25 ตุลาคม 2473 พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของประเทศ

รัชกาลที่ 7 พระราชทาน ปริญญา ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่ 25 ตุลาคม 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตรเวชศาตรบัณฑิต (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแพทยศาสตรบัณฑิต) ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการพระราชทานปริญญาบัตร ณ ห้องประชุมตึกบัญญาชาการ (ตึก 1 ค ณะอักษรศาสตร์ปัจจุบัน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่ห้องประชุม พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร-เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยบัณฑิตพิเศษแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานครุยกิตติมศักดิ์แก่ข้าราชการของมหาวิทยาลัย 2 ท่าน คือ

1.บัณฑิตชั้นโท (มหาบัณฑิตในปัจจุบัน) ทางวิทยาศาสตร์แก่พระยาภะรตราชา(หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บัญชาการ (อธิการบดีในขณะนั้น)

2.บัณฑิตชั้นเอก (ดุษฎีบัณฑิตในปัจจุบัน) แก่ศาสตราจารย์ น.พ. A.G.Ellis คณบดีคณะแพทยศาสตร์ (ต่อมาเป็นอธิการบดีของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ระหว่าง พ.ศ. 2478-2479)

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานประกาศนียบัตร (ปริญญาบัตรในปัจจุบัน) แก่เวชบัณทิตชั้นตรี จำนวน 29 คน ประกอบด้วยผู้สอบได้บัณฑิตชั้นตรีในปี 2471 จำนวน 18 คน และปี 2472 จำนวน 16 คน

ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชโชวาทแก่บัณฑิตในครั้งนั้น ตอนหนึ่งว่า “…ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาให้ปริญญาแก่นักเรียนมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกในวันนี้ นับว่า เป็นวันสำคัญสำหรับประวัติการของมหาวิทยาลัย และโดยเหตุนั้น นับว่าเป็นวันสำคัญสำหรับประวัติการของประเทศสยามด้วย เพราะว่าไม่ว่าประเทศใดๆ ความเจริญของประเทศนั้นย่อมวัดด้วยความเจริญของการศึกษานั้นอย่างหนึ่ง…

อนึ่ง ในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือเชิญผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมยุทธศึกษาทหารบก, กรมยุทธศึกษาทหารเรือ, สภากาชาดสยาม, วชิรพยาบาล, มหามงกุฎราชวิทยาลัย, ราชบัณฑิตยสภา, โรงเรียนกฎหมาย, ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากกระทรวงต่างๆ เอกอัครราชทูตของประเทศที่มาประจำประเทศไทย ฯลฯ มาร่วมพิธีด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

หอประวัติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.memohall.chula.ac.th

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว http://www.kingprajadhipokmuseum.com


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ตุลาคม 2562