รู้จัก “MAGA” ขบวนการเคลื่อนไหวหนุน “โดนัลด์ ทรัมป์” ขึ้นแท่นประธานาธิบดีสหรัฐ 2024

ขบวนการเคลื่อนไหว MAGA โดนัลด์ ทรัมป์ ชิง ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา
โดนัลด์ ทรัมป์ (ภาพ Library of Congress on Unsplash)

วันที่ 5 พฤศจิกายน ปี 2024 โลกก็จะรู้ว่าใครได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน หรือ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต (หากเขาไม่ถอนตัวไปเสียก่อน) ซึ่งระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ หลายคนน่าจะได้ยินคำว่า “MAGA Movement” หรือ ขบวนการเคลื่อนไหว MAGA บ่อยครั้งขึ้น ขบวนการนี้คืออะไร?

รู้จักขบวนการเคลื่อนไหว MAGA

MAGA เป็นกลุ่มทางการเมือง ย่อมาจาก “Make America Great Again” แคมเปญหาเสียงเลือกตั้งของทรัมป์ในปี 2016 และถูกใช้ต่อเนื่องมาตลอดสมัยที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ระหว่างปี 2017-2021

MAGA ก่อตั้งขึ้นด้วยความเชื่อที่ว่า สหรัฐอเมริกาเคยเป็นประเทศที่ “ยิ่งใหญ่” แต่ได้สูญเสียสถานะนี้ไปด้วยหลายปัจจัย ทั้งการได้รับอิทธิพลจากต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายในอย่างการอพยพตามแนวชายแดน (หากยังจำกันได้ เมื่อครั้งที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เขามีแนวคิดสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก) หรือเรื่องพหุวัฒนธรรมในสหรัฐ รวมไปถึงปัจจัยภายนอกอย่างเรื่องโลกาภิวัตน์ เศรษฐกิจระดับชาติ ฯลฯ

สมาชิก MAGA คิดว่า การจะกู้ศักดิ์ศรีสหรัฐให้กลับมาได้ ต้องให้ความสำคัญกับประเทศก่อนเป็นอันดับแรก ทั้งการมีนโยบายปกป้องเศรษฐกิจ การลดจำนวนผู้อพยพ โดยเฉพาะจากประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย รวมทั้งกระตุ้นสิ่งที่เป็นคุณค่าของอเมริกันชน

หนึ่งในนโยบายที่สนับสนุนแนวคิดของ MAGA คือ การที่ทรัมป์ออกมาเรียกร้องในปี 2015 ให้สหรัฐมีมาตรการงดรับชาวมุสลิมเข้าประเทศ

จากนั้นในปี 2017 เมื่อทรัมป์อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดี ก็มีคำสั่งพิเศษเรื่องมาตรการคัดกรองพลเมืองจาก 6 ชาติ ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อาทิ อิหร่าน ลิเบีย ซีเรีย ที่จะต้องถูกคัดกรองอย่างเข้มงวดมากขึ้น หากต้องการเดินทางเข้าสหรัฐ

การดำเนินนโยบายแบบ “ฝ่ายขวา” เช่นนี้ของทรัมป์ สร้างความไม่พอใจให้ชาวอเมริกันจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ฝั่งอนุรักษนิยมก็ยิ่งสนับสนุนทรัมป์มากขึ้น เพราะมองว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้สหรัฐกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

วันที่ 6 มกราคม ปี 2021 หลังจากทรัมป์พ่ายการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐให้ไบเดน กลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ได้บุกเข้าสภาคองเกรส เพื่อกดดันไม่ให้มีการรับรองชัยชนะของไบเดน เหตุการณ์นี้นับเป็นเหตุการณ์โจมตีรุนแรงที่สุดในรอบ 207 ปี ที่อาคารรัฐสภาสหรัฐเผชิญมา นับตั้งแต่กองทัพอังกฤษจุดไฟเผาอาคารนี้ช่วงสงครามในปี 1814

ใครทำให้ “Make America Great Again” ติดหูอเมริกันชน

อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งคิดว่าทรัมป์เป็นคนใช้ประโยค “Make America Great Again” เป็นคนแรก เพราะคนที่ทำให้ประโยคนี้อยู่ในความรับรู้ของชาวอเมริกันจนกลายเป็นประโยคติดหู คือ โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ประธานาธิบดีสหรัฐ 2 สมัย คือตั้งแต่ปี 1981-1989

ย้อนไปเมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้งปี 1980 เรแกน ซึ่งเป็นตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ใช้ “Let’s Make America Great Again” เป็นหนึ่งในสโลแกนหาเสียง

พอมาปี 2012 ทรัมป์ก็ใช้ “Make America Great Again” แทบจะทันที หลังจาก มิตต์ รอมนีย์ (Mitt Romney) อดีตผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์จากพรรครีพับลิกัน พ่ายแพ้การชิงชัยประธานาธิบดีสหรัฐปี 2012 ให้กับ บารัก โอบามา (Barack Obama) จากพรรคเดโมแครต

ทรัมป์ยื่นเรื่องเพื่อใช้สโลแกนดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้า ด้วยจุดประสงค์เพื่อ “ส่งเสริมความรับรู้ของสาธารณะต่อประเด็นทางการเมือง และการระดมทุนในกิจการทางการเมือง” และประกาศสโลแกนในการหาเสียงวันเดียวกับที่ประกาศเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ปี 2015

วันดังกล่าว จึงอาจถือเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการเคลื่อนไหว MAGA ที่ชาวอเมริกันจับตามองในช่วงเวลานี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


 อ้างอิง :

Volle, Adam. “MAGA movement”. Encyclopedia Britannica, 15 Jul. 2024, https://www.britannica.com/topic/MAGA-movement. Accessed 17 July 2024.

บีบีซี ไทย. “คำสั่งห้ามพลเมือง 6 ชาติมุสลิมเข้าสหรัฐฯ บังคับใช้แล้ว”. เข้าถึงเมื่อ 17 กรกฎาคม 2567.

บีบีซี ไทย. “อดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเผยทรัมป์ปลุกระดมให้ผู้สนับสนุนก่อจลาจลที่รัฐสภา”. เข้าถึงเมื่อ 17 กรกฎาคม 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม 2567