12 มีนาคม 1930 คานธี นำชาวอินเดียทำสัตยาเคราะห์เกลือ “ดื้อแพ่ง” ดังทั่วโลก

มหาตมะ คานธี สัตยาเคราะห์เกลือ
เช้าวันที่ 6 เมษายน 1930 คานธีหยิบเกลือกำมือหนึ่งไปจากชายฝั่งขึ้นมา ซึ่งในทางเทคนิคแล้วนี่คือการ "ผลิต" เกลือและถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย (ภาพจาก wikipedia)

สัตยาเคราะห์เกลือ (Salt Satyagraha) หรือ Salt March เป็นการแสดงออกทางการเมืองในการประท้วงรัฐบาลอังกฤษในอินเดีย นำโดย มหาตมะ คานธี (Mohandas Gandhi) ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473) นับเป็นการเดินขบวนครั้งแรกในการรณรงค์การ “ดื้อแพ่ง” ซึ่งได้รับความสนใจไปทั่วโลก

การผลิตและจำหน่ายเกลือในอินเดียเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับชาวอินเดีย เพราะเกลือถูกสงวนให้กับกิจการของอังกฤษ เนื่องจากอังกฤษต้องการผูกขาดเกลือที่ทำกำไรให้อังกฤษมายาวนาน โดยได้ผ่านกฎหมายหลายฉบับตั้งแต่พระราชบัญญัติเกลือ ค.ศ. 1882 ที่ห้ามชาวอินเดียผลิตหรือจำหน่ายเกลือด้วยตนเอง นั่นทำให้ชาวอินเดียต้องซื้อเกลือราคาแพงกว่าปกติ เพราะต้องบวกภาษีเพิ่มเข้าไปอีก

เรื่องเกลือนี้ส่งผลกระทบต่อชาวอินเดียส่วนใหญ่ที่ยากจน และไม่สามารถซื้อเกลือได้ด้วยเงินของตนเอง การประท้วงต่อต้านภาษีเกลือของอินเดียจึงค่อยๆ เริ่มในศตวรรษที่ 19 และเป็นประเด็นถกเถียงที่สำคัญมาตลอดระยะเวลาหลายปีของการปกครองอินเดียของอังกฤษหรือบริติชราช

ช่วงต้นปี 1930 มหาตมะ คานธี ตัดสินใจเดินขบวนประท้วง เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าภาษีเกลือได้กดขี่ชาวอินเดียมากขึ้น การเดินขบวนจะเดินทางผ่านรัฐอินเดียทางตะวันตก จากซาบาร์มาติอาศรมใกล้กับเมืองอาห์มาดาบัด (Ahmadabad) รัฐคุชราต ไปยังเมืองดานดิ (Dandi) บริเวณชายฝั่งทะเลอาหรับในมหาสมุทรอินเดีย

คานธีเริ่มออกเดินทางด้วยการเดินเท้า วันที่ 12 มีนาคม ปี 1930 พร้อมกับผู้ติดตามหลายสิบคน ระหว่างทางชาวอินเดียได้รวมตัวกันเพื่อเข้าพบคานธี และต่างก็มารอฟังคานธีกล่าวโจมตีถึงความไม่เป็นธรรมของภาษีที่มุ่งเก็บจากคนยากคนจน

ชาวอินเดียอีกหลายร้อยคนเข้าร่วมกับคานธี และแล้วก็เดินทางมาถึงเมืองแดนดิ ในวันที่ 5 เมษายน ปี 1930 รวมระยะการเดินทางราว 240 ไมล์ หรือ 385 กิโลเมตร และในเช้าวันที่ 6 เมษายน 1930 คานธีและผู้ติดตามของเขาหยิบเกลือกำมือหนึ่งจากชายฝั่งขึ้นมา ซึ่งในทางเทคนิคแล้วนี่คือการ “ผลิต” เกลือและถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย

สัตยาเคราะห์เกลือ (Salt Satyagraha) (ภาพจาก wikipedia)

รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการจับกุมในวันนั้น คานธียังคงกระทำสัตยาเคราะห์เกลือต่อในอีก 2 เดือนข้างหน้า หมายจะย้ำเตือนสติให้ชาวอินเดียร่วมกันฝ่าฝืนกฎหมายที่สั่งห้ามทำเกลือด้วยตนเอง ชาวอินเดียหลายพันคนถูกจับกุมและถูกคุมขัง รวมถึง ชวาหะร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) ในเดือนเมษายน และคานธีก็โดนจับกุมในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม หลังจากเขาแจ้งให้ ลอร์ดเออร์วิน อุปราชแห่งอินเดีย (Lord Irwin, the viceroy of India) ทราบถึงความตั้งใจของเขาที่จะเดินขบวนประท้วงไปยังโรงงานเกลือในเมือง Dharasana

ข่าวการกักขังคานธีก่อให้เกิดแรงกระตุ้นในหมู่ชาวอินเดียอีกนับหมื่นคนให้เข้าร่วมสัตยาเคราะห์ มีการเดินขบวนไปโรงผลิตเกลือตามกำหนดเดิมที่วางไว้ในวันที่ 21 พฤษภาคม ปี 1930 โดยมีผู้ร่วมประท้วงอย่างสันติกว่า 2,500 คน แต่หลายคนถูกจับและถูกตำรวจทำร้ายอย่างรุนแรง และภายในสิ้นปีก็มีคนกว่า 60,000 คนถูกจำขังอยู่ในคุก

คานธีได้รับการปล่อยตัวจากการควบคุมตัวในเดือนมกราคม ปี 1931 และเริ่มเจรจากับลอร์ดเออร์วิน เพื่อยุติการรณรงค์สัตยาเคราะห์ ในเวลาต่อมาได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการใน สนธิสัญญาคานธี-เออร์วิน ที่ลงนามเมื่อวันที่ 5 มีนาคม คานธียกเลิกการรณรงค์ประท้วงสัตยาเคราะห์ ลอร์ดเออร์วินตกลงปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง และอนุญาตให้ชาวอินเดียทำเกลือเพื่อใช้ในครัวเรือนได้ชั่วคราว

การทำสัตยาเคราะห์เกลือของคานธี ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอังกฤษไปทั่วโลก ซึ่งนับเป็นแรงกดดันมหาศาลที่ทำให้อังกฤษมั่นใจได้ว่า ไม่สามารถรักษาบริติชราชไว้ใต้ปกครองได้อีกนานเท่าใดแล้ว และอีกไม่นานสิ่งต่างๆ ที่ มหาตมะ คานธี ได้กระทำ ก็เป็นแรงกระเพื่อมที่ช่วยให้อินเดียได้รับเอกราชในวันที่ 15 สิงหาคม ปี 1947

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Kenneth Pletcher. (2019). Salt March, from www.britannica.com

Salt March. (2018), from www.history.com


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มีนาคม 2562