ผู้เขียน | ปิยนันท์ จำปีพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
14 พฤษภาคม ค.ศ. 1955 การลงนาม “องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ” (สนธิสัญญาวอร์ซอ) เครื่องมือรักษาอำนาจนำในโลกคอมมิวนิสต์ของ สหภาพโซเวียต”
หลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 มหาอำนาจเดิมในยุโรปทั้ง อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือผู้แพ้สงครามอย่างเยอรมนี มีบทบาทลดลง เพราะต้องฟื้นฟูประเทศที่เสียหายอย่างหนักจากสงคราม ส่วนประเทศอื่นๆ ในยุโรปที่เป็นสนามรบเกือบทั้งทวีปก็เสียหายไม่แพ้กัน เศรษฐกิจที่พังทลายก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทั้งยุโรปต้องเผชิญ
การที่มหาอำนาจถูกลดบทบาทจากปัญหาดังกล่าว ทำให้มหาอำนาจใหม่เกิดขึ้น 2 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา และ สหภาพโซเวียต ทั้งสองประเทศนี้ถือเป็นกำลังหลักที่สามารถเอาชนะเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่สองได้ โดยฝั่งสหรัฐฯ สามารถทำการยึดคืนพื้นที่ทางยุโรปตะวันตกได้ และโซเวียตก็ยึดคือพื้นที่ทางตะวันออกได้ และความเสียหายทางเศรษฐกิจในประเทศก็ไม่ได้พังทลายเหมือนประเทศอื่นๆ
การขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของสองประเทศนี้ แลกมาด้วยความขัดแย้งในรูปแบบ “สงครามเย็น” ที่โลกถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ โลกทุนนิยม และ โลกคอมมิวนิสต์ เริ่มเห็นได้ชัดในกรณีการปิดล้อมเบอร์ลิน (Berlin Blockade) ในช่วง ค.ศ. 1948-1949 นับเป็นการเผชิญหน้ากันครั้งแรกในสงครามเย็น และเป็นภาวะหมิ่นเหม่ที่อาจทำให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ได้
การปิดล้อมเบอร์ลินทำให้ฝ่ายพันธมิตรตะวันตกเริ่มเห็นท่าทีเป็นปฏิปักษ์ของสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศบริวารในยุโรปตะวันออก สหรัฐฯ เชิญแคนาดาและประเทศในภาคีสนธิสัญญาบรัสเซลล์อีก 7 ประเทศ ตามมาด้วย นอร์เวย์, เดนมาร์ก, ไอซ์แลนด์ อิตาลี และโปรตุเกส รวม 12 ประเทศ จัดทำองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต (NATO Pact) ใน ค.ศ. 1949 โดยเป็นความร่วมมือทางทหาร มีเป้าหมายเพื่อป้องกันการขยายตัวของภัยคอมมิวนิสต์ที่มีโซเวียตเป็นผู้นำ
สหรัฐฯ ยังให้ความช่วยเหลือประเทศในยุโรปเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศหลังสงครามภายใต้แผนการมาร์แชล (Marshall plan) เพื่อดึงดูดให้ประเทศในยุโรปเข้าหาฝ่ายทุนนิยม ทำให้โซเวียตและกลุ่มประเทศตะวันตกจำเป็นต้องกระทำการบางอย่างไม่ให้รัฐในบริวารไปเข้ารับความช่วยเหลือจากแผนการมาร์แชล โดยการจัดตั้ง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจคอมิคอน (Comecon) ซึ่งเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์
ฝ่ายโซเวียตมีการเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนกำลังออกจากตะวันตก แต่กลุ่มพันธมิตรตะวันตกให้ความสำคัญกับปัญหาเบอร์ลินมากกว่า และละเลยข้อเรียกร้องของโซเวียต ใน ค.ศ. 1953 นิกิตา ครุสชอฟ ขึ้นมาเป็นเลขาธิการใหญ่แห่งโซเวียต มีนโยบายสร้างความร่วมมือกันในกลุ่มประเทศบริวารของโซเวียต รวมไปถึงด้านการทหาร โดยในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1955 มีการลงนามความร่วมมือทางทหารในสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ มีสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ โซเวียต, บัลแกเรีย, เชโกสโลวาเกีย, เยอรมนีตะวันออก, ฮังการี, โปแลนด์, โรมาเนีย, และแอลเบเนีย (ถอนตัวออกจากสนธิสัญญาเนื่องจากเกิดความขัดแย้งกับโซเวียตใน ค.ศ. 1968)
สนธิสัญญาวอร์ซอ มีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างดุลอำนาจทางทหารตอบโต้องค์การนาโต มีใจความสำคัญคือหากประเทศใดประเทศหนึ่งในภาคีถูกรุกราน ให้ถือว่าเป็นภารกิจของทุกประเทศในภาคีที่จะต้องตอบโต้ เพื่อการสร้างดุลอำนาจทางทหาร นับว่าเป็นการตอบโต้ความหวาดกลัวด้วยการสร้างความหวาดกลัวให้อีกฝ่าย
กองทัพวอร์ซอไม่เคยเผชิญหน้ากับกองทัพนาโตโดยตรง การปฏิบัติการของกองทัพวอร์ซอที่เคยเกิดขึ้นได้แก่การเข้าปราบปรามการลุกฮือในฮังการี ซึ่งมาจากการที่ อิมเร นอจ (Imre Nagy) นายกรัฐมนตรีฮังการี ที่โซเวียตแต่งตั้งเข้ามาจากนโยบายทำลายสตาลินของครุสชอฟ ถูกจับกุมตัวจากรัฐบาลราโคซี ที่นิยมสตาลิน ทำให้เกิดเหตุการณ์ชุมนุมต่อต้านราโคซี ต่อมาโซเวียตได้ตั้ง เอียร์โน เกโร ที่นิยมสตาลินเช่นเดียวกันเป็นนายกรัฐมนตรีแทนที่ราโคซี แต่ประชาชนก็ยังไม่พอใจและประท้วงกันต่อไป
เมื่ออิมเร นอจ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เขาได้ให้เสรีภาพทางการเมืองแก่ประชาชนมาก ทั้งยังมีความต้องการจะนำฮังการีถอนตัวจากสนธิสัญญาวอร์ซอ ทำให้โซเวียตมองว่าเป็นการกบฏต่อค่ายคอมมิวนิสต์ จึงได้ปลดอิมเร นอจ ออกจากตำแหน่ง (ถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมา) ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1956 และได้ส่งกองทัพวอร์ซอมาปราบปรามจลาจลในกรุงบูดาเปสต์ถึง 15 กองพล ผลคือเกิดการนองเลือดและมีผู้เสียชีวิตกว่า 2,500 คน
อีกกรณีคือเหตุการณ์ ใบไม้ผลิในกรุงปราก หรือ “Prague Spring” ใน ค.ศ. 1968 ซึ่งประชาชนเรียกร้องเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตยเหมือนที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเชโกสโลวาเกียเป็นประเทศที่ประชาธิปไตยแบบตะวันตกได้หยั่งรากลงมาแล้ว ประชาชนจึงมองว่าการเรียกร้องเสรีภาพจะทำให้พวกเขาได้รับประชาธิปไตยได้
โซเวียตมองว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยคือการท้าทายอำนาจของโซเวียต จึงส่งกองทัพวอร์ซอมาราว 400,000 ราย เข้ายึดครองเชโกสโลวาเกีย มีผู้ถูกจับกุมและถูกสังหารหลายราย การเมืองเชโกสโลวาเกียที่กำลังปฏิรูปที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนก็หยุดชะงักลง และแทนที่ด้วยโซเวียตเข้ามาแทรงด้วยความเป็นเผด็จการ
เห็นได้ว่า สนธิสัญญาวอร์ซอ นอกจากจะเป็นเครื่องมือในการแข่งขันทางการทหารกับสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกแล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจนำยุโรปตะวันออก กองทัพวอร์ซอไม่มีการเผชิญหน้ากับนาโตเลย แต่ในทางกลับกันกองทัพวอร์ซอกลับถูกส่งเข้ามาในกลุ่มประเทศภาคี เพื่อรักษาเสถียรภาพทางอำนาจของโซเวียต
องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ สนธิสัญญาวอร์ซอ ถูกยกเลิกในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1991 ก่อนหน้าโซเวียตจะล่มสลาย เพราะคอมมิวนิสต์ในกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออกได้ทยอยล่มสลายลง จากการปฏิรูปกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา ของมิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำคนสุดท้ายของโซเวียต
อ่านเพิ่มเติม :
- 21 ก.พ. 1848 แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ของ คาร์ล มาร์กซ จุดเริ่มลัทธิมาร์กซ์เขย่าโลก
- เปิดไทม์ไลน์ ยุคสมัยของ “กอร์บาชอฟ” อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตคนสุดท้าย
-
การปฏิวัติเดือนตุลาคม การปฏิวัติระลอกที่สองสู่จุดเริ่มต้นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์โซเวียต
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
Treaty of Friendship. Cooperation and Mutual Assistance. Warsaw. 14 May 1955. Retrieve from Treaty of Friendship, Cooperation and Mutual Assistance (Warsaw, 14 May 1955) – CVCE Website (accessed May 12, 2022)
วิมลภัทร ภัทรโรดม. ยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, 2559.
สัญญชัย สุวังบุตร และ อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. 2562. ทรรปณะประวัติศาสตร์ยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 20. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2565