ชาวกานาต้านอนุสาวรีย์ “คานธี” ชี้เป็นพวก “เหยียดผิว” โดยเฉพาะกับคนดำ

ภาพถ่ายไม่ระบุวันที่ของ มหาตมะ คานธี ถ่ายในนิวเดลี ประเทศอินเดีย (ภาพจาก AFP PHOTO)

นักวิชาการและนักศึกษากลุ่มหนึ่งในกานาได้ออกมารณรงค์เรียกร้องให้รื้อถอนอนุสาวรีย์ของ “มหาตมะ คานธี” วีรบุรุษของชาวอินเดียที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพอย่างสันติ แต่สำหรับคณะรณรงค์แล้ว คานธีถือเป็นพวก “เหยียดผิว”

คณะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งกานา 5 คน เป็นแกนนำในการรณรงค์ทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ change.org ซึ่งถึงขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วเกินกว่าพันคน เรียกร้องให้รื้อรูปปั้นของคานธีออกไปจากพื้นที่ของมหาวิทยาลัย หลังผู้คัดค้านกลุ่มนี้มองว่าคานธีเป็นพวกเหยียดผิว การยกย่องคนเหยียดผิวอย่างคานธีจึงอาจนำไปสู่ปัญหาในการเรียนการสอนในด้าน “ประวัติศาสตร์”

“นักประวัติศาสตร์จะสอนและอธิบายว่าคานธีมีทัศนคติต่อคนดำในเชิงลบได้อย่างไร ในขณะที่เรายกย่องเขาด้วยการตั้งอนุสาวรีย์ให้เขาในมหาวิทยาลัย”

หลักฐานที่คณะนักวิชาการกลุ่มนี้ใช้กล่าวอ้างว่า คานธีเป็นพวกเหยียดผิวคืองานเขียนในช่วงวัยหนุ่มของคานธีเองซึ่งใช้คำเรียกคนผิวดำว่า “คนป่าหรือพวกพื้นเมืองแอฟริกา” และ “คาฟเฟอร์” (kaffir) คำเรียกคนดำในเชิงดูถูกซึ่งเป็นคำที่มีรากมาจากภาษาอาหรับว่า “กาฟิร” (kafir) แปลว่าพวกไม่มีศาสนา

หนึ่งในข้อเขียนของคานธีที่ถูกยกอ้างโดยคณะรณรงค์เป็นจดหมายของคานธีที่มีไปถึงรัฐสภาแห่งนาทาล (Natal) อดีตรัฐอาณานิคมอังกฤษทางตอนใต้ของแอฟริกาซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า

“ความเชื่อโดยทั่วไปซึ่งมีค่อนข้างมากในรัฐอาณานิคมแห่งนี้คือความเชื่อที่ว่า คนอินเดียหากจะดีกว่าพวกคนป่าหรือพวกพื้นเมืองแอฟริกาอยู่บ้างก็เพียงเล็กน้อย แม้แต่เด็กๆ ก็ถูกสอนให้เชื่อกันแบบนี้ เป็นผลให้คนอินเดียถูกลากไปอยู่ในสถานะที่ต่ำเท่ากับพวกไม่มีศาสนา”

อนุสาวรีย์ดังกล่าวเป็นของขวัญจากประธานาธิบดีประนับ มุเกอร์จี (Pranab Mukherjee) แห่งอินเดียที่มอบให้กับรัฐบาลกานา ซึ่งเขาได้ไปเปิดตัวอนุสาวรีย์ดังกล่าวเมื่อครั้งเดินทางเยือนกานาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (บีบีซี)

ทั้งนี้ ทัศนคติเชิงลบของคานธีต่อคนผิวดำไม่ใช่เรื่องใหม่ รัชโมฮัน คานธี (Rajmohan Gandhi) หลานและผู้เขียนประวัติคานธีได้ยอมรับว่า คานธี เป็นมนุษย์คนหนึ่งซึ่งมิได้สมบูรณ์แบบ

หลานของคานธีกล่าวว่า เมื่อครั้งที่คานธีอายุได้ราว 24 ปี เขาเดินทางไปทำงานเป็นทนายในแอฟริกา หลายครั้งเขามักแสดงท่าทีจองหอง และมีอคติต่อคนดำ แต่ขณะเดียวกันคานธีก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีความก้าวหน้ามากกว่าคนอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน