พ.ศ. 2497 “พิฆาต” หะยีสุหลง เริ่มขบวนการต่อต้านรัฐบาล

การละเล่นเก่าแก่ของมลายูมุสลิมที่เรียกว่า"มายง" และแพร่หลายในชุมชนมุสลิมของไทย ในภาพเป็นการละเล่นที่จังหวัดปัตตานี (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

นโยบายสร้างชาติด้วยรัฐนิยมตั้งแต่ พ.ศ. 2485 เป็นจุดเริ่มความขัดแย้งใหม่ แล้วสืบเนื่องถึงปัจจุบัน มีลำดับเหตุการณ์อยู่ใน หนังสือรัฐปัตตานี ใน “ศรีวิชัย”ฯ (สํานักพิมพ์มติชน) จะคัดมาเฉพาะที่สำคัญต่อไปนี้

นโยบายของรัฐบาลไทยที่มีผลต่อภาวะด้านจิตใจของชาวมุสลิมขณะนั้นรุนแรงอย่างมาก เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามได้จัดตั้ง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ขึ้นมาตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485

อิบรอฮีม ซุกรี ได้บันทึกปรากฏการณ์หลังจากการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติว่าเป็นการปกครองประเทศที่ใช้อำนาจรัฐ “บังคับ” ประชาชนมาก เช่น

บังคับคนไทยทั้งหญิงและชายทุกคนแต่งกายแบบชาวตะวันตก ต้องสวมหมวก ต้องรับประทานอาหารด้วยช้อนและส้อม ต้องนั่งรับประทานกับโต๊ะและเก้าอี้ ห้ามผู้คนมลายู ในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้แต่งกายแบบมลายู ห้ามใช้นามบุคคลเป็นภาษามลายูหรืออาหรับ ห้ามใช้ภาษามลายู และห้ามนับถือศาสนาอิสลาม

ดังนั้น ในสมัยนี้จึงได้ยกเลิกหน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นกิจกรรมทางศาสนาอิสลาม และบอกว่าศาสนาพุทธเท่านั้นเป็นศาสนาประจำชาติ

ยิ่งกว่านั้นยังนำพระพุทธรูปไปวางในโรงเรียนต่าง ๆ ในอำเภอสายบุรี และบังคับให้นักเรียนกราบไหว้พระพุทธรูป ข้าราชการมุสลิมที่มีเพียงส่วนน้อยนั้นถูกบังคับให้เปลี่ยนชื่อตัวจากภาษามลายู หรือชื่อภาษาอาหรับให้เป็นภาษาไทย ส่วนตำแหน่งหน้าที่ราชการในระดับสูงนั้นเป็นตำแหน่งต้องห้ามสำหรับมุสลิม

ปฏิบัติการของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบีบคั้นภาวะจิตใจของมุสลิมผู้ถูกกระทำให้ละทิ้งสถานภาพของความเป็นมุสลิมและความเป็นมลายูให้หมดโดยสิ้นเชิง หากใครต่อต้านหรือขัดขืนจะถูกจับหรือปรับ มีการดึงเสื้อคลุมของโต๊ะครูไปเหยียบย่ำบนพื้น แม่ค้าแม่ขายมุสลิมในตลาดสดถูกทุบตีด้วยด้ามปืน เพราะสวมใส่เสื้อ “กบายา” และใช้ผ้าคลุมศีรษะ

นโยบายดังกล่าวนี้เปิดโอกาสให้ชาวไทยพุทธและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นพุทธได้กระทำการทารุณดูถูกเหยียดหยามผู้คนมุสลิม และดูหมิ่นศาสนาอิสลามจนน่าเกลียดมาก

พ.ศ. 2487 รัฐบาลโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยกเลิกตำแหน่ง “กอฎี” ที่มีอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ส่วนกฎหมายอิสลามที่ว่าด้วยครอบครัว (การสมรส การหย่า) และว่าด้วยมรดก ซึ่งมีใช้มาก่อนนั้นแล้วก็ให้ยกเลิกทั้งหมด โดยให้เปลี่ยนมาใช้กฎหมายไทยและใช้อำนาจศาลไทย

ต่อการกระทำดังกล่าวนั้นได้มีกลุ่มบุคคลมุสลิมแนวหน้า พยายามต่อรองร้องเรียนต่อรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์ ผ่านนักการเมืองไทยพุทธ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี ที่มุสลิมยอมรับ คือ ขุนเจริญวรเวชช์ (เจริญ สืบแสง) ซึ่งก็ได้รับการพิจารณาได้ไม่ดีเท่าที่ควร

บรรยากาศทางการเมืองต่อจากนั้นเลวลงเรื่อย ๆ และรุนแรงที่สุด เมื่อ นายหะยีสุหลง [นามเต็มคือ นายหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ (บิดาของ นายเด่น โต๊ะมีนา สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปัตตานี)] เป็นตัวแทนของชาวมลายูมุสลิมยื่นคำขอ 7 ข้อ ต่อรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2490 ซึ่งพอที่จะสังเขปเหตุการณ์ก่อนนั้นได้ดังนี้ กล่าวคือ

หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์

เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2490 ผู้นำชาวมุสลิมร่วมประชุมเพื่อกำหนดคำขอเกี่ยวกับศาสนาและสิทธิต่าง ๆ ของชาวมลายูมุสลิม ณ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีอย่างค่อนข้างกะทันหัน โดยมีผู้ร่วมประชุมประมาณ 100 คน ที่ประชุมตกลงกำหนดคำขอ 7 ข้อ ต่อรัฐบาลผ่านทางคณะกรรมการสอดส่องภาวการณ์ในสี่จังหวัดภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล) ซึ่งรัฐบาล พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จัดตั้งในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2490 เพื่อสืบสวนและเสนอแนะ ปรับปรุงสภาพการณ์เลวร้ายต่าง ๆ ที่กำลังเป็นอยู่

คำขอเกี่ยวกับศาสนาและสิทธิต่าง ๆ ของมุสลิมในครั้งนั้นมีดังนี้

1. ขอให้ปกครอง 4 จังหวัดนี้เป็นแคว้นหนึ่ง โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูงให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลาม มีอำนาจแต่งตั้งและปลดข้าราชการออกได้ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต้องเป็นมุสลิมใน 4 จังหวัด

2. การศึกษาในชั้นประถมต้น จนถึงชั้นประถม 7 ให้มีการศึกษาภาษามลายูตลอด

3. ภาษีที่เก็บได้ให้ใช้ภายใน 4 จังหวัดเท่านั้น

4. ในจำนวนข้าราชการทั้งหมดขอให้มีข้าราชการชาวมลายูร้อยละ 80

5. ขอให้ใช้ภาษามลายูควบกับภาษาไทยเป็นภาษาราชการ

6. ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีเอกสิทธิออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติการศาสนาอิสลามโดยความเห็นชอบของผู้มีอำนาจสูงสุด

7. ให้ศาลรับพิจารณาตามกฎหมายอิสลามแยกจากศาลจังหวัด มีโต๊ะกาลี (กอฎีหรือดาโต๊ะยุติธรรม) ตาม สมควรและมีเสถียรภาพในการพิจารณาชี้ขาด

การรับเรื่องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการสอดส่องภาวการณ์ในสี่จังหวัดภาคใต้ในครั้งนั้น มีรวมทั้งสิ้น 20 เรื่อง แต่มี 12 เรื่อง ได้รับการพิจารณา และอีก 8 เรื่องไม่มีหลักฐานบอกแน่ชัดว่าได้รับการพิจารณาหรือไม่

เฉพาะเรื่องคำขอ 7 ข้อ ของกลุ่มนายหะยีสุหลงนั้นก็มีการติดตามเรื่องหลังจากนั้นอีก 4 เดือนถัดมา ขุนเจริญวรเวชช์ ได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2490 ซึ่งก็ได้รับคำตอบให้ทราบว่ากำลังพิจารณาอยู่

สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นไปตามที่ขอ แต่กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ของนายหะยีสุหลงหลาย ๆ ระลอกต่อมา จนท่านต้องจบชีวิตลงแบบไม่มีสุสานพร้อมด้วยลูกชายคนโตและเพื่อนอีก 2 คน ใน พ.ศ. 2497

หะยีสุหลงมีเกลอที่เป็นชาวพุทธ คือ นายเจริญ สืบแสง (ขุนเจริญวรเวชช์) แม้แต่การว่าคดีความเมื่อคราวหะยีสุหลงถูกจับกุมก็ได้รับความช่วยเหลือด้วยดีจากทนายที่เป็นชาวไทยพุทธ คือ นายสำราญ อิมะชัย และนายยอด รัตนคณิต ซึ่งนายเจริญ สืบแสง เป็นผู้ติดต่อให้

เมื่อนายหะยีสุหลงและพวกอีก 2 คน ถูกส่งตัวไปพิจารณาคดีในศาลที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2491 แล้วก็มีทนายไทยพุทธสมัครใจว่าความเป็นทนายจำเลยอีก 3 คน โดยไม่คิดเงิน ท่านเหล่านั้นได้แก่ นายน้อม อุประมัย นายพันธ์ อินทุวงศ์ และหลวงอรรถพรพิศาล

ความขัดแย้งระหว่างมุสลิมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐปรากฏชัดเจนอีกเหตุการณ์หนึ่งใน พ.ศ. 2490 เมื่อนายตำรวจไทยพุทธยศร้อยโท หัวหน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ถูกกลุ่มโจรของนายอาแวมะเซ็งลอบสังหาร โดยถูกกลุ่มโจรไปหลอกแจ้งความว่ามีการฆาตกรรมในหมู่บ้านปะลูกาสาเมาะ ตำบลปะลูกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ขอให้ไปชันสูตรศพ

การปฏิบัติการของโจรครั้งนี้ทำให้ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจโกรธแค้นมาก ชาวบ้านเล่าว่าชาวบ้านถูกบีบและบังคับให้บอกชื่อโจรผู้ก่อการดังกล่าวด้วยวิธีการที่ทารุณมาก และเมื่อไม่ได้คำตอบจึงกล่าวหาว่าชาวบ้านเลี้ยงโจรและให้ความสนับสนุน ฝ่ายตำรวจจึงเผาหมู่บ้านให้วอดวายหมด ทำให้ชาวบ้าน 25 ครัวเรือนไร้ที่อยู่อาศัย

ในปีต่อมา คือเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2491 เกิดเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับชาวบ้านดุซงยอ อำเภอระแงะ (ปัจจุบันผนวกเป็นอำเภอจะแนะ) จังหวัดนราธิวาส ร่วมพันคน

ชาวบ้านเรียกว่า “ปือแฤ ดุซงญอ” (สงครามดูซงญอ) ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐไทยเรียกว่า “กบฏดุซงยอ”

ผลจากการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนที่รายงานต่อรัฐบาลว่า การจลาจลเกิดขึ้นเพราะความเข้าใจผิด เนื่องจากมีการประชุมของชาวมลายูมุสลิมเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับไสยศาสตร์ คือพิธีอาบน้ำมันมนต์เพื่ออยู่ยงคงกระพัน

ชาวบ้านเล่าว่าตัวผู้นำพิธีกรรมนี้มีพลังภายในมาก ท่านถือศีลอดและนั่งท่องบทอัลกุรอาน จนพื้นที่นั่งซึ่งเป็นปูนนั้นแตกเป็นรอยร้าว เป็นที่เกรงขามสำหรับผู้ที่ได้รู้เห็นเป็นอย่างมาก

เล่ากันต่อมาว่าศิษย์ของท่าน 1 คน สามารถนำผู้อื่นให้ปลอดจากอาวุธได้จำนวนเป็นสิบ มีอดีตนายทหารเกณฑ์คนหนึ่ง ซึ่งถูกส่งตัวเข้าไปในบริเวณดังกล่าวยืนยันว่า “เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เป็นการกบฏ แต่เป็นความระแวงของฝ่ายบ้านเมืองว่าชาวบ้านกำลังซ่องสุมกำลังคนเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลและต้องการแบ่งแยกดินแดน”

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ก็คร่าชีวิตมุสลิมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ชายหญิงเป็นจำนวนนับร้อยคน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ตายไปหลายสิบศพ หนึ่งเดือนหลังจากนั้น กำนันมูหัมมัด บ้านตันหยงมัส และมุสตอปา ซึ่งเป็นผู้นำมุสลิมชาวตะลุบันก็ถูกจับตัวและถูกฆ่าตายโดยไม่มีการไต่สวน

การปิดฉากเหตุการณ์ร้ายหลาย ๆ เหตุการณ์ด้วยวิธีการแก้ปัญหาแบบดับไฟชั่วคราว เพื่อความอยู่รอดไปวัน ๆ ของฝ่ายก่อการและผู้ที่เกี่ยวข้องบางคนอย่างที่เป็นไปแล้วนั้นจึงเปิดโอกาสให้เกิด “ขบวนการแยกดินแดน” หลายกลุ่มตามมา กระทั่งหลัง พ.ศ. 2497 และมีการจับกุมนำในพื้นที่ด้วยข้อหาต่าง ๆ เช่น

พ.ศ. 2504 มีการจับกุม นายหะยีอามีน โต๊ะมีนา (ฮาฌี มิง) ด้วยข้อหาบ่อนทำลายชาติ

พ.ศ. 2510 รัฐบาลจับกุม ครูปาะสู  วาแมดิซา ชาวบ้านท่าธง ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ด้วยข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดน

 


ข้อมูลจาก

สุจิตต์ วงษ์เทศ เรียบเรียง. สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส, สตูล, กระทรวงวัฒนธรรม


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ. 2562