ทำไมประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาถึงดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 สมัย?

Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 (ภาพจาก pixabay.com)

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบบสหพันธรัฐ มีรัฐธรรมนูญที่เริ่มร่างมาตั้งแต่ ค.ศ. 1787 และประกาศใช้อย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่ปีถัดมา โดยระบุถึงอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐที่แบ่งออกเป็นสามฝ่ายคือ ฝ่ายนิติบัญญัติโดยรัฐสภา ฝ่ายตุลาการโดยศาลสูงสุด และฝ่ายบริหารโดยประธานาธิบดี โดย จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรก

จอร์จ วอชิงตัน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ ค.ศ. 1789-1797 รวมทั้งสิ้น 8 ปี หรือ 2 สมัย แต่ท่านปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 3 แนวปฏิบัติของจอร์จ วอชิงตัน ที่เลือกจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแค่ 2 สมัย จึงกลายเป็น “ประเพณีปฏิบัติ” หรือ “จารีต” ขณะที่ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุถึงระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีเอาไว้เลย

ประธานาธิบดีใยยุคต่อมามักยึดตามแนวทางของจอร์จ วอชิงตัน ที่จะดำรงตำแหน่งแค่ 2 สมัย จนเรื่องนี้เหมือนจะกลายเป็น “กฎหมาย” ไปโดยปริยาย ในยุคต่อมามีความพยายามผลักดันให้ “ประเพณีปฏิบัติ” นี้เป็นกฎหมายจริง ๆ จัง ๆ เสียที แต่ก็ไม่ได้รับความกระตือรือร้นสนใจจากรัฐสภาเพราะต่างก็เชื่อมั่นว่า “ประเพณีปฏิบัติ” นี้ศักดิ์สิทธิ์และมีผลทางพฤตินัยมาโดยตลอดอยู่แล้ว

แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผู้ชนะการเลือกตั้งมากถึง 4 สมัย (ภาพจาก www.britannica.com)

กระทั่งเมื่อถึงการเลือกตั้ง ค.ศ. 1940 แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) ซึ่งเป็นประธานาธิบดีมาแล้ว 2 สมัย ถูกเสนอชื่อจากพรรคเดโมแครต (Democratic Party) เพื่อเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ซึ่งท่านก็ได้รับเลือกจากชาวอเมริกันอย่างท่วมท้น โดยเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา 3 สมัยติดกัน

ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งครั้งนั้น ประธานาธิบดีรูสเวลต์ก็วิตกกังวลว่าหากลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 จะเป็นการทำลาย “ประเพณีปฏิบัติ” ของจอร์จ วอชิงตัน ในการเลือกตั้งครั้งนั้นสิ่งที่สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงต่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งคือประเด็นที่ว่าอาจจะมีการเปลี่ยนประธานาธิบดีในช่วงวิกฤตสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ขยายตัวไปทั่วโลก ประเด็นนี้สำคัญมากเกินกว่าที่ผู้คนจะมาสนใจว่าประธานาธิบดีรูสเวลต์จะดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 ดังนั้นท่านจึงได้รับเลือกตั้ง ใน ค.ศ. 1940 และอีกครั้งใน ค.ศ. 1944 รวม 4 สมัยติดกัน

การดำรงตำแหน่งสมัยที่ 4 ของประธานาธิบดีรูสเวลต์สร้างความหวาดกลัวให้กับพรรครีพับลิกัน (Republican Party) และฝ่ายอนุรักษ์นิยมในพรรคเดโมแครตว่าจะเกิดการสะสมอำนาจและอาจนำไปสู่ระบอบเผด็จการนิยม รัฐสภาจึงได้ผลักดัน “รัฐบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 22” (Amendment XXII) เมื่อ ค.ศ. 1947 และรัฐต่าง ๆ ก็ทยอยให้สัตยาบันมาเรื่อย ๆ จนถึง ค.ศ. 1951 ซึ่งมีเนื้อหาพอสรุปได้ ดังนี้

1. ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งมีวาระดำรงตำแหน่งได้ 2 สมัย (สมัยละ 4 ปี) หรือดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 10 ปี

2. ในกรณีผู้ที่เป็นประธานาธิบดีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยดำรงตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดีคนก่อนน้อยกว่า 2 ปี สามารถลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีได้อีก 2 สมัย

3. ในกรณีผู้ที่เป็นประธานาธิบดีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยดำรงตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดีคนก่อนมากกว่า 2 ปี สามารถลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีได้อีก 1 สมัย

ภาพแสดงผลการเลือกตั้งเมื่อ ค.ศ. 1940 (ภาพจาก wikipedia.org)

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นจึงขออธิบายถึงกรณีของประธานาธิบดีรูสเวลต์ ซึ่งอย่างที่กล่าวไปแล้วว่าท่านชนะเลือกตั้งเมื่อ ค.ศ. 1944 เป็นสมัยที่ 4 และได้ให้สัตยาบันในเดือนมกราคม ค.ศ. 1945 แต่เพียงไม่นานก็ถึงแก่อสัญกรรม แฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) รองประธานาธิบดีจึงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน แต่เนื่องจากประธานาธิบดีทรูแมนดำรงตำแหน่งต่อจากวาระของประธานาธิบดีรูสเวลต์ที่เหลือมากกว่า 2 ปี ดังนั้นประธานาธิบดีทรูแมนจึงสามารถสมัครเลือกตั้งได้อีกแค่ครั้งเดียว คือใน ค.ศ. 1948 (ซึ่งประธานาธิบดีทรูแมนชนะการเลือกตั้ง) แต่การเลือกตั้งครั้งถัดมาใน ค.ศ. 1952 ไม่สามารถลงสมัครได้เพราะจะกระทำผิดรัฐธรรมนูญ

ส่วนการดำรงตำแหน่งได้มากที่สุดถึง 10 ปีนั้น ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ ประธานาธิบดี A ดำรงตำแหน่งเข้าสู่ปีที่ 3 เหลือระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอีก 2 ปี (น้อยกว่า 2 ปี) แต่ได้ลาออกจากตำแหน่งเสียก่อน ดังนั้น รองประธานาธิบดี B จึงขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน ต่อมาเมื่อวาระนี้ครบกำหนด ประธานาธิบดี B สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เมื่อชนะเลือกตั้ง ประธานาธิบดี B ก็กลับมาดำรงตำแหน่งต่อ และ 4 ปี ผ่านไป เมื่อวาระนี้ครบกำหนด ประธานาธิบดี B ก็สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกครั้งหนึ่ง หากชนะเลือกตั้ง ประธานาธิบดี B ก็กลับมาดำรงตำแหน่งเช่นเดิม รวมเป็นประธานาธิบดี 10 ปี

อย่างไรก็ตาม มีความคิดที่จะให้ยกเลิกรัฐบัญญัตินี้เพราะการเลือกตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสิทธิโดยตรงของชาวอเมริกันอยู่แล้ว เรื่องการยกเลิก-ไม่ยกเลิกเป็นที่ถกเถียงกันมานานหลายปีจะเห็นได้จากการให้สัตยาบันรัฐบัญญิตินี้ โดย 41 รัฐให้สัตยาบัน แต่รัฐ Oklahoma และ Massachusetts ปฏิเสธที่จะให้สัตตยาบัน ขณะที่รัฐ Arizona Kentucky Rhode Island Washington และ West Virginia ไม่มีการตอบรับใด ๆ

“รัฐบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 22” (Amendment XXII) (ภาพจาก www.archives.gov)

“ประเพณีปฏิบัติ” ของจอร์จ วอชิงตัน นั้นปฏิบัติต่อกันมานานมากกว่า 160 ปี ก่อนที่จะถูกทำให้เป็น “ลายลักษณ์อักษร” การแหวกจารีตของประธานาธิบดีรูสเวลต์จึงเปิดช่องให้ฝ่ายที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมสามารถผลักดันรัฐบัญญัตินี้ได้สำเร็จ แต่จะเหมารวมว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั้งหมดคงไม่ถูกต้องนัก เพราะยังมีปัจจัยสำคัญเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเป็นความพยายามของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะจำกัดอำนาจฝ่ายบริหารให้อยู่ใน “กรอบ” ที่มีผลทางนิตินัยอย่างเป็นรูปธรรม ในแง่หนึ่ง รัฐบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 22 จึงสะท้อนแนวคิดอนุรักษ์นิยมของสหรัฐอเมริกาได้ระดับหนึ่ง

 


อ้างอิง :

Encyclopedia Britannica.  (2019).  Franklin D. Roosevelt, from https://www.britannica.com/biography/Franklin-D-Roosevelt

Encyclopedia Britannica.  (2019).  Twenty-second Amendment, from https://www.britannica.com/topic/Twenty-second-Amendment

National Constitution Center.  (2019). TWENTY-SECOND AMENDMENT, from https://constitutioncenter.org/interactive-constitution/amendments/amendment-xxii.

Sean Rowley.  (2014). Presidential terms limited by 22nd Amendment, from https://www.tahlequahdailypress.com/news/features/presidential-terms-limited-by-nd-amendment/article_abfac7ef-c505-55f2-b171-08bc83b6914d.html


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤษภาคม 2562