เผยแพร่ |
---|
ภายหลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 อันเป็นจุดสิ้นสุดของระบอบซาร์แห่งรัสเซีย อำนาจรัฐถูกโอนย้ายมาสู่ “คณะกรรมาธิการเฉพาะกาล” ของสภาดูมา กับ “สภาโซเวียตเปโตกราด” (แห่งผู้แทนกรรมกรและทหาร) ที่จัดตั้งขึ้นโดยพรรคเมนเชวิค พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่เข้มแข็งที่สุดในขณะนั้น กลายเป็นสององค์กรที่แก่งแย่งอำนาจกันจนนำมาสู่การปฏิวัติเดือนตุลาคมในปีเดียวกัน อันเปลี่ยนประวัติศาสตร์รัสเซียเข้าสู่ยุคแห่งลัทธิมาร์กซ์อย่างเต็มตัว
คณะกรรมาธิการเฉพาะกาลและสภาโซเวียตเปโตรกราด เป็นองค์กรการเมืองที่กลายเป็นรัฐบาลของรัสเซียโดยพฤตินัย ภายใต้การปกครองแบบทวิอำนาจ (Dual Power) นี้ กลับยิ่งทำให้สถานการณ์การเมืองของรัสเซียไม่ได้สงบลงถึงแม้จะโค่นล้มระบอบซาร์ไปแล้วก็ตาม องค์กรทั้งสองได้ประกาศสิ้นสุดอำนาจซาร์เมื่อ 1 มีนาคม ค.ศ. 1917 และคณะกรรมาธิการเฉพาะกาลจัดตั้ง “รัฐบาลเฉพาะกาล” ขึ้นบริหารประเทศ
ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 1 ยังคงดำเนินต่อไปอย่างหนักหน่วง รัสเซียเสียทหารนับล้านคนแต่ยังคงสู้รบต่อไป ภายหลังจากเลนิน (Vladimir Lenin) เดินทางกลับสู่รัสเซีย เขามีแนวคิดยึดอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาลโดยใช้สภาโซเวียตเป็นแกนหลักในการยึดอำนาจ พร้อมทั้งเผยแพร่นิพนธ์ที่มีแนวคิดยุติสงคราม กำจัดนายทุน เพื่อการปฏิวัติแห่งชนชั้นกรรมาชีพและชาวนาตามลัทธิมาร์กซ์
อย่างไรก็ตาม พรรคบอลเชวิคยังไม่มีอำนาจที่เข้มแข็งมากพอ และลำพังเลนินเพียงคนเดียวก็ไม่อาจทำการปฏิวัติได้สำเร็จหากขาดเลออน ตรอสกี (Leon Trotsky) ผู้ที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานสภาโซเวียต ซึ่งทั้งสองคนจะมีส่วนสำคัญในการปฏิวัติเดือนตุลาคม
ต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 อเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky) นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลเฉพาะกาลประกาศย้ายรัฐบาลจากนครเปโตรกราดไปมอสโก เนื่องจากกองทัพเยอรมนีรุกเข้ามาใกล้จะถึงเมืองหลวงแล้ว ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลเฉพาะกาล ตรอสกีจึงปลุกระดมประชาชนและทหารให้ต่อสู้ป้องกันนครเปโตรกราด และได้ติดอาวุธให้กับทหารเรดการ์ดของสภาโซเวียต
กระทั่งเลนินได้จัดประชุมแกนนำพรรคบอลเชวิค 12 คน เมื่อ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1917 ที่ประชุมเห็นควรให้ปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาลเพราะถึงเวลาสุกงอมแล้ว แต่สมาชิก 2 คนในที่ประชุมไม่เห็นด้วย คิดว่าพรรคบอลเชวิคไม่เข็มแข็งพอ ทั้งสองทำจดหมายเปิดผนึกเปิดเผยแผนการยึดอำนาจเผยแพร่ลงหนังสือพิมพ์ ซึ่งได้สร้างความแตกตื่นไปทั่ว
ตรอสกีจึงสั่งให้ถอนกำลังจากแนวหน้ามาป้องกันนครเปโตรกราด วางกำลังป้องกัน และวางแผนกวาดล้างพรรคบอลเชวิค ท่ามกลางบรรยากาศคุกรุ่น สภาโซเวียตปฏิเสธข่าวลือการยึดอำนาจ แต่ข่าวลือและความตึงเครียดทางการเมืองยังคงดำเนินต่อไป เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์วันใด ใครจะสนับสนุนฝ่ายไหน ต่างก็ตกอยู่ในความสับสน
ในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1917 (6 พฤศจิกายนตามปฏิทินสากล) รัฐบาลเฉพาะกาลเริ่มปฏิบัติการก่อน โดยการบุกยึดโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์สองฉบับของพรรคบอลเชวิค ตัดเส้นทางคมนาคมระหว่างเขตเมืองกับเขตที่พักอาศัยของกรรมกร และสั่งกวาดล้างพรรคบอลเชวิค อย่างไรก็ตาม พรรคบอลเชวิคสามารถยึดโรงพิมพ์กลับคืนได้ ในช่วงเย็นก็สามารถยึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญได้หลายที่ ทั้งที่ทำการโทรเลขกลาง ไปรษณีย์ และโทรศัพท์ สะพานหลายแห่ง รวมถึงปิดล้อมพระราชวังฤดูหนาวซึ่งเป็นที่ทำการของรัฐบาลเฉพาะกาล
วันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1917 (7 พฤศจิกายนตามปฏิทินสากล) ฝ่ายปฏิวัติออกแถลงการณ์ยึดอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาล เคเรนสกีพยายามสั่งให้ต่อสู้โดยใช้กำลังทหารนอกนครเปรโตรกราดมาสมทบกับกำลังทหารที่จงรักภักดีต่อรัฐบาลเฉพาะกาล แต่เขาประเมินกำลังของฝ่ายปฏิวัติผิดพลาด และการตัดสินใจที่ล่าช้าทำให้เขาพ่ายแพ้และต้องหลบหนีออกจากรัสเซียในวันนั้น
กลางดึกวันนั้น ฝ่ายปฏิวัติได้เข้ายึดพระราชวังฤดูหนาวสำเร็จ เป็นอันสิ้นสุดอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาล รัสเซียจึงเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แห่งการปฏิวัติตามลัทธิมาร์กซ์ด้วยพลังการปฏิวัติของพรรคบอลเชวิค ที่มีเลนินและตรอสกีเป็นแกนนำสำคัญ การปกครองสังคมนิยมคอมมิวนิสต์โซเวียตจึงถือกำเนิดขึ้นนับแต่นั้น
อ้างอิง :
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ และสัญชัย สุวังบุตร. (2557). รัสเซียสมัยซาร์และสังคมนิยม. นนทบุรี : ศรีปัญญา.
HISTORY.COM EDITORS. (2019). Russian Revolution. Access 5 November 2019, from https://www.history.com/topics/russia/russian-revolution
BBC. (2019). Reasons for the success of the October Revolution, 1917. Access 5 November 2019, from https://www.bbc.co.uk/bitesize/guides/zyc72hv/revision/1