“ลดอำนาจรัฐ” เปิดทัศนคติการเมืองของโธมัส เจฟเฟอร์สัน ปธน. สหรัฐฯ

ภาพซ้าย ทอมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 3 ภาพขวา คำประกาศอิสรภาพสหรัฐ (ภาพจาก Wikipedia)

โธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 3 ปี (ดำรงตำแหน่งปี 1801 – 1809) เกิดในตระกูลผู้ดีชนบทแห่งรัฐเวอร์จิเนีย เป็นผู้ที่จบการศึกษาชั้นมหาวิทยาลัยและมีความสนใจรอบด้าน เขามีความสามารถหลายด้าน นอกจากจะเป็นนักกฎหมาย นักการเมือง ยังเป็นสถาปนิก นักการศึกษา นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์การเกษตร ฯลฯ แต่เจฟเฟอร์สัน มีความสามารถในการเขียนมากกว่าที่จะเป็นนักพูด เจฟเฟอร์สันเป็นคนที่ไม่ชอบทำตัวเด่น ชอบที่จะดำเนินชีวิตง่ายๆ ในชนบทเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาสามัญทั่วไป เขามักถูกเพ่งเล็งว่าเป็นผู้ทรยศต่อชนชั้นของเขาเอง

เจฟเฟอร์สันเข้ามามีบทบาททางการเมืองตั้งแต่สมัยอาณานิคม เขาเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติของเวอร์จิเนีย (1769-1774) สมัยเดียวกับ แพทริค แฮนรี่ (Patrick Henry) และ ริชาร์ด เฮนรี่ ลี (Richard Henry Lee) ที่เป็นสมาชิกของสภา Continental Congress

นอกจากนี้เจฟเฟอร์สันยังเป็นประธานคณะกรรมการร่างคำประกาศอิสรภาพ ต่อมาหลังจากได้รับอิสรภาพแล้วเขาได้ถูกส่งไปเป็นทูตที่กรุงปารีส (1785-1789) ในสมัยประธานาธิบดียอร์ช วอชิงตัน เจฟเฟอร์สันได้รับมอบหมายให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ (1790-1793)  และเป็นรองประธานาธิบดีสมัยจอห์น แอดัมส์ (1797-1800) โดยเจฟเฟอร์สันมีทัศนะคติทางการเมือง ดังนี้

ทัศนะทางการเมืองของเจฟเฟอร์สัน

  1. เขาเชื่อในอำนาจอธิปไตยของประชาชน และเชื่อว่าคนเราทุกคนมีความเสมอภาคกัน ซึ่งเห็นได้จากข้อความที่เขาเขียนไว้ในคำประกาศอิสรภาพ เสมอภาคสำหรับเจฟเฟอร์สัน หมายถึงความเสมอภาคในการมีโอกาสที่จะแสดงความสามารถ การได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย การแสวงหาความสุข การที่จะแสดงความคิดเห็น ไม่ได้หมายถึงความเสมอภาคทางด้านวัตถุ
  2. เขาไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีที่กล่าวถึงการปกครองโดยกลุ่มผู้มีที่มีฐานะดีของพวกเฟเดอรัลลิสท์ เขาเชื่อว่าประชาชนจะสามารถปกครองตนเองได้ดีเมื่อมีการศึกษา ซึ่งหมายถึงการศึกษาจะช่วยให้คนรู้จักรับผิดชอบต่อตนเองและหน้าที่
  3. เขาเห็นว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเกษตรกรรม เขาจึงเชื่อว่าการปกครองควรขึ้นอยู่กับเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ผลิต เป็นพลังสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งของชาติ แต่เจฟเฟอร์สันก็ไม่ได้มองข้ามความสำคัญของพ่อค้า นักธุรกิจ เพียงแต่เน้นว่ารัฐบาลควรพิจารณาถึงผลประโยชน์และความผาสุกของเกษตรกรซึ่งเป็นชนชั้นส่วนใหญ่ก่อนพวกอื่นๆ
  4. เจฟเฟอร์สันไม่เห็นด้วยกับเฟเดอรัลลิสท์ที่พยายามสร้างอำนาจให้แก่รัฐบาลกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจที่เรียกว่า “Implied Power” ซึ่งกำหนดไว้ในบทบัญญัติที่เรียกว่า “Elastic Clause” เขาเห็นว่ารัฐบาลควรใช้อำนาจที่กำหนดไว้โดยตรงในรัฐธรรมนูญเท่านั้น (Expressed Power)        เจฟเฟอร์สันได้กล่าวไว้ว่า “รัฐบาลที่ดีคือรัฐบาลที่ปกครองน้อยที่สุด”
  5. เจฟเฟอร์สันเห็นว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะส่งเสริมให้ทุกคนได้มีการศึกษา เขาเคยเขียนไว้ว่า “truth set man free, to find truth men need education”
  6. เจฟเฟอร์สันเห็นด้วยกับยอร์ช วอชิงตัน ที่ว่าสหรัฐอเมริกาไม่ควรที่จะผูกมัดตัวเองด้วยสัญญาพันธไมตรี (Alliance) กับประเทศหนึ่งประเทศใดเป็นพิเศษ แต่จะยินดีเป็นมิตรและติดต่อค้าขายกับทุกประเทศคือ ยึดนโยบายโดดเดี่ยว
  7. เจฟเฟอร์สันไม่เห็นด้วยกับการมีทาส เขาพยายามที่จะใช้อิทธิพลทางปากกาของเขาสนับสนุนให้ยุติการใช้ทาส ซึ่งเขาทำไม่สำเร็จ แต่อย่างน้อยเขาก็ได้ป้องกันไม่ให้ระบบทาสแพร่หลายเข้าไปยังดินแดนบางส่วนของสหรัฐ คือ ดินแดนตะวันตกเฉียงเหนือ Northwest Ordinance เจฟเฟอร์สันเป็นนักคิด นักไต่ตรองเพ่งเล็งถึงเรื่องความผาสุกของประชาชน ส่วนแฮมิลตันเป็นนักปฏิบัติที่มุ่งวางระเบียบของระบบงาน แต่ทั้ง 2 คนมีจุดหมายเดียวกัน คือความมั่นคงเป็นปึกแผ่นของประเทศชาติ

จะเห็นได้ว่าทัศนะคติทางการเมืองของโธมัส เจฟเฟอร์สัน คือความพยายามลดอำนาจของรัฐบาลกลางลงซึ่งแตกต่างกับพวกเฟเดอรัลลิสท์ที่ต้องการให้อำนาจคงไว้ที่รัฐบาลกลาง ด้วยทัศนคติทางการเมืองดังกล่าวจึงทำให้เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี 2 สมัย

ด้วยความพยายามลดอำนาจรัฐบาลกลางส่งผลให้บรรยากาศทางการเมืองในสหรัฐปลอดโปร่ง มีความสงบในประเทศ เจฟเฟอร์สันได้พยายามที่จะสมานไมตรีระหว่างกลุ่มนักการเมืองต่างๆ เขาได้กล่าวว่า “พวกเราทุกคนคือ รีพับลิกัน และพวกเราทุกคนคือเฟเดอรัลลิสท์ จริงอยู่แม้ว่าจะชื่อต่างกัน แต่ทุกคนก็ยึดถือในหลักการอันเดียวกัน คือหลักการที่ระบุไว้ในคำประกาศอิสรภาพ และรัฐธรรมนูญ ทุกคนต้องการสร้างความเจริญก้าวหน้าของชาติ ความแตกต่างอยู่ที่ความคิดเห็น (Opinion) ไม่ใช่หลักการ (Principles) และขอร้องให้ชาวอเมริกันร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวในการธำรงความเป็นชาติ”

 


อ้างอิง :

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. (2518). ประวัติศาสตร์อเมริกา. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มิถุนายน 2565