ผู้เขียน | ปิยนันท์ จำปีพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“สตาลินคือปูตินของวันนี้” คือคำที่ผมใช้ล้อกับสโลแกนหนึ่งในยุคสตาลินที่ว่า “สตาลิน ก็คือเลนินของวันนี้” (Stalin is the Lenin of today) [1] ซึ่งเป็นการสร้างความต่อเนื่องกับการปกครองของเลนินกับสตาลินในยุคสตาลิน เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองโซเวียตต่อจากเลนินและเป็นหนึ่งในการสร้างลัทธิบูชาตัวบุคคล แต่ในทางกลับกันอุดมการณ์, นโยบาย และการปกครองของทั้งสองยุคกลับต่างกันมาก ผมมองว่าเมื่อมามองรัสเซียในยุคปูตินมีความคล้ายกับสตาลินมากกว่าเลนินเสียอีก จึงได้เกิดเป็นคำดังกล่าว
สถานการณ์รัสเซียกับยูเครนปัจจุบันก่อให้เกิดผลกระทบมาก ไม่เพียงต่อชาวยูเครนเท่านั้นที่ได้เกิดผลกระทบในหลายด้าน แม้กระทั่งชาวรัสเซียเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่ออกมาต่อต้านสงคราม ซึ่งวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิปดีแห่งรัสเซียเองได้ประกาศให้การต่อต้านสงครามนี้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งนับว่าเป็นการใช้อำนาจปิดปากประชาชนชาวรัสเซีย
ประกอบกับการแก้รัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 2020 ซึ่งจะให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีแทนที่ประธานาธิบดี, ให้ประธานาธิบดีรับตำแหน่งได้มากกว่า 2 วาระ (เดิมได้ไม่เกิน 2 วาระ), เพิ่มอำนาจประธานาธิบดีในการยับยั้ง (Veto) กฎหมายที่ออกโดยสภาผู้แทนราษฎร และมีการเสนอให้เพิ่มบทบาทของสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ ซึ่งปูตินก็ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ ทำให้อำนาจของรัฐบาลรัฐบาลปูตินมีคับฟ้าไม่ต่างจากผู้นำสมัยโซเวียต โดยเฉพาะ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) จนทำให้ผมมองว่า “ปูตินคือสตาลินของวันนี้”
การจำกัดสิทธิและเสรีภาพรวมไปถึงการสร้างฐานอำนาจของปูตินก็มีความคล้ายคลึงกับโจเซฟ สตาลิน ผู้นำของโซเวียตช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความต่างกันตรงที่สมัยสตาลินนั้นมีความเป็นเผด็จการและโหดร้ายมาก เราจึงจะมาย้อนดูโซเวียตภายใต้การปกครองปกครองของสตาลินเพื่อให้เห็นรากฐานเผด็จการที่อยู่ในการปกครองรัสเซียและเปรียบเทียบความคล้ายกันกับระบอบอำนาจนิยมของปูติน
เส้นทางการเป็นผู้นำของสตาลินนั้นเริ่มมาจากการเป็นคณะกรรมการกลางบริหารสูงสุดหรือโปลิตบูโร (Political Bureau of Central Committee) และตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ (General Secretary) ในปี ค.ศ. 1922 ซึ่งในปีเดียวกันนี้เองสหภาพโซเวียตได้ออกรัฐธรรมนูญฉบับแรกโดยนับว่าเป็นการก่อตั้งสหภาพโซเวียตได้อย่างเป็นทางการ สตาลินเองจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการปกครองให้กับสหภาพโซเวียต
ในการเข้าสู่อำนาจของสตาลินและปูตินจะมีความต่างกันมาก ปูตินถูกวางตัวให้เป็นทายาททางการเมืองของ บอริส เยลท์ซิน (Boris Yeltsin) แต่ในกรณีกรณีของสตาลินนั้น เลนินผู้นำคนแรกของโซเวียตเองก็ไม่ไว้วางใจสตาลินนัก หลังจากเขาป่วยด้วยเส้นเลือดในสมองแตกได้มีจดหมายของเลนินเข้าสู่สภาแห่งรัฐหลายฉบับ ในปลายปี ค.ศ. 1922 ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “พินัยกรรมของเลนิน” (Lenin’s Testament) โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพรรค และเน้นย้ำในการเตือนให้เห็นถึงอำนาจในมือของสตาลินที่มีอำนาจมากเกินไปในตำแหน่งเลขาธิการใหญ่จึงต้องการให้สตาลินออกจากตำแหน่งนี้ ในทางกลับกันเขาพูดกึ่งยกยอถึง เลออน ทรอทสกี (Leon Trotsky) ว่าเขามีความสามารถมาก และยังบอกอีกว่าอำนาจของทั้งสองคน (สตาลิน, ทรอทสกี) อาจทำให้เกิดความขัดแย้งกันได้อย่างไม่ได้ตั้งใจ [2]
