ธงสำหรับพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์

ธงชัยราชกระบี่ยุทธใหญ่ (ขวา) และธงชัยพระครุฑพ่าห์ใหญ่ (ซ้าย) สร้างในรัชกาลที่ ๑ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๘ ใช้เชิญนำกระบวนเสด็จพระราชดำเนินในกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค (ภาพจากหนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๓๐)

ธงเป็นหนึ่งในเครื่องหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นสำหรับการสื่อสาร เพื่อบอกตำแหน่ง หน้าที่ อาณัติสัญญาณ หรือสถานะทั้งของบุคคล องค์กร หรือดินแดนต่างๆ ภายใต้ข้อกำหนดกฎเกณฑ์ของแต่ละสังคม สำหรับธงของไทย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระวินิจฉัยว่ามีอยู่ด้วยกัน ลักษณะ ดังนี้

. ธงธรรมดา เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีต่างๆ บางผืนลงยันต์ ใช้สำหรับนำขบวนต่างๆ อย่างแห่เข้าพิธีตรุษ

. ธงปฏาก หรือธงจระเข้ เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแขวนห้อยลงใช้ด้านกว้างผูกเขียนรูปจระเข้ สำหรับเป็นเครื่องบูชาเท่านั้นไม่นิยมนำขบวนแห่

. ธงชัย เป็นธงรูปสามเหลี่ยมตัดทแยงมุมคล้ายธงมังกรของจีน ผิดกันที่ของจีนนำด้านยาวไว้ข้างล่างและมีครีบเป็นรูปเปลวตลอดผืน ส่วนของไทยนำด้านยาวไว้ข้างบน ทำครีบเพียง ๓๕ ชาย หรือบางครั้งก็มี ๖๙ ชายดังปรากฏในภาพคัดลอกจากจิตรกรรมฝาผนังวัดยมสมัยอยุธยาตอนปลายราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๓

ในอดีตกาลแต่โบราณพระมหากษัตริย์ทรงดำรงสถานะเป็นจอมทัพ ทรงมีหน้าที่ในการป้องกันและขยายพระราชอาณาเขต พิทักษ์ความสงบร่มเย็นของราษฎร ตามรูปศัพท์ของคำว่ากษัตริย์หรือขัตติยะอันหมายถึงนักรบหรือผู้ป้องกันภัยนั่นเองแม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ยังคงยืนยันหลักการดังกล่าวไม่แปรเปลี่ยนในบทบัญญัติที่ระบุว่า ทรงเป็นจอมทัพไทยการเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชสงครามหรือแม้ในกระบวนพยุหยาตรายามปกติก็ดีย่อมต้องมีการเชิญธงชัยเป็นธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์เพื่อเป็นพระราชสิริและสวัสดิมงคลแด่องค์พระผู้เป็นหลักชัย ขณะเดียวกันก็ช่วยเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้กับทหารผู้ออกสู่สมรภูมิด้วย

ภาพสลักทัพหลวงของพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๒ บนผนังระเบียงคดปราสาทนครวัดด้านทิศใต้ ซึ่งเชิญรูปพระวิษณุครูฑาสนมูรตินำเสด็จ

กาลต่อมาเมื่อสยามมีการติดต่อกับนานาอารยประเทศจึงเริ่มมีการใช้ธงที่เป็นเครื่องหมายตามแบบสากลนิยมที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอย่างเป็นทางการดังปรากฏการสร้างธงรูปจักรพื้นแดงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สำหรับใช้ในเรือหลวงและเพิ่มรูปช้างเผือกกลางวงจักรในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อทรงได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมีถึง ๓ ช้าง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำรูปจักรออกเหลือแต่รูปช้างเผือกบนพื้นแดงให้ใช้ได้ทั้งเรือหลวงและเรือราษฎรเพิ่มธงรูปช้างเผือกบนพื้นสีขาบสำหรับเรือหลวงให้ต่างกันธงอย่างสากลเช่นนี้ ต่อมาได้สร้างเป็นธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ด้วยดังจะได้กล่าวถึงต่อไป

ธงประเภทที่กล่าวถึงข้างต้นทั้งธงชัยราชกระบี่ยุทธและธงชัยพระครุฑพ่าห์ และธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งนำเสนอในบทความนี้จะเรียกรวมกันว่าธงสำหรับพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์สำหรับประเภทธงชัยได้แก่ ธงชัยราชกระบี่ยุทธใหญ่และธงชัยพระครุฑพ่าห์ใหญ่ และธงชัยราชกระบี่ยุทธน้อยและธงชัยพระครุฑพ่าห์น้อย และประเภทธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ได้แก่ ธงมหาราช

