30 ม.ค. 1948 คานธี ถูกสังหารโดยผู้คลั่งศาสนา ย้อนจุดเริ่มต้นเรียกร้องสิทธิแบบ “สัตยาเคราะห์”

มหาตมะ คานธี
ภาพถ่ายไม่ระบุวันที่ของ มหาตมะ คานธี ถ่ายในนิวเดลี ประเทศอินเดีย (ภาพจาก AFP PHOTO)

ความขัดแย้งและความเห็นต่างทางความคิดอันนำมาซึ่งความสูญเสียในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) มหาตมะ คานธี ถูกสังหาร

ช่วงเย็นของวันที่ 30 มกราคม มหาตมะ คานธี ผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งอินเดียกำลังยืนอยู่กลางสนามหญ้า ในขณะพนมมือสวดมนต์ตามกิจวัตร คานธีถูกนายนาถูราม โคทเส ชาวฮินดูผู้คลั่งศาสนาและไม่ต้องการฮินดู (อินเดีย) สมานฉันท์กับมุสลิม (ปากีสถาน) ใช้อาวุธปืนยิงใส่คานธี 3 นัด จนคานธีล้มลงขณะพนมมือ รายงานส่วนใหญ่บรรยายว่า คานธีเปล่งเสียงแผ่วเบาว่า “ราม” (บ้างก็ว่า “เห ราม” ซึ่งมีความหมายว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า) เป็นการปิดฉากบั้นปลายชีวิตของมหาบุรุษผู้ต่อสู้กับมหาอำนาจด้วยสันติวิธีในวัย 78 ปี ภายหลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์ได้เพียง 6 เดือน

การเรียกร้องเอกราชและความเสมอภาคของมหาตมะ คานธี ที่เน้นความเป็นสันติวิธี เรียกกันว่าสัตยาเคราะห์ มีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่คานธีเป็นทนายความในวัย 24 ปี โดยเกิดขึ้นบนสถานีรถไฟในประเทศแอฟริกาใต้ครั้งยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ

เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากที่คานธีเรียนจบกฎหมายจากลอนดอนกลับมาอยู่ที่อินเดียได้ไม่นาน คานธีเดินทางไปแอฟริกาใต้เพื่อไปเป็นนักกฎหมายประจำบริษัท Dada Abdulla ที่ทำการค้าอยู่ที่นั่น ในเดือนเมษายน ปี 1893 คานธีซื้อตั๋วรถไฟชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นตู้รถไฟที่หรูหราสะดวกสบายตามอัตราค่าบริการที่สูง แต่เขากลับถูกไล่ลงจากสถานีแรก ให้ไปอยู่ที่ตู้รถไฟชั้นสาม (ชั้นทั่วไปที่ไม่มีความสะดวกสบายและราคาถูก) โดยพนักงานตรวจตั๋วและผู้โดยสารชาวอังกฤษที่อ้างว่าตู้รถไฟชั้นหนึ่งสร้างขึ้นสำหรับผู้โดยสารผิวขาวเท่านั้น

นั่นทำให้คานธีตระหนักได้ว่า ไม่เฉพาะชาวอินเดียที่ถูกข่มเหงจากคนอังกฤษ ยังรวมไปถึงชาวแอฟริกาที่ถูกกระทำไม่ต่างกับสัตว์ ในที่สุดคานธีคิดว่าเขาจะอยู่ต่อและต่อสู้กับความไม่ยุติธรรม

ช่วงแรกของการต่อสู้ที่แอฟริกา คานธีจัดประชุมอพยพชาวอินเดีย นี่คือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อสิทธิชาวอินเดียในแอฟริกา (ท้ายที่สุดกลายเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวผิวสีทุกคน) เพื่อต่อต้านกฎหมายที่อังกฤษร่างขึ้นเพื่อใช้กดขี่ทั้งชาวอินเดียและชาวแอฟริกา ทั้งเขียนบทความ ออกไปพูดชักชวนคนอินเดียให้ประท้วง ในช่วง 7 ปีในแอฟริกาคานธีถูกจับ ถูกเฆี่ยนตี แต่ในทุกครั้ง เขากลับเดินเข้าคุกด้วยความสงบ และยิ้มรับด้วยความเต็มใจ

คานธี จึงตั้งชื่อขบวนการต่อสู้นี้ว่า สัตยาเคราะห์ (สัตยาคฤห Satyagraha) ซึ่งเป็นคำสมาสจากคำในภาษาสันสฤตคำว่า สัตยา ที่แปลว่า ความจริง (ที่นำมาสู่ความรัก) และคำว่า อะเคราะห์ ที่แปลว่า ความเด็ดเดี่ยว (ที่นำมาสู่พลัง) รวมกันเป็น “ความจริงและความรักที่ผนึกเข้าเป็นพลังอันแข็งเกรง”  นำมาอธิบายแนวคิดของการต่อสู้เพื่อความถูกต้องและนำมาประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ที่ปฏิบัติได้จริง

นั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิดของคานธีที่นำมาใช้เรียกร้องเอกราชของอินเดียในเวลาต่อมา และเป็นแบบอย่างของการเรียกร้องแนวอหิงสา (ความไม่เบียดเบียน การเว้นจากการทำร้าย) ภายใต้คำว่า “สัตยาเคราะห์” ของชายชื่อ มหาตมะ คานธี

I WANTED TO AVOID VIOLENCE.

NON-VIOLENCE IS THE FIRST ARTICLE OF MY FAITH.

IT IS ALSO THE LAST ARTICLE OF MY CREED.”

MAHATAMA   GANDHI

“ข้าพเจ้าต้องการหลีกเลี่ยงความรุนแรง

สันติวิธี คือกฎข้อแรกของศรัทธาของข้าพเจ้า

มันคือ กฎข้อสุดท้ายในความเชื่อของข้าพเจ้า”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุชาติ สวัสดิ์ศรี / ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บรรณาธิการ. วีรชน เอเชีย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค (อบศ.5), 2545

วิทยากร เชียงกูล. The soul of Mahatama Gandhi. กรุงเทพฯ : สายธาร, 2553

พจนานุกรม ฉบับมติชน. กรุงเทพ : มติชน, 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มกราคม 2562