ผู้เขียน | อัศวัตถามา |
---|---|
เผยแพร่ |
“กษัตริย์เลโอโปลด์ที่ 2” กษัตริย์แห่ง “เบลเยียม” ผู้พรากชีวิตคนไปหลายล้านคน เพื่อตักตวงผลประโยชน์จาก “การค้ายาง” ใน “คองโก”
หากจัดอันดับผู้นำเผด็จการที่มีส่วนพรากชีวิตผู้คนมากที่สุดในโลก ชื่อของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมันย่อมโผล่มาเป็นอันดับแรก ๆ ด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวกว่า 17 ล้านคน รวมถึงนายพลฮิเดกิ โทโจ ผู้นำกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 กับสงครามในเอเชียตะวันออกและภาคพื้นแปซิฟิกอันเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 5 ล้านคน
ในบรรดาลำดับต้น ๆ นามของ กษัตริย์เลโอโปลด์ที่ 2 แห่งเบลเยียม (Leopold II of Belgium) น่าจะคุ้นหูน้อยที่สุดแล้ว กับตัวเลขผู้เสียชีวิตราว ๆ 10 ล้านคนที่กษัตริย์พระองค์นี้ฝากไว้เป็นประวัติศาสตร์ จนทำให้พระองค์ติด Top 5 ในลำดับที่ 4 (อันดับ 1 และ 2 คือ เหมาเจ๋อตงและสตาลิน) ฝากบาดแผลอันยากจะลืมเลือนให้แก่แอฟริกันชนโดยเฉพาะชาวคองโก
กษัตริย์เลโอโปลด์ที่ 2 เป็นประมุขแห่งประเทศเบลเยียม ระหว่าง ค.ศ. 1865-1909 มีบทบาทในการสถาปนา “รัฐอิสระคองโก” (Congo Free State) ดินแดนขนาดใหญ่ในภูมิภาคแอฟริกากลางให้เป็นอาณานิคมภายใต้การปกครองของพระองค์เมื่อ ค.ศ. 1885 ด้วยเหตุผลว่าเพื่อ “ปกป้องชาวพื้นเมืองจากการค้าทาสของชาวอาหรับ” และ “เผยแผ่ศาสนาคริสต์ในดินแดนแห่งนี้”
การครอบครองคองโก เริ่มต้นเมื่อ ค.ศ. 1876 หลังการจัดตั้งบริษัทส่วนพระองค์ชื่อ “สมาคมแอฟริกันนานาชาติ” (Association Internationale Africaine) บริษัทนี้ได้ว่าจ้างนักสำรวจชื่อ เฮนรี มอร์ตัน สแตนลีย์ (Henry Morton Stanley) มาทำงานเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการสร้างอาณานิคมภายในดินแดนคองโก ทั้งดำเนินการสำรวจและชักจูงชนพื้นเมืองชาวคองโก ก่อนอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนแห่งนี้ ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าเบลเยียมถึง 14 เท่า
หลังทรงดำเนินวิเทโศบายการทูตกับนานาประเทศอยู่ระยะหนึ่ง ที่ประชุมกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1884-1885 ซึ่งมีตัวแทน 14 ประเทศจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็ให้การยอมรับพระองค์ในฐานะประมุขของอาณานิคมคองโก เป็นที่มาของการจัดตั้ง “รัฐอิสระคองโก” อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1885
“รัฐอิสระคองโก” เป็นอาณานิคมที่มีสถานะต่างจากอาณานิคมอื่น ๆ ในอดีต เพราะอาณานิคมแห่งนี้คือทรัพย์สินย์ส่วนพระองค์ของกษัตริย์โดยตรง ไม่ได้ผูกพันกับรัฐหรือราชอาณาจักรเบลเยียมแต่อย่างใด นั่นทำให้พระองค์มีอำนาจและสิทธิ์ขาดโดยสมบูรณ์สำหรับการดำเนินการต่าง ๆ กับอาณานิคมแห่งนี้ และนี่คือจุดเริ่มต้นของความสยอดสยองที่กำลังจะเกิดขึ้นกับชนพื้นเมืองคองโก
ยางไม้มฤตยู
การสถาปนารัฐอิสระคองโกทำให้วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวคองโกเปลี่ยนไปอย่างมาก ชีวิตของพวกเขาห่างไกลกับคำว่า “อิสระ” หรือ “เสรี” อย่างไม่เห็นฝุ่น ทั้งที่คำนี้อยู่ในชื่อของรัฐ คองโกกลายเป็นค่ายกักกันและค่ายแรงงานขนาดใหญ่ที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับกษัตริย์ นั่นคือการเก็บเกี่ยว “ยางพารา” สินค้าส่งออกที่เจ้าอาณานิคมตักตวงจากผืนป่าอันกว้างใหญ่ในคองโกด้วยแรงงานของชนพื้นเมือง
คองโกสร้างความมั่งคั่งอย่างมากมายมหาศาลให้กับเบลเยียม (อันที่จริงคือท้องพระคลังของกษัตริย์) ผลพวงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการเติบโตของการผลิตล้อรถ-ยางรถ ทำให้ความต้องการยางพาราของตลาดโลก โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกาพุ่งสูงขึ้น ป่ารกทึบของคองโกที่เต็มไปด้วยต้นยางป่าจึงเปรียบเสมือนขุมทองของกษัตริเลโอโปลด์ที่ 2 ยังไม่รวมของป่าหายากอีกมากมาย โดยเฉพาะงาช้าง สินค้าฟุ่มเฟือยราคาสูงที่ทำเงินให้พระองค์ไม่น้อยเช่นกัน
การปกครองรัฐอิสระคองโกคือการบีบบังคับให้ชนพื้นเมืองทำงานเก็บน้ำยางอย่างหนัก ใช้แรงงานพวกเขาไม่ต่างจากทาส เต็มไปด้วยความโหดร้ายทารุณและบทลงโทษที่ไร้มนุษยธรรม ทางการของเจ้าอาณานิคมจะตัดอวัยวะแรงงานผู้ไม่สามารถเก็บน้ำยางได้ตามปริมาณที่กำหนดของแต่ละวัน มีบันทึกว่าแรงงานที่ขัดขืนไม่ให้ความร่วมมือหรือต่อต้านจะถูกผู้คุมถูกลงโทษด้วยการ “ตัดมือ-ตัดเท้า” ที่มาของการลงโทษนี้เพราะผู้คุมต้องการประหยัดกระสุนปืน
นโยบายดังกล่าวส่งผลให้ชาวคองโกเสียชีวิตไปจำนวนมาก มีการวิเคราะห์ว่าชนพื้นเมืองเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ตลอดการปกครองอันโหดเหี้ยมนี้ ชาวคองโกบางส่วนถูกนำตัวไปอยู่ในสวนสัตว์มนุษย์ที่เบลเยียม เป็นที่มาของประวัติศาสตร์แห่งความเจ็บปวดและดำมืด ซึ่งตราตรึงอยู่ในความทรงจำของชาวคองโก รวมถึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่อันดับต้น ๆ ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ช่วงเวลาแห่งความโหดร้ายนี้จึงได้รับการขนานนามว่า “Rubber Terror” หรือ ยุคหวาดกลัวยางพารา
แม้กษัตริย์เลโอโปลด์ที่ 2 จะพยายามปกปิดความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในคองโก แต่ไม่อาจปิดซ่อนไว้ได้ เพราะนักสำรวจและนักบวชที่เดินทางไปยังคองโกล้วนสุดจะทนกับสภาพความทารุณที่ได้พบเห็น เรื่องราวทั้งหลายถูกบอกเล่าผ่านงานเขียนและการบอกเล่าจนแพร่กระจายไปทั่วยุโรปและอเมริกา เป็นเรื่องราวสุดอื้อฉาวที่ออกไปสู่ประชาคมโลกช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
กษัตริย์เลโอโปลด์ที่ 2 จึงถูกบีบบังคับให้สละอำนาจจากรัฐอิสระคองโกในปี 1908 โดยถ่ายโอนการปกครองรัฐคองโกให้อยู่ในอำนาจของรัฐบาลเบลเยียม ไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์อีกต่อไป
ทว่ากว่าคองโกจะได้รับเอกราชจากเบลเยียมอย่างเป็นทางการก็ต้องรอถึงปี 1960 อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องราวต่าง ๆ และนโยบายอันไร้มนุษยธรรมของกษัตริย์เลโอโปลด์ที่ 2 ต่อชาวคองโกจะเข้าข่าย “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (Holocaust) หรือ “Congo Genocide” แต่กษัตริย์พระองค์นี้สวรรคตในปี 1909 ด้วยวัย 74 ปี โดยที่ไม่เคยต้องถูกพิจารณาคดีใด ๆ เลย
เรื่องราวเหล่านี้เป็นที่มาของคำว่า “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” (Crimes against Humanity) ซึ่งเป็นข้อหาร้ายแรงที่สุดในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งหมายถึงการกระทำอันโหดร้ายที่มีเป้าหมายหลักคือพลเรือน
มีบันทึกการใช้คำนี้เป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกโดย จอร์จ วอชิงตัน วิลเลียมส์ (George Washington Williams) นักการเมืองและนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ในช่วงทศวรรษที่ 1890 เขาเขียนไว้ในจดหมายที่ส่งไปหารัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในคองโก แน่นอนว่าคำดังกล่าวใช้เพื่อเล่าถึงการกระทำของกษัตริย์นั่นเอง
คำว่า “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ยังถูกนำมาใช้อีกหลายครั้ง เช่น ปี 1915 ฝ่ายสัมพันธมิตรประณามจักรวรรดิออตโตมันที่กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนียด้วยคำดังกล่าว สำหรับกระบวนการการพิจารณาคดีความด้วยคำกล่าวหานี้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการกับสมาชิกนาซีเยอรมันในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว หรือการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trials)
เมื่อปี 2020 กษัตริย์ฟิลิปแห่งเบลเยียม (Philippe of Belgium) ประมุของค์ปัจจุบันซึ่งทรงสืบสายโลหิตโดยตรงจากกษัตริย์เลโอโปลด์ที่ 2 ทรงมีพระราชสาส์นถึงประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เนื่องในวาระครบรอบ 60 ปีที่ประเทศได้รับเอกราชจากเบลเยียม พระองค์ทรงแสดงความเสียพระทัยอย่างที่สุดต่อการกระทำอันทารุณโหดร้ายที่เบลเยียมเคยก่อไว้ในสมัยที่เป็นเจ้าอาณานิคม
ทรงกล่าวว่า “ข้าพเจ้าอยากแสดงความเสียใจอย่างที่สุดต่อบาดแผลในอดีตเหล่านี้ เป็นความเจ็บปวดซึ่งปัจจุบันได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง จากการเลือกปฏิบัติที่ยังปรากฏอยู่อย่างแพร่หลายในสังคมของเรา” ทั้งนี้ จะเห็นว่าไม่มีการเอ่ยพระนามของกษัตริย์เลโอโปลด์ที่ 2 แต่อย่างใด
อ่านเพิ่มเติม :
อ้างอิง :
BBC News : Belgian royals in DR Congo: King Philippe laments racism of colonial past. (Online)
Grace Taylor, History Daily : King Leopold II Of Belgium: The Criminal Who Brutally Killed 10 Million Congolese. (Online)
JUAN CARLOS, www.readjuancarlos.com : Top Ten Most Evil Dictators of All Time (in order of kill count). (Online)
PAUL GREGOIRE, Sydney Criminal Lawyers : A Forgotten Genocide: The Congo Free State. (Online)
Richard F. Hamilton, The Washington Post : Forgotten Holocaust. (Online)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2565