ธงชัยราชกระบี่ยุทธและธงชัยพระครุฑพ่าห์ใหญ่

สันนิษฐานว่ามีที่มาจากกองทัพกัมพูชาโบราณ ซึ่งใช้ประติมากรรมสัมฤทธิ์ขนาดเล็กหล่อติดกับกระบอกสวมลงบนด้ามไม้เป็นสัญลักษณ์นำหัวขบวนทัพหรือขบวนเสด็จ ดังปรากฏภาพสลักบนผนังระเบียงคดด้านทิศใต้ของปราสาทนครวัด ประกอบด้วยรูปหนุมานซึ่งมีจำนวนมากที่สุด รองลงมาได้แก่ รูปครุฑและรูปเทพร่ายรำ ใช้นำทัพของเจ้าเมืองและขุนนาง ส่วนรูปพระวิษณุครูฑาสนมูรติหรือพระวิษณุทรงครุฑมีเพียงรูปเดียว ใช้นำหัวขบวนทัพหลวงของพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๒๒ รูปหนุมานและรูปพระวิษณุครูฑาสนมูรติที่ใช้นำหัวขบวนเหล่านี้ได้กลายมาเป็นธงชัยราชกระบี่ยุทธและธงชัยพระครุฑพ่าห์ของราชสำนักสยาม ในกาลต่อมาแต่ต่างจากของกัมพูชาตรงที่ธงชัยของไทยมีคันธงเป็นรูปตรีศูลสำหรับสอดผืนธงรูปสามเหลี่ยม ๓ ผืน ในแต่ละยอดมีรูปหนุมานและรูปพระนารายณ์ทรงครุฑอยู่ที่ปลายยอดธงทุกยอดรวม ทั้งที่ด้ามธงขณะที่ของกัมพูชาเป็นประติมากรรมลอยตัวสวมลงบนด้ามธงและไม่มีผืนธงเข้าประกอบ

ธงชัยราชกระบี่ยุทธและธงชัยพระครุฑพ่าห์ได้รับการกล่าวถึงมาตั้งแต่การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พุทธศักราช ๒๓๐๑ ว่าพระมหาธงชัย ๑ กระบี่ธุช ๑ และปรากฏเป็นเครื่องตั้งพระแท่นมณฑลในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พุทธศักราช ๒๓๒๘ ว่าทรง (ธง) ราชกระบี่ธุชครุฑพาหะ๔ ในอดีตใช้สังฆการีเป็นผู้เชิญ เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นราชองครักษ์เชิญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๗๒ กระทรวงวังได้กราบบังคมทูลพระราชปฏิบัติเรื่องระเบียบการเชิญธงทั้ง ๒ ธงนี้ ตามพระดำริในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ว่าธงชัยพระกระบี่ธุชควรอยู่ซ้าย ธงชัยพระครุฑพ่าห์ควรอยู่ขวา ดังที่เคยปฏิบัติกันมาปรากฏหลักฐานอยู่ในตอนหนึ่งของโคลงพระราชพิธีทวาทศมาส จึงมีพระบรมราชโองการให้เปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องและเรียกชื่อธงใหม่ว่าธงชัยราชกระบี่ยุทธและธงชัยพระครุฑพ่าห์สืบมา 

ธงชัยราชกระบี่ยุทธใหญ่ (ขวา) และธงชัยพระครุฑพ่าห์ใหญ่ (ซ้าย) สร้างในรัชกาลที่ ๑ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๘ ใช้เชิญนำกระบวนเสด็จพระราชดำเนินในกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค (ภาพจากหนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๓๐)

ธงชัยราชกระบี่ยุทธใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๓๒๘ ดังปรากฏในบัญชีเครื่องราชูปโภคจะสร้างใหม่ว่าพระมหาธงไชย (พระครุฑพ่าห์) ๑ ธงไชยกระบี่ธุช ๑๗ ใช้เชิญทางด้านซ้ายนำกระบวนเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคคู่กับธงชัยพระครุฑพ่าห์ใหญ่ทางด้านขวาผืนธงชัยเป็นธงสามชายกรุผ้าสักหลาดปักดิ้นเลื่อมทั้งหมด ๓ ผืน สอดเข้าในคันธงผืนละคันคันธงมีปลายเป็นใบทวนเหล็ก ๓ ง่ามสูงเสมอกันโคนใบทวนคร่ำทองรูปกระบี่ถือกระบองในท่าเหาะสำหรับสอดธงผืนละคัน คันธงปักลงบนยอดบัวจงกลคร่ำทองทั้ง ๓ ยอดด้ามคันธงคร่ำทองสวมเข้ากับไม้กลางด้ามมีรูปกระบี่ถือกระบองในท่าเหาะกะไหล่ทองตรึงติดไว้

รูปกระบี่ที่ติดอยู่บนด้ามของธงชัยราชกระบี่ยุทธ หมายถึงหนุมาน ทหารเอกสมุนของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์ การใช้รูปหนุมานนำกองพลดังเช่นที่ปรากฏในภาพสลักด้านทิศใต้ของปราสาทนครวัด หรือประกอบเป็นส่วนหนึ่งของธงชัยราชกระบี่ยุทธ คงเป็นคตินิยมที่นำมาจากมหากาพย์มหาภารตะของอินเดีย ดังปรากฏในวนบรรพ บทที่ ๑๔๕๑๕๐ ตีรถยาตราบรรพกล่าวถึงหนุมานเมื่อเผชิญหน้ากับภีมะผู้เป็น ๑ ใน ๕ ของพี่น้องฝ่ายปาณฑพและจัดว่าเป็นฝ่ายธรรมะผู้สืบเชื้อสายจากพระพายเช่นเดียวกับหนุมานจึงนับเป็นพี่น้องกันหนุมาน แสร้งแปลงเป็นลิงใหญ่นอนขวางทางดักรออยู่กลางป่าขณะภีมะกลับจากการเก็บดอกไม้สวรรค์สุคันทิกาไปมอบให้นางเทราปตีชายา ครั้นภีมะเดินเข้ามาลิงหนุมานได้ต่อว่าภีมะว่าเป็นใครเหตุใดต้องทำเสียงดังปลุกตนแล้วไล่ภีมะให้เดินย้อนกลับไปหรือไม่ก็เดินข้ามตนไปเสีย

ภีมะแนะนำตัวต่อลิงหนุมานและขอให้หลีกทางจะดีกว่า เพราะมีธรรมเนียมอยู่ว่าต้องไม่ก้าวข้ามผู้ยังมีชีวิตอยู่พร้อมกับขู่ด้วยว่าตนมีพละกำลังมากเท่ากับหนุมาน ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่ชายถ้าไม่หลีกไปจะใช้กำลังเข้าจัดการ ครั้นเห็นว่าลิงหนุมานไม่สนใจภีมะจึงเข้าคว้าที่หางหวังจะเหวี่ยงลิงหนุมานให้กระเด็น แต่ถึงจะใช้ความพยายามจนสุดพละกำลังก็ไม่อาจขยับเขยื้อนลิงหนุมานได้เลย เมื่อภีมะขออภัยที่ล่วงเกินหนุมานจึงเผยว่าตนเป็นใคร และได้คืนร่างที่แท้จริงตามคำขอของภีมะสั่งสอนราชธรรมและเล่าความเป็นมาของยุคต่างๆ ที่ตนได้ประสบให้ภีมะ ท้ายที่สุดภีมะก็ได้ขอพรจากหนุมานให้ช่วยคุ้มครองเหล่าพี่น้องปาณฑพ ซึ่งหนุมานให้คำมั่นว่าตนจะไปสิงสถิตในธงประจำรถศึกของอรชุนเชษฐาของภีมะเพื่อสร้างความหวาดหวั่นครั่นคร้ามและจะได้ช่วยพิชิตศัตรูคือฝ่ายทุรโยธน์ได้โดยง่าย

คัมภีร์ศรีมัทภควัทคีตา บทสนทนาระหว่างพระกฤษณะกับอรชุน ๑ ใน ๕ พี่น้องปาณฑพ ที่แทรกอยู่ในมหาภารตะ ภีษมบรรพ บทที่ ๑๓๔๒ ภควัทคีตาบรรพ กล่าวถึงธงหนุมาน หรือกปิธวัช๑๐ ไว้ในอัธยายที่ ๑ อรชุนวิษาทโยค (ความท้อถอยของอรชุน) ว่าลำดับนั้นท้าวอรชุนบุตรปาณฑุผู้ทรงกบี่ธวัช พอเห็นบุตร ธฤตราษฎร์ตั้งท่าเข้ามาและเมื่อการปะทะศัสตราเริ่มขึ้น จึงยกธนูขึ้น๑๑ ทั้งนี้ ธงหนุมานบันดาลให้อรชุนเกิดความมุ่งมั่น ไม่ท้อถอย ช่วยกองทัพฝ่ายปาณฑพฮึกเหิมและทำให้กองทัพฝ่ายทุรโยธน์หวาดหวั่น ครั้นอรชุนและพี่น้องปาณฑพได้รับชัยชนะแล้ว หนุมานก็เลือนหายไปจากผืนธง ธงหนุมานยังเป็นสัญลักษณ์ของการควบคุมจิตใจและปัญญาให้แน่วแน่มั่นคงอันจะนำพาให้เกิดชัยชนะ๑๒ จึงนิยมสร้างรูปหนุมานเพื่อให้สอดคล้องกับคติดังกล่าว และกลายเป็นรูปหนุมานนำหน้ากองพลกัมพูชาและธงชัยราชกระบี่ยุทธของไทยในเวลาต่อมา

ธงชัยราชกระบี่ยุทธน้อย (ซ้าย) และธงชัยราชพระครุฑพ่าห์น้อย (ขวา) สร้างในรัชกาลที่ ๖ ประกอบกาบสัมฤทธิ์รูปหนุมานและรูปครุฑที่ขุดได้จากวัดพระประโทณเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๓ ในระยะแรกใช้เชิญนำเสด็จพระราชดำเนินในกระบวนม้า (ภาพจากหนังสือครุฑ พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๔)

ธงชัยพระครุฑพ่าห์ใหญ่ มีลักษณะเช่นเดียวกับธงชัยราชกระบี่ยุทธใหญ่แต่เปลี่ยนตรงโคนใบทวนยอดธงจากรูปหนุมานเป็นรูปพระพระนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค ทรงถือพระขรรค์ในพระหัตถ์ทั้งสอง และเปลี่ยนจากรูปกระบี่ที่กลางด้ามธงเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑยุดนาคโลหะกะไหล่ทอง พระหัตถ์ทั้งสี่ทรงถือตรีจักรสังข์และพระขรรค์ใช้เชิญทางด้านขวานำกระบวนเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคคู่กับธงชัยราชกระบี่ยุทธทางด้านซ้าย

ธงชัยพระครุฑพ่าห์ใหญ่มีที่มาจากกัมพูชา ดังปรากฏภาพสลักรูปพระวิษณุครูฑาสนมูรติหรือพระวิษณุครุฑพ่าห์นำหน้าทัพหลวงของพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๒ บนผนังระเบียงคดด้านทิศใต้ของปราสาทนครวัดเพียงทัพเดียว ขณะที่ทัพอื่นเป็นรูปหนุมานหรือรูปเทพร่ายรำดังได้กล่าวมาแล้ว เพื่อให้ทรงประสบกับชัยชนะในการพระราชสงครามเหนืออริราชศัตรูเช่นเดียวกับที่พระวิษณุทรงมีชัยเหนือเหล่าอสูร รูปพระวิษณุทรงครุฑยังสัมพันธ์กับการที่พระเจ้าสูรยวรมันที่ ๒ ทรงเลื่อมใสในลัทธิไวษณพอันนับถือพระวิษณุ หรือที่ไทยนิยมเรียกว่าพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าสูงสุด ดังเช่นปราสาทนครวัดเองก็ทรงสร้างขึ้นถวายแด่พระวิษณุ และสอดคล้องกับการเฉลิมพระนามของพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๒ ภายหลังสวรรคตว่าบรมวิษณุโลก๑๓ กาลต่อมาจึงผสานเข้ากับคตินิยมของไทยที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทพและอวตารของพระนารายณ์กลายมาเป็นธงชัยพระครุฑพ่าห์คู่กันกับธงชัยราชกระบี่ยุทธ

ธงชัยราชกระบี่ยุทธและธงชัยพระครุฑพ่าห์น้อย

ตามประวัติกล่าวว่า พระกลั่น เจ้าอาวาสวัดพระประโทณเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ขุดพบแผ่นสัมฤทธิ์ฉลุลายจากบริเวณลานวัด เป็นรูปครุฑและกระบี่อย่างละแผ่น ด้านหลังมีห่วงใหญ่ที่ตอนบน ๑ ห่วง และมีห่วงเล็กอยู่ด้านล่าง ๒ ห่วง พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม (ชม) ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครไชยศรีได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะเสด็จพระราชดำเนินยังพระปฐมเจดีย์ในงานเฉลิมพระราชมณเฑียรพระราชวังสนามจันทร์ และสมโภชพระปฐมเจดีย์ เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม รัตนโกสินทร ศก ๑๒๙ หรือตรงกับพุทธศักราช ๒๔๕๓              

บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์เมื่อทอดพระเนตรต่างทรงเห็นพ้องว่าแผ่นสัมฤทธิ์ทั้งสอง ควรนำมาติดตรึงไว้เป็นด้ามธงชัยราชกระบี่ยุทธและธงชัยพระครุฑพ่าห์ แต่เนื่องจากมีธงชัยทั้ง ๒ ธงอยู่แล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ (พระยศในขณะนั้น) จึงทรงเสนอให้สร้างเป็นธงขนาดย่อมสำหรับใช้เชิญนำเสด็จพระราชดำเนินในกระบวนม้า๑๔ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ (พระยศในขณะนั้น) ทรงออกแบบด้ามธงประกอบ และให้พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เป็นผู้จัดทำตามแบบทูลเกล้าฯ ถวาย 

คันธงชัยทั้ง ๒ ธงทำจากไม้ชัยพฤกษ์เป็นไม้มงคลนาม อันมีนัยหมายถึงชัยชนะทั้งมีน้ำหนักเบาสามารถถือเชิญบนหลังม้าได้มีเชือกผูกไว้ที่ด้ามสำหรับคล้องแขนผู้เชิญยอดธงเป็นทวนคร่ำทองกาบธงผูกแพนหางนกยูงสอดลงในช่องหลังกาบมีแผ่นสัมฤทธิ์กระบี่และครุฑพ่าห์ติดที่โคนกาบเหมือนกันทั้ง ๒ ธง ภายในผืนธงแนบผ้าขาวลงยันต์และอักขระตามแบบธงชัยราชกระบี่ยุทธใหญ่และธงชัยพระครุฑพ่าห์ใหญ่ ซึ่งพระครูสุทธธรรมสมาจารเจ้าอาวาสวัดประดู่เป็นผู้ประกอบพิธีที่อุโบสถวัดตูมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ในวันตั้งน้ำวงด้ายเริ่มการพระราชพิธีฉินท์ พุทธศักราช ๒๔๕๓ ได้เชิญธงชัยน้อยทั้งคู่ตั้งไว้บนราวข้างพระแท่นมณฑลสำหรับจะได้เชิญขึ้นผูกเสาพระแท่นมณฑลเข้าพระราชพิธีพร้อมกับพระฤกษ์จุดเทียนชัยในวันรุ่งขึ้น เมื่อจุดเทียนชัยแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรดน้ำพระมหาสังข์และเจิมธงทั้งคู่นั้น แล้วเชิญไปผูกที่เสาคู่หน้าของพระแท่นมณฑลแทนธงชัยราชกระบี่ยุทธ ธงชัยพระครุฑพ่าห์ใหญ่ที่นำไปผูกเสาคู่หลังพระแท่น๑๕ ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญธงชัยน้อยทั้งคู่ไปถวายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระยศในขณะนั้น) เพื่อให้ทรงจารึกพระคาถาด้านหลังแผ่นสัมฤทธิ์ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร หลวงญาณปรีชา (ร้อง) เจ้ากรมราชบัณฑิต เจริญรอยพระหัตถ์ที่ทรงจารึกพระคาถาด้วยเหล็กจาร เสร็จแล้วพระมหาราชครูพราหมณ์เจิมธงชัยทั้งคู่ให้เจ้าพนักงานเชิญกลับพระบรมมหาราชวัง๑๖