เมื่อเลนินเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1924 สตาลินและทรอตสกีก็เกิดการแย่งชิงอำนาจกัน ผลคือสตาลินได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกในพรคมากกว่าจึงได้ขึ้นเป็นผู้นำ ทำให้พินัยกรรมของเลนินถูกห้ามไม่ให้พูดถึง และไม่ได้รับการการตีพิมพ์จนกระทั่ง นิกิตา ครุฟชอฟ (Nikita Khrushchev) ขึ้นมาเป็นผู้นำในปี ค.ศ. 1955 สตาลินยังได้แย่งอำนาจทรอตสกีจนต้องลี้ภัย สุดท้ายทรอตสกีได้ถูกลอบสังหารจนเสียชีวิตที่เม็กซิโกในปี ค.ศ. 1940 ซึ่งตรงกับสิ่งที่เลนินคาดไว้
เมื่อสตาลินเข้ามาปกครองรัสเซีย แนวทางสังคมนิยมแบบลัทธิมากซ์-เลนิน Marxism-Leninism ก็เปลี่ยนไปมาก ถึงแม้ว่าสตาลินมักอ้างถึงความต่อเนื่องจากเลนิน แต่ในทางปฏิบัติแนวทางปฏิบัติแตกต่างกับลัทธิมากซ์-เลนินมาก เนื่องจากสตาลินนั้นเป็นสายนักปฏิบัติ แต่เลนินเป็นสายปัญญาชน ทำให้สตาลินได้นำแนวคิดของเลนินมาปรับและต่อยอดเพื่อสร้างอำนาจและเสถียรภาพทางการเมืองให้กับสตาลิน ซึ่งหลายอย่างก็ขัดกับหลักการมากซ์-เลนิน
การสร้างลัทธิบูชาตัวบุคคล (Cult of Personality) เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการปกครองของสตาลินที่สร้างให้ตัวผู้นำเป็นส่วนหนึ่งของชาติ มีการชูสตาลินเป็น “บิดาของชาติ” จากการที่สตาลินมักอ้างถึงความสนิทสนมและความต่อเนื่องจากเลนินทำให้เลนินก็ถูกยกยอในฐานะของผู้ก่อตั้งสหภาพโซเวียต ซึ่งขัดกับเพลงชาติโซเวียตในขณะนั้นคือ The Internationale (Интернационал: 1918-1943) ในชื่อเพลงนั้นแปลตรงตัวได้ว่าความเป็นสากล ซึ่งในเนื้อหาของเพลงนั้นมีการกล่าวถึงการต่อสู้ทางชนชั้นหรือการต่อสู้จากการกดขี่ทั่วโลก, การสร้างโลกใหม่ที่เท่าเทียม ในการต่อสู้นั้นต้องอาศัยมนุษย์นิยม เพราะไม่มีใครจะนำพาความเท่าเทียมมาให้เรา ไม่มีพระเจ้า (God) ไม่มีกษัตริย์ (Tsar : King) ไม่มีผู้เลิศล้ำ (Hero) มีแต่ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้นที่จะนำพาความเท่าเทียมมาสู่โลก และยังขัดกับความต้องการของเลนินที่เขาไม่ต้องการให้สร้างอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงเขา
มองการเมืองโซเวียตอย่างง่ายผ่านงานวรรณกรรมที่วิพากษ์วิจารณ์การปกครองสตาลินได้อย่างดีคือ Animal Farm และ1984 [3] ของ George Orwell แต่ในด้านการปกครองที่ชัดเจนมากคือ Animal Farm โดยเล่าผ่านการสมมติตัวละครทางประวัติศาสตร์รัสเซียในช่วงการปฏิวัติรัสเซียให้เป็นสัตว์ ที่ยึดอำนาจจากมนุษย์และพยายามสร้างความเท่าเทียมกันให้สัตว์ในฟาร์มทุกตัว
แต่สุดท้ายการปกครองของหมูนโปเลียน (หรือสตาลิน) ก็ไม่ได้เท่ากันจริงๆ เพราะหมูนโปเลียนและหมูพรรคพวกนั้นก็ไม่ได้ทำงานหนักเช่นสัตว์ตัวอื่น ไม่ได้อดอยากเหมือนสัตว์ตัวอื่นจนเกิดคที่เป็นหัวใจของเรื่องว่า “สัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกัน แต่สัตว์บางตัวเท่าเทียมมากกว่าตัวอื่น” ซ้ำยังอยู่ดีกินดีกว่าตัวอื่น ที่ร้ายที่สุดคือพวกสัตว์ถูกปลูกฝังว่ามนุษย์นั้นชั่วร้ายมากแต่ในที่สุด
แต่นโปเลียนกลับทำการค้าและเป็นมิตรกับมนุษย์ อันนี้อาจเทียบได้กับสตาลินช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือก่อนหน้านั้นที่สตาลินเจรจากับฮิตเลอร์ (เยอรมนี) ในสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนโทรป (Molotov-Ribbentrop Pact) ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังจากนั้นสตาลินก็เป็นมิตรกับฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งล้วนเป็นชาติทุนนิยม และยังมีประเด็นการใส่ความหมูสโนวบอล เหมือนกับการใส่ร้ายทรอสต์กีของสตาลินในกรณีการสังหารเซอร์ไก เคียรอฟ (Sergei Kirov) ซึ่งเชื่อกันว่าสตาลินได้บงการลอบให้หน่วยตำรวจลับฆ่าเขา เพราะกลัวว่าความนิยมที่เคียรอฟได้รับความนิยมขึ้นจะสั่นคลอนอำนาจของสตาลิน และโยนความผิดให้กับทรอตสกี นี่คือส่วนหนึ่งของ The Great Purge ซึ่งเป็นการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองของสตาลินโดยอาศรัยหน่วยตำรวจลับเป็นองค์กรสำคัญที่สอดส่องพฤติกรรมของชาวโซเวียต
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นถึงแม้ว่าจะมีสนธิสัญญา Molotov-Ribbentrop Pact แต่ก็มีความหวาดระหว่างกันระหว่างเยอรมันและโซเวียตจนปี ค.ศ. 1941 เยอรมนีได้ฉีกสัญญา Molotov-Ribbentrop และบุกโซเวียตในยุทธการบาบารอสซา (Operation Barbarossa) เพื่อพิชิตยุโรปทั้งหมด (ในโซเวียตเองเรียกว่าสงครามพิทักษ์มาตุภูมิ)
หากพิจารณาในช่วงระหว่างสงครามนั้นเห็นได้ว่าในปี ค.ศ. 1944 ที่โซเวียตอยู่ในแนวรบตะวันออกของเยอรมนีนั้น โซเวียตได้เปลี่ยนเพลงชาติจาก The Internationale เป็น Gimn Sovietskogo Soyuza ที่ได้อธิบายไปข้างต้นว่าเป็นเพลงที่ชาตินิยมมาก ส่วนหนึ่งเพื่อปลุกกระแสชาตินิยมให้ชาวโซเวียตเข้าร่วมสงครามและร่วมการขับไล่เยอรมนี และการยึดโยงประเทศกับความเป็นพ่อแม่หรือปิตุภูมิแลมาตุภูมินั้น ส่วนหนึ่งมาจากความล้มเหลวในการปลูกฝังลัทธิบูชาตัวบุคคลที่ค่อนข้างล้มเหลวในโซเวียต (แต่ได้ผลมากในจีน สังเกตได้จากการเข้าร่วมของมวลชนในการปฏิวัติวัฒนธรรม โดยเฉพาะ Red Guard)
ความล้มเหลวส่วนหนึ่งนี้มาจากการกวาดล้างครั้งใหญ่ (The Great Purge) เป็นการปราบปรามศัตรูทางการเมืองของสตาลิน ช่วงทศวรรษ 1930 ฉะนั้น การปลูกฝังความชาตินิยมในช่วงสงครามจึงต้องยึดโยงความเป็นญาติกับประเทศจึงออกมาในรูปแบบวาทกรรม “มาตุภูมิหรือปิตุภูมิ” เพื่อให้ประชาชนออกมาต่อสู้เพื่อแผ่นดินพ่อแผ่นดินแม่ของพวกเขา
สงครามโลกรั้งที่ 2 จบลงพร้อมกับชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร โซเวียตเองก็เป็นหนึ่งในชาติที่ได้รับชัยชนะจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งยังทำให้โซเวียตขึ้นมาเป็นมหาอำนาจคู่กับสหรัฐอเมริกา แทนที่มหาอำนาจในยุโรปตะวันตก แต่การขึ้นมาเป็นมหาอำนาจคู่กับสหรัฐฯ ก็ก่อให้เกิดสถานการณ์ตึงเครียดในสงครามเย็น สตาลินมีบทบาทในการสร้างความตึงเครียดให้กับโลกมาก เช่น การปิดล้อมเบอร์ลิน ช่วงปี ค.ศ. 1948-1949 ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดระหว่างเบอร์ลินในระยะยาว หรือในสงครามเกาหลีที่ยังส่งผลให้เกิดความตึงเครียดระหว่างเกาหลีเหนือใต้จนถึงปัจจุบัน
ในส่วนที่พาโลกเข้าสู่ความตึงเครียดของสตาลินเป็นส่วนที่มีความคล้ายคลึงกับปูตินมาก เพราะการเข้ารุกรานยูเครนของปูตินก็ได้นำพาความตึงเครียดสู่โลกคล้ายกับสตาลิน สงครามยังเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ปูตินใช้สร้างความกลัวเพื่อเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการรวมอำนาจของปูติน โดยมีการปราบปรามผู้ต่อต้านรัฐบาลโดยการใช้กฎหมาย มีการควบคุมสื่อไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์การทำสงครามของรัฐบาล แม้ว่าการใช้ความกลัวในศตวรรษที่ 21 จะไม่เข้มข้นและรุนแรกเท่าศตวรรษก่อนหน้า
