกับที่ถือในปัจจุบันเสียทั้งหมด

ถวายเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์

สำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์แล้ว ก็เสด็จไปประทับ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ เพื่อทรงรับการถวายเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ต่อไปซึ่งมีอยู่หลายรายการ แต่ที่นับว่าสำคัญที่สุดคือ เครื่องเบญราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร พัดหรือแส้ และฉลองพระบาท

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
เครื่องราชกกุธภัณฑ์

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์อันเป็นมงคล

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชอิสริยยศ 5 สิ่งมาแต่โบราณของพระมหากษัตริย์ คือ พระมหามงกุฎ พระภูษาผ้ารัตกัมพล พระขรรค์ พระเศวตฉัตรและฉลองพระบาททองประดับแก้ว ล้วนมีความหมายอันเป็นมงคล ซึ่งในคัมภีร์โลกบัญญัติอธิบายไว้ดังนี้

1. พระมหามงกุฎ หมายถึง ยอดวิมานของพระอินทร์

2. พระขรรค์ หมายถึง พระปัญญาอันจะตัดมลทินถ้อยความไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้เห็นแจ้งทั่วทั้งโลกธาตุ

3. พระภูษาผ้ารัตกัมพล หมายถึง เขาคันธมาทน์อันประดับเขาพระสุเมรุราช เพราะองค์พระมหากษัตริย์นั้นเปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุราช พระเนตรข้างขวาเสมือนพระอาทิตย์ พระเนตรข้างซ้ายเสมือนพระจันทร์ ทั้งพระอาทิตย์และพระจันทร์ล้วนส่องโลก ดุจพระทัยของพระองค์ในอันที่จะตัดทุกข์ภัย ในอันที่จะให้แจ้งในพระอุเบกขาบริญัติ คือให้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งพระธรรมวินัยธรรมที่จะสั่งสอนราษฎรนั่นเอง

4. พระเศวตฉัตร เดิมแต่โบราณมา พระมหากษัตริย์ทรงประดับด้วยพระเศวตฉัตรเพียงหกชั้น อันหมายถึงสวรรค์ฉกามาพจรทั้งหก และเมื่อเพิ่มพระเศวตฉัตรเป็นเก้าชั้นน่าจะหมายรวมถึงสวรรค์ชั้นพรหมโลกด้วย

5. ฉลองพระบาท หมายถึง แผ่นดินอันเป็นที่รองรับเขาพระสุเมรุราช และเป็นที่อาศัยแก่พสกนิกรทั้งหลายทั่วขอบขัณฑสีมาและแผ่นดินนี้จะรุ่งเรืองอำนาจด้วยพระเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์

เมื่อเพิ่มธารพระกรเข้ามในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ความหมายอาจจะเป็นไปในการที่ทรงใช้ทศพิธราชธรรมดุจธารพระกรที่นำทางให้เกิดความสุขความเจริญรุ่งเรืองแก่ปวงประชาและราชอาณาจักร

(ข้อมูลจาก ณัฏฐภัทร จันทวิช. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. กรมศิลปากร, 2530.)

พระขรรค์

ในสมัยรัชกาลที่ 1 ใบมีดของตัวพระขรรค์ ตามหลักฐานมีระบุว่า เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ผู้สำเร็จราชการในกัมพูชาในเวลานั้นได้พระขรรค์นี้มาและได้ถวายรัชกาลที่ 1 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ทำด้ามและฝัก กลายเป็นเล่มที่เป็นพระขรรค์ชัยศรีในปัจจุบัน

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
พระแสงขรรค์ชัยศรี

พระเศวตฉัตร

พระเศวตฉัตรไม่ได้ถือว่าเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในแบบของไทยในยุครัตนโกสินทร์ แต่ตัวพระมหาเศวตฉัตรยังเป็นของสำคัญ แสดงให้เห็นสถานะของพระมหากษัตริย์ของไทย ในพิธีบรมราชาภิเษก ไม่ว่าจะเป็นพระที่นั่งอัฐทิศฯ ยังเป็น 7 ชั้น ในสมัยรัชกาลที่ 9 จะมีการถวายพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ที่พระที่นั่งอัฐทิศฯ จึงถือได้ว่าเป็นของสำคัญในการประกอบพระราชพิธีอยู่

ธารพระกรและฉลองพระบาทเชิงงอน

ถ้าดูตามคัมภีร์จะมีระบุว่าแต่ละอย่างคืออะไร ในตัวคัมภีร์กล่าวถึงว่า

“เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริย์ได้ราชาภิเษกเป็นเอกแก่ราชสมบัติแล้ว พึงได้อธิษฐานอาตมาพระองค์เอง ว่าเรานี้คือเขาพระสุเมรุราช (เขาพระสุเมรุตามความเชื่อว่าเป็นแกนหลักของจักรวาล) อันตั้งอยู่เป็นหลักพระธรณีในพื้นปฐพีดล และพระเนตรของเราข้างขวาคือพระสุริยอาทิตย์ พระเนตรของเราข้างซ้ายคือพระจันทร์อันส่องโลกให้เห็นแจ้งในพระทัยของสมเด็จพระมหากษัตริย์อันจะตัดทุกข์ภัยให้แจ้งในพระอุเบกขา…ที่ร้อนก็ให้ร้อน ที่เย็นก็ให้เย็นตามประเวณีเหมือนกัน และพระหัตถ์ทั้งซ้ายขวาและฝ่าพระบาทนั้นคือทวีปทั้ง 4 เศวตฉัตรทั้ง 6 ชั้นนั้นคือฉกามาพจรทั้ง 6”

ในตำราเดิมบอกว่าเศวตฉัตร 6 ชั้น แต่ตามธรรมเนียมของไทยเราเป็นเศวตฉัตร 9 ชั้น เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่านพปฎลมหาเศวตฉัตร

ตามตำราบอกว่าองค์พระมหากษัตริย์คือเขาพระสุเมรุราช ซึ่งเขาพระสุเมรุคือแกนหลักจักรวาล ยอดของเขาพระสุเมรุคือวิมานของพระอินทร์ เพราะฉะนั้น พระมหาพิชัยมงกุฎตามคัมภีร์ถึงอธิบายบอกว่า “พระมหามงกุฎนั้นไซร้คือยอดวิมานพระอินทร์” คือจุดสูงสุดของเขาพระสุเมรุ หมายถึงวิมานของพระอินทร์

ตำราอธิบายต่อว่า “พระขรรค์คือพระปัญญาอันจะตัดมลทินถ้อยความไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้เห็นแจ้งทั่วทั้งโลกธาตุ” คำว่าพระขรรค์ หมายถึงพระปัญญานั้น สมัยโบราณตามคติพระพุทธศาสนา พระราชาสมัยก่อน แรกเริ่มเดิมทีตามคัมภีร์พุทธศาสนาถือว่า ที่มีกษัตริย์พระองค์แรกเกิดขึ้นมาเพราะเกิดการทะเลาะเบาะแว้งในบรรดาประชาชนทั้งหลาย จึงต้องสมมติเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถคนหนึ่งเพื่อเป็นพระมหากษัตริย์ตัดสินคดีความให้คนทั้งหลาย คดีความถูกใจแล้วเลยเปล่งคำว่า “ราชา” ซึ่งหมายถึง “ยินดี” ตรงนี้คือที่มาที่ไป

สำหรับเครื่องประดับนั้น ตำราว่าไว้ว่า “และเครื่องประดับผ้ารัตกัมพลนั้น คือเขาคันธมาทน์อันประดับเขาพระสุเมรุราช อันองค์พระมหากษัตริย์นั้น คือพระวินัยธรรม อันตรัสสั่งสอนแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้ปรากฏเห็นแจ้งรุ่งเรืองไปทั้งชมพูทวีป”