ปัจจุบันเชิญธงชัยราชกระบี่ยุทธน้อยและธงชัยพระครุฑพ่าห์น้อยนำรถยนต์พระที่นั่งในการตรวจพลสวนสนามในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นประจำทุกปีมีทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เป็นผู้เชิญธงชัยพระครุฑพ่าห์ทางด้านขวาและธงชัยราชกระบี่ยุทธทางด้านซ้ายบนรถยนต์ ๒ คัน ซึ่งนำขบวนรถยนต์พระที่นั่งรวมทั้งเชิญนำเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีใหญ่เช่นพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระราชทานเพลิงพระศพ เป็นต้น มีนายทหารราชองครักษ์เป็นผู้เชิญ

ธงชัยราชกระบี่ยุทธน้อย ผืนธงเป็นแพรแดงสี่เหลี่ยมจัตุรัสปักไหมรูปหนุมานกายสีขาวในท่าเหาะเหินหันหน้าเข้าหายอดธง ผืนธงมีห่วงสำหรับผูกติดกับยอดธงซึ่งเป็นทวนคร่ำทองสวมเข้ากับคันธงโลหะ กาบธงเป็นซองรูปกลีบบัวกรุผ้าสีน้ำตาลขอบทองสำหรับสอดแพนหางนกยูงโคนกาบติดแผ่นสัมฤทธิ์รูปกระบี่ของโบราณและมีกาบสัมฤทธิ์รูปเดียวกันติดไว้ด้านตรงข้ามประกบด้วยกาบสัมฤทธิ์ที่ด้านข้าง มีแผ่นโลหะลายก้านต่อดอกในทรงสามเหลี่ยมและวงแหวนประกอบกระจังกะไหล่ทองรองรับกาบแพนไว้กาบแพนต่อกับด้ามธงไม้ชัยพฤกษ์

สำหรับกาบสัมฤทธิ์รูปกระบี่ของโบราณอยู่ในรูปเรือนแก้วทรงกลีบบัว กรอบซุ้มด้านในเรือนแก้วเป็นลำตัวนาคติดใบระการูปใบไม้ม้วนฉลุโปร่ง ปลายซุ้มเรือนแก้วเป็นรูปนาคเศียรเดียว ภายในเรือนแก้วตอนบนเป็นรูปหนุมานในท่าเหาะหันข้างมีรูปอสูร ๒ ตนรูปร่างล่ำสันแบกไว้ พื้นหลังฉลุโปร่งเป็นหางนาคเกี่ยวกระหวัดกัน

ธงชัยราชกระบี่ยุทธน้อยและธงชัยพระครุฑพ่าห์น้อย นำเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ท่าราชวรดิฐ หลังเสร็จสิ้นการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. ๒๔๖๘ (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ธงชัยพระครุฑพ่าห์น้อย มีลักษณะใกล้เคียงกับธงชัยราชกระบี่ยุทธ ต่างกันเฉพาะผืนธงสีของกาบธงและกาบรูปสัมฤทธิ์ ผืนธงเป็นแพรเหลืองปักไหมรูปครุฑเอี้ยวข้างกายสีแดงหันเข้าหายอดธง กาบธงกรุผ้าสีดำรูปสัมฤทธิ์ ที่โคนกาบเป็นรูปครุฑทรวดทรงและการประดับตกแต่งใกล้เคียงกับกาบสัมฤทธิ์รูปหนุมาน ต่างกันที่เป็นครุฑอัดปีกสั้นรูปร่างล่ำสันฉวยนาคไว้ในมือเท้าเหยียบบนเอวของอสูร ๒ ตนที่ชูมือขึ้นคว้าหางนาคอันเกี่ยวกระหวัดรัดกันเป็นพื้นหลังฉลุโปร่งของกาบสัมฤทธิ์

สำหรับแพนหางนกยูงที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบประกอบธง น่าจะทรงนำแนวคิดมาจากมยุรหัตถ์เป็นแพนหางนกยูงต่อด้ามยาวใช้เป็นเครื่องสูงของกษัตริย์กัมพูชาโบราณ ดังปรากฏในภาพสลักพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๒ ที่ผนังระเบียงคดด้านทิศใต้ของปราสาทนครวัด

ธงมหาราช

ธงมหาราชเป็นธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ จัดอยู่ในประเภทธงพระอิสริยยศตามพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๕๒๒ ลักษณะเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นสีเหลือง กลางธงเป็นรูปพระครุฑพ่าห์สีแดง๑๗

ธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์เริ่มมีเป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงพระราชดำริว่าเมื่อเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนเรือหลายลำ ราษฎรผู้ประสงค์จะถวายความเคารพไม่อาจสังเกตได้ว่าเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งลำใด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำธงสำหรับพระองค์ขึ้น พื้นนอกมีสีแดง พื้นในสีขาบ ตรงกลางเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎประกอบฉัตรเครื่องสูง ๗ ชั้นทั้ง ๒ ข้าง สำหรับเชิญขึ้นบนเสาเรือพระที่นั่งเป็นที่หมายว่าได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งลำนั้นแล้ว และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญขึ้นบนยอดเสาธงในพระบรมมหาราชวังด้วย แต่หากมิได้ประทับในพระนครแล้วก็จะเชิญธงไอยราพตขึ้นแทน๑๘ ธงรูปพระมหามงกุฎนี้เรียกกันเป็นสามัญในขณะนั้นว่าธงจอมเกล้า๑๙

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อได้ทรงตราพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยามรัตนโกสินทร ศก ๑๑๐ หรือตรงกับพุทธศักราช ๒๔๓๔ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับธงฉบับแรกของสยามเพื่อเป็นแบบแผนในการใช้ธงต่างๆ ให้ถูกต้องนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงสำหรับพระองค์เช่นกัน แต่ได้เปลี่ยนนามธงใหม่ว่าธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์และเปลี่ยนรูปแบบของธงใหม่โดยเพิ่มโล่ตราแผ่นดินหรือตราอาร์มแผ่นดิน มีตราจักรีไขว้ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ภายในโล่ตราแผ่นดินช่องบนเป็นช้างเอราวัณสามเศียรพื้นเหลือง หมายถึง ดินแดนสยามเหนือ กลาง และใต้ ช่องล่างด้านขวาเป็นรูปช้างเผือกพื้นชมพูเป็นสัญลักษณ์ของดินแดนลาว และช่องล่างข้างซ้ายเป็นรูปกริชไขว้กันบนพื้นแดง หมายถึง มลายูประเทศ มีแท่นรองโล่และฉัตรเครื่องสูง ๗ ชั้นบนพื้นเหลือง เพื่อให้เป็นเครื่องหมายแห่งธงเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสยามินทร์แต่เพียงพระองค์เดียว ธงนี้หากเชิญขึ้นในที่แห่งใดก็เป็นที่หมายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ณ ที่แห่งนั้น หากประทับในเรือพระที่นั่งหรือเรือรบแล้วต้องเชิญขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือนั้นเสมอ๒๐

กาลต่อมาได้ทรงตราพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๖ใหม่ เปลี่ยนนามธงจากธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์เป็นธงมหาราชโดยยังคงลักษณะของธงรวมทั้งความหมายไว้เช่นเดิม เพียงแต่กำหนดขนาดและสัดส่วนของธงเพิ่มเติมเข้ามา๒๑ มีข้อกำหนดเพิ่มเติมว่าเมื่อนายทหารเชิญไปในกระบวนใดให้เป็นที่หมายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนนั้น๒๒ ต่อมาถึงแม้ว่าจะได้ทรงตราพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทร ศก ๑๑๘ขึ้นใหม่อีกครั้ง แบบอย่างธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ก็ยังคงใช้ธงมหาราชแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลงจนกระทั่งสิ้นรัชกาล๒๓

ในรัตนโกสินทรศก ๑๒๙ หรือตรงกับพุทธศักราช ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตราพระราชบัญญัติธงใหม่ เรียกว่าพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร ศก ๑๒๙คราวนี้ได้ทรงเปลี่ยนรูปลักษณ์ของธงมหาราชใหม่กำหนดเป็น ๒ ขนาดคือธงมหาราชใหญ่และธงมหาราชน้อย

ธงมหาราชใหญ่มีขนาดกว้าง ๑ ส่วน ยาว ๑ ส่วน (รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส) ศูนย์กลางเป็นรูปพระครุฑพ่าห์สีแดง คงลักษณะการใช้ไว้เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนธงมหาราชน้อยมีลักษณะเช่นเดียวกับธงมหาราชใหญ่ แต่กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร มีชายต่อขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียว ปลายนั้นกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น รวมทั้งธงมีขนาดกว้าง ๑ ส่วน ปลายครึ่งส่วน ยาว ๑๔ ส่วน ชายตัดเป็นรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๒ ของด้านยาว มีข้อกำหนดการใช้เช่นเดียวกับธงมหาราชใหญ่ แต่ถ้าเวลาใดทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญธงมหาราชน้อยแทนธงมหาราชใหญ่แล้วให้งดยิงสลุตถวายคำนับ๒๔ ข้อกำหนดดังกล่าวยังคงใช้สืบมาจนกระทั่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฏฐมรามาธิบดินทร เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙๒๕ จนถึงการตราพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๕๒๒ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช๒๖เป็นกฎหมายเรื่องธงฉบับล่าสุดที่ใช้อยู่ณปัจจุบัน

ธงมหาราชใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นใหม่ เป็นรูปครุฑสีแดงบนพื้นธงเหลือง โบกสะบัดเหนือเสาธงยอดโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม ในการเฉลิมพระราชมณเฑียรพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต พุทธศักราช ๒๔๕๙ (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ได้เชิญธงมหาราชซึ่งยังมีรูปลักษณ์แบบธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ประกอบด้ามธงขึ้นผูกกับเสาพระแท่นมณฑลภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ๒๗ และเมื่อมีการเปลี่ยนนามและรูปลักษณ์จากธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์เป็นธงมหาราชแล้ว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเชิญธงมหาราชแบบใหม่ขึ้นผูกกับเสาพระแท่นมณฑลแทน๒๘ ถือเป็นพระราชประเพณีปฏิบัติมาจนกระทั่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช๒๙

เป็นที่น่าสังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงลักษณะของธงมหาราชเป็นรูปพระครุฑพ่าห์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คงด้วยพระราชประสงค์เพื่อให้สอดคล้องกับคติของเทวปกรณัมของพราหมณ์ ที่กล่าวถึงการทำไมตรีกันระหว่างพระนารายณ์และพญาครุฑ ต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีฝ่ายใดแพ้ชนะในการต่อสู้กัน จนในที่สุดพระนารายณ์ประทานพรให้พญาครุฑเป็นอมตะ และทรงให้สัญญาว่าจะให้นั่งบนที่สูงกว่าพระองค์ ฝ่ายพญาครุฑก็ยอมอาสาเป็นพาหนะให้กับพระนารายณ์ เหตุนี้ พระนารายณ์จึงทรงครุฑและครุฑเองก็ได้อยู่ในธงที่งอนรถพระนารายณ์อันเป็นที่นั่งสูงกว่า๓๐

ธงชัยราชกระบี่ยุทธน้อย (ขวา) และธงชัยพระครุฑพ่าห์ (ซ้าย) เชิญบนรถยนต์ทางด้านซ้ายและด้านขวาของรถยนต์พระที่นั่ง และเชิญธงมหาราชใหญ่บนเสาธงรถยนต์พระที่นั่ง ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ (ภาพถ่ายโดย จิรวัฒน์ พึ่งสมวงศ์ จากนิทรรศการภาพถ่าย “น้อมรำลึกในหลวง ร.๙”)

ทั้งนี้ การใช้งานธงมหาราชยังนับว่าสอดรับกับคติดังกล่าวด้วย เช่น เมื่อใช้ชักขึ้นสู่ยอดเสาขณะพระมหากษัตริย์ประทับในพระบรมมหาราชวังหรือในพระราชฐาน ย่อมเสมือนหนึ่งว่าพญาครุฑอยู่สูงกว่าพระมหากษัตริย์อันทรงเปรียบเสมือนพระนารายณ์อวตาร เมื่อเชิญไว้ที่เสาธงด้านหน้าทางขวาของรถยนต์พระที่นั่ง หรือบนเสาเรือพระที่นั่งเมื่อเสด็จพระราชดำเนิน ย่อมประหนึ่งว่ามีครุฑทำหน้าที่เป็นพระราชพาหนะในการเสด็จพระราชดำเนิน


เชิงอรรถ

ฉวีงาม มาเจริญ. ๒๕๒๐. ธงไทย. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร), . .

Jaroslav Poncar and Thomas S. Maxwell, Of Gods, Kings, and Men : The Reliefs of Angkor Wat. (Chiang Mai : Silkworm), pp. 140-155.

รวมเรื่องราชาภิเษก ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม พระราชานุกิจ และอธิบายว่าด้วยยศเจ้า, ๒๕๔๑. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร), . .

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ. ๒๕๓๙. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน, ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ ภาคที่ ๑, นฤมล ธีรวัฒน์ ผู้ชำระต้นฉบับ, นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการ. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ), . ๕๔.

... แสงสูรย์ ลดาวัลย์. ๒๕๒๕. กระบวนพยุหยาตรา. (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี) . .

ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. . ๒๔.

ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ เล่ม ภาค ๑๓, ๒๕๐๔. (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา), . ๑๕๖.

Krishna-Dwaipayana Vyasa. 1965. The Mahabharata of Krishna-Dwaipayana Vyasa. 12 vols. Pratap Chandra Roy trans., second edition. (Calcutta : Oriental Publishing), vol. III : pp. 313-323.

Ibid., vol. V, p. 55.

๑๐ ควรสังเกตว่าคำว่ากปิธวัชใกล้เคียงกับชื่อธงชัยกระบี่ธุชเดิมมากกว่าธงชัยราชกระบี่ยุทธที่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระดำริให้เปลี่ยนนามใหม่

กฤษณะไทฺวปายนวฺยาส. ๒๕๑๕. ศรีมัทภควัตคีตา. แปลโดย แสง มนวิทูร. พิมพ์ครั้งที่ ๒. (กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา), . .

N. V. Thadani. 1934. The Mystery of the Mahabharata : The Explanation of the Hero Part. I, vol. 4. (Karachi : Bhrat Publishing House), pp. 302-303.

Jaroslav Poncar and Thomas S. Maxwell. Of Gods, Kings, and Men : The Reliefs of Angkor Wat. p. 137, 148.

ราม วชิราวุธ (นามแฝง). ๒๕๕๐. ประวัติต้นรัชกาลที่ . พิมพ์ครั้งที่ ๓. (กรุงเทพฯ : มติชน), . ๒๒๗๒๒๘.

เรื่องเดียวกัน, . ๓๐๑.

ราชกิจจานุเบกษา, ๒๔๕๔, “พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์,” http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2454/D/29.PDF (สืบค้นเมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙).

สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. ๒๕๔๘. ธงสำคัญของชาติ. (กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ), . ๒๖๓.

