เหตุผลที่ “ขุนวิจิตรมาตรา” เขียนเนื้อเพลงชาติฉบับสยาม ไม่ยอมแต่งฉบับชื่อประเทศไทย

ชีวิตประจำวันของคนยุคนี้เกี่ยวข้องกับเพลงและดนตรี อย่างน้อยก็ต้องเคารพเพลงชาติวันละ 2 ครั้ง แต่รู้หรือไม่ว่า เบื้องหลังกำเนิดเพลงชาติไทยนั้นมีเส้นทางขรุขระพอสมควรทั้งทำนองและเนื้อร้อง สำหรับเนื้อร้องก็มีอันต้องเปลี่ยน 2 ครั้งในช่วงที่เปลี่ยนจากสยาม มาเป็นประเทศไทย แต่เมื่อเปลี่ยนชื่อประเทศแล้วขุนวิจิตรมาตรา ผู้เขียนคำร้องฉบับแรกกลับไม่ยอมเขียนอีกฉบับหลังจากเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย

ทำนอง

สำหรับกรณีทำนองเพลงชาตินั้น พระเจนดุริยางค์ ผู้แต่งทำนองเพลงชาติไทยเขียนบอกเล่าเบื้องหลังไว้ในหนังสือชีวประวัติส่วนตัวของท่านว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้น มีสหายร้องขอให้แต่งทำนอง ซึ่งท่านก็ตอบสนองให้แต่ขอให้ปิดชื่อผู้แต่งเป็นความลับ อย่างไรก็ตาม เกิดความแตกจนกลายเป็นเรื่องใหญ่โตทีเดียว

Advertisement

สำหรับเรื่องราวของการแต่งเพลงชาติในช่วงเริ่มต้นนั้น พระเจนดุริยางค์บันทึกเรื่องราวในหนังสือ “ชีวประวัติของข้าพเจ้า” จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 พระเจนดุริยางค์พบกับสหายที่รู้จักสนิทสนมกันมาก่อน สหายท่านนี้เองเป็นผู้กระซิบร้องขอให้ประพันธ์เพลงให้บทหนึ่ง ให้ทำนองคล้ายกับเพลงชาติฝรั่งเศสที่เรียกกันว่า “La Marseillaise”

ในช่วงเวลานั้น มีเพลงสรรเสริญพระบารมีอยู่แล้ว ซึ่งพระเจนดุริยางค์คิดว่า ไม่จำเป็นต้องมีเพลงชาติอีกก็ได้ แต่หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 แล้ว “เพื่อน” ท่านนี้ (เป็นหนึ่งในคณะราษฎรด้วย) ก็มาร้องขอให้รีบจัดการประพันธ์ให้โดยอ้างว่าเป็นประสงค์ของคณะผู้ก่อการ จากบรรยากาศในช่วงเวลานั้นแล้ว พระเจนดุริยางค์ยอมรับว่า ปฏิเสธได้ยากจากสภาพการเมืองช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่ยังร้องขอให้ปกปิดชื่อผู้ประพันธ์ไว้ โดยย้ำกำชับหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม การรายงานข่าวของสื่อมวลชนในเวลานั้นกลับปรากฏรายงานข่าวเรื่องการทดลองฟังบรรเลงทำนองเพลงที่ประพันธ์ใหม่อันเหมาะสมจะเป็นเพลงชาติได้ โดยมีชื่อของพระเจนฯ กำกับตอนท้ายว่าเป็นผู้ประพันธ์

เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่เพียงทำให้พระเจนฯ โกรธเดือดดาล ยังทำให้เกิดบรรยากาศคุกรุ่นด้วย โดยพระเจนฯ เล่าว่า ท่านถูกเจ้าพระยาวรพงศพิพัฒน์ (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง แต่ตำแหน่งนี้ถูกยกเลิกภายหลัง พ.ศ. 2480) เรียกเข้าพบด่วน และถูกตวาดใส่หน้า ถามเหตุผลเรื่องการประพันธ์เพลง (อ่านเพิ่มเติม“พระเจนดุริยางค์” ผู้แต่งเพลงชาติไทย เล่าเรื่องสกปรก-วิตถารในที่ราชการซึ่งรับไม่ได้)

