ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เออร์เนสโต เกวารา เดอ ลา เซอร์นา (Ernesto Guevara dela Serna) หรือ “เช เกวารา” เป็น “นักปฏิวัติ” ชื่อก้องโลก เขาเกิดวันที่ 14 มิถุนายน 1928 ที่โรซาริโอ (Rosario) ประเทศอาร์เจนตินา ในครอบครัวชนชั้นกลางฐานะดี เขาเป็นนักทฤษฎีและนักวางแผนในสงครามกองโจร และเป็นคอมมิวมิสต์ผู้โดดเด่นในการปฏิวัติ “คิวบา”
เมื่อครั้งที่ เช เกวารา ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ เขาได้เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วอเมริกาใต้ พร้อมกับ อัลแบร์โต กรานาโด (Alberto Granado) เพื่อนของเขา ด้วยรถจักรยานยนต์เมื่อปี 1951 ภาพที่ได้เห็นระหว่างเดินทาง ทำให้เขาหันมาสนใจปัญหาทางสังคม
เกวาราได้บันทึกเรื่องราวการเดินทางครั้งนั้นเอาไว้ ก่อนมีการตีพิมพ์ภายใต้การดูแลของครอบครัวหลังเขาเสียชีวิตไปนานหลายสิบปี ในชื่อ The Motorcycle Diaries: Notes on a Latin Amarican Journey ในปี 2003 และได้ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี 2004
ในปี 1953 เกวาราเดินทางไปยังกัวเตมาลา ตรงกับสมัยรัฐบาลของจาโคโบ อาร์เบนซ์ (Jacobo Arbenz) ที่พยายามปฏิวัติโครงสร้างทางสังคม หนึ่งในมาตรการสำคัญคือการยึดที่ดินนายทุนที่ไม่ได้ใช้ทำประโยชน์ กระทบถึงทุนอเมริกัน นำไปสู่การรัฐประหารที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้ให้การสนับสนุน
เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทำให้เกวาราเชื่อว่า สหรัฐฯจะต้องเข้าแทรกแซงรัฐบาลฝ่ายซ้ายอยู่ร่ำไป เขาเชื่อว่า การได้มาซึ่งระบบสังคมนิยม จำเป็นต้องเกิดการปฏิวัติระดับโลก และกลายมาเป็นผู้อุทิศตนให้กับอุดมการณ์มาร์กซิสต์
เช เกวารา กับการปฏิวัติ “คิวบา”
เกวาราเดินทางออกจากกัวเตมาลามุ่งหน้าไปยังเม็กซิโก และได้พบกับสองพี่น้องชาวคิวบา ฟิเดลและราอูล คาสโตร ซึ่งหลบหนีคดีการเมืองมาวางแผนยึดอำนาจจากรัฐบาลบาติสตา และกลายมาเป็นมือขวาที่ได้รับความไว้วางใจอย่างมากของคาสโตร
หลังคาสโตรยึดอำนาจได้สำเร็จในวันที่ 2 มกราคม 1959 เกวารากลายเป็นผู้คุมเรือนจำลาคาบานา (La Cabana) พร้อมกับหน้าที่ในการดูแลและสังหารบุคคลใดๆ ก็ตามที่เป็นศัตรูต่อการปฏิวัติของระบอบใหม่
“เราจับคนมากมายมายิงเป้าโดยไม่รู้ว่าพวกเขาทำความผิดจริงรึป่าว” เกวารากล่าวยอมรับว่าเขาอาจสังหารผู้บริสุทธิ์ “ในเวลานั้นฝ่ายปฏิวัติ ไม่มีเวลามาหยุดทำการสอบสวนอะไรมากมาย ภาระสำคัญที่สุดคือการกุมชัยชนะ”
พยานผู้เห็นเหตุการณ์อ้างว่า เกวาราไม่มีความปราณีแม้แต่กับเด็กอายุ 17 ปี ที่มาเป็นทหารเพื่อหาเงินส่งให้แม่
“ผมไม่เคยฆ่าใครเลย ผมเพิ่งจะมาถึงที่นี่ แม่ผมเป็นม่าย แล้วผมก็เป็นลูกคนเดียว ผมเข้ากองทัพก็เพราะต้องการเงินเดือนเพื่อส่งให้แม่ทุกเดือน อย่าฆ่าผมเลย อย่าฆ่าผม” ทหารหนุ่มกล่าว ก่อนที่เกวาราจะตอบกลับไปว่า “ทำไมจะไม่ล่ะวะ?” และฆ่าทหารหนุ่มรายนี้อย่างไม่ลังเล
หลังฝ่ายปฏิวัติยึดอำนาจใน คิวบา ได้สำเร็จเพียงสองปี มีการบันทึกว่าระบอบใหม่ได้สังหารนักโทษไปทั้งสิ้น 1,118 ราย (ในปี 1959 และ 1960) ขณะที่ภายใต้ระบอบเผด็จการบาติสตาระหว่างปี 1952-1959 มีผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้เกิดจากการต่อสู้ 747 ราย, วิสามัญฆาตกรรมหรือลอบสังหาร 687 ราย ประหารชีวิต 19 ราย และสูญหาย 22 คน (ตัวเลขจากรายงาน Che Guevara Forgotten Victims)
นอกจากนี้ เกวารายังไม่เชื่อในเรื่องเสรีภาพของสื่อ ในปี 1959 เขาเคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวคิวบา โฆเซ ปาร์โด ยาดา (Jose Pardo Llada) ว่า “เราต้องกำจัดหนังสือพิมพ์ทิ้ง เราไม่อาจปฏิวัติได้หากสื่อมีเสรีภาพ หนังสือพิมพ์คือเครื่องมือของพวกอภิชน”
เกวารายังได้รับหน้าที่ดูแลนโยบายทางเศรษฐกิจ คิวบา ทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรมและการเงิน ด้วยนโยบายเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ ที่ดินและโรงงานจึงตกมาอยู่ในมือของรัฐ เขาเรียกร้องให้แรงงานคิวบาทุกคนต้องทำงานเพื่อสังคมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และปฏิเสธสิทธิในการต่อรองของแรงงาน
“แรงงานคิวบาทุกคนจะปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตในระบอบเพื่อส่วนรวม และไม่ว่าจะด้วยสถานการณ์ใดๆ พวกคุณไม่มีสิทธิที่จะนัดหยุดงาน” เกวารากล่าวผ่านการถ่ายทอดโทรทัศน์ในประเทศ
ในด้านการต่างประเทศ เกวาราเป็นบุคคลสำคัญผู้กำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างคิวบาและโซเวียต ซึ่งภายหลังวิกฤติการณ์นิวเคลียร์ในปี 1962 เมื่อโซเวียตตัดสินใจถอนหัวรบนิวเคลียร์ออกจากคิวบา ทำให้เขารู้สึกว่า โซเวียตหักหลัง จึงทำให้เขาหันไปหาจีนมากขึ้น
ในเดือนธันวาคม 1964 เกวาราเดินทางไปยังนิวยอร์ก เพื่อร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งเขาได้โจมตีสหรัฐฯ ต่อการแทรกแซงกิจการภายใน และการรุกรานน่านฟ้าของประเทศคิวบา
บทสุดท้ายนักปฏิวัติ
หลังเดือนเมษายน 1965 เขาได้หายตัวไปจากกระแสข่าวเป็นเวลาราว 2 ปี ก่อนเป็นที่ทราบภายหลังว่าเขาเดินทางไปยังดินแดนที่ปัจจุบันคือคองโก เพื่อร่วมการปฏิวัติกับกองกำลังท้องถิ่น แต่ล้มเหลว ในช่วงนี้เขาได้ลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาลคิวบาทั้งหมด พร้อมสละสัญชาติคิวบา
ในปี 1966 เขาเดินทางไปยังโบลิเวีย และได้สร้างหน่วยรบกองโจรในภูมิภาคซานตาครูซ หลังได้รับชัยชนะในการสู้รบช่วงแรกๆ เขาและหน่วยรบต้องเป็นฝ่ายล่าถอยจากกองทัพโบลิเวียอย่างต่อเนื่อง
ในวันที่ 9 ตุลาคม 1967 หน่วยรบของเขาเกือบถูกกำจัดจนสิ้นซาก โดยหน่วยรบพิเศษของโบลิเวีย ด้วยความช่วยเหลือจากซีไอเอ ตัวเขาเองถูกจับในขณะได้รับบาดเจ็บ ก่อนถูกยิงเสียชีวิตและฝังร่างอย่างลับๆ หลังถูกตัดมือออกเพื่อเป็นเครื่องยืนยันอัตลักษณ์
ทันทีที่เกวาราเสียชีวิต เขาได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญในฐานะ “นักปฏิวัติ” ผู้ได้รับความชื่นชมยกย่องอย่างกว้างขวางจากกลุ่มวัยรุ่นฝ่ายซ้ายในยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือในยุค 60 ซึ่งเกิดกระแสปฏิวัติไปทั่ว
ภาพถ่ายโดยช่างภาพชาวคิวบา อัลแบร์โต กอร์ดา (Alberto Korda) แสดงใบหน้าและดวงตาที่แน่วแน่ของ “เช เกวารา” พร้อมผมยาวรุงรัง สวมหมวกเบเรต์ติดดาวแดง กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของ นักปฏิวัติ ชาวอาร์เจนตินาที่ถูกทำซ้ำบ่อยครั้ง และพบเห็นได้ประจำในการชุมนุมประท้วง
ภายหลังภาพดังกล่าวของ เช เกวารา กลายเป็นที่แพร่หลายนอกวงฝ่ายซ้าย และปรากฏบนสินค้าแทบทุกชนิด ตั้งแต่เสื้อผ้า นาฬิกา พวงกุญแจ ไฟแช็ก แก้วกาแฟ กระเป๋า ผ้าเช็ดตัว หรือแม้กระทั่งชุดบิกินี ขณะที่ในเมืองไทยภาพของเขายังเป็นที่นิยมนำมาทำเป็นสติกเกอร์ติดท้ายรถบรรทุกอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“Che Guevara”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Inc. < https://www.britannica.com/biography/Che-Guevara>.
Werlau, Maria C. Ché Guevara Forgotten Victims. Washington, D.C.: Free Society Project Inc. <http://cubaarchive.org/home/images/stories/che-guevara_interior-pages_en_final.pdf>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ตุลาคม 2562