ลิโอโปลด์ที่ 2 กษัตริย์เบลเยียมที่รูปปั้นพระองค์โดนย่ำยี เคยรับสั่งถึงสยามแบบไม่น่าฟัง

(ซ้าย) พระเจ้าลิโอโปลด์ ที่ 2 แห่งเบลเยียม (Public Domain) ด้านขวาคือภาพจากคลิปคนงานเคลื่อนย้ายรูปปั้นพระเจ้าลิโอโปลด์ ที่ 2 ในแอนท์เวิร์ป (ANTWERP) ประเทศเบลเยียม เมื่อ 9 มิ.ย. 2020 หลังรูปปั้นถูกกลุ่มที่เคลื่อนไหวต้านเหยียดผิวพ่นสี (ภาพจาก AFP PHOTO / HO / ATV-ANTWERP TELEVISION)

ในช่วงการประท้วงเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมภายหลังการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ในสหรัฐอเมริกา รูปปั้นของพระเจ้าลิโอโปลด์ที่ 2 (Leopold II of Belgium) กษัตริย์เบลเยียม ซึ่งตั้งในแอนท์เวิร์ฟ (Antwerp) ประเทศเบลเยียม ถูกกลุ่มผู้เคลื่อนไหวต่อต้านการเหยียดผิวจุดไฟเผาเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2020 ขณะที่เจ้าหน้าที่เพิ่งเคลื่อนย้ายรูปปั้นของพระองค์ออกจากพื้นที่ เมื่อลองค้นหาหลักฐานเกี่ยวกับพระองค์เพิ่มเติมแล้วพบว่า บันทึกของนายกเทศมนตรีเบลเยียม มีเนื้อหาส่วนหนึ่งเอ่ยถึงรับสั่งของ “พระลิโอโปลด์ที่ 2” เกี่ยวกับสยาม

พระเจ้าลิโอโปลด์ที่ 2 เป็นกษัตริย์เบลเยียมที่ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1865-1909 (พ.ศ. 2408-2452) ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขณะที่ในช่วงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) รูปปั้นอายุราว 150 ปีของพระองค์ที่ตั้งในแอนท์เวิร์ป เพิ่งถูกกลุ่มผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องต่อต้านการเหยียดผิวซึ่งเป็นกระแสที่แพร่กระจายมาจากการเดินขบวนในสหรัฐอเมริกาเผาและกระทำการอื่นๆ ที่สร้างความเสียหายภายนอก จนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ตามเวลาท้องถิ่น ทางการได้เคลื่อนย้ายรูปปั้นของพระองค์ไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์ Middelheim แทน

พระเจ้าลิโอโปลด์ที่ 2 ทรงสถาปนารัฐอิสระคองโกให้เป็นอาณานิคมอยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์เมื่อค.ศ. 1885 ยุคนั้นเป็นช่วงที่ชาวตะวันตกนิยมล่าอาณานิคม หลายประเทศต่างแข่งขันกันแสวงหาทรัพยากรจากชาติอื่นพร้อมกับขยายอิทธิพลในการปกครอง พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 2 แห่งเบลเยียม เข้ายึดครองดินแดนแถบคองโก โดยให้เหตุผลว่า เพื่อปกป้อง “ชาวพื้นเมือง” ในคองโกจากการค้าทาสของชาวอาหรับและเพื่อเปิดใจให้ยอมรับการเข้ามาของมิชชันนารีและนายทุนตะวันตก

ในด้านหนึ่ง การเข้าไปสถาปนารัฐอิสระคองโกทำให้วิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในคองโกดีขึ้น ชาวคองโกได้รับการศึกษาและสาธารณูปโภคตามที่พระองค์ได้จัดสรร แต่อีกด้านหนึ่ง “รัฐอิสระคองโก” ในสมัยของพระองค์กลายเป็นค่ายแรงงานขนาดใหญ่ที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับพระองค์จากการเก็บเกี่ยวยางพารา มาร์ก ดัมเม็ตต์ อดีตผู้สื่อข่าวท้องถิ่นของบีบีซี แสดงความคิดเห็นว่า นั่นเป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตกว่า 10 ล้านคน พระองค์ทรงกำกับบทบาททหารชาวคองโก และบางนายมีหน้าที่บังคับขู่เข็ญประชาชนในชุมชนเพื่อให้นำยางกลับมาให้ได้ตามที่พอใจ

