6 มีนาคม 1967: ลูกสาวคนเดียวของ “สตาลิน” แปรพักตร์ ขอลี้ภัยในสหรัฐฯ

โจเซฟ สตาลิน กับลูกสาว สเวตลานา ภาพถ่ายเมื่อปี 1935 (พ.ศ. 2478)

Svetlana Alliluyeva (บ้างสะกดว่า Allilueva) (28 กุมภาพันธ์ 1926 – 22 พฤศจิกายน 2011) เดิมชื่อ Svetlana Iosifovna Stalina และเป็นที่รู้จักในภายหลังว่า Lana Peters หลังแต่งงานกับสามีชาวอเมริกัน เธอเป็นลูกสาวคนเดียวของ โจเซฟ สตาลิน อดีตผู้นำเผด็จการของสหภาพโซเวียต ที่เกิดกับภรรยาคนที่สองของเขา Nadezhda Aliluyeva

นอกจาก Alliluyeva แล้ว สตาลินยังมีลูกชายอีกสองคน ลูกชายคนโต Yakov ซึ่งเกิดกับภรรยาคนแรกของ สตาลิน เสียชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในค่ายนาซี หลังนาซีขอแลกตัวเขากับเชลยที่อยู่ในความควบคุมของโซเวียต แต่ถูกปฏิเสธ Yakov จึงถูกสังหาร ลูกชายคนรอง Vasily ที่เกิดกับภรรยาคนที่สองเช่นเดียวกับ Alliluyeva รับใช้กองทัพด้วยการเป็นทหารอากาศเคยก้าวหน้าถึงขั้นได้รับตำแหน่งพลโท แต่เมื่อสตาลินเสียชีวิตในปี 1953 (พ.ศ. 2496) Vasily ก็ถูกลดขั้นเหลือเพียงยศพันตรี และถูกถอดจากภารกิจทางการบินทั้งหมด ก่อนเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุในปี 1962 (พ.ศ. 2505)

ส่วน Alliluyeva ต้องเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ไม่อบอุ่นนัก พ่อและแม่ของเธอมักมีปากเสียงกันเป็นประจำ ก่อนที่แม่ของเธอจะฆ่าตัวตายตั้งแต่เธออายุได้เพียง 6 ขวบ หลังจากที่แม่ของเธอมีปากเสียงกับ สตาลิน ในงานเลี้ยงอาหารค่ำฉลอง 15 ปีการปฏิวัติเดือนตุลาคม (บางคนไม่เชื่อและคิดว่าอาจเป็นฝีมือหรือคำสั่งของ สตาลิน แต่ Alliuyeva ยืนยันว่าแม่ของเธอยิงตัวตายเองแม้เธอจะรู้ความจริงหลังจากนั้นเป็นสิบปี เพราะก่อนหน้านั้นเธอถูกบอกว่าแม่เธอตายเพราะโรคไส้ติ่งอักเสบ)

Alliluyeva เรียนจบจากมหาวิทยาลัยมอสโคว ทำงานเป็นอาจารย์สอนด้านวรรณกรรมรัสเซียและภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะหันมาทำงานแปลวรรณกรรมรัสเซียเป็นภาษาอังกฤษ หลังจากที่ สตาลิน เสียชีวิต

ในช่วงทศวรรษ 1960 หลังจากผ่านการหย่าร้างมาแล้ว 2 ครั้ง เธอได้พบรักกับ Brijesh Singh คอมมิวนิสต์อินเดียที่เดินทางมาเยือนกรุงมอสโคว เธอต้องการจะแต่งงานกับเขา แต่เจ้าหน้าที่โซเวียตไม่อนุญาต เมื่อ Singh ถึงแก่ความตาย ทางการโซเวียตจึงยอมให้เธอเดินทางไปยังอินเดีย เพื่อนำอัฐิของคนรักกลับไปยังบ้านเกิดในปี 1967 (พ.ศ. 2510)

Svetlana Alliluyeva ระหว่างการแถลงข่าวในนิวยอร์กเมื่อวันที่ 27 เมษายน 1967 (พ.ศ. 2510) หลังการขอลี้ภัยมายังสหรัฐฯ (AFP PHOTO)

ในวันที่ 6 มีนาคม 1967 เธอได้ขอความช่วยเหลือจากสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงนิวเดลี เพื่อขอลี้ภัย ทางการสหรัฐฯ จึงช่วยเธอหลบหนีไปยังอิตาลี โดยเดินทางผ่านประเทศเป็นกลางอย่างสวิสเซอร์แลนด์ เบื้องต้นสหรัฐฯ ยังลังเลว่าจะยอมรับเธอเข้าประเทศในฐานะผู้ลี้ภัยหรือไม่ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจตอบรับด้วยเหตุผลทางด้านมนุษยชน

เป็นที่ทราบในภายหลังว่า ขณะนั้น KGB องค์กรสายลับของโซเวียตวางแผนที่จะลอบสังหาร Alliluyeva แต่ต้องล้มเลิกแผนการไป เพราะเกรงว่าการลอบสังหารในช่วงเวลาดังกล่าวจะทำให้ถูกเปิดโปงได้ง่าย

เธอเดินทางถึงสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน ปีเดียวกัน บรรดาช่างภาพและนักข่าวจำนวนมากมารอรับเธอที่สนามบิน เธอได้จัดงานแถลงข่าวประณามการปกครองของรัฐบาลโซเวียต เธอกลายมาเป็นผู้แปรพักตร์ที่โด่งดังที่สุดในยุคสงครามเย็น และงานเขียนบันทึกความทรงจำของเธอก็สร้างรายได้ให้กับเธอเป็นจำนวนมหาศาล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Martin, Douglas. “Lana Peters, Stalin’s Daughter, Dies at 85”. The New York Times (28 Nov 2011). <http://www.nytimes.com/2011/11/29/world/europe/stalins-daughter-dies-at-85.html> Accessed 6 Mar 2017.

“State Department Acknowledges Stalin’s Daughter Sought Asylum in the U.S.”. The New York Times (15 Mar 1967). <https://timesmachine.nytimes.com/timesmachine/1967/03/15/90293936.html?pageNumber=22> Accessed 6 Mar 2017.

Alliluyeva, Svetlana. “How My Mother Killed Herself”. The New York Times (14 Sep 1967). <https://timesmachine.nytimes.com/timesmachine/1967/09/14/83134529.html?pageNumber=1> Accessed 6 Mar 2017.

“Svetlana Alliluyeva”. Encyclopedia Britannica 28 Nov 2011 <https://global.britannica.com/biography/Svetlana-Alliluyeva> Accessed 6 Mar 2017.

“Moscow Calls Trip of Defector Private”. The New York Times (13 Mar 1967). <https://timesmachine.nytimes.com/timesmachine/1967/03/13/90289972.html?pageNumber=1> Accessed 6 Mar 2017


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มีนาคม 2560