จดหมายคานธีจากบริติชอินเดียสู่นาซีเยอรมัน: ขอท่านผู้นำโปรดยุติสงครามด้วยสันติวิธี

มหาตมา คานธี (Mahatma Gandhi) และ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ภาพจาก http://www.lettersofnote.com/2009/09/for-sake-of-humanity_10.html

“I, therefore, appeal to you in the name of humanity to stop the war.”

Mahatma Gandhi

หนึ่งในหัวข้อสนทนาที่ผู้เขียนและเพื่อน ๆ มักจะเสวนากันอยู่เสมอในขณะที่เป็นนักเรียนวิชาประวัติศาสตร์ก็คือหัวข้อที่ว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำสูงสุดของอาณาจักรไรซ์ที่ 3 หรือนาซีเยอรมนีจะมีปฏิกิริยาเช่นไรหลังจากได้อ่านจดหมายที่เขียนโดย มหาตมา คานธี (Mahatma Gandhi) เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ทั้งในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองและในช่วงที่สงครามได้ประทุขึ้นแล้ว มหาตมา คานธี ผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของชาวอินเดียและหนึ่งในผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษได้เคยเขียนจดหมายส่วนตัวและส่งตรงถึงกรุงเบอร์ลิน เพื่อหวังให้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้ตระหนักถึงความเลวร้ายของสงครามและพิจารณาถึงการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในยุโรปตามหนทางของคานธีนั่นก็คือการใช้หลักอหิงสา 

มีการแลกเปลี่ยนทัศนะและเสนอคำตอบของประเด็นข้างต้นไปต่าง ๆ นานา อาทิ จะมีทางเป็นไปได้หรือไม่ที่ข้อความในจดหมายของคานธีจะทรงพลังถึงขนาดทำให้ผู้นำสูงสุดของเยอรมนียอมเปลี่ยนท่าทีที่ดุดันและยุติสงครามทันทีหลังจากที่ได้อ่านจดหมาย หรือถ้าหาก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้เขียนจดหมายตอบโต้คานธีแล้ว ใจความรวมถึงถ้อยคำในจดหมายของท่านผู้นำเยอรมันนาซีจะเป็นไปในลักษณะใด ซึ่งคำตอบต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นได้แค่เพียงข้อการสันนิษฐานที่มาจากการคาดคะเนเท่านั้น เนื่องด้วยตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นั้น จดหมายของ มหาตมา คานธี ไม่เคยถูกส่งถึงมือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แต่อย่างใด เพราะถูกระงับการส่งระหว่างทางโดยอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม นับว่ายังเป็นเคราะห์ดีของวงการประวัติศาสตร์ เมื่อชาวอินเดียได้ค้นพบต้นฉบับจริงของจดหมายฉบับแรกรวมถึงได้มีการคัดลอกข้อความของจดหมายฉบับที่สองไว้ภายหลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษใน ค.ศ. 1947 

ภาพจดหมายฉบับแรกของมหาตมา คานธี ถึง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ภาพจาก commons.wikimedia.org

จดหมายฉบับแรก

เป็นจดหมายที่มีใจความสั้น ๆ ที่ มหาตมา คานธี ได้เขียนขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1939 หรือประมาณหนึ่งเดือนก่อนกองทัพเยอรมันจะบุกฉนวนโปแลนด์ และเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งที่รัฐบาลนาซีได้กระทำการละเมิดต่อสนธิสัญญาแวร์ซายส์และสนธิสัญญาฉบับอื่น ๆ หลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการสะสมกำลังทหาร การผนวกออสเตรียให้เป็นส่วนหนึ่งของนาซีเยอรมัน การบุกแคว้นไรน์แลนด์ (Rheinland) การขู่ว่านาซีเยอรมนีจะประกาศสงครามต่ออังกฤษ ฝรั่งเศส และเชโกสโลวาเกีย หากเยอรมันไม่มีสิทธิ์เหนือดินแดน ซูเดเทิน (Sudeten)

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้เอง ที่สงครามอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาจากท่าทีที่แข็งกร้าวของนาซีเยอรมนีและอาจหากสงครามเกิดขึ้นจริงคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อินเดียจะต้องเข้าร่วมรบในฐานะอาณานิคมของอังกฤษ จึงอาจจะกลายเป็นเหตุสำคัญที่ มหาตมา คานธี ได้ระบุเจาะจงไว้อย่างชัดเจนในจดหมายฉบับนี้ว่า “อดอล์ฟ  ฮิตเลอร์เป็นบุคคลเดียวในโลกนี้เท่านั้นที่จะหยุดยั้งไม่ให้สงครามเกิดขึ้นได้” รวมถึงการร้องขอให้ผู้นำแห่งนาซีเยอรมนีคำนึงถึงมนุษยธรรมและฉุกคิดว่าสงครามไม่ใช่ทางออกเสมอไป

ทำไมจึงมีจดหมายฉบับที่สอง

ในส่วนของจดหมายฉบับที่สองนั้น คานธีได้เขียนขึ้นในวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1940 หรือหลังจากที่จักรวรรดินิยมอังกฤษได้ประกาศสงครามต่อนาซีเยอรมนีมาแล้วกว่า 1 ปี อันมีส่วนสำคัญที่ทำให้อินเดียต้องเข้ามามีส่วนพัวพันกับสงครามโลกครั้งที่สองตามที่ มหาตมา คานธี ได้คาดเอาไว้ อย่างไรก็ตาม การนำพาอินเดียเข้าสู่สงครามในครั้งนี้ยังเป็นการกระทำโดยพลการ เนื่องจากผู้นำของอังกฤษไม่ได้หารือและขอเสียงสนับสนุนจากคองเกรสแห่งชาติอินเดีย (Indian National Congress: INC) สิ่งนี้เอง ทำให้ความเห็นของสมาชิกคองเกรชแห่งชาติอินเดียที่มีต่อสงครามได้แตกออกเป็นหลายเสียงดังนี้ คือ 

1) ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการทำสงครามเพื่อต่อต้านฝ่ายอักษะและต้องการอาศัยสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเครื่องต่อรองทางการเมืองกับอังกฤษ ดังเช่น กรณีของ จวาหะราห์ เนห์รู (Jawaharlal Nehru) สมาชิกคองเกรสแห่งชาติอินเดีย ที่แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการให้ความร่วมมือกับอังกฤษแลกเปลี่ยนกับการได้รับเอกราชของอินเดียในทันที

2) ฝ่ายที่ต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมสงครามซึ่งสวนทางกับการใช้นโยบาย “ดื้อแพ่ง” และงดเว้นการให้ความร่วมมือกับอังกฤษทุกกรณีเพื่อเรียกร้องเอกราชอย่างสันติ ในขณะเดียวกัน สมาชิกคองเกรชแห่งชาติอินเดียจำนวนหนึ่งก็เสนอให้อาศัยสถานการณ์ที่อังกฤษกำลังติดพันกับสงครามในยุโรปในการชิงลงมือปลดแอกอินเดียจากการเป็นอาณานิคม ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงกรณีของอดีตสมาชิกคองเกรชแห่งชาติอินเดียอย่าง สุภาส จันทร โบส (Subhas Chandra Bose) เจ้าของวลี “Enemy of my foe is my friend” ที่มีแนวคิดสวนทางการใช้หลักอหิงสาและการดื้อแพ่ง และ โบสก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและเป็นที่รู้จักมักคุ้นในหมู่คนของรัฐบาลนาซีเยอรมนีมาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 30 ซึ่งโบสเองก็คาดหวังความร่วมมือจากรัฐบาลนาซีในการเข้ามาปลดปล่อยอินเดียจากการปกครองของอังกฤษด้วยกำลังทหาร

ภาพ สุภาส จันทร โบส ขณะกำลังหารือกับไฮน์ริช ฮิมเลอร์ ในช่วง ค.ศ.1941 เรื่องขอความร่วมมือจากนาซีเยอรมนีในการช่วยปลดปล่อยทหารอินเดียที่ตกเป็นเชลยศึกของกองทัพเยอรมนีเพื่อใช้เป็นกองกำลังของกองพัน Legion Fries Indien ในการปลดปล่อยอินเดียจากอังกฤษ จาก https://www.dnaindia.com/analysis/column-hitler-s-indians-the-indian-legion-2680021

ภายใต้วิกฤตการณ์ที่คองเกรสแห่งชาติอินเดียอยู่ในสภาวะ “เสียงแตก” และหลายต่อหลายครั้งที่สมาชิกคองเกรสแห่งชาติอินเดียบางขั้วต่างแสดงความเป็นปฎิปักษ์ต่อกันอย่างเปิดเผยและพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อตอบโต้กันเองรวมถึงการหันมาใช้ความรุนแรงเป็นหนทางในการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม ประกอบกับยังเป็นประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ล้วนแต่ถูกรุกรานโดยกองทัพเยอรมนี อันมีผลให้อังกฤษเองได้เริ่มใช้นโยบายรุนแรงในการเกณฑ์ทหารชาวพื้นเมืองอินเดียและการกักตุนเสบียง1เพื่อใช้ในยามสงคราม สถานการณ์ที่กล่าวมานี้นั้นคงเกินกว่าวิสัยของผู้ที่ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความรุนแรงในทุกรูปแบบอย่างคานธีจะรับได้

ดังนั้นหากการระงับสงครามคือหนทางหนึ่งที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาการใช้ความรุนแรงในอินเดียของแต่ละฝ่ายได้ การเกลี้ยกล่อมให้ประเทศคู่สงครามหลักอย่างอังกฤษและนาซีเยอรมนีในการใช้สันติวิธีเพื่อยุติสงคราม นั่นเอง จึงอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คานธี ตัดสินใจเขียนจดหมายฉบับที่สองถึง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวแบบ “ดื้อแพ่ง” และวิงวอนให้รัฐบาลอังกฤษใช้สันติวิธีในการแก้ไขกรณีพิพาทในยุโรป

จดหมายฉบับที่สอง

ในปัจจุบัน ตัวต้นฉบับของจดหมายฉบับที่สองได้สูญหายไปแล้ว เหลือแต่เพียงฉบับคัดลอกสำนวน ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้จากเวปไซต์ของ มหาตมา คานธี จดหมายฉบับที่สองมีเนื้อหาที่ยาวกว่าฉบับแรกและถึงแม้ว่าคานธีจะใช้ภาษาที่ดูเป็นมิตรในช่วงเกริ่นนำคล้ายกันกับในฉบับแรกก็ตาม แต่ใจความส่วนใหญ่กลับมีการใช้สำนวนที่ดูเคร่งเครียดกว่าจดหมายฉบับแรกอย่างเห็นได้ชัด เริ่มต้นจากจากการกล่าวถึงภาพลักษณ์ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ว่าก่อนหน้านี้ตัวคานธีเองไม่เคยรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยในความกล้าหาญและความรักชาติของท่านผู้นำที่มีต่อเยอรมนีอันเป็นปิตุภูมิ

แต่ในขณะเดียวกัน คานธีเองก็ได้ระบุอย่างชัดเจนในย่อหน้าแรกของจดหมายฉบับนี้ว่าเขาเริ่มที่จะมอง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ด้วยอีกทัศนะหนึ่งเป็นทัศนะเดียวกันกับที่อังกฤษและเหล่าศัตรูของฝ่ายอักษะใช้มองฮิตเลอร์ นั่นก็คือ “ฮิตเลอร์คือปิศาจ” โดยเฉพาะหลังจากที่กองทัพนาซีได้เข้ายึดครองโปแลนด์ เดนมาร์กและเช็กโกสโลวาเกีย ซึ่งคานธีได้ประณามการกระทำดังกล่าวว่า เป็นสิ่งที่ผิดต่อมนุษยธรรมอย่างรุนแรง  

มหาตมา คานธี ยังได้ประกาศจุดยืนที่สำคัญอีกประการหนึ่งของอินเดียคือการต่อต้านทั้งจักรวรรดิอังกฤษและลัทธินาซี โดยเน้นย้ำว่าจักรวรรดิอังกฤษคือองค์กรแห่งความรุนแรงหลักของโลกที่ทำให้ประชากรประมาณหนึ่งในห้าของจำนวนมนุษยชาติทั้งหมดต้องยอมสยบอยู่แทบเท้า และชาวอินเดียถือว่าการต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษคือพันธกิจหลักของชาวอินเดีย ทว่าต้องไม่ใช่ด้วยวิธีการใช้ “ความรุนแรง” เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะในสนามรบ แต่ด้วยการแสวงหาแนวทางในการชี้นำให้ชาวอังกฤษคล้อยตามกับการใช้สันติวิธีเหมือนชาวอินเดีย

คานธีได้พรรณาความถึงกลยุทธ์หลักที่ชาวอินเดียใช้ในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นการใช้หลักอหิงสา การพยายามในการทำให้ระบบอาณานิคมอังกฤษไม่สามารถจะดำรงต่อไปได้โดยการดื้อแพ่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นแนวทางการต่อสู้ที่ชาวอินเดียยึดถือมานานกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ฉะนั้น อินเดียจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอความช่วยเหลือจากกองทัพนาซีเยอรมนี2 ชาวอินเดียยังคงยืนหยัดที่จะใช้แนวทางสันติวิธีต่อไปอันเป็นวิธีการต่อสู้ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยเงินทองและที่สำคัญสุดคือไม่จำเป็นต้องอาศัยศาสตร์แห่งการทำลายล้าง (science of destruction) ซึ่ง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ประสบความสำเร็จในการทำให้ศาสตร์ดังกล่าวกลายมาเป็นสิ่งที่สมบูรณ์แบบในเชิงประจักษ์

คานธียังได้เตือน อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ให้ตระหนักถึงความไม่แน่นอนของการเป็นมหาอำนาจทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ของนาซีเยอรมนี แม้เยอรมนีจะล้ำหน้าไปกว่าอังกฤษและประเทศอื่น ๆ ในขณะนั้นก็ตาม แต่วันหนึ่งเทคโนโลยีเหล่านั้นก็จะถูกหยิบใช้และถูกพัฒนาโดยชาติอื่น ๆ จนกระทั่งกลายมาเป็นสิ่งที่กลับมาทำร้ายเยอรมนีแทน และชาวเยอรมันจะไม่รู้สึกภาคภูมิใจเลยกับสิ่งที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ทิ้งไว้เป็นมรดก

ในส่วนท้ายของจดหมายฉบับที่สอง คานธีได้กล่าวอ้างถึงกระแสส่วนใหญ่ของชาวยุโรปที่ต้องการสันติภาพ คานธีจึงได้ร้องวิงวอนในนามของมนุษยธรรมขอให้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ใช้สันติวิธีในการยุติสงครามในเวทีนานาชาติ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ คานธีได้ย้ำความว่าการใช้ความรุนแรงอันเป็นผลที่ทำให้เยอรมนีชนะอริศัตรูในสมรภูมิต่าง ๆ ทั่วยุโรปนั้นดูเหมือนจะไม่ใช่ชัยชนะที่ยั่งยืนและชอบธรรมแต่อย่างใด หากเป็นเพียงบทพิสูจน์แต่เพียงว่านาซีเยอรมนีมีเทคโนโลยีการทำลายล้างที่เหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น

โดยสรุปแล้ว  แม้ว่าจะเป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางในวงการประวัติศาสตร์อินเดียว่าจดหมายทั้งสองฉบับของ มหาตมา คานธี จะไม่ได้ถูกส่งถึงมือบุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดของนาซีเยอรมนีอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก็ตาม แต่ก็มีนักประวัติศาสตร์อินเดียบางสำนัก ได้กล่าวอ้างว่าเป็นเพียงแค่กรณีของจดหมายฉบับแรกเท่านั้น โดยจดหมายฉบับที่สองเองได้ถูกส่งไปยังกรุงเบอร์ลินจริง อันเป็นเหตุที่ทำให้ไม่มีการค้นพบต้นฉบับตัวจริง แต่จะถึงมือของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรือไม่นั่น ยังไม่สามารถที่จะยืนยันข้อเท็จจริงได้

อย่างไรก็ตาม หากเราพิจารณาจากบริบททางประวัติศาสตร์ในขณะนั้นที่กองทัพนาซีเยอรมันกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นจากการทำสงครามในยุโรปควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจอัตลักษณ์อันรวมถึงอุปนิสัยส่วนตัวของผู้นำสูงสุดแห่งนาซีเยอรมนีผ่านงานนิพนธ์ชิ้นเอกอย่าง ไมน์คัมพฟ์ (Mein Kampf) ของท่านผู้นำแล้ว ก็คงอาจจะได้คาดเดาได้ไม่ยากว่าเมื่อ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้อ่านพินิจเนื้อความในจดหมายของคานธีแล้ว อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จะมีปฏิกิริยาตอบโต้เช่นไร


1นโยบายการกักตุนเสบียงนี้เองภายหลังได้ส่งผลให้อินเดียอยู่ในภาวะขาดอาหารอย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่ออินเดียต้องเผชิญกับภัยแล้งในปี ค.ศ.1943 ที่รู้จักกันในชื่อเหตุการณ์ Bengal famine of 1943 ซึ่งมีการประมาณตัวเลขว่าชาวพื้นเมืองอินเดียกว่า 2 ล้านคนต้องเสียชีวิตไปจากภาวะการขาดอาหาร

2นักประวัติศาสตร์อินเดียร่วมสมัยส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าคานธีมีความวิตกกังวลต่อการเคลื่อนไหวของ สุภาส จันทร โบส อย่างมากที่แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการขอความช่วยเหลือทางการทหารจากกองทัพนาซีเยอรมันในการมาปลดปล่อยชาวอินเดียจากการถูกปกครองโดยอังกฤษ ในฐานะที่ทั้งชาวอินเดียและชาวเยอรมันล้วนแต่มีเชื้อสายของความเป็นอารยันเหมือนกันตามจินตภาพของคนส่วนใหญ่ในขณะนั้น


อ้างอิง:

คานธี, มหาตมา.  ชีวประวัติของข้าพเจ้า.  แปลโดย กรุณา กุศลาสัย.  พิมพ์ครั้งที่ 14.  กรุงเทพฯ: ศยาม.  2550.

Bandyopadhyay, Sekhar.  From Plassey to Partition: A History of Modern India.  New Delhi: Orient Blackswan.  2004.

Banerjee-Dube, Ishita. A History of Modern India. New Delhi: Cambridge University Press.  2014.

Chandra, Bipan. History of Modern India.  New Delhi: Orient Blackswan.  2009.  https://www.mkgandhi.org/


เผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มีนาคม 2562