สิ่งที่คล้ายกันของผู้นำสองคนนี้อีกข้อคือทั้งสตาลินและปูตินได้ปรับเปลี่ยนนโยบายจากหน้ามือเป็นหลังมือกับผู้นำยุคก่อนหน้า ในกรณีของสตาลินได้กล่าวไว้แล้ว ส่วนกรณีของปูตินเขาแทบไม่สนใจสถานะการเป็นรัฐเอกราชของยูเครนที่ผู้นำรุ่นก่อนหน้าได้ลงนามในความตกลงการจัดตั้งเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States : CIS) เห็นได้จากการที่ปูตินพยายามทำให้ประเทศในยุโรปตะวันตกกลับเข้ามาเป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย ทั้งยังกันท่าไม่ให้ประเทศในยุโรปตะวันตกเข้าร่วมกับองค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เสมือนว่าสงครามเย็นยังไม่จบลงหรือเขาต้องการให้โลกเข้าสู่สงครามเย็นอีกครั้ง
เห็นได้ว่าความเป็นอำนาจนิยมของรัสเซียสมัยสตาลินและปูตินมีความคล้ายคลึงกันหลายจุด ทั้งการปกครองในประเทศและด้านการต่างประเทศที่เริ่มแข็งกร้าว แต่ด้วยบริบทต่างกันการใช้อำนาจและความหวาดกลัวในศตวรรษที่ 21 มีความแตกต่างกับการปกรองสมัยสตาลินมาก เนื่องจากรัฐบาลสามารถควบคุมสื่อได้อย่างเบ็ดเสร็จสตาลินจึงมีอำนาจในการกำหนด “ความจริง” ในสังคมได้
แต่ในศตวรรษที่ 21 ประชาชนสามารถเข้าถึงสื่อได้จากหลากหลายช่องทาง แม้ว่ารัฐบาลปูตินจะสามารถควบคุมสื่อกระแสหลักได้ทั้งหมด แต่ก็ไม่อาจผูกขาดการกำหนดความจริงเพียงฝ่ายเดียวได้ นี่จึงเป็นสาเหตุให้ชาวรัสเซียจำนวนไม่น้อยออกมาต่อต้านรัฐบาลหลายเหตุการณ์ แต่ก็ยังมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงสนับสนุนปูติน
เชิงอรรถ :
[1] Alec Nove, Stalinism (London, The Historical Association: 1987), p. 15.
[2] Vladimir Lenin, “Letter to Congress,” Marxists Internet Archive, https://www.marxists.org/archive/lenin/works/1922/dec/testamnt/congress.htm (accessed April 20, 2022).
[3] ดูใน จอร์จ ออร์เวล, แอนิมอล ฟาร์ม: Animal Farm, แปลโดย สรวงอัปสร กสิกรานันท์ (กรุงเทพฯ: แอร์โรว์, 2561). และ จอร์จ ออร์เวล, 1984: หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่, แปลโดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง, และ ปฏิพทธ์เผ่าพงศ์, พิมพ์ครั้งที่ 7 (กรุงเทพฯ: สมมติ, 2563).
อ้างอิง :
Alec Nove. 1987. Stalinism. London: The Historical Association.
Vladimir Lenin. “Letter to Congress.” Marxists Internet Archive. 20 April 2022 ที่เข้าถึง. https://www.marxists.org/archive/lenin/works/1922/dec/testamnt/congress.htm.
โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. 2550. การเมืองการปกครอง “รัสเซีย”. กรุงเทพฯ: วาสนา.
จอร์จ ออร์เวล. 2563. 1984: หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่. พิพม์ครั้งที่ 7. แปลโดย และ ปฏิพัทธ์ เผ่าพงศ์, รัศมี เผ่าเหลืองทอง. กรุงเทพฯ: สมมติ.
—. 2561. แอนิมอล ฟาร์ม. แปลโดย สรวงอัปศร กสิกรานันท์. กรุงเทพฯ: แอร์โรว์.
สัญญชัย สุวังบุตร และ อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. 2562. ทรรปณะประวัติศาสตร์ยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 20. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: แสงดาว.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤษภาคม 2565