พระเจ้าลิโอโปลด์ที่ 2 ทรงรับสั่งถึงสยาม

จากหลักฐานที่ค้นพบในภายหลังพบว่า พระเจ้าลิโอโปลด์ที่ 2 ทรงมีรับสั่งถึงสยามไว้ด้วย เอกสารที่มีเนื้อหาดังกล่าวคือบันทึกของชาร์ลส์ บุลส์ ชาวเบลเยียมซึ่งเคยเป็นนายกเทศมนตรีเบลเยียม และเคยได้รับการทาบทามให้เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินสยาม บันทึกดังกล่าวของเขาเขียนขึ้นหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อรำลึกความหลังที่เขาเคยเดินทางมาสยามเมื่อปี ค.ศ. 1900 (พ.ศ. 2443)

ผู้พบเอกสารดังกล่าวคือ พิษณุ จันทร์วิทัน ซึ่งได้เรียบเรียงเป็นบทความชื่อ “นายกเทศมนตรีเบลเยียมกับพระพุทธเจ้าหลวง” (ศิลปวัฒนธรรม, กรกฎาคม 2538) เนื้อหาส่วนหนึ่งมีใจความว่า

“การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระเจ้าแผ่นดินสยาม ทําให้ข้าพเจ้ารําลึกถึงความหลังที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสสัมผัสกับพระองค์ การรําลึกความหลังเช่นว่านี้อาจมีสาระอันควรแก่ความสนใจอยู่บ้าง เพราะช่วงนั้นเป็นเวลาที่เพื่อนร่วมชาติชาวเบลเยียมของข้าพเจ้ากําลังดําเนินบทบาทอันสําคัญอยู่ ณ มุมหนึ่งของดินแดนตะวันออกไกลแห่งนั้น ซึ่งบทบาทของบรรดาที่ปรึกษาชาวเบลเยียมเพื่อนร่วมชาติของข้าพเจ้านับว่า เป็นการถวายความรู้ให้แก่องค์พระมหากษัตริย์แห่งบูรพาทิศ พระองค์นี้ด้วย

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2442 (ค.ศ. 1899 – กองบก.ออนไลน์) ข้าพเจ้าได้ต้อนรับการเยือนของมิตรคนสําคัญผู้เป็นที่รู้จักกันดี คือ เมซิเออร์ รอลัง จากเกอแมงค์ [เจ้าพระยาอภัยราชา-ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน] ซึ่งหลังจากที่มิตรผู้นี้ทราบว่าข้าพเจ้าได้ตัดสินใจลาออกจากหน้าที่การงานในปลายปีนั้น ได้มีแก่ใจเชื้อเชิญให้ข้าพเจ้าไปเที่ยวบางกอก ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสตอบรับคําเชิญนั้นด้วยความยินดีโดยมิได้ติดใจถึงสาเหตุในการเชื้อเชิญครั้งนี้แม้แต่น้อย เนื่องด้วยในกาลต่อมา ข้าพเจ้าก็ได้ทราบถึงจุดประสงค์ดังกล่าวโดยทันทีที่ข้าพเจ้าเดินทางถึงสยาม

ก่อนออกเดินทางจากเบลเยียม ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระลิโอโปลด์ที่ 2 เมื่อทรงทราบว่าข้าพเจ้ามีแผนการเดินทางไปกรุงสยาม ได้รับสั่งด้วยพระสุรเสียงดูหมิ่นว่า “ไปสยามน่ะ ไม่ได้ประโยชน์ใดจากพวกสยามดอก เพราะพวกนั้นไม่ใช่นักธุรกิจ ไม่เหมือนชาวญี่ปุ่น” จากนั้นทรงอธิบายว่า ชาวเบลเยียมจะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลหากร่วมมือกับชาวญี่ปุ่นดําเนินธุรกิจใหม่ๆ ในจีน…”

รัชกาลที่ 5 ทรงรับสั่งถึงเบลเยียม

เนื้อหาอีกส่วนที่ชาร์ลส บุลส์ เล่านั้น เอ่ยถึงความทรงจำเมื่อเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1900 (พ.ศ. 2443 บันทึกเล่าว่าเขาเดินทางถึงบางกอกเมื่อ 10 ก.พ.) ใจความในประเด็นนี้กล่าวถึงบทสนทนากับพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ว่า

“…พระเจ้าอยู่หัวตรัสภาษาอังกฤษชัดเจน พระองค์ทรงมีพระราชดํารัสอันนุ่มนวลกับทุกๆ คนในที่นั้น ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับบรรดาเสนาบดี พระเจ้าน้องยาเธอ และข้าราชการทั้งหลายบนฟากหนึ่งของโต๊ะอาหาร บุคคลที่นั่งด้านตรงข้ามหันหน้าเข้าหาพระองค์ได้แก่ เมซิเออร์ รอลัง จากเกอแมงค์ ซึ่งมีข้าพเจ้านั่งถัดมาทางด้านขวา ส่วนด้านซ้ายคือ เมซิเออร์ ชเลสแซร์ ที่ปรึกษากฎหมายผู้ทําหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์แก่ข้าพเจ้าในระหว่างการพํานักอยู่ในกรุงสยาม ด้านหลังแขกทุกคนมีพนักงานแต่งกายด้วยชุดสีแดง ยืนโบกพัดขนนกขนาดใหญ่ที่ทําให้อากาศซึ่งมีความร้อนอย่างเอกในขณะนั้นรู้สึกสบายขึ้น…

…ทรงแนะนําอาหารไทยต่างๆ แก่ข้าพเจ้า ซึ่งในไม่ช้านักปากของข้าพเจ้าก็รู้สึกเผ็ดร้อนเป็นอย่างยิ่ง ทรงเล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึง การเสด็จประพาสเบลเยียม และด้วยความทรงจําอันเลิศแบบชาวตะวันออก ทรงจําสถานที่ทุกแห่งที่เคยเสด็จฯ ได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะบรัสเซลส์ ถนนบูเลอวาร์ดูเรอจองด์ และถนนอะเวนิวหลุยส์ ซึ่งทรงนําแบบมาดัดแปลงสร้างถนนที่ตัดไปยังสวนดุสิต ซึ่งถึงตอนนี้ทรงเสริมว่า ต้นไม้ในสวนดุสิตยังเล็กไม่สามารถเทียบได้กับสวนป่าบัว เดอลากอมเบรอในบรัสเซลส์ได้

ตรัสชมความโอฬารของศาลยุติธรรมในกรุงบรัสเซลส์ ในข้อนี้ข้าพเจ้า เห็นว่าภายในพระทัยของพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นผู้สร้างสรรค์อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น สําหรับพระราชวังที่บรัสเซลส์นั้นพระองค์เห็นว่าอยู่ข้างไม่สู้งาม ซึ่งคงไม่ไร้เหตุผลในการตรัสเช่นนั้น นอกจากนี้ยังทรงรู้สึกตกพระทัยที่ทรงสังเกตเห็นว่าบรรดานักท่องเที่ยวที่มาพักในโรงแรมใหญ่ สามารถมองเข้ามาเห็นภายในที่ประทับได้

โดยแท้แล้วทรงวิจารณ์พระเจ้าลิโอโปลด์ที่ 2 ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ชาวตะวันออกนั้นนับได้ว่าเป็นครูของพวกเราชาวยุโรปในเรื่องกิริยามารยาท แต่อย่างไรก็ตาม เดาได้ว่าทรงมีความไม่พอพระทัยบางประการ ซึ่งเรื่องนี้บรรดาชาวเบลเยียมในบางกอกกล่าวกันว่า

ทรงเคืองพระทัยที่พระเจ้าลิโอโปลด์ที่ 2 ทรงนําเสด็จทอดพระเนตรงานแสดงนานาชาติ ในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อปี พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897 – กองบก.ออนไลน์) อย่างรีบร้อน ทําให้พระองค์ต้องเร่งรีบเสด็จฯ ตาม นอกจากนั้นทรงเสียความรู้สึกในการที่พระเจ้าลิโอโปลด์ที่ 2 ทรงคะยั้นคะยอขอสัมปทานเหมืองดีบุกในสยามอย่างออกนอกหน้า คํากล่าวต่าง ๆ นี้ทําให้ข้าพเจ้าทราบเหตุผลของการที่ทรงมีข้อดํารัสถึงพระเจ้าลิโอโปลด์ที่ 2 อย่างข้างจะดูแคลน

ทรงเล่าว่า หลังจากที่พระองค์เสด็จออกจากกรุงบรัสเซลส์อย่างเป็นทางการตามหมายกําหนดการแล้ว ได้เสด็จฯ กลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่เปิดเผยพระองค์พร้อมกับหมอไรเตอร์ชาวเบลเยียม หมอไรเตอร์นําเสด็จฯ ไปเสวยพระกระยาหารกลางวันที่ร้านอาหาร “La Faille Dechiree” ซึ่ง ณ ที่นั้นได้เสวยหอยนางรมถึง 5 โหล และทรงพระเกษมสําราญยิ่ง พระองค์ทรงพระสรวลด้วยความรู้สึกขบขันเมื่อทรงเล่าถึงตอนที่ทรงหลงทางในระหว่างที่พยายามหารูปปั้นเมนาคิน พีส ในค่ำวันนั้น…”

คลิกอ่านเนื้อหาในบันทึกทั้งหมดจากบทความ : บันทึกของนายกเทศมนตรีเบลเยียม รำลึกถึงสยามและรัชกาลที่ 5

แม้ว่าพระองค์จะมีรูปปั้นในหลายพื้นที่ทั้งในเบลเยียม และคองโก แต่หลายปีที่ผ่านมา รูปปั้นของพระองค์ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านการเหยียดผิวเนื่องจากความเกี่ยวข้องของพระองค์กับอาณานิคมของเบลเยียมในแอฟริกาช่วงยุคสมัยที่พระองค์ครองราชย์

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ตามรอยทายาท “นายยอดตรัง” Emile Jottrand ที่ปรึกษากฎหมายชาวเบลเยียมสมัยร.5

ขณะที่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีชาวต่างชาติเข้ามารับราชการเป็นจำนวนมาก สืบเนื่องมาจากพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ในการปฏิรูปสยามให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมต่างประเทศ ระบบต่างๆ ในประเทศจึงเริ่มถูกปรับเปลี่ยน นอกเหนือจากการตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินแล้ว ยังปรากฏการจ้างที่ปรึกษาต่างชาติหลายท่าน ในบรรดาทีมที่ปรึกษาก็มีชื่อชาวเบลเยียมหลายท่าน นำมาโดยนายกุสตาฟ โรแลง ยัคแมงส์ สมาชิกในทีมที่มีชื่อเสียงอีกท่านคือ นาย Emile Jottrand ที่รับราชการในสยามระหว่าง ค.ศ. 1898-1902 และเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์ในการใช้ชีวิตที่สยามชื่อ Au Siam หรือ In Siam

 


อ้างอิง:

บันทึกของนายกเทศมนตรีเบลเยียม รำลึกถึงสยามและรัชกาลที่ 5. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 11 มิถุนายน 2563. <https://www.silpa-mag.com/history/article_38288>

5 ก.พ. 1885 พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 2 สถาปนาคองโกอยู่ใต้การปกครอง เปลี่ยนคองโกไปตลอดกาล. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 11 มิถุนายน 2563. <https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_27172>

Monika Pronczuk, Mihir Zaveri. “Statue of Leopold II, Belgian King Who Brutalized Congo, Is Removed in Antwerp”. New York Times. Online. Published 9 JUN 2020. Access 11 JUN 2020. <https://www.nytimes.com/2020/06/09/world/europe/king-leopold-statue-antwerp.html>

Dummett, Mark. “King Leopold’s legacy of DR Congo violence”. BBC. 24 February, 2004. <http://news.bbc.co.uk/2/hi/africa/3516965.stm>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มิถุนายน 2563