20 มิถุนายน พ.ศ.2495: วันปล่อยตัว “หะยีสุหลง” พ้นโทษได้รับอิสรภาพ?

หะยีสุหลง หะยีสุหลงถ่ายรูปร่วมกับ ปรีดี พนมยงค์
ภาพ: (มุมซ้าย) หะยีสุหลง, (ฉากหลัง) หะยีสุหลงถ่ายรูปร่วมกับปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หน้าโรงเรียนที่หะยีสุหลงสร้างขึ้นด้วยเงินบริจาคของราษฎร เมื่อ พ.ศ. 2488

“หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์” คือโต๊ะอิหม่ามที่มีชื่อเสียง เป็นผู้นำและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชาวไทยมุสลิมโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2490 หะยีสุหลงเป็นตัวแทนกลุ่มชาวไทยมุสลิมได้ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อ โดยมีเนื้อหารายละเอียดเกี่ยวกับการขอตั้งเขตปกครองตนเองใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส, และสตูล เพื่อความเป็นธรรมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิมต่อรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

แต่ว่าข้อเรียกร้อง 7 ข้อ บางข้อได้ถูกปรับเปลี่ยน บางข้อถูกปฏิเสธ เนื่องจากรัฐบาลพิจารณาและสรุปได้ว่าเป็นข้อเสนอที่จะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนได้

เมื่อข้อเสนอไม่ได้ตามที่หวังไว้ หะยีสุหลงจึงยกระดับการกดดันรัฐบาลด้วยการรวมตัวชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะแยกตัวออกจากประเทศไทย จนกระทั่งวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 สถานการณ์การเมืองไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหันจากการรัฐประหารโดยกลุ่ม “คณะทหารของชาติ” ที่มีพลโทผิน ชุณหะวัณเป็นผู้นำ เข้ายึดอำนาจของรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์และมีการจัดตั้งรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ขึ้นมาแทน

ซึ่งท่าทีของรัฐบาลของนายควง ต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความตึงเครียดมากขึ้น เมื่อพลโทชิด มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีนโยบายจัดการกับปัญหา 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเด็ดขาด ในเรื่องการคอร์รัปชั่นและการแบ่งแยกดินแดน จึงทำให้กลุ่มของหะยีสุหลง ถูกรัฐบาลเพ่งเล็งเนื่องจากข้อเรียกร้อง 7 ข้อ เข้าข่ายการแบ่งแยกดินแดน

ทางรัฐบาลจึงมีการจับกุมหะยีสุหลง ด้วย 2 ข้อหา คือ

1. มีการคบคิดทำการกบฏในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2490 จากคำพูดปลุกปั่นของหะยีสุหลงต่อประชาชนว่า “รัฐบาลไทยได้ปกครอง 4 จังหวัดภาคใต้มาถึง 10 ปีแล้ว ไม่ได้ทำประโยชน์ให้บ้านเมืองดีขึ้นและกล่าวชักชวนให้ราษฎรไปออกเสียงร้องเรียนที่ตัวจังหวัดเพื่อขอปกครองตนเอง ถ้ารัฐบาลยินยอมก็จะได้เชิญตนกูมะไฮยิดดินมาปกครองแล้วจะได้ใช้กฎหมายอิสลามเพื่อให้ความชั่วหมดไปและทำให้บ้านเมืองเจริญ ถ้ารัฐบาลไม่ยอมตามคำขอปกครองตนเอง ก็จะได้ให้ราษฎรพากันไปออกเสียงเรียกร้องเรียนให้สำเร็จจนได้”

2. มีการดูหมิ่นรัฐบาลไทยและข้าราชการไทย ตลอดจนถึงราชการแผ่นดิน เนื่องจากเอกสารที่หะยีสุหลงได้ทำมาแจกประชาชนลงชื่อ มีเนื้อหาว่าต้องการเชิญตนกูมะไฮยิดดินมาเป็นหัวหน้าปกครอง 4 จังหวัด และมียังข้อความว่า “ที่จะก่อให้เกิดความดูหมิ่นต่อรัฐบาลและข้าราชการแผ่นดินและจะก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงกับจะก่อความไม่สงบขึ้นในแผ่นดิน”

โดยศาลได้ตัดสินให้หะยีสุหลง จำคุก 7 ปี แต่เนื่องจากหะยีสุหลงให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีจึงลดโทษเหลือ 4 ปี 8 เดือน จนกระทั่งผ่านไป 4 ปี 6 เดือน ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2495 หะยีสุหลงได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด 2 เดือน

หลังจากที่ได้รับอิสรภาพแล้วหะยีสุหลงก็ได้เดินทางกลับปัตตานีและทำงานเกี่ยวกับการสอนหนังสือ ซึ่งการสอนหนังสือของหะยีสุหลงเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมาก จากข้อความในหนังสือประวัติศาสตร์ปัตตานี ว่า “การสอนของเขามีคนมาฟังจำนวนมาก ในวันที่เขาทำการสอน ตัวเมืองปัตตานีจะเต็มไปด้วยผู้คน ส่วนรถราติดบนท้องถนน บรรดาผู้เข้าฟังกล่าวกันว่ามีที่มาไกลถึงยะหริ่งและปาลัส (อำเภอทางด้านทิศตะวันตกของปัตตานี) และบ่อทอง หนอกจิก (อำเภอทางด้านทิศเหนือของปัตตานี)

แม้ว่าจะพ้นโทษออกมา หะยีสุหลงก็ยังถูกคุกคามจากทางอำนาจรัฐ จนกระทั่งในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2497 ตำรวจสันติบาลสงขลาได้มีการเรียกหะยีสุหลงไปพบ หะยีสุหลงพร้อมกับนายอาหมัด โต๊ะมีนา บุตรชายคนโตวัย 15 ปี ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาไทย เนื่องจากหะยีสุหลงและเพื่อนของเขาอีก 2 คนไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ได้เดินทางออกจากบ้านพักส่วนตัวที่จังหวัดปัตตานี ไปยังกองบัญชาการตำรวจสันติบาลที่จังหวัดสงขลา ก่อนที่ทั้งหมดจะหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย นำมาซึ่งความเชื่อว่าทั้งหมดถูกฆาตกรรมทางการเมืองด้วยฝีมือของตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

โดยเรื่องราวการหายตัวไปของหะยีสุหลงเป็นข่าวอย่างครึกโครม สร้างความตื่นตกใจต่อผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปจนถึงมาเลเซีย และสิงคโปร์ เกี่ยวกับโศกนาฏกรรมครั้งนี้

ส่วนทางครอบครัวของหะยีสุหลงได้พยายามตามหาหัวหน้าครอบครัวและบุตรชายคนโตที่สูญหายไป จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2498 เพื่อขอความช่วยเหลือจากท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภรรยาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และประกาศจะจ่ายเงินรางวัลหนึ่งหมื่นบาทให้แก่ผู้ที่แจ้งที่อยู่หรือหาตัวหะยีสุหลงพบ

แต่สุดท้ายก็ไม่มีข่าวคราวใดๆ ว่าหะยีสุหลงมีชีวิตอยู่ ครอบครัวของหะยีสุหลงจึงต้องตัดใจยุติการค้นหาหะยีสุหลง, บุตรชายคนโต และเพื่อนอีก 2 คนที่หายสาบสูญไปอย่างไม่ทราบร่องรอยและไม่ทราบสภาพการเสียชีวิตที่ชัดเจนของบุคคลทั้ง 4 จนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554. กรุงเทพฯ : โพสต์บุ๊กส์, มีนาคม 2555

สุจิตต์ วงษ์เทศ. สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส, สตูล. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์, กันยายน 2554

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย. กรุงเทพฯ : โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พฤศจิกายน 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มิถุนายน 2562