ราชกิจจานุเบกษา, ๒๔๔๐, “พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๖,” http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2440/002/29_1.PDF (สืบค้นเมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙).

ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. . ๒๑.

ราชกิจจานุเบกษา, ๒๔๔๐, “พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๖.”

เรื่องเดียวกัน.

เรื่องเดียวกัน.

ราชกิจจานุเบกษา, ๒๔๔๒, “พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร ศก ๑๑๘,” http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2442/039/541_1.PDF (สืบค้นเมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙).

ราชกิจจานุเบกษา, ๒๔๕๓, “พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร ศก ๑๒๙,”http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2453/A/176.PDF (สืบค้นเมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙).

ราชกิจจานุเบกษา, ๒๔๗๙, “พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙,” http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2479/A/865.PDF (สืบค้นเมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙).

ราชกิจจานุเบกษา, ๒๕๒๒, “พระราชบัญญัติธง .. ๒๕๒๒,” http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2522/A/067/1.PDF (สืบค้นเมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙).

จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, ๒๔๖๖. (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร), . .

พระยาประกาศอักษรกิจ. ๒๔๙๒. จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๖๘. (พระนคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม), . .

กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. ๒๔๙๓. ราชกิจจานุเบกษา ฉบับจดหมายเหตุ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมนเทียร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช .. ๒๔๙๓. (พระนคร : กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี), . ๔๙.

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. ๒๕๑๗. เรื่องเทพเจ้าและสิ่งน่ารู้. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ธรรมบรรณาคาร), . ๘๔.


บรรณานุกรม

กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. ๒๔๙๓. ราชกิจจานุเบกษา ฉบับจดหมายเหตุ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมนเทียร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช .. ๒๔๙๓. พระนคร : กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.

กฤษณะไทฺวปายนวฺยาส. ๒๕๑๕. ศรีมัทภควัตคีตา. แปลโดย แสง มนวิทูร. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา.

จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. ๒๔๖๖. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หอพระสมุดสำหรับพระนครรวบรวมพิมพ์พระราชทานในงารเฉลิมพระชนม์พรรษา ปีกุญ พ.. ๒๔๖๖).

ฉวีงาม มาเจริญ. ๒๕๒๐. ธงไทย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.

ทิพากรวงศ์ฯ, เจ้าพระยา. ๒๕๓๙. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน, ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ ภาคที่ ๑. นฤมล ธีรวัฒน์ ผู้ชำระต้นฉบับ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ).

ประกาศอักษรกิจ (เสงี่ยม รามนันทน์), พระยา. ๒๔๙๒. จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๖๘. พระนคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม. (สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์เป็นที่ระลึกในการเชิญพระบรมอัสถิเสด็จคืนเข้าสู่พระนคร พ.. ๒๔๙๒).

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ๒๕๑๗. เรื่องเทพเจ้าและสิ่งน่ารู้. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ธรรมบรรณาคาร.

รวมเรื่องราชาภิเษก ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม พระราชานุกิจ และอธิบายว่าด้วยยศเจ้า, ๒๕๔๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเสริม กรวิทยาศิลป เป็นกรณีพิเศษ ณ ฌาปนสถานวัดมกุฏกษัตริยาราม วันเสาร์ที่ ๑๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑).

ราชกิจจานุเบกษา. ๒๔๕๔. “พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์.” http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2454/D/29.PDF (สืบค้นเมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙).

ราชกิจจานุเบกษา. ๒๔๔๐. “พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๖.” http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2440/002/29_1.PDF (สืบค้นเมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙).

ราชกิจจานุเบกษา. ๒๔๔๒. “พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร ศก ๑๑๘.” http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2442/039/541_1.PDF (สืบค้นเมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙).

ราชกิจจานุเบกษา. ๒๔๕๓. “พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร ศก ๑๒๙.”http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2453/A/176.PDF (สืบค้นเมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙).

ราชกิจจานุเบกษา. ๒๔๗๙. “พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙.” http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2479/A/865.PDF (สืบค้นเมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙).

ราชกิจจานุเบกษา. ๒๕๒๒. “พระราชบัญญัติธง .. ๒๕๒๒.” http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2522/A/067/1.PDF (สืบค้นเมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙).

ราม วชิราวุธ (นามแฝง). ๒๕๕๐. ประวัติต้นรัชกาลที่ . พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : มติชน.

ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ เล่ม ภาค ๑๓, ๒๕๐๔, กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา.

สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. ๒๕๔๘. ธงสำคัญของชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ.

แสงสูรย์ ลดาวัลย์, ... ๒๕๒๕. กระบวนพยุหยาตรา. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี.

Krishna-Dwaipayana Vyasa. 1965. The Mahabharata of Krishna-Dwaipayana Vyasa. 12 vols. Translation by Pratap Chandra Roy. second edition. Calcutta : Oriental Publishing.

Poncar, Jaroslav and Maxwel, Thomas S., 2006. Of Gods, Kings, and Men : The Reliefs of Angkor Wat. Chiang Mai : Silkworm.

Thadani, N. V. 1934. The Mystery of the Mahabharata : The Explanation of the Hero Part. I, Vol. 4. Karachi : Bhrat Publishing House.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 เมษายน 2562