ความเป็นมาของ “Great Compromise” การประนีประนอมในการร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา

Great Compromise การลงนาม ในรัฐธรรมนูญ ของสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1787
การลงนามในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1787

อ่านความเป็นมาของ Great Compromise การประนีประนอมในการร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา

รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา ร่างเสร็จอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1787 ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา โดยมีผู้แทนจาก 12 รัฐ ร่วมลงนาม

ก่อนหน้านั้น หลังจากสหรัฐอเมริกาประกาศอิสรภาพจากอังกฤษในปี 1781 มลรัฐทั้ง 13 มลรัฐ ได้ตกลงให้สถาปนาการปกครองแบบสมาพันธรัฐขึ้น และประกาศใช้ “ธรรมนูญแห่งสมาพันธรัฐ” เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก ซึ่งใช้ตั้งแต่ปี 1781-1789

รัฐธรรมนูญฉบับแรกมีรูปแบบการปกครองที่ให้รัฐสภาทำหน้าที่เป็นรัฐบาลกลางของสมาพันธรัฐ แต่รัฐบาลกลางมีอำนาจอย่างจำกัด แต่ละมลรัฐยังมีอำนาจค่อนข้างมาก ทั้งนี้ รัฐสภาจะมีผู้แทนมาจากทุกมลรัฐ โดยแต่ละมลรัฐสามารถส่งผู้แทนได้ตั้งแต่ 2-7 คน ตามสัดส่วนประชากร แต่ในการลงมติจะนับ 1 มลรัฐเป็น 1 เสียง

สำหรับการบริหารงานของรัฐทำโดยการจัดตั้ง “คณะกรรมาธิการ” จากรัฐสภา อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีการจัดตั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการอย่างแท้จริง อำนาจที่ยังคงอยู่ในแต่ละมลรัฐได้ก่อให้เกิดปัญหาตามมา ทั้งข้อพิพาทเรื่องการขยายดินแดนและการค้าระหว่างมลรัฐ, แต่ละมลรัฐตรากฎหมายกีดกันสินค้าและบริการจากมลรัฐอื่น, ระบบเงินตราที่หมุนเวียนอยู่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นต้น

ซ้ำรัฐบาลกลางไม่มีอำนาจเหนือมลรัฐอย่างแท้จริง ตกอยู่ในสภาพอ่อนแอ ขาดเสถียรภาพ ไม่สามารถจัดการปกครองให้ประเทศเจริญก้าวหน้าไปได้ และยังไม่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาประเทศ ทูตของสมาพันธรัฐถูกปฏิบัติอย่างไม่สมเกียรติ เหล่านี้จึงนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 1787

แรงกระตุ้นที่สำคัญอีกประการที่นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ เหตุการณ์การจลาจลของเชส์ (Shays’ Rebellion) ในเดือนกรกฎาคมปี 1786 เมื่อกลุ่มชาวไร่ชาวนาทางภาคตะวันตกของมลรัฐ Massachusetts ซึ่งประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เกิดไม่พอใจกับการที่สภานิติบัญญัติของมลรัฐ ไม่ทำตามข้อเรียกร้องของพวกตนในเรื่องการออกเงินตราเป็นธนบัตรและกฎหมายยับยั้งการบังคับหนี้ จึงรวมตัวกันติดอาวุธ

Daniel Shays อดีตนายทหารสมัยสงครามปฏิวัติเป็นผู้นำ โจมตีที่ตั้งศาล และถึงขั้นจะเข้ายึดอำนาจของรัฐบาล จนผู้ว่าการมลรัฐต้องเรียกกองกำลังอาสาสมัครมาปราบปราม แม้จะปราบปรามการจลาจลอย่างง่ายดายและสิ้นสุดลงในเวลาอันสั้น แต่ข่าวเรื่องการจลาจลจะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้คน ซึ่งมีความคิดโน้มเอียงไปในทางสนับสนุนการสร้างรัฐบาลกลางที่มีลักษณะเป็น “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่เข้มแข็ง

กระทั่งได้มีการจัดการประชุมที่ฟิลาเดเฟียในเดือนพฤษภาคมปี 1787 ผู้แทนจากทุกมลรัฐ (ยกเว้นมลรัฐ Rhode Island) จำนวน 55 คนมาประชุมร่วมกันเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สาระสำคัญที่ถกเถียงกันเช่น โครงสร้างของอำนาจรัฐ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ สิทธิและความเสมอภาคของประชาชน รวมถึงวิธีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ฯลฯ

