ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หะยีสุหลง คือนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย เขามีบทบาทโดดเด่นขึ้นมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ก่อนหน้านั้น รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีความพยายามดูดกลืนอัตลักษณ์ของคนท้องถิ่นด้วยการใช้มาตรการบีบบังคับ จนเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวมลายูมุสลิม
หะยีสุหลงได้เคยกล่าวถึงปัญหาที่ชาวบ้านในสี่จังหวัดภาคใต้ต้องตกเป็นเหยื่อของเจ้าหน้าที่ไทยเอาไว้ว่า “ราษฎรในขณะนั้นถูกเจ้าหน้าที่กดขี่เป็นอย่างหนัก หากมีอะไรที่ไม่พอใจก็ใส่ร้ายให้เป็นคดีผิดกฎหมาย โดยจับกุมพาไปยิงทิ้งกลางทาง และใส่ร้ายว่าต่อสู้เจ้าหน้าที่…เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนั้นมิใช่เกิดแก่คน 2-3 คน แต่เป็นสิบๆ คนในทุกอำเภอ ถ้าหากเราไปเจรจาโดยดีถูกต้องตามกฎหมายหรือขอร้องต่อหัวหน้าเจ้าหน้าที่ ผู้ที่ไปเจรจานั้นก็จะโดนข้อหาหนักยิ่งขึ้น…”
การร้องเรียนของชาวบ้านหลายรายทำให้รัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จัดตั้งคณะกรรมการสอดส่องภาวการณ์ใน 4 จังหวัดภาคใต้ขึ้นในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2490 เพื่อสืบสวนและเสนอแนะปรับปรุงสถานการณ์ปัญหาให้ดีขึ้น และมีกำหนดให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวลงพื้นที่ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน
ด้านผู้นำชาวมุสลิมเมื่อทราบข่าวก็ได้ประชุมกันเพื่อหาข้อสรุปในการยื่นข้อเรียกร้องไปยังฝ่ายรัฐบาลโดยมีหะยีสุหลงเป็นตัวแทนในการยื่นข้อเรียกร้องซึ่งมีทั้งสิ้น 7 ข้อ คือ
1. ขอให้ปกครอง 4 จังหวัดนี้เป็นแคว้นหนึ่ง โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูงให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลาม มีอำนาจแต่งตั้งและปลดข้าราชการออกได้ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต้องเป็นมุสลิมใน 4 จังหวัด
2. การศึกษาในชั้นประถมต้นจนถึงชั้นประถม 7 ให้มีการศึกษาภาษามลายูตลอด
3. ภาษีที่เก็บได้ให้ใช้ภายใน 4 จังหวัดเท่านั้น
4. ในจำนวนข้าราชการทั้งหมดขอให้มีข้าราชการชาวมลายูร้อยละ 80
5. ขอให้ใช้ภาษามลายูควบกับภาษาไทยเป็นภาษาราชการ
6. ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติการศาสนาอิสลามโดยความเห็นชอบของผู้มีอำนาจสูงสุด
7. ให้ศาลรับพิจารณาตามกฎหมายอิสลามแยกจากศาลจังหวัด มีโต๊ะกาลี (กอฎีหรือดะโต๊ะยุติธรรม) ตามสมควร และมีเสถียรภาพในการพิจารณาชี้ขาด
ด้านรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์เมื่อได้รับข้อเสนอก็ตอบรับในบางข้อ เช่นในด้านการศึกษาที่เห็นควรให้มีการสอนภาษามลายูสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง และพยายามเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของชาวมลายูให้มากขึ้นเพื่อให้มีคุณสมบัติที่จะเข้ารับราชการได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนข้าราชการเชื้อสายมลายูให้มีสัดส่วนที่สูงขึ้นได้
แต่รัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ไม่เห็นด้วยกับการจัดรูปแบบการปกครองตามคำขอดังกล่าว โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นว่า “…รูปแบบการปกครองเวลานี้ดีแล้ว ถ้าจะจัดเป็นรูปมณฑลไม่สมควร เพราะจะเป็นการแบ่งแยก…”
ในด้านการศาล รัฐบาลก็กำลังจะแต่งตั้งดะโต๊ะยุติธรรมเพื่อวินิจฉัยคดีทางศาสนาอิสลามอยู่แล้ว แต่ไม่เห็นด้วยกับการให้แยกศาลพิจารณาคดีทางศาสนาอิสลามออกจากศาลจังหวัด
เมื่อข้อเรียกร้องสำคัญไม่ได้รับการตอบสนอง หะยีสุหลงจึงได้ยกระดับการกดดันด้วยการจัดการชุมนุมให้ชาวบ้านคำนึงถึงความสำคัญของอัตลักษณ์ของชาวมลายู จนพัฒนาไปเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบแต่ก็ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะแยกตัวออกจากประเทศไทยแต่อย่างใด เห็นได้จากระเบียบข้อบังคับของกลุ่มที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2490 ซึ่งมีวัตถุประสงค์อยู่ 2 ประการ คือ
ประการแรก เพื่อก่อตั้งสิทธิให้แก่ชาวมลายู เผ่าพันธุ์มลายูให้เจริญมั่นคงอยู่ชั่วกาลนาน
ประการที่สอง เพื่อก่อตั้งแคว้นมลายู โดยต้องการมีอำนาจที่จะจัดระเบียบแคว้นเสียเองตามขนบธรรมเนียมมลายู ภายใต้ความคุ้มครองของรัฐบาลไทย
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือการรัฐประหารโดยกลุ่ม “คณะทหารของชาติ” ที่มีพลโทผิน ชุณหะวัณเป็นผู้นำเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ทำให้ พลเรือตรีถวัลย์ และ ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ และท่าทีของรัฐบาลใหม่ที่นำโดยควง อภัยวงศ์ ต่อปัญหาชายแดนภาคใต้ก็เปลี่ยนไป เมื่อพลโทชิด มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีนโยบายที่จะกำจัด “ตัวการที่คิดจะแบ่งแยกดินแดน” ซึ่งก็หมายถึงกลุ่มของหะยีสุหลงนั่นเอง
ในช่วงเดือนธันวาคมปีเดียวกัน รัฐบาลใหม่ได้เชิญให้ตนกูมะไฮยิดดิน ทายาทของรายาเมืองปัตตานีคนสุดท้ายมาร่วมปรึกษาราชการ เมื่อหะยีสุหลงทราบข่าวจึงเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่ควรให้ตนกูมะไฮยิดดินได้เป็นตัวแทนของชาวปัตตานีในการเจรจากับรัฐบาลไทย โดยได้จัดทำหนังสือ “ฉันทานุมัติ” ลงวันที่ 5 มกราคม 2491 ขึ้น เพื่อมอบให้กับตนกูมะไฮยิดดิน มีความว่า
“บัดนี้ชาวมลายูอิสลามซึ่งอยู่ในความปกครองของไทยได้รับความบีบคั้น ความเจ็บช้ำ ความทารุณ ซึ่งข้าราชการและรัฐบาลไทยกระทำแก่ชาวมลายูแต่ละคน แก่ชาวมลายูทั้งคณะ แก่ชาติและศาสนาของชาวมลายูจนไม่สามารถจะทนทานได้ แม้จะได้ร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่และรัฐบาลไทยแล้วก็มิได้รับพิจารณาจากเจ้าหน้าที่และรัฐบาลไทยให้เป็นที่พอใจเลย ฉะนั้น ชาวมลายูจึงขอมอบฉันทานุมัติให้ตนกูมะฮุหมุด มะฮะยิดดิน บุตรตนกูอับดุลกาเดร์พระยาเมืองปัตตานีซึ่งอยู่ที่กลันตันมีอำนาจเต็มหาช่องทางให้ชาวมลายูได้ดำรงชาติมลายู และให้ได้คงนับถือศาสนาอิสลามและสิทธิต่างๆ แต่งเชื้อชาติมลายูและได้รับความเป็นมนุษยธรรม…”
และนั่นก็ได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พลโทชิดอนุมัติให้จับตัวหะยีสุหลง โดยเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวเขาได้ในวันที่ 16 มกราคมปีเดียวกัน ที่บ้านพักของเขาเอง โดยทางการไม่ยอมให้เขาได้รับการประกันตัว และฟ้องเขาด้วยข้อหา “ตระเตรียมและสมคบกันคิดการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครอง และเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไปและเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก” และยังมีคำสั่งให้ย้ายตัวเขาไปรับการพิจารณาคดีที่นครศรีธรรมราช จนสร้างความไม่พอใจให้กับชาวมุสลิมมลายูเป็นอย่างมาก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง: หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ กบฏ…หรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้. โดย เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 3 : มีนาคม 2548
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 16 มกราคม พ.ศ.2562