ท้ายที่สุดพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในครั้งนั้นรีบชี้แจงไปยังกระทรวงวังเรื่องการประพันธ์นี้ว่าเป็นดำริของท่านและสมาชิกสภาร้องขอมายังพระเจนฯ ท่านไม่ได้แต่งขึ้นเองโดยปราศจากสาเหตุนำมาก่อนแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่ได้หมายความว่าจะนำขึ้นเป็นเพลงชาติ และไม่ได้หมายถึงการลบล้างเพลงสรรเสริญพระบารมี

เนื้อร้อง

สำหรับเนื้อร้องนั้น ขุนวิจิตรมาตรา บันทึกเรื่องราวไว้ในตอนหนึ่งของผลงาน “81 ปีในชีวิตข้าพเจ้า” โดยขุนวิจิตรมาตราเอง ขุนวิจิตรมาตรา เล่าว่า หลวงนิเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา) หรือ “เพื่อน” ที่ไปคุยกับพระเจนฯ ที่กล่าวไว้ข้างต้น พร้อมกับนายหทารเรืออีกจำนวนหนึ่งมาที่บ้านสะพานขาว แจ้งว่า อยากให้ใส่เนื้อร้องลงในทำนองเพลงหนึ่ง เพลงที่จะเรียกว่า “เพลงชาติ”

เมื่อตกลงกันแล้ว ขุนวิติรมาตรารับทำนองเพลงชาติมาพิจารณาอยู่หลายวัน พร้อมเล่าว่า

“ทำนองเพลงชาตินั้นมีลักษณะไม่สลับซับซ้อนเหมือนเพลงฝรั่งแท้ และท่านวางประโยคกระจายไปจนเห็นว่าเข้าลักษณะประเภทกลอนสุภาพของไทยได้ เพลงชาติเป็นของไทย ไทยเราชอบกลอน จึงใส่คำให้เป็นรูปกลอนสุภาพไทยจะเหมาะสมดี ส่วนเนื้อจะไปอย่างไรนั้น อาศัยฟังความเพียงเค้าๆ ว่า คนไทยได้มาอยู่ในสยาม ได้สู้รับกับศัตรูมาจนตั้งตัวได้ จำเป็นต้องรักษาเอกราชให้เจริญต่อไป จึงเห็นว่าควรจะแต่งเป็น 2 ตอน…”

คำร้อง 2 ตอนที่เป็นผลงานของขุนวิจิตรมาตรามีใจความว่า

“แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า
สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
รวมรักษาสามัคคีทวีไทย
บางสมัยศัตรูจู่โจมตี
ไทยพลีชีพร่วมรวมรุกไล่
เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไผท
สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา

อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราษฎร์คือเจดีย์ที่เราบูชา
เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี
ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย
สถาปนาสยามให้เทอดไทยไชโย”

(อีก 2 ตอนต่อจากคำร้องข้างต้นเป็นเนื้อร้องของนายฉันท์ ขำวิไล)

ขุนวิจิตรฯ บรรยายว่า การใส่คำต้องพยายามให้ได้กับโน้ตที่เป็นเสียงสูงหรือต่ำ สั้นหรือยาวตามโน้ต มีที่เพี้ยนไปบ้างเล็กน้อยก็ต้องยอม เพราะถือเอาเนื้อหาใจความเป็นสำคัญ เมื่อแต่งแล้วก็นำมาให้หลวงนิเทศฯ หลังจากทดลองร้องกันให้ดูแล้วเห็นว่าใช้ได้จึงจะนำไปร้องให้สภาผู้แทนราษฎรที่พระที่นั่ง

ในช่วงหนึ่ง คณะราษฎรมีความคิดเห็นแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าคำร้องว่า “ยึดอำนาจกุมสิทธิ์เอกราช (หรือประกาศ) จงดี” ไม่เหมาะสม เพราะพ้องกับ ยึดอำนาจการปกครอง” พ.ศ. 2475 อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า “ถ้าดูความตั้งแต่ต้นแล้วก็เห็นว่าไม่เป็นไร” อย่างไรก็ตาม บทสรุปลงเอยที่หลวงนิเทศฯ นำโจทย์มาให้ขุนวิจิตรฯ แก้ไข แล้วเปลี่ยนเป็น “รักษาชาติ ประเทศเอกราชจงดี”

หลังจากการเปลี่ยนเนื้อแล้วก็ยังมีประเด็นที่สมัยนี้เรียกกันว่า “ดราม่า” อีกระลอก คือมีกระแสข่าวโจษจันในหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ว่า “แต่งเพลงชาติโดยใส่เนื้อร้องให้มีชื่อลูกเมียเข้าไปด้วย” มีคำถามว่าทำไมใส่ชื่อ “ประเทือง” ที่คิดว่าเป็นภรรยาของขุนวิจิตรฯ ในเนื้อเพลง และมีคำว่า “สง่า” ที่เป็นชื่อของขุนวิจิตรฯ รวมอยู่ด้วย กรณีนี้ขุนวิจิตรฯ อธิบายว่า

“ข้าพเจ้าก็บอกไปว่า ‘เมียข้าพเจ้าชื่อวิเชียร ไม่ได้ชื่อประเทือง’ ส่วนคำว่าสง่า นั้นตรงกับชื่อข้าพเจ้าจริง แต่ไม่ได้มุ่งหมายเช่นนั้น โน้ตตัวนี้ต้องเป็นเสียงต่ำ ข้าพเจ้านึกหาคำไม่ได้ แต่คำว่า ‘สง่า’ นั้นแปลว่า ผ่าเผย ผึ่งผาย งาม น่าเกรงขาม ฯลฯ สยามตั้งอยู่ในที่เหมาะสม และถือกันแต่โบราณว่าเหมือนขวาน จึงเอาคำนี้มาใช้ให้เข้ากับโน้ต…”

หลังจากนั้นเป็นต้นมา มีการประกาศให้ประกวดแต่งเพลงชาติขึ้นใหม่หลายครั้ง โดยทำนองเป็นทำนองเดิมของพระเจนดุริยางค์ และพระเจนฯมาแจ้งให้ขุนวิจิตรฯ แต่งใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ขุนวิจิตรฯ ยืนกรานว่าไม่แต่ง เพราะไม่ต้องการประกวดกับใคร ที่แต่งแล้วก็เพราะให้ช่วยแต่งจึงแต่งให้

“เมื่อไม่ต้องการที่ข้าพเจ้าแต่งก็ทิ้งไป เอาเพลงที่เขาแต่งประกวดได้เป็นเพลงชาติใหม่ พระเจนฯ ก็ไม่ได้ว่าอะไร ครั้นเมื่อประกวดแล้วปรากฏว่าให้ใช้เพลงที่ข้าพเจ้าแต่งไว้แล้วนั้นคงเป็นเพลงชาติต่อไป…”

ดราม่าอีกหนคือเมื่อครั้ง หลวงวิจิตรวาทการเขียนลงหนังสือพิมพ์ว่า “เพลงชาติที่แต่งโดยขุนวิจิตรมาตรา หลวงวิจิตรวาทการเอาไปประแป้งให้เองจึงดี” เหตุการณ์นี้ทำให้ขุนวิจิตรฯ เขียนโต้ตอบลงในหนังสือพิมพ์ว่า

“ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าหลวงวิจิตรวาทการประแป้งให้ผม ถ้าได้รู้เสียแต่แรกข้าพเจ้าจะแก้ผ้าแอ่นพุงให้หลวงวิจิตรฯ ประแป้ง”

วิวาทะครั้งนี้เป็นที่ฮือฮากันพอสมควร และคนรอบข้างกังวลว่ากรณีนี้อาจทำให้ทั้งคู่ไม่มองหน้ากันอีก

การประกาศให้ประกวดครั้งต่อมา (ซึ่งขุนวิจิตรมาตรายืนกรานไม่ส่งประกวดเช่นเดิม) ยังคงมีผลออกมาให้ใช้คำร้องเดิม แต่ให้เติมคำของนายฉันท์ ขำวิไล อีก 2 ตอน รวมเป็น 4 ตอน กระแสในช่วงนั้นต่างพูดกันว่า ถ้าให้ร้อง 4 ตอนจะยาวเกินไป โดยส่วนมากก็ยังให้ร้องกันเฉพาะ 2 ตอนแรก

เพลงชาติฉบับขุนวิจิตรมาตรา ใช้ติดต่อกันมาจนถึงพ.ศ. 2482 เมื่อเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็น “ประเทศไทย” ช่วงเวลานั้นกระแสการถกเถียงเกี่ยวกับชื่อประเทศหนาหู ฝั่งคณะราษฎรเอง กับฝั่งประชาชนกำลังหาข้อสรุปว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เมื่อสรุปแล้ว เพลงชาติเดิมก็จำต้องเปลี่ยนด้วยเนื่องจากมีชื่อ “สยาม” หลายจุด

เป็นอีกครั้งที่มีประกาศประกวดแต่งเนื้อเพลงชาติ และมีเงินรางวัลด้วย และเป็นอีกครั้งที่ขุนวิจิตรมาตราได้รับคำแนะนำให้ส่งประกวด แต่ก็จบลงด้วยคำตอบเดิมว่า “ไม่! เมื่อเห็นว่าใช้ไม่ได้ก็ทิ้งไป”

“ข้าพเจ้าก็ยังคงคำว่าไม่แต่ง เพราะไม่ต้องการจะประกวดกับใครไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น และที่แต่งมาแล้วก็ด้วยความพอใจจะแต่งเอง ไม่ต้องการชื่อเสียงเอาเด่นหรือเอารางวัลอะไร ข้าพเจ้าเคยแต่งอะไรต่ออะไรมา ไม่เคยเอาเงินทั้งสิ้น เมื่อใครเขาต้องการชื่อเสียงต้องการรางวัลก็ให้เขาแต่งไป

พระเจนฯ พูดอยู่นานจนเห็นว่าข้าพเจ้าไม่ต้องการแต่งจริงก็ลาไป ในระยะนั้นคุณพระพบข้าพเจ้าทีไร ก็ยังต่อว่าข้าพเจ้าทุกที”

ครั้งนั้น หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ที่มักพบปะกับขุนวิจิตรมาตราเป็นประจำมาแจ้งขุนวิจิตรมาตราว่า จะแต่งเพลงชาติส่งประกวด ขุนวิจิตรฯ ตอบกลับไปว่า “ตามใจใครจะแต่งก็ได้” หลวงสาราฯ กล่าวต่อไปว่า จะใช้แนวทางเดียวกับขุนวิจิตรมาตรา คือแต่งเป็นกลอนสุภาพให้ได้เสียงสูงต่ำตามนั้น ไม่ได้แหวกแนวทางประหลาดออกไปจากเดิม ซึ่งขุนวิจิตรมาตรา ชี้ว่า “คุณหลวงจะแต่งอย่างไรก็ตามใจเถิด ไม่ต้องคิดว่าจะมาชิงดีกับผม”

บันทึกเนื้อหาที่ขุนวิจิตรมาตรา เขียนไว้ตอนหนึ่งอันเกี่ยวกับการประกวดเพลงชาติไทยที่จะนำมาซึ่งคำร้องที่ใช้กันมาจนถึงวันนี้ มีใจความว่า

“หลวงสาราฯ พบข้าพเจ้าเป็นต้องพูดเรื่องเพลงชาติทุกวัน เพราะไปประชุมที่วังบางขุนพรหมร่วมกันเสมอ จนบอกตรงๆ ว่าเบื่อ และคอยเลี่ยงไม่ให้พบแก วันที่หลวงสาราฯ บอกว่าแกแต่งและให้กรรมการดูทั่วแล้ว จะส่งในนามกองทัพบก มีแกเป็นผู้แต่ง

ในที่สุดกรรมการก็ตัดสินให้เพลงของหลวงสารานุประพันธ์ เป็นเพลงชาติ มีคำร้องตอนเดียว ข้าพเจ้าหมดรำคาญไปทุกทีที่ขี้เกียจฟังแกคุย

เมื่อมาได้อ่านชีวประวัติของพระเจนฯ ซึ่งท่านเขียนเอง ท่านพูดรวมเรื่องเนื้อเพลงชาติน้อยแต่ไม่ออกชื่อหลวงสารานุประพันธ์ และมีข้อความในวงเล็บว่า ‘แต่ในความเห็นของข้าพเจ้า เนื้อใหม่นี้ไม่สู้จะสอดคล้องกับทำนองเท่าเทียมกับเนื้อร้องเดิม’ ก็เป็นอันว่าเพลงชาติสิ้นสุดกันไปที

โมทนาสาธุ”

 


อ้างอิง :

ขุนวิจิตรมาตรา. 81 ปีในชีวิตของข้าพเจ้า.

พระเจนดุริยางค์. ชีวประวัติของข้าพเจ้า. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระเจนดุริยางค์, 2512

สุพจน์ แจ้งเร็ว. “หนึ่งรอบศตวรรษพระเจนดุริยางค์”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 4 ฉบับที่ 9 กรกฎาคม 2526


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มีนาคม 2562