การร่างรัฐธรรมนูญเต็มไปด้วยการถกเถียงกันในหลากหลายประเด็น เนื่องด้วยมีแนวคิดสองขั้ว ขั้วหนึ่งต้องการรัฐบาลกลางที่มีอำนาจ ขั้วหนึ่งต้องการให้คงอำนาจของมลรัฐ ซึ่งทั้งสองขั้วต่างก็ต้องการรักษาผลประโยชน์ภายในมลรัฐของตนเป็นสำคัญ เช่น มลรัฐเล็ก ๆ มีทีท่าสนับสนุนให้มีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง เพื่อไว้คุ้มกันมลรัฐของตนซึ่งมีพลเมืองจำนวนน้อยให้พ้นจากภัยคุกคามจากอินเดียนแดง และต้องการหลุดพ้นจากการถูกครอบงำทางเศรษฐกิจจากมลรัฐใหญ่ ๆ ในขณะที่มลรัฐใหญ่ ๆ ก็ต้องการควบคุมอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของตนไว้เช่นเดิม

ตลอดระยะเวลาหลายเดือนของการร่างรัฐธรรมนูญมีการถกเถียงในประเด็นต่าง ๆ มากมาย ซึ่งได้ฉายให้เห็นสภาพของสมาพันธรัฐที่ความแตกต่างกันไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่ประเด็นมลรัฐเล็ก-มลรัฐใหญ่ เท่านั้น ยังมีประเด็น มลรัฐมีทาส-มลรัฐไม่มีทาส และแนวคิดของกลุ่มอนุรักษ์นิยม-กลุ่มเสรีนิยม เป็นต้น

ในประเด็นผู้นำฝ่ายบริหาร ผู้แทนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการให้มีผู้นำฝ่ายบริหารเพียงคนเดียว โดยเกรงว่า อาจเป็นบ่อเกิดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงเสนอให้มีคณะผู้บริหาร 3 คน แต่ผู้แทนส่วนใหญ่เห็นว่า ควรให้มีผู้นำฝ่ายบริหารเพียงคนเดียว

ในประเด็นอำนาจฝ่ายบริหาร ผู้แทนบางส่วนมองว่า ฝ่ายบริหารไม่ควรจะเป็นอะไรมากไปกว่าสถาบันที่นำเอาเจตนารมณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติไปปฏิบัติ จึงเสนอว่า ควรจะให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้แต่งตั้งฝ่ายบริหาร เพราะวิธีการนี้จะเป็นการทำให้ฝ่ายบริหารต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ หากให้ฝ่ายบริหารเป็นอิสระจากฝ่ายนิติบัญญัติ ที่สุดอาจเกิดของระบบทรราชย์ขึ้นได้ แต่ผู้แทนอีกส่วนก็คัดค้านแนวคิดดังกล่าว เพราะเกรงว่า จะนำไปสู่การวิ่งเต้นและแก่งแย่งให้ได้รับการแต่งตั้ง คือจะทำให้สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารมีการต่อรองแลกเปลี่ยนเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

ในประเด็นที่มาฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันกว้างขวางและยาวนานมากที่สุดประเด็นหนึ่ง ทั้งที่มา คุณสมบัติ และสัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา โดยมลรัฐใหญ่ต้องการให้สัดส่วนสมาชิกรัฐสภาเป็นไปตามสัดส่วนประชากร แต่มลรัฐเล็กต่อต้าน กลัวว่า จะนำไปสู่การครอบงำอย่างไม่เป็นธรรมของมลรัฐใหญ่ จึงเห็นว่า แต่ละมลรัฐควรมีผู้แทนที่เท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงประชากร

ที่สุดแล้วมีการเสนอข้อเสนอเกี่ยวกับรูปแบบโครงสร้างของการบริหารประเทศ 2 ข้อเสนอ ได้แก่ หนึ่ง ข้อเสนอเวอร์จิเนีย (Virginia plan) คือ เสนอให้เน้นสร้างรัฐบาลกลางให้มีความเข้มแข็ง และมีอำนาจในการกำหนดกฎหมายเพื่อใช้บังคับกับปัจเจกบุคคล โครงสร้างของรัฐสภาใช้ระบบสองสภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยมลรัฐมีผู้แทนในแต่ละสภาตามสัดส่วนประชากร และสอง ข้อเสนอนิวเจอร์ซี (New Jersey plan) คือ เสนอให้ใช้ระบบสภาเดี่ยว ซึ่งแต่ละมลรัฐมีผู้แทนในสภาเท่ากัน

ข้อเสนอทั้งสองถูกประนีประนอม รู้จักกันในนาม “Connecticut Compromise” หรือ “Great Compromise” เป็นการประนีประนอมระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ที่มีแนวคิด ความต้องการ และผลประโยชน์แตกต่างกัน แต่เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับแม้จะไม่เห็นตรงกันในทุกประเด็นก็ตาม

ดังนั้น รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาฉบับปี 1789 จึงมีหลักการพื้นฐาน เช่น หลักการอำนาจของรัฐบาลมีอย่างจำกัด, หลักการแบ่งแยกอำนาจ แบ่งเป็น ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ, หลักการแบ่งแย่งอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับมลรัฐ เพื่อไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอำนาจมากเกินไป, และหลักการถ่วงดุลและตรวจสอบการใช้อำนาจ ของสถาบันทางการเมืองที่ใช้อำนาจรัฐทั้งระดับสหรัฐและระดับมลรัฐ ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีมีสิทธิยับยั้งร่างกฎหมายจากฝ่ายนิติบัญญัติ (Veto), ประธานาธิบดีมีอำนาจในการทำสนธิสัญญา แต่ต้องได้รับความยินยอมจากวุฒิสภา และศาลมีอำนาจตัดสินชี้ขาดการใช้อำนาจของรัฐสภาหรือประธานาธิบดีว่าขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นต้น

รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา

การประนีประนอมระหว่างมลรัฐเล็ก-มลรัฐใหญ่ นำมาสู่การกำหนดในรัฐธรรมนูญโดยให้มีระบบสองสภา โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะจัดสรรตามจำนวนประชากรของแต่ละมลรัฐและได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน (แนวคิดของมลรัฐใหญ่) ส่วนสมาชิกวุฒิสภากำหนดให้แต่ละรัฐมี 2 คน โดยไม่คำนึงถึงขนาดของรัฐ และให้สภานิติบัญญัติของมลรัฐทำการเลือกวุฒิสมาชิก (แนวคิดของมลรัฐเล็ก)ในส่วนการประนีประนอมระหว่างมลรัฐมีทาส-มลรัฐไม่มีทาสนั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้จำนวนประชากรทาสผิวดำให้นับเป็นจำนวนเท่ากับ 3 ใน 5 ของประชากรที่เป็นเสรีชน

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญได้ผ่านความเห็นชอบของสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การให้มลรัฐต่าง ๆ ให้สัตยาบัน ในขั้นตอนนี้มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุน เรียกกันว่า “Federalists” หรือ “Nationalists” เพราะสนับสนุนการให้อำนาจที่เข้มแข็งแก่รัฐบาลกลาง และฝ่ายที่คัดค้านเรียกกันว่า “Anti-Federalists” ซึ่งคัดค้านการให้อำนาจจำนวนมากแก่รัฐบาลกลาง เห็นว่า อำนาจเหล่านั้นควรเป็นของมลรัฐ

อีกทั้งการให้อำนาจแก่รัฐบาลกลางเช่นนี้ เป็นการขัตต่อเจตจำนงของการปฏิวัติของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ฝ่ายที่คัดค้านยังได้ยกเหตุผลสำคัญอีกประการ คือ ร่างรัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติที่เป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

จากข้อโต้แย้งประการสำคัญของฝ่ายคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญนี้เอง ทำให้ในขั้นตอนดำเนินการเพื่อให้มีการ ให้สัตยาบันร่างรัฐธรรมนูญนั้น หลายมลรัฐเรียกร้องให้มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เป็นการรับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ดังนั้น รัฐสภาจึงได้พิจารณาร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่คุ้มครองและรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

โดยมี James Madison ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้เสนอร่างดังกล่าว ในที่สุดร่างทั้ง 10 ฉบับ ได้รับการเห็นชอบจากทุกมลรัฐ ทั้ง 10 ร่างนี้จึงกลายเป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1-10 เรียกว่า “Bill of Rights” ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนที่พึงมี เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา การพูด การพิมพ์ ฯลฯ

การที่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเปิดกว้างให้มีบทบัญญติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงนับเป็นการประนีประนอมระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ที่มุ่งให้ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันได้ นอกจากนี้ยังแสดงถึงการยอมรับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทำให้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาถูกยกย่องว่า ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง รุ่นใดรุ่นหนึ่ง แต่เป็นสิ่งจีรังที่ไม่ถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขของเวลา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มานิตย์ จุมปา และพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย. (2552). รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา คำอธิบายเรียงเรียงมาตราพร้อมคำพิพากษาศาลฎีกา. กรุงเทพฯ : วิญญูชน.

สมบัติ จันทรวงศ์. (2529). มหาชนรัฐและประชาธิปไตย ความคิดทางการเมืองของอเมริกัน ค.ศ. 1776-1800. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วงเดือน นาราสัจจ์. (2550). ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

AMANDA ONION. (2020). How the Great Compromise and the Electoral College Affects Politics Today. Access 18 November 2020, from <https://www.history.com/news/how-the-great-compromise-affects-politics-today?fbclid=IwAR04GI1xQx5IiPsJjo3w_iq-baojUjO_ZuFAUu7Nxn621N4ubj_bmECa6cQ>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2563