ไฟไหม้รัฐสภาเยอรมัน 27 กุมภาพันธ์ 1933 สู่ประกาศใช้ “ม.48” ปูทางฮิตเลอร์ยึดอำนาจ

รัฐสภาเยอรมัน เพลิงไหม้
อาคารรัฐสภาเยอรมันขณะถูกเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1933

ไฟไหม้ “รัฐสภาเยอรมัน” เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 1933 สู่การประกาศใช้ มาตรา 48 ปูทาง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ยึดอำนาจ

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 (พ.ศ. 2476) เวลาประมาณ 9 นาฬิกา มีผู้สัญจรผ่านอาคาร รัฐสภาเยอรมัน (Reichstag) รายหนึ่งอ้างว่าเขาได้ยินเสียงกระจกแตก พร้อมเห็นคนบุกรุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา เขาจึงรีบไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นไม่นานก็เกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้น

ภายหลังเจ้าหน้าที่สามารถจับตัวผู้ต้องสงสัยไว้ได้หนึ่งคน เป็นช่างก่อสร้างตกงานชาวดัตช์ชื่อว่า Marinus van der Lubbe

เมื่อ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมัน ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยประธานาธิบดีฮินเดนเบิร์ก ได้ราวหนึ่งเดือน ทราบข่าวก็รีบประกาศว่า การลอบวางเพลิงดังกล่าว “เป็นแผนของพวกคอมมิวนิสต์ นี่คือสัญญาณแห่งการก่อกบฏ เจ้าหน้าที่คอมมิวนิสต์ทุกคนต้องถูกยิง ผู้แทนจากพรรคคอมมิวนิสต์ ต้องถูกแขวนคอ”

ส่วน van der Lubbe ที่ถูกคุมตัวไปสอบสวน ก็ยอมรับสารภาพว่าตนเองเป็นผู้ก่อเหตุ ส่วนแรงจูงใจในการวางเพลิงครั้งนี้นั้น เขาอ้างว่า ต้องการจุดชนวนการต่อต้านนาซีขึ้น และเขายืนยันมิได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ รวมถึงมิได้เป็นนาซีด้วย (ปฏิเสธทฤษฎีสมคบคิด) เขาเป็นเพียงคนที่มีอุดมการณ์สังคมนิยมคนหนึ่งเท่านั้น

จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ คำให้การของ van der Lubbe สอดคล้องกับหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุ และเชื่อว่า เขาน่าจะเป็นผู้ลงมือก่อเหตุที่ รัฐสภาเยอรมัน โดยลำพัง (แต่ Benjamin Hett ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ Burning the Reichstag อ้างว่า เมื่อพิจารณาจากลักษณะการลุกไหม้ และระยะเวลาที่ใช้แล้ว van der Lubbe ไม่อาจก่อเหตุได้เพียงลำพัง และเมื่อวิเคราะห์จากหลักฐานและคำให้การซึ่งเข้าถึงได้หลังยุคโซเวียต เขาเชื่อว่า คอมมิวนิสต์ไม่น่าจะเชื่อมโยงกับเหตุดังกล่าวจริง แต่เป็นนาซีที่ใช้อำนาจในการสอบสวนคดีปกปิดความเชื่อมโยงของพรรคตนเองกับการก่อเหตุ เพื่อเลี่ยงข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม)

ไม่ว่า van der Lubbe ซึ่งถูกประหารหลังสารภาพว่าเป็นผู้วางเพลิง จะก่อเหตุด้วยแรงจูงใจประการใด ฮิตเลอร์ก็ได้ฉวยโอกาสใช้เหตุดังกล่าวปลุกเร้าความหวาดกลัวต่อภัยคอมมิวนิสต์ และจูงใจให้ประธานาธิบดีฮินเดนเบิร์ก ใช้อำนาจตาม “มาตรา 48” แห่งรัฐธรรมนูญไวมาร์ ที่มอบอำนาจประธานาธิบดีในการใช้มาตรการทางทหารจัดการกับเหตุอันกระทบต่อความมั่นคงของรัฐอย่างร้ายแรง โดยสิทธิมนุษยชนบางประการที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญจะถูกระงับไปด้วยผลของการบังคับใช้อำนาจนี้

หลังเกิดเหตุเพียงไม่กี่ชั่วโมง เข้าสู่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ประธานาธิบดีฮินเดนเบิร์ก ก็ยอมทำตามคำเสนอของฮิตเลอร์ ออกกฤษฎีกามอบอำนาจให้กับฮิตเลอร์ เพื่อจัดการกับภัยคุกคามความมั่นคงดังที่ผู้นำนาซีกล่าวอ้าง ทำให้ในขณะนั้น ชาวเยอรมัน รวมถึงสื่อต้องเสียเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุม ความเป็นส่วนตัว รัฐยังมีอำนาจที่จะดักฟัง หรือคัดกรองการส่งข้อมูลใดๆ โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน

ภายในเวลาเพียงชั่วข้ามคืนมีผู้ถูกจับกุมกว่า 4 พันคน เพื่อกำจัดพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะพรรคคอมมิวนิสต์ ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม และพฤศจิกายน 1933 พรรคนาซีได้รับชัยชนะถล่มทลาย ทำให้พรรคนาซีสามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจเพื่อปูทางไปสู่การเผด็จอำนาจของฮิตเลอร์ไว้ในมือแต่เพียงผู้เดียวในลำดับต่อมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Taylor, A.J.P. “Who Burnt the Reichstag? The Story of a Legend”. History Today (8 Aug 1960) <http://www.historytoday.com/ajp-taylor/who-burnt-reichstag-story-legend> Accessed 27 Feb 2017.

Boissoneault, Lorraine. “The True Story of the Reichstag Fire and the Nazi Rise to Power”. Smithonian.com (21 Feb 2017) <http://www.smithsonianmag.com/history/true-story-reichstag-fire-and-nazis-rise-power-180962240/?utm_source=facebook.com&utm_medium=socialmedia> Accessed 27 Feb 2017


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2560