ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ในวงการดาราศาสตร์ ต่างยกย่องให้ นิโคลัส โคเปอร์นิคัส เป็นบิดาแห่งดาราศาสตร์สมัยใหม่ ผู้ปฏิวัติแนวคิด “จักรวาล” ในช่วงศตวรรษที่ 16 กับข้อเสนอว่า “ดวงอาทิตย์คือศูนย์กลางของระบบสุริยะ” ส่วนโลกและดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ล้วนโคจรรอบดวงอาทิตย์ทั้งสิ้น
แนวคิดของเขาจะเป็นที่ต่อต้านจากศาสนจักรโรมันคาทอลิกในขณะนั้นด้วยเหตุที่ว่า แนวคิดของเขาขัดกับความเชื่อในพระคัมภีร์ แต่ปัจจุบันแนวคิดของเขาได้รับการพิสูจน์และเป็นที่ยอมรับของสังคม
นิโคลัส โคเปอร์นิคัส เกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1473 ที่เมืองโทรู ซึ่งอยู่ตอนกลางของแม่น้ำวิสทูลา ในโปแลนด์ พ่อของเขาเป็นพ่อค้าและเจ้าหน้าที่ประจำท้องถิ่น เมื่ออายุได้ 10 ขวบ พ่อของเขาเสียชีวิตลง
ลุงของโคเปอร์นิคัส ผู้เป็นพระอธิการได้อุปการะโคเปอร์นิคัส และช่วยเหลือให้ได้เรียนที่มหาวิทยาลัยคราคูฟ เขาศึกษาศิลปศาสตร์รวมถึงดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ จากนั้นก็เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยปาดัว
ในปี ค.ศ. 1503 โคเอร์นิคัส ได้รับปริญญาเอกด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเฟอร์รารา เขากลับไปที่โปแลนด์ และได้กลายเป็นผู้ดูแลโบสถ์และแพทย์ ในเวลาว่างของเขา นิโคลัส อุทิศตัวให้กับการแสวงหาความรู้ทางวิชาการรวมถึงงานด้านดาราศาสตร์
ในปีค. ศ. 1514 ชื่อเสียงของเขาในฐานะนักดาราศาสตร์ส่งผลให้ได้เป็นที่ปรึกษาของผู้นำคริสตจักรที่พยายามปฏิรูปปฏิทินจูเลียน
ผลงานที่สร้างชื่อให้กับเขาในฐานะผู้ปฏิวัติความเชื่อของคริสตจักรคือหนังสือ “เด ริโวลูทิโอนิบุส ออร์เบียม โคเอเลสทิอุม” (De revolutionibus orbium coelestium) หรือ “หนังสือ 6 เล่ม เกี่ยวกับการหมุนของวัตถุทรงกลมบนท้องฟ้า” เป็นผลงานที่ได้เผยแพร่ในปี 1543 ปีที่เขาได้เสียชีวิตลง
เดิมทีในช่วงศตวรรษที่ 16 แนวคิดเรื่องจักรวาลวิทยาของทางยุโรป โลกถือว่าเป็นศูนย์กลางของจักรวาลที่อยู่กับที่ โดยมีท้องฟ้าและกลุ่มดาวต่างๆ โคจรรอบโลก อีกทั้งดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว คือสิ่งที่สวรรค์เป็นผู้จัดเรียงมันขึ้นเป็นวงกลม แนวคิดนี้เป็นสิ่งนักปรัชญาโบราณหรือแม้แต่อริสโตเติลให้การสนับสนุนและยอมรับมัน รวมทั้งทางศาสนจักร
กระทั่งผลงานชิ้นดังกล่าวได้ปรากฏต่อสาธารณะชน ซึ่งเป็นสิ่งที่หักล้างกับความเชื่อแบบเดิมในเรื่องจักรวาล แน่นอนว่าย่อมต้องมีกระแสต่อต้านแนวคิดของหนังสือเด ริโวลูทิโอนิบุส จากพวกที่ยึดถือความเชื่อเดิม โดยเฉพาะทางศาสนจักรที่กำหนดให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือต้องห้าม เนื่องจากเป็นสิ่งที่บิดเบือนและตรงกันข้ามกับหลักคำสอนของคริสตจักรนิกายโรมันคาทอริก เห็นได้จากในปี 1545 พระสันตะปาปาพอลที่สาม ได้เรียกประชุมสภาแห่งแทรนต์เพื่อหารือเกี่ยวกับการปฏิรูปศาสนจักร และเพิ่มมาตราการปราบปรามพวกนอกรีต
การตีพิมพ์บทบัญญัติของสภาจึงเริ่มขึ้นในสมัยสันตะปาปาพิอุสที่สี่ การตีความหมายของคำสอนทางศาสนาถูกจำกัดให้เป็นงานของสงฆ์ตามสมณศักดิ์ และทางศาสนจักรไม่ต้องการให้ความคิดของนักเทววิทยาสมัครเล่นคนหนึ่งมาสร้างความปั่นป่วน (รวมถึง นิโคลัส โคเปอร์นิคัส) จึงทำให้วาติกันสั่งห้ามหนังสือของโคเปอร์นิคัส
แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะการที่ว่าติกันในขณะนั้นอยู่ในช่วงปฏิรูปปฏิทินเป็นระบบเกรกอเรียนในปี 1582 เพื่อกำหนดวันอีสเตอร์ จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ ซึ่งในหนังสือเด ริโวลูทิโอนิบุส ก็มีข้อมูลการสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์
กระทั่งในปี 1616 เด ริโวลูทิโอนิบุส เป็นหนังสือต้องห้ามที่กำกับไว้ว่า “จนกว่าจะมีการแก้ไข” จนเมื่อผ่านไป 4 ปีก็มีการประกาศว่ามีการแก้ไขสิบจุด อย่างเช่น ชื่อของหนังสือเล่มที่ 1 บทที่ 11 “คำอธิบายโดยละเอียดถึงการหมุนสามทบของโลก” ถูกแก้เป็น “สมมติฐานเกี่ยวกับการหมุนสามทบของโลกและคำอธิบายโดยละเอียด” เป็นต้น
แม้ว่าหนังสือเด ริโวลูทิโอนิบุส ของโคเปอร์นิคัส จะเป็นสิ่งที่ถูกกีดกันและดัดแปลงจากศาสนจักร แต่เด ริโวลูทิโอนิบุส ก็เป็นหนังสือที่สำคัญเกี่ยวกับดาราศาสตร์ของมนุษย์ เช่นเดียวกับการอภิปรายเกี่ยวกับระบบสำคัญสองระบบของโลกของกาลิเลโอ ซึ่งทำให้ทางศาสนจักรถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หนังสือต้องห้ามก็เริ่มค่อยๆ หายไปจากรายชื่อ “หนังสือต้องห้าม”
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
โอเวน กิงเกอริช, นรา สุภัคโรจน์ แปล. โคเปอร์นิคัส ผู้ปฏิวัติดาราศาสตร์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2552
History.com Editors. Copernicus born. Online. 9 FEB 2010. <https://www.history.com/this-day-in-history/copernicus-born>
Brecher, Kenneth. De revolutionibus. Britannica. Online. <https://www.britannica.com/topic/Copernicus-anniversary-40058>
Copernicus (1473-1543). BBC. Online. <http://www.bbc.co.uk/history/historic_figures/copernicus.shtml>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2562