ส่วนเกือกแก้วนั้น ระบุว่า “คือแผ่นดินอันเป็นที่รองรับเขาพระสุเมรุราช และเป็นที่อาศัยแก่อาณาประชาราษฎรทั้งหลายทั่วแว่นแคว้นขอบขัณฑเสมาและจะฦาชาปรากฏด้วยพระยศพระเดชของสมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้านั้นแล”

โดยสรุปแล้ว พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายถึงยอดวิมานพระอินทร์ พระขรรค์คือพระปัญญา ผ้ารัตกัมพลคือเขาคันธมาทน์ องค์พระมหากษัตริย์คือเขาพระสุเมรุ ฉลองพระบาทเทียบได้กับผืนแผ่นดินซึ่งรองรับเขาพระสุเมรุอยู่ เป็นระบบสัญลักษณที่สะท้อนให้เห็นถึงเหตุผลว่าทำไมต้องมีเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์

ในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้งหมด พราหมณ์มีหน้าที่นำมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย แต่ว่าที่จะทรงรับไปสวมเป็นการส่วนพระองค์ ที่พราหมณ์เป็นผู้ที่สอดทรงให้ถวายก็มีแต่ฉลองพระบาทเชิงงอนเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในเรื่องเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์เป็นเรื่องสำคัญ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ของไทยตั้งแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบัน

เกร็ดเพิ่มเติม

สำหรับฝ่ายในหรือนางพระกำนัลที่มาถือเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องราชูปโภค ถ้าลองดูเอกสารจะเห็นว่ามีมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 6 แล้วก็สมัยรัชกาลที่ 7 ในรัชกาลที่ 9 ก็มีลักษณะแบบนั้นอยู่

สำหรับการสร้างใหม่ในยุครัชกาลที่ 1 เชื่อว่าสร้างได้ใกล้เคียงของเดิม เพราะบรรดาขุนนาง หรือแม้แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในยุคที่มีการบรมราชาภิเษกครั้งสุดท้ายในช่วงสมัยอยุธยาคือจัด 2 ครั้งในปีเดียวกัน คือบรมราชาภิเษกของพระเจ้าอุทุมพร กับพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศน์ ทั้ง 2 พระองค์

ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและขุนนางทั้งหลายที่มีอายุต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 1 เคยรับราชการในตำแหน่งต่างๆ ถึงยังรู้อยู่ว่าตัวพระราชพิธีนั้นทำอย่างไร แต่ตัวตำราของเดิมเชื่อว่าอาจสูญหายไปจึงต้องมีการบอกว่า “ให้เจ้าพระยาเพชรพิไชย เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี พระราชสงคราม พระอุทัยมนตรี นั่งพร้อมกันแต่งกฎหมายซึ่งทำการพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งในหลวงวัดประดู่ไว้สำหรับหอหลวงฉบับหนึ่ง”

แสดงว่าอาศัยขุนนางซึ่งเคยได้ร่วมพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยก่อน ซึ่งในที่นี้คือชัดเจนว่าสมัยในหลวงวัดประดู่ หรือพระเจ้าอุทุมพร บุคคลที่ทันในยุคนั้นมาเป็นผู้ที่บอกว่าในยุคนั้นทำอะไรบ้าง มีของอะไรบ้างให้มาช่วยกันเรียบเรียงเป็นตำราสำหรับหอหลวงซึ่งถือว่ากลายมาเป็นที่มาของตำราบรมราชาภิเษกในสมัยของรัตนโกสินทร์

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ณัฏฐภัทร จันทวิช. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. กรมศิลปากร, 2530.

ศานติ ภักดีคำ. “เครื่องราชกกุธภัณฑ์”. Podcast พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตอน 3. ออนไลน์. ศิลปวัฒนธรรม, เผยแพร่ 11 เมษายน 2562. <https://www.silpa-mag.com/history/article_31071>


ปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งล่าสุดเมื่อ 3 พฤษภาคม 2567