10 ธันวาคม 2482 : ครบ 80 ปี ประกาศใช้เพลงชาติไทยเพลงปัจจุบัน

นอกจากวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธันวาคม ยังมีเหตุการณ์สำคัญอื่นอีกด้วย วันที่ 10 ธันวาคม 2482 รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ประกาศใช้เพลงชาติไทยเพลงใหม่ซึ่งใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่าในปี 2482 จะมีการประกาศใช้เพลงชาติไทยแต่ไม่ได้หมายความว่าก่อนหน้านั้นประเทศไทยไม่ได้มีเพลงชาติ ในทางกลับกันก่อนที่จะมีเพลงชาติไทยเพลงปัจจุบันได้มีการประพันธ์และแก้ไขเพลงชาติกันอยู่หลายครั้ง

ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ครั้งยังเป็นประเทศสยาม เพลงชาติยังไม่ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ประเทศสยามจึงใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีแทนเพลงชาติ ซึ่งจะใช้ในการถวายความเคารพพระมหากษัตริย์ต่างชาติที่เสด็จเยือนประเทศสยาม

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 คณะราษฎรมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วงชิงบทบาทนำประเทศจากอำนาจการปกครองเดิม จึงต้องอาศัยเครื่องมือทุกรูปแบบ ทั้งนี้ “เพลงชาติ” เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญของคณะราษฎรเพื่อใช้ประกาศว่า ชาติเป็นของประชาชนชาวสยาม ทำให้เพลงชาติถือกำเนิดขึ้นอย่างเร่งรีบหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สองสามวัน

โดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณอยุธยา) ใช้ทำนองมหาชัย ซึ่งมีเนื้อหาที่สะท้อนให้เห็นว่านับแต่นี้ไปประเทศสยามจะนำโดยชาวสยาม ทั้งนี้ ปกติทำนองมหาชัยจะใช้สำหรับรับเสด็จเจ้านายเชื้อพระวงศ์ทำให้ไม่เป็นที่ถูกใจคณะราษฎรที่อยากได้ทำนองอย่างสากล เพลงชาติทำนองมหาชัยจึงถูกใช้ได้ไม่นาน จนกระทั่งเพลงชาติทำนองแบบสากลถูกแต่งขึ้นโดยพระเจนดุริยางค์

ย้อนไปเมื่อปี 2474 ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พระเจนดุริยางค์ได้ถูกร้องขอจากหลวงนิเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา) เพื่อนสนิท ให้แต่งเพลงบทหนึ่งให้มีทำนองเป็นเพลงที่มีความรู้สึกคล้ายกับเพลงชาติฝรั่งเศสที่มีชื่อ ลา มาร์เซยเยส์ (La Marseillaise) แต่พระเจนดุริยงค์ก็ได้ปฏิเสธไปเพราะมีเพลงสรรเสริญพระบารมีอยู่แล้ว อีกทั้งไม่ได้มีคำสั่งทางการมาจึงแต่งให้ไม่ได้

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 หลวงนิเทศกลกิจมาขอให้พระเจนดุริยางค์แต่งทำนองเพลงชาติให้อีกครั้ง ครั้งนี้พระเจนดุริยางค์ปฏิเสธไม่ได้ ถึงแม้ไม่มีคำสั่งจากทางการ แต่ก็ดูเหมือนว่าเป็นคำสั่ง เพราะหลวงนิเทศกลกิจเป็นผู้ร่วมในคณะราษฎรด้วย

ทำนองเพลงชาติสยามอย่างสากลจึงถือกำเนิดขึ้นโดยพระเจนดุริยางค์ด้วยความหนักใจ เพราะตลอดชีวิตของพระเจนดุริยางค์รับใช้แต่เพียงเจ้านายเชื้อพระวงศ์ หลังจากทำนองเพลงชาติถูกเผยแพร่ไป แม้ว่าพระเจนดุริยางค์จะขอให้ไม่เปิดเผยชื่อผู้แต่ง แต่หนังสือพิมพ์ศรีกรุงได้ออกข่าวว่าเมืองไทยกำลังมีเพลงชาติใหม่ และระบุชื่อผู้แต่งคือพระเจนดุริยางค์

หลังจากนั้นพระเจนดุริยางค์ถูกเสนาบดีกระทรวงวังตวาดว่า “ไปทำอะไรไว้ในเรื่องเพลงชาติ รู้หรือไม่ว่าพระเจ้าแผ่นดินเรายังอยู่ จะทำอะไรไว้ในเรื่องรี้ทำไมไม่ปรึกษาขออนุญาตเสียก่อน” เมื่อมีทำนองเพลงชาติแล้วจำเป็นต้องมีเนื้อร้อง ดังนั้น เนื้อร้องจึงถูกประพันธ์ขึ้นโดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) มีทั้งหมด 2 บท มีเนื้อร้องว่า

แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า
สืบชาติไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
ร่วมรักษาเอกราชชนชาติไทย
บางสมัยศัตรูจู่มารบ
ไทยสมทบสวนทัพเข้าขับไล่
ตลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไผท
สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราชคือกระดูกที่เราบูชา
เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
ยึดอำนาจกุมสิทธิ์อิสระเสรี
ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย
สถาปนาสยามให้เชิดชัย ชโย

