23 ก.พ. 2477 หลวงพิบูลสงคราม ถูกลอบสังหารเป็นครั้งแรก ท่านรอดตายเหมือนปาฏิหาริย์?

จอมพล ป. ใน โรงพยาบาล
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ หลังเหตุการณ์ลอบสังหาร พ.ศ. 2477

ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2477 ได้เกิดเหตุการณ์ที่ พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม หรือท่าน จอมพล ป. ถูกลอบสังหารเป็นครั้งแรกในรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งจะทำให้ถึงแก่ชีวิต แต่ท่านรอดตายเหมือนปาฏิหาริย์ เรื่องนี้มีบันทึกไว้ใน หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ณ เมรุวัดธาตุทอง 14 สิงหาคม พ.ศ. 2527 ซึ่ง พลตรี อนันต์ พิบูลสงคราม บุตรชายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้ให้รายละเอียดไว้

พล.ต. อนันต์ พิบูลสงคราม ได้บันทึกไว้ว่า

กรุงเทพพระมหานครมีสนามสาธารณะเพียง 2 แห่งเท่านั้น ที่คนไทยทุกเพศทุกวัยอาจใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจได้ตามความพอใจ คือที่สวนลุมพินีแห่งหนึ่ง และที่ทุ่งพระเมรุท้องสนามหลวงอีกแห่งหนึ่ง แต่สวนลุมพินีก็นับว่าอยู่ห่างไกลมากสำหรับคนกรุงเทพฯ ในสมัยเมื่อ 40 ปีมาแล้ว คนส่วนมากจึงชอบมากันที่ท้องสนามหลวงมากกว่าเพราะตั้งอยู่ใจกลางพระนคร…

รายการพิเศษที่ท้องสนามหลวงในเดือนกุมภาพันธ์ก็ได้แก่การแข่งขันฟุตบอลล์ระหว่างทหารเหล่าต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ… การแข่งขันฟุตบอลล์ทหารได้ดำเนินมาแล้วเป็นเวลาหลายเดือน จนถึงคู่สุดท้ายที่จะต้องแข่งขันกันในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2477 เพื่อชิงตำแหน่งชนะเลิศ ทีมชนะจะได้รับถ้วยของ พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไว้เป็นเกียรติยศ

ในวันนั้น พ.อ. หลวงพิบูลสงครามพร้อมด้วยบรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้ไปชมการแข่งขันตั้งแต่เริ่มต้น และท่านจะเป็นผู้มอบถ้วยเกียรติยศให้แก่ทีมชนะเลิศด้วย ประชาชนได้มาชมการแข่งขันฟุตบอลล์ทหารคู่สุดท้ายอย่างล้นหลาม… เมื่อการแข่งขันได้ยุติลงแล้ว พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็คล้องพวงมาลัยให้แก่ผู้เล่นทุกคน แล้วมอบถ้วยรางวัลให้แก่ทีมที่ชนะเลิศให้โอวาทแสดงความพอใจและยินดีที่การแข่งขันฟุตบอลล์ทหารได้ดำเนินมาด้วยความเรียบร้อยตั้งแต่ต้นจนจบสมความมุ่งหมายของทางราชการทหาร

เสร็จพิธีแล้ว พ.อ. หลวงพิบูลสงครามก็กล่าวอำลาผู้รับเชิญและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่มาร่วมชมการแข่งขันโดยทั่วถึง จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมติดตามด้วย พ.ต. หลวงสุนาวิน วิวัฒน์ เลขานุการ และ ร.อ. ทวน วิชัยขัทคะ นายทหารคนสนิท ก็เดินมุ่งไปยังรถยนต์ที่จอดคอยรับอยู่ใกล้กระโจมพิธี

เมื่อ พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม ได้ขึ้นนั่งบนรถยนต์เรียบร้อยแล้ว ท่านก็ก้มลงหยิบกระบี่ที่วางขวางอยู่ข้างตัวเพื่อส่งให้ พ.ต. หลวงสุนาวินวิวัฒน์ผู้ซึ่งกำลังยืนส่งอยู่ข้างรถ ทันใดนั้นเอง เสียงปืน ปัง-ปัง ก็ดังระเบิดขึ้น 2 นัด พ.ต. หลวงสุนาวินวิวัฒน์เหลียวไปเห็นชายคนหนึ่ง ในระยะใกล้ชิดกำลังถือปืนพกจ้องปากกระบอกปืนตรงไปที่ร่างของ พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม ปากกระบอกปืนยังปรากฏมีควันกรุ่นอยู่

