ชีวิตนางในราชสำนักฝรั่ง พลีกายถึงชักใยหลังม่าน เมื่อเรื่องบนเตียงยังมิใช่ไม้เด็ดสุด

ภาพเขียนมาดาม เดอ ปอมปาดูร์ (ซ้าย เขียนโดย François Boucher / กลาง เขียนโดย Jean-Marc Nattier / ขวา เขียนโดย Maurice Quentin de La Tour)

…ค่านิยมการมีนางในในราชสำนักยุโรปนั้น ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่หากจะพอนับย้อนไปได้ก็น่าจะเริ่มขึ้นในช่วงยุคกลาง (ค.ศ. 476-1453) หลังการล่มสลายของกรุงโรมเกือบพันปี

นางในในราชสํานักยุโรปยุคกลางนั้นมีสถานะที่ต่างจาก “เจ้าจอม หม่อมห้าม” ของไทย รวมทั้งนางในของยุโรปในยุคหลังๆ เช่น หลังปฏิวัติฝรั่งเศสอยู่มาก ตรงที่สถานะนี้หมายรวมถึงหญิงที่มีสัมพันธ์กับกษัตริย์ แต่ไม่ได้อภิเษกสมรสกับพระองค์ ในยุคกลางนั้น อํานาจของศาสนจักรคาทอลิกและองค์สันตะปาปายังไม่ถูกแยกออกจากอํานาจการปกครองอาณาจักร

ดังนั้นศาสนจักรจึงสามารถตรวจสอบความเป็นไปที่อาจเป็นภัยต่อศาสนาได้ ฉะนั้นแม้อํานาจเด็ดขาดในการปกครองอาณาจักรจะเป็นของกษัตริย์ แต่ราชสํานักก็ยังต้องยําเกรงอํานาจขององค์สันตะปาปาอยู่ และการมีนางใน การคบชู้ หรือการเป็นโสเภณี ถือเป็นเรื่องบาปมหันต์ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ กระทํากันโดยทั่วไปในยุคนั้น แต่ก็ต้องปกปิดไว้ไม่ให้ความลับรั่วไหลไปถึงศาสนจักร ดังนั้นสถานะนางในจึง “ไม่เป็นทางการ” แต่มีลักษณะคล้ายอนุภรรยามากกว่า ยกเว้นนางในที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการในยุคหลังๆ ซึ่งมักมีได้เพียงคนเดียว นอกจากนี้ หากกษัตริย์มีสัมพันธ์กับผู้หญิงที่มีสามีแล้ว ก็ถือว่าพวกหล่อนเป็นนางในเช่นกัน ดังนั้นไม่ว่าศาสนจักรจะเคร่งครัดเพียงใดก็ยังมีช่องโหว่ให้บรรดาโสเภณีชั้นสูง รวมถึง บุตรสาวและภรรยาของขุนนางผู้มักใหญ่ใฝ่สูงสามารถเดินขวักไขว่เพื่อรอโอกาสถวายตัวได้

อังกฤษ

นางในแห่งอังกฤษในยุคกลางที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งเห็นจะเป็น อลิซ เพอร์เรอร์ส (Alice Perrers) หล่อนเป็นนางในของกษัตริย์เอดเวิร์ดที่ 3 (King Edward III – ครองราชย์ ค.ศ. 1327-77) และขึ้นชื่อเรื่องความโลภโมโทสัน อีกทั้งเชี่ยวชาญในการใช้คารมหว่านล้อมกษัตริย์ และกุมอํานาจการปกครองมาไว้ในมือ หล่อนใช้ตําแหน่งในช่วง 10 ปีสุดท้าย ในการครองราชย์ของกษัตริย์เอดเวิร์ดที่ 3 ฉ้อโกงทรัพย์สินในท้องพระคลัง หรือแม้กระทั่งขโมยเครื่องประดับเลอค่าจากร่างของกษัตริย์ที่กําลังจะสิ้นพระชนม์

กว่าราชสํานักจะรู้พฤติกรรมอันฉ้อฉล และมีคําสั่งให้ยึดทรัพย์สมบัติคืน ก็ผ่านเลยไปหลายปีจนกระทั่งหล่อนกลายเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่สุดในอังกฤษแล้ว

ฝรั่งเศส

ในยุคไล่เลี่ยกัน ราชสํานักฝรั่งเศสก็มีนางในคนหนึ่งที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองเช่นกัน นั่นก็คือ แอกเนส ซอเรล (Agnes Sorel) หล่อนสามารถเกลี้ยกล่อมกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส (King Charles VII – ครองราชย์ ค.ศ. 1422-61) ผู้เฉื่อยชาให้ส่งทหารไปขับไล่ผู้บุกรุกชาวอังกฤษให้พ้นไปจากดินแดนฝรั่งเศสได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหล่อนจะใช้อํานาจครอบงํากษัตริย์ แต่ก็นับได้ว่าในช่วงที่หล่อนยังมีชีวิตในฐานะชู้รัก เพื่อนสนิท และที่ปรึกษาของกษัตริย์นั้น ฝรั่งเศสในยุคสมัยของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 7 เป็นที่น่าเกรงขามในสายตาคนต่างชาติมากกว่าตอนที่พระองค์ปกครองประเทศโดยไร้เงาของหล่อนเสียอีก

เรื่องราวของนางในเป็นที่รู้จักและเปิดเผยมากขึ้นเมื่อล่วงถึงยุคเรอเนสซองส์ (คริสต์ศตวรรษที่ 14-16) ซึ่งเป็นยุคที่นําภูมิปัญญาโบราณกลับมาสู่ ยุโรปอันดํามืดอีกครั้ง การคิดค้นแท่นพิมพ์ของโยฮันเนส กูเตนแบร์ก (Johannes Gutenberg) ทําให้เริ่มมีการตีพิมพ์หนังสืออย่างแพร่หลาย ผลก็คือชนชั้นสูงสามารถอ่านออกเขียนได้มากขึ้น ก่อเกิดงานอดิเรกซึ่งได้รับความนิยมในราชสํานัก นั่นก็คือการเขียนจดหมาย และการเขียนบันทึกประจําวัน

ฉะนั้น เรื่องอื้อฉาวที่เคยเป็นเพียงแค่การซุบซิบนินทากันปากต่อปาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความต้องการกามารมณ์ไม่รู้จักพอของกษัตริย์ ความระทมขมขื่นของพระราชินี และเล่ห์เหลี่ยมมารยาของบรรดานางในก็มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร จดหมายโต้ตอบส่วนตัวของเหล่ากษัตริย์ และนางใน รวมถึงบันทึกประจําวันของเหล่าข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดบางส่วนหลุดรอดจากเปลวเพลิง น้ำท่วม ปลวกแทะ และการจงใจทําลายล้าง ทําให้คนรุ่น หลังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ในมุมมองที่ต่างออกไปผ่านเรื่องรักๆ ใคร่ๆ เหล่านี้

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 ตําแหน่งของนางในนั้นมีสถานะเกือบเป็นทางการเทียบเท่านายกรัฐมนตรี นอกจากการปรนเปรอทางเพศแล้ว พวกหล่อนยังต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างอื่น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนเป็นตําแหน่ง เงินปี เกียรติยศ และฐานะอันทรงอิทธิพลในราชสํานัก ต้องใช้ทั้งศิลปะ การละคร วรรณคดี ดนตรี สถาปัตยกรรม และปรัชญา ทั้งยังต้องใช้เสน่ห์เป็นดังอาวุธ ต่อกรกับทูตต่างประเทศ คอยระงับอารมณ์โกรธของกษัตริย์ ปลุกปลอบให้พระองค์ร่าเริงเมื่อทรงเป็นทุกข์ ปลุกเร้าพระองค์ให้แข็งแกร่งเมื่อทรงอ่อนแอ เข้าร่วมพิธีทางศาสนาทุกวัน ให้ทานแก่คนจน และส่งอัญมณีคืนสู่ท้องพระคลังในยามสงคราม เป็นต้น

กษัตริย์ฟรองซัวส์ที่ 1 แห่งฝรั่งเศส (Francois I- ครองราชย์ ค.ศ. 1515-47) เป็นกษัตริย์องค์แรกที่แต่งตั้งนางในคนโปรดเป็นสนมเอก (maitresseentitre) หรือนางในประจําราชสํานัก เพื่อเป็นการยืนยันสถานะของพวกหล่อนว่ามีเกียรติมากกว่าโสเภณีชั้นสูง ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 16 นางในในราชสํานักฝรั่งเศสทรงอํานาจยิ่งกว่าราชสํานักอื่นใดในยุโรป และยืนยาวเกือบ 200 ปี ไดแอน เดอ บัวติเยร์ (Diane de Poitiers) นางในของกษัตริย์อองรีที่ 2 (Henri II- โอรสของกษัตริย์ฟรองซัวส์ที่ 1) ได้เป็นถึงสมาชิกสภาของฝรั่งเศส หล่อนมีส่วนในการออกกฎหมายและกําหนดภาษีทั้งยังลง นามร่วมกับกษัตริย์ในคําสั่งต่างๆ ในนามอองรี ไดแอน (Henri-Diane) อีกด้วย

ส่วน กาบริเอล เดสตรีส์ (Gabrielle dEstrees) นางในของกษัตริย์อองรีที่ 4 (Henri IV) เป็นอีกคนที่เข้าร่วมในสภาออกกฎหมาย ต้อนรับทูต และมีส่วน ช่วยในการยุติสงครามศาสนากลางเมือง

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 บทบาทของนางในกับเกมการเมืองนั้น กลายเป็นของคู่กัน จะขาดเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปมิได้ กระทั่งราชอาณาจักรเยอรมนีซึ่งเคร่งครัดในขนบธรรมเนียมก็ยังดําเนินรอยตามฝรั่งเศส เจ้าชายเฟรดเดอริกที่ 3 (Frederick III) ผู้ครองแคว้นแบรนเตนเบิร์ก ที่เกรงใจพระชายาและชิงชังการนอกใจก็ยังแต่งตั้งนางในราชสํานักขึ้นเป็นสนมอย่างเป็นทางการ และพระราชทานอัญมณีให้มากมาย

สเปน

แม้ว่าพระองค์จะไม่เคยแตะต้องหล่อนเลยก็ตาม อย่างไรก็ตาม สถานะของนางในของราชสํานักสเปนกลับแตกต่างจากฝรั่งเศสและเยอรมนีโดยสิ้นเชิง พวกนางไม่มีตําแหน่งอันเป็นที่ยอมรับ ไม่มีหวังที่จะไขว่คว้าอํานาจใดๆ ในราชสํานัก ได้ปูนบําเหน็จเพียงน้อยนิด มิหนําซ้ำชีวิตหลังปลดระวาง ยิ่งน่ารันทด เพราะต้องถูกขับไปอยู่สํานักนางชี เนื่องจากกษัตริย์สเปนนั้นถือเป็นสมมติเทพ ฉะนั้นหญิงที่เคยพลีกายรับใช้กษัตริย์จึงกลายเป็นของต้องห้ามที่สามัญชนมิอาจแตะต้องได้

มาดาม เดอ ปอมปาดัวร์ ถึงมาดาม ดู บาร์รี

นางในที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์คนหนึ่งซึ่งกล่าวถึงในหนังสือ Sex with Kings ก็คือ มาดาม เดอ ปอมปาดัวร์ (Madame de Pompadour) มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 1721-64) นางในของกษัตริย์หลุยส์ที่ 15 (Louis XVครองราชย์ ค.ศ. 1715-74) มาดาม เดอ ปอมปาดัวร์ เป็นบุตรสาวของคหบดี ซึ่งกําลังจะล้มละลาย หล่อนพบรักกับกษัตริย์หลุยส์ที่ 15 ในงานแฟนซีสวมหน้ากากที่พระราชวังแวร์ซายส์เมื่อปี ค.ศ. 1745

มาดาม เดอ ปอมปาดัวร์ ผู้มีนัยน์ตาสีเขียว อีกทั้งงามสง่าและฉลาดเฉลียว ทําให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 พึงพอใจอย่างยิ่ง พระองค์แต่งตั้งให้หล่อนเป็นสนมเอก ส่งผลให้หล่อนมีอิทธิพลต่อนโยบายต่างประเทศของฝรั่งเศส รวมทั้งในวงการทหาร หล่อนเขียนจดหมายนับไม่ถ้วนถึงเหล่านายพล กระทั่ง คนฝรั่งเศสแอบลือกันว่ามาดามผู้นี้นี่แหละคือนายกรัฐมนตรีตัวจริง หล่อนปกครองฝรั่งเศสอยู่เบื้องหลังถึง 19 ปี สนับสนุนศิลปินและนักเขียนสร้าง ละครเวที ลงทุนในอุตสาหกรรมของฝรั่งเศส ออกแบบชาโต้ เจียระไนอัญมณี สร้างงานแกะสลัก ทดลองผสมพันธุ์พืช อีกทั้งมีส่วนในการบัญชาการรบในสงคราม 7 ปีอีกด้วย (สงครามระหว่างอังกฤษ กับฝรั่งเศสในช่วงปี ค.ศ. 1756-63)

อย่างไรก็ตาม มาดาม เดอ ปอม ปาดัวร์ แตกต่างจากนางในโดยทั่วไปที่ใช้ความช่ำชองทางเพศเป็นบันไดไต่เต้าขึ้นสู่อํานาจและรักษาสถานะของตนไว้ มีหลักฐานบางอย่างชี้ชัดว่าหล่อนมีอาการเฉื่อยชาในเรื่องเพศ นอกจากนี้ยังป่วยกระเสาะกระแสะ และถึงกับเคยเป็นโรคติดเชื้อในช่องคลอดเรื้อรังเสียด้วยซ้ำ ด้วยความที่กษัตริย์หลุยส์ที่ 15 เป็นผู้กระหายความใคร่และเริงรมย์กับการร่วมรักได้วันละหลายๆ ครั้ง มาดาม เดอ ปอมปาดัวร์ จึงต้องเสแสร้งสนุกไปกับการออกแรงของพระองค์ และเฝ้ารอให้เสร็จกิจโดยเร็ว เมื่อเป็นเช่นนี้หล่อนจึงกังวลอย่างมาก ด้วยกลัวว่ากษัตริย์จะทรงเบื่อหน่ายและหาคนอื่นมาแทนที่หล่อนจึงพยายามทําทุกวิถีทางตั้งแต่การกินยาบํารุงเพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ แต่ก็ไม่ใคร่ได้ผลนัก

จนกระทั่ง ดัชเชส เดอ บรังกาส์ (Duchesse de Brancas) เพื่อนสนิทของหล่อนชี้ทางสว่างให้ว่าต้องทําดีกับกษัตริย์อย่างสม่ำเสมอ อย่าบอกปัดในเวลาที่พระองค์ต้องการ และปล่อยให้เวลาดําเนินไปตามวิถีของมัน แล้วในที่สุดพระองค์ก็จะผูกพันกับหล่อนด้วยอํานาจของความเคยชิน ด้วยเหตุนี้ มาดาม เดอ ปอมปาดัวร์ จึงเปลี่ยนความรักให้กลายเป็นมิตรภาพอันล้ำลึกอย่างชํานิชํานาญ

หล่อนแสดงบทบาทที่ปรึกษาทางการเมืองผู้มีไหวพริบ และยังสร้างภาพของตนเองไว้ทุกหนแห่ง ไม่ว่ากษัตริย์หลุยส์จะเสด็จที่ไหนก็จะเห็นสัญลักษณ์ของหล่อนเสมอ อาทิ ภาพเขียนรูปเหมือนของนางที่ติดประดับแทบทุกผนัง ผ้าม่านทุกพื้นที่หล่อนเป็นผู้เลือกหามา ถ้วยชามกระเบื้องต่างๆ เป็นสิ่งที่หล่อนจัดสรร แม้ว่าจะหยุดมีความสัมพันธ์ทางเพศกับกษัตริย์หลุยส์ที่ 15 ทว่า มาดาม เดอ ปอมปาดัวร์ ก็ยังสามารถรักษาตําแหน่งสนมคนโปรดไว้จนกระทั่งเสียชีวิตลงในวัย 42 ปี

หลังจาก มาดาม เตอ ปอมปาตัวร์ เสียชีวิตลง อํานาจทางการเมืองของหล่อนก็สืบต่อไปยัง มาดาม ดู บาร์รี (Madame du Barry หรือ Jeanne du Barry – มีชีวิตในช่วงปี ค.ศ. 1743-93) อย่างไรก็ตาม นางในของกษัตริย์หลุยส์ที่ 15 (ในวัย 60 พรรษา) ผู้นี้แตกต่างจากมาดาม เดอ ปอมปาดัวร์ อย่างสิ้นเชิง ในขณะที่สนมเอกคนเก่านั้นเฉยชาเรื่องเพศ แต่ มาดาม ดู บาร์รี่ กลับเป็นหนึ่งในนางโลมที่ชําซองที่สุดแห่งยุค

นางสามารถตอบสนองความต้องการของกษัตริย์หลุยส์ในวัยชราที่ไม่ได้ต้องการสตรีผู้เปรื่องปราดอยู่ข้างกายอีกต่อไปแล้ว แต่ต้องการเพียงหาความสําราญด้านเพศรสเพื่อทําให้รู้สึกได้ว่าพระองค์ยังหนุ่มแน่น และโชคชะตาก็ชักนําพระองค์มาพบกับฌาน ดู บาร์รี นางโลมชาวปารีส ซึ่งเป็นนางในคนสุดท้ายของพระองค์

ว่ากันว่าการปรากฏตัวอย่างพอเหมาะพอเจาะหลังจากที่ มาดาม เดอ ปอมปาดัวร์ เสียชีวิตไปแล้ว 4 ปี ทําให้สาวผมบลอนด์แสนสวยผู้นี้กลายเป็นดาวจรัสแสงขึ้นมา หล่อนเป็นที่โปรดปรานเพราะช่วยนํากษัตริย์หลุยส์ที่ 15 กลับคืนสู่ชีวิตอันเกษมสําราญอีกครั้ง มีผู้บันทึกไว้ว่า ดยุคแห่งริชาลู (duc de Richelieu) เคยเริงรมย์กับมาดาม ดู บาร์รี และแนะนํานางให้กับกษัตริย์ผู้กําลังซึมเศร้า และหลังการร่วมรักกันครั้งแรกกษัตริย์หลุยส์ที่ 15 ถึงขนาด ตรัสกับดยุคแห่งริชาลูว่า ฌาน ดู บาร์รี เป็นหญิงสาวเพียงคนเดียวในฝรั่งเศสที่ทําให้พระองค์ลืมว่ามีพระชนมายุ 60 พรรษาแล้ว

กษัตริย์หลุยส์ที่ 15 หลงใหล มาดาม ดู บาร์รี อย่างถอนตัวไม่ขึ้น แม้บรรดาขุนนางผู้ใกล้ชิดจะย้ำเตือนว่า ความช่ำชองของนางนั้นหมายถึงนางผ่าน ผู้ชายมามากหน้าหลายตา ทั้งยังอายุน้อยเกินไป และไม่คู่ควรที่ชายใดจะมาขอแต่งงานเสียด้วยซ้ำ แต่พระองค์ก็ไม่ทรงฟังเสียงทัดทานของใคร แม้ในบั้นปลายชีวิตที่ร่างของพระองค์ปรุไปด้วยฝีดาษ พระองค์ก็ยังไม่สามารถละทิ้งความมักมากในกามารมณ์และโหยหามาดาม ดู บาร์รี ได้ หลังจากกษัตริย์หลุยส์ที่ 15 เสด็จสวรรคต สถานะของมาดาม ดู บาร์รี ก็ถูกลดทอนความสําคัญลง นางออกจากราชสํานักในช่วงต้นรัชสมัยกษัตริย์หลุยส์ที่ 16 และถูกจับประหารชีวิตในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสนั่นเอง

ก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส (The French Revolution : ค.ศ. 1789) หนังสือพิมพ์จะถูกเซ็นเซอร์อย่างเข้มงวด แต่ด้วยอิสรภาพทางการพิมพ์ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ ๑๙ หนังสือ พิมพ์จึงกล้าตีพิมพ์เรื่องราวอันอื้อฉาวในราชสํานัก มีการ์ตูนล้อเลียนกษัตริย์และนางใน ทําให้ราชวงศ์ต้องระมัดระวัง เรื่องความสัมพันธ์ฉันชู้สาวมากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้จะเกิดการปฏิวัติ รวมทั้งขนบธรรมเนียมบางอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ทว่าความต้องการทางเพศของกษัตริย์กลับไม่เคยเปลี่ยน นางในยังคงมีอยู่ตาษดื่น กระนั้นนางในยุคศตวรรษที่ 19 เหล่านี้ก็ไม่ได้คาดหวังยศถาบรรดาศักดิ์เหมือนนางในยุคก่อนหน้าที่โชคดีกว่าพวกหล่อนไม่มีทางได้เป็นดัชเชสหรือเคาน์เตส ไม่ได้รับตําหนัก หรือปราสาท ไม่มีเงินปี ไร้ที่นั่งในสภา ไม่มีห้องหรูหราในพระราชวัง

ความหวังที่พอจะมีได้ก็เพียงแค่บ้านหลังงามในเมือง มีเครื่องประดับติดตัวสักเล็กน้อย สามารถสั่งซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นล่าสุดได้ และยังมีกลิ่นอายของ อํานาจล้นเหลือเพื่อให้ได้รับเชิญไปงานเลี้ยงหรูหราบ้างเท่านั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

อาทิตย์ทิพอาภา, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า, ประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส, สํานักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544.

Herman, Eleanor, Sex with Kings. Harper Collins, 2004. (ฉบับภาษา ไทยใช้ชื่อ นางในกษัตริย์ แปลโดยโตมร ศุขปรีชา สํานักพิมพ์มติชน)

www.answers.com

www.eleanorherman.com

www.encyclopedia.com

www.madamedepompadour.com


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ตีแผ่ชีวิตนางใน ในราชสำนักฝรั่ง (ย้อนหลังไป 500 ปี)-ตอนที่ 1” เขียนโดย วารยา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2553


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาครั้งล่าสุดเมื่อ 23 เมษายน 2562