เนื้อร้องเพลงชาตินี้ใช้ได้ 2 ปี จนถึงปี 2477 ก็ยังไม่เป็นที่พอใจคณะราษฎรนัก จึงได้มีการแก้ไขเนื้อร้องบางตอนของขุนวิจิตรมาตรา และจัดให้มีการประกวดเนื้อร้องขึ้นใหม่อีก โดยยึดทำนองเดิมของพระเจนดุริยางค์ไว้ จนได้เนื้อร้องของนายฉันท์ ขำวิไล 2 บท โดยให้รวมกับเนื้อรองของขุนวิจิตรมาตรา รวมเป็น 4 บท ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2477 เนื้อร้องที่เพิ่มมามีว่า

เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต
รักษาสิทธิ์อิสระ ณ แดนสยาม
ที่พ่อแม่สู้ยอมม้วยด้วยพยายาม
ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา
ถึงแม้ไทย ไทยด้อยจนย่อยยับ
ยังกู้กลับคงคืนได้ชื่นหน้า
ควรแก่นามงามสุดอยุธยา
นั้นมิใช่ว่า จะขัดสนหมดคนดี
เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย
มิให้ใครเข้าเหยียบย่ำขยำขยี้
ประคับประคองป้องสิทธิ์อิสรเสรี
เมื่อภัยมีช่วยกันจนวันตาย
จะสิ้นชีพไว้ชื่อให้ลือลั่น
ว่าไทยมันรักชาติไม่ขาดสาย
มีไมตรีดียิ่งทั้งหญิงชาย
สยามมิวายผู้มุ่งหมายเชิดชัยไชโย

แต่เนื้อร้องนี้ก็ใช้ได้ไม่นานเพราะมีควายาวมากเกินไป ในปี 2478 รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ออกระเบียบการบรรเลงเพลงชาติ บังคับใช้เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน ระเบียบดังกล่าวได้แบ่งการบรรเลงเพลงชาติออกเป็น 2 แบบ คือ แบบพิศดารหรือเต็มเพลงให้บรรเลงในงานพิธีใหญ่ ๆ เท่านั้น และแบบสังเขปหรือการตัดบางท่อนออกให้สั้นลง ให้บรรเลงในพิธีที่เกี่ยวข้องกับประชาชนหรือในพิธีปกติ

ต่อมาสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นช่วงของการสร้างชาติโดยอุดมการณ์ชาตินิยม ธงชาติและเพลงชาติถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางวิทยุสำหรับสัญญาณในการเคารพธงชาติในเวลา 08.00 น. และเวลา 18.00 น.

ในปี 2482 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เปลี่ยนชื่อประเทศ “สยาม” เป็นประเทศ “ไทย” เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ทำให้เกิดปัญหากับเนื้อร้องเพลงชาติเก่าที่ใช้กันมา และมีการกล่าวหากันว่า เนื้อร้องเพลงชาติของขุนวิจิตรมาตราเอาชื่อภรรยามาแต่งในคำว่า “ประเทือง” และเอาชื่อตนเองมาแต่งในคำว่า “สง่า” เดิมขุนวิจิตรมาตรามีชื่อว่า “สง่า กาญจนาคพันธ์” แต่จริง ๆ แล้วชื่อภรรยาของขุนวิจิตรมาตรานั้นชื่อ “วิเชียร” ไม่ใช่ “ประเทือง”

ด้วยเหตุดังกล่าวรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงประกาศให้มีการประกวดเนื้อร้องเพลงชาติขึ้นใหม่แต่ยังคงทำนองของพระเจนดุริยงค์ไว้ ผลของการตัดสินปรากฏว่าเนื้อร้อง พ.ต.หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปราจิณพยัคฆ์) ส่งในนามของกองทัพบกได้รับการคัดเลือกให้ใช้เป็นเนื้อเพลงชาติ เพราะสั้นกระทัดรัด ให้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2482 มาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 80 ปีมาแล้ว เนื้อเพลงดังนี้

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย

เด็กนักเรียนเข้าแถวเคารพธงชาติตอน 8.00 น. (ภาพจากเพลงชาติไทยฉบับปัจจุบัน 2562)

ดังนั้น เหตุผลที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงเนื้อร้องเพลงชาติในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เปลี่ยนเนื้อร้องใหม่ทั้งหมดแต่ยังคงทำนองของพระเจนดุริยางค์ไว้ ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบันนั้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ซึ่งเนื้อร้องแบบเก่าไม่สอดคล้องกับชื่อใหม่ของประเทศ อีกทั้งเนื้อร้องเก่าคงมีความยาวเกินไป นอกจากนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องการใช้เพลงชาติเป็นเครื่องมือสำคัญในการขยายอุดมการณ์ชาตินิยม


ที่มา : 

เพลงชาติไทย ร้องเพี้ยน ร้องผิด มานานแล้ว โดย ล้อม เพ็งแก้ว ใน วารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 14 ฉบับที่ 9 กรกฎาคม 2536

ธงชาติ เพลงชาติ สร้าง (รัฐ) ชาติไทย เรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส และ – และแผ่ขยายมหาอาณาจักรไทย โดย ชนิดา พรหมพยัคฆ์ – เผือกสม ในวารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 24 ฉบับที่ 5 มีนาคม 2546

กว่าจะเป็นเพลงชาติไทย โดย สมเกียรติ เขียวสอาด แผนกวิชาศิลปะ ส่วนการศึกษา โรงเรียนเตรียมทหาร


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคม 2562