ด้วยความรวดเร็ว พ.ต. หลวงสุนาวินวิวัฒน์กระโดดปัดมือชายผู้นั้นจนปืนตกกระเด็นจากมือพร้อมกับกระสุนได้หลุดออกไปจากลำกล้องเป็นนัดที่ 3 ทหารหลายคนกรูกันเข้ารวบตัวชายผู้นั้นไว้ได้ ร.อ. ทวน วิชัยขัทคะ รีบประคองร่างของท่านรัฐมนตรีไว้ด้วยความตกใจสุดขีด เมื่อมองเห็นเลือดสีแดงเข้มไหลรินออกจากรูกระสุนปืนตรงต้นคอ ทำให้เสื้อสีกากีที่ท่านสวมเกิดรอยเปื้อนเป็นทางด้วยเลือดที่ยังไหลจากลำคอของท่านโดยไม่หยุด จากการสอบสวนขั้นต้นปรากฏว่า ผู้ยิ่งชื่อ นายพุ่ม ทับสายทอง…

ท่านผู้หญิงขณะนั้นกำลังอุ้มบุตรสาวคนเล็กคือ พัชรบูล อยู่ที่บ้านกรมทหารปืนใหญ่ บางซื่อ เมื่อได้รับโทรศัพท์แจ้งข่าวถึงกับเป็นลมไปชั่วครู่ ภายหลังจากนั้นครู่เดียว โรงพยาบาลพญาไท หรือในปัจจุบันนี้คือโรงพยาบาลมงกุฎเกล้า ก็ได้เตรียมจัดห้องพิเศษขึ้นอย่างฉุกละหุก อุปกรณ์การผ่าตัดและรักษาพยาบาลเตรียมไว้อย่างครบถ้วน

นายแพทย์ใหญ่ทหารบกคือ พ.ท. หลวงศัลยเวชวิศิษฐ และ ร.อ. แฉล้ม บุญหลวง ผู้ช่วยแพทย์ในเสื้อคลุมสีขาว พร้อมด้วยนางพยาบาลอีกจำนวนหนึ่งได้คอยพร้อมอยู่แล้วอย่างกระสับกระส่าย ภายในห้องรักษาพยาบาลในเวลาเดียวกันนั้น พ.ท. หลวงกาจสงคราม ได้รีบรุดมาอำนวยการวางทหารยามตามจุดทางเข้าออกทุกแห่งด้วยตนเอง เพื่อรักษาความปลอดภัยให้ท่านรัฐมนตรีทั้งในและนอกบริเวณโรงพยาบาล

ทันทีที่ พ.อ. หลวงพิบูลสงครามมาถึงโรงพยาบาล ท่านก็ถูกนำเข้าห้องรักษาพยาบาล โดยไม่ชักช้า ใบหน้าของ พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม ซีดเพราะเสียเลือดไปมาก แต่ก็ยิ้มเมื่อท่านลืมตาขึ้นมองเห็นท่านนายแพทย์ใหญ่ทหารบกกำลังปฏิบัติงานอยู่ข้าง ๆ เตียงด้วยลักษณะอาการที่เป็นห่วงและใช้ความคิดหนัก

ผลการตรวจบาดแผลปรากฏว่า พ.อ. หลวงพิบูลสงครามถูกกระสุนปืน 2 แห่งเป็นบาดแผลฉกรรจ์ กล่าวคือ กระสุนลูกหนึ่งเข้าทางแก้มซ้ายด้านหน้าทะลุออกทางด้านหลังของต้นคอ กระสุนลูกที่สองเข้าทางด้านหน้าไหล่ขวาทะลุออกด้านหลัง สำหรับกระสุนนัดแรกนั้น วิถีกระสุนได้แล่นหลีกเลี่ยงส่วนสำคัญไปได้เหมือนปาฏิหารย์ มิฉนั้นแล้ว พ.อ. หลวงพิบูลสงครามจะไม่สามารถรอดผ่านชีวิตผ่านเวลาค่ำของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2477 ไปได้เลย

พ.อ. หลวงพิบูลสงครามต้องนอนรักษาแผลอยู่โรงพยาบาลพญาไทเป็นเวลานานประมาณ 1 เดือน ภายใต้การรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิดของท่านนายแพทย์ใหญ่ทหารบก ผู้ช่วยนายแพทย์ และนางพยาบาลทุกคน พร้อมด้วยความเอาใจใส่ดูแลตลอดวันตลอดคืนของ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม

พอแผลถูกยิงหายจวนสนิทพ้นขีดอันตรายแล้ว ท่านก็ได้รับอนุญาตจากนายแพทย์ใหญ่ให้กลับไปพักผ่อนได้ที่บ้านพักของท่านในกรมทหารปืนใหญ่ บางซื่อ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2565