ตามรอยทายาท “นายยอดตรัง” Emile Jottrand ที่ปรึกษากฎหมายชาวเบลเยียมสมัยร.5

(ซ้าย) นาย Emile Jottrand ในชุดแต่งกายจีน (ภาพจาก พลเดช วรฉัตร / ศิลปวัฒนธรรม) (ขวา) Mr. และ Mme. Richelle ที่เล่าเรื่องบรรพบุรุษและอนุญาตให้เผยแพร่ภาพและของสะสมต่างๆ

สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีชาวต่างชาติเข้ามารับราชการเป็นจำนวนมาก ในบรรดาชาวต่างชาติที่เข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษา ปรากฏที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชาวเบลเยียมคือนายกุสตาฟ โรแลง ยัคแมงส์ หรือเจ้าพระยาอภัยราชา ซึ่งท่านเป็นผู้ชักนำชาวเบลเยียมอีกหลายรายเข้ามารับราชการในช่วงนั้น หนึ่งในนั้นคือ นาย Emile Jottrand

สืบเนื่องมาจากพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ในการปฏิรูปสยามให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมต่างประเทศ ระบบต่างๆ ในประเทศจึงเริ่มถูกปรับเปลี่ยน นอกเหนือจากการตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินแล้ว ยังปรากฏการจ้างที่ปรึกษาต่างชาติหลายท่าน ในบรรดาทีมที่ปรึกษาชาวเบลเยียม ซึ่งนำมาโดยนายกุสตาฟ โรแลง ยัคแมงส์ สมาชิกในทีมที่มีชื่อเสียงอีกท่านคือ นาย Emile Jottrand เขารับราชการในสยามระหว่าง ค.ศ. 1898-1902 และเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์ในการใช้ชีวิตที่สยามชื่อ Au Siam หรือ In Siam เป็นหนังสือบันทึกเชิงประวัติเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในสยาม เนื่องด้วยบทบาทและสถานะทางการงานของเขาย่อมทำให้มีโอกาสประสบพบเห็นเรื่องราวในราชสำนักและเบื้องหลังต่างๆ

Advertisement

ชื่อของนาย Jottrand ฝ่ายสยามพยายามสะกดชื่อเป็นภาษาไทย และมีชื่อไทยหลายชื่อ อาทิ นายชวดตรอง นายยอดตรัง และนายยอดทอง (บัตรเชิญของเสนาบดีกระทรวงวัง ลงวันที่ 17 พ.ย. ค.ศ. 1898 ใช้คำว่ามิสเตอร์ชวดตรอง แต่บางครั้งใช้ว่า ยอดตรอง)

ภาพหาดูยากของ Emile Jottrand ในชุดแต่งกายจีน (ภาพจาก พลเดช วรฉัตร/ศิลปวัฒนธรรม)

จากการสืบค้นของพลเดช วรฉัตร ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ และเป็นผู้เขียนบทความ “ย้อนอดีตสยามกับทายาท ‘นายยอดตรัง’ (Emile Jottrand) ที่ปรึกษากฎหมายชาวเบลเยียมในสมัยรัชกาลที่ 5” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม พ.ศ. 2545 นาย Emile มีหลานสาวชื่อ Simone Jottrand Richelle เมื่อพ.ศ. 2542 อยู่ในวัย 70 ปี พลเดช บอกเล่าประสบการณ์นัดพูดคุยกับ Simone ที่บ้านพักของเธอในเมืองลิมาล (Limal) ทางใต้ของบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 ในบทความข้างต้น

พลเดช เล่าเกี่ยวกับการนัดสนทนาในครั้งนั้นว่า มาดาม Simone เตรียมเอกสารเก่า และอัลบั้มภาพของปู่และย่าของเธอมาให้ดูด้วย โดยเอกสารเหล่านี้ถูกเก็บรักษาอย่างดียิ่ง มาดามเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปู่และย่าของเธอว่า พ่อของเธอเป็นลูกชายของเอมิล จอดตรอง (Emile Jottrand) เมื่อครั้งที่เอมิล เดินทางไปทำงานในสยาม เขาอายุ 32 ปี ถือเป็นที่ปรึกษากฎหมายอายุน้อยที่สุดในคณะที่ปรึกษาชาวเบลเยียมในยุคนั้น

บ้านพักของ Emile Jottrand ในสยาม (ภาพจาก พลเดช วรฉัตร/ศิลปวัฒนธรรม)

บ้านพักของปู่และย่าของเธอในสยามชื่อ วิลล่า ซูซาน ตรงถนนสระประทุม ซึ่งเคยเป็นบ้านพักของที่ปรึกษากฎหมายชาวเบลเยียมอีกรายชื่อ ปิแอร์ โอต

ย่าของเธอเป็นคนชอบสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะแมว และเก็บสะสมของหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นจดหมาย บัตรเชิญ ภาพถ่าย ตั๋วรถรางไฟฟ้า บัตรอวยพร เมนูอาหาร และอีกหลายชนิด นอกจากนี้ ยังเป็นคนชอบดนตรีและยังนำเปียโนไปที่สยามด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องยากลำบากและโกลาหล ขนเปียโนลงเรือ ขึ้นเรือหลายครั้งกว่าจะมาถึงปลายทาง เมื่อถึงบ้านพัก ปู่ของเธอต้องจ้างช่างดนตรีมาจูนเสียงใหม่

ในการสนทนา เธอยังนำหนังสือเก่าและอัลบั้มภาพที่ได้รับจากพ่อและน้าสาวมาด้วย มาดาม เล่าว่า หลังจากเอมิล กลับจากสยาม ปู่ของเธอไปบริหารวิทยาลัยการค้าแห่งหนึ่งในเมือง Mons ใกล้เขตแดนฝรั่งเศส วิทยาลัยนี้ชื่อ Institut Commerce de commerce du Hainaut ปู่ของเธอเขียนบทความและข้อเขียนเกี่ยวกับสยามหลายชิ้น ชิ้นที่มีชื่อเสียงมากคือบันทึก Au Siam : Journal de Voyage de M. et Mme. Emile Jottrand จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Plon ค.ศ. 1905 (ภายหลังแปลเป็นภาษาอังกฤษชื่อ In Siam)

นอกเหนือจากบันทึกนี้ ยังเขียนบทความเรื่อง Europeens et Asiatiques และการปฏิวัติในสยามในวารสาระ le Flambeau ในปี ค.ศ. 1909 ปู่และย่าของเธอเขียนเรื่องการเดินทางท่องเที่ยวในอินโดจีนและญี่ปุ่น (Indo-chine et Japon) พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Plon ปารีส

Mr. และ Mme. Richelle ที่เล่าเรื่องบรรพบุรุษจากนาย Jottrand และอนุญาตให้เผยแพร่ภาพและของสะสมต่างๆ

มาดามยังเล่าว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จเยือนเบลเยียมในปี ค.ศ. 1960 ปู่ของเธอได้รับเชิญไปร่วมงานเลี้ยงต้อนรับที่เบลเยียมจัดถวายด้วย โดยเธอเป็นผู้ขับรถไปส่งปู่และน้าสาวที่พระราชวัง และเธอนั่งรอในรถ

(พลเดช เล่าว่า นาย Emile Jottrand เป็นที่ปรึกษากฎหมายคนเดียวในทีมที่ปรึกษากฎหมายเบลเยียมในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีชีวิตอยู่ถึงช่วงเสด็จของรัชกาลที่ 9 ในค.ศ. 1960 และได้รับเชิญไปงานเลี้ยงรับรองที่เบลเยียมจัดถวาย)

เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าโบดวง แห่งเบลเยียมเสด็จเยือนประเทศไทยเมื่อ ค.ศ. 1964 พระองค์โทรเลขสั้นๆ ถึงปู่ของเธอ เพื่อแจ้งว่าพระองค์เสด็จมาถึงประเทศที่ Emile Jottrand ปู่ของเธอทุ่มเททำงานให้อย่างเต็มที่แล้ว ขณะที่ปู่ของเธอได้ตอบโทรเลขของพระเจ้าโบดวง ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1964

Emile ระบุในหนังสือด้วยว่า มีความยินดีอย่างยิ่งที่รู้ว่าหลังเวลาผ่านไป 60 ปี ชