5 ก.พ. 1885 พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 2 สถาปนาคองโกอยู่ใต้การปกครอง เปลี่ยนคองโกไปตลอดกาล

พระเจ้าเลโอโปลด์ ที่ 2 แห่งเบลเยียม

5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1885 พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 2 แห่งเบลเยียม สถาปนารัฐอิสระคองโกให้เป็นอาณานิคมอยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ กระทบคองโกจนถึงยุค 2000

ในศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงแห่งการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก หลายประเทศต่างแข่งขันในการเสาะแสวงหาทรัพยากรจากชาติอื่นๆ เพื่อนำมาเป็นของตนพร้อมกับขยายอิทธิพลในการปกครองให้อยู่ภายใต้อำนาจของจักรวรรดินิยม

Advertisement

หนึ่งในนั้นคือประเทศเบลเยียมในรัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโปลด์ที่ 2 หรือพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 2 พระองค์ทรงมีความคิดแบบชาติมหาอำนาจตะวันตกที่จะขยายอำนาจไปสู่ทวีปอื่น อันเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความยิ่งใหญ่ของประเทศ จึงทรงมอบหมายให้เฮนรี่ มอร์ตัน สแตนเลย์ เดินทางไปสำรวจบริเวณลุ่มแม่น้ำคองโกในปี 1878

บริเวณลุ่มแม่น้ำคองโกในขณะนั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ เหมาะแก่การเพาะปลูก อีกทั้งยังมีแร่ที่สำคัญและมีมูลค่า นั่นจึงทำให้พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 2 แห่งเบลเยียม เข้ายึดครองดินแดนดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เพื่อปกป้อง “ชาวพื้นเมือง” ในคองโกจากการค้าทาสของชาวอาหรับและเพื่อเปิดใจให้ยอมรับการเข้ามาของมิชชันนารีและนายทุนตะวันตก

ในปี 1884-1885 ผลของการประชุมเบอร์ลิน ว่าด้วยแอฟริกา 14 ประเทศในชาติตะวันตกรวมทั้งอเมริกาได้ให้การรับรองในฐานะที่พระองค์เป็นผู้ปกครองดินแดนคองโก จึงนำไปสู่การสถาปนารัฐอิสระคองโกในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ปี 1885 โดยมีกองทัพของพระองค์ภายใต้ชื่อ “Force Publique” ควบคุมประเทศ

พระองค์สร้างเส้นทางการคมนาคมเพื่อขนส่งสินค้า และทรัพยากรธรรมชาติของคองโกไปใช้ภายในเบลเยียม ทั้งยังแปรรูปที่ดินให้เป็นที่ดินการเกษตร ปลูกยางและแปรรูป พร้อมกับมีการทำเหมืองแร่อัญมณีของบริษัทเอกชนที่เข้ามา สภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงส่งผลต่อวิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในคองโกดีขึ้น ชาวคองโกได้รับการศึกษาและสาธารณูปโภคตามที่พระองค์ได้จัดสรรไว้

แต่อีกด้านหนึ่งพระองค์ได้เปลี่ยน”รัฐอิสระคองโก” ของพระองค์ ให้กลายเป็นค่ายแรงงานขนาดใหญ่ที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับพระองค์จากการเก็บเกี่ยวยางพารา มาร์ก ดัมเม็ตต์ อดีตผู้สื่อข่าวท้องถิ่นของบีบีซี แสดงความคิดเห็นว่า นั่นเป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตกว่า 10 ล้านคน ในขณะเดียวกันทหารชาวคองโกได้ถูกกำกับบทบาทโดยพระองค์ และยังมีนายหน้าที่บังคับขู่เข็ญประชาชนในชุมชนเพื่อให้นำยางกลับมาให้ได้ตามที่พอใจ หากนายหน้าได้ยางไม่มากพอและทำให้เสียคอมมิชชั่น ก็จะสั่งกำจัดคนในหมู่บ้าน

จนเมื่อปี 1960 ด้วยแรงกดดันจากประชาชนในท้องถิ่นที่พยายามเรียกร้องเอกราชจนนำไปสู่การก่อการจราจลที่รัฐบาลเบลเยียมไม่สามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ คองโกจึงได้รับเอกราชจากเบลเยียมในวันที่ 30 มิถุนายน

อย่างไรก็ตาม สภาพของสังคมและพื้นที่ในคองโกก็ยากฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนเดิมจนกระทั่งวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระเจ้าเลอปอลที่_2_แห่งเบลเยียม

https://th.wikipedia.org/wiki/สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

Dummett, Mark. “King Leopold’s legacy of DR Congo violence”. BBC. 24 February, 2004. <http://news.bbc.co.uk/2/hi/africa/3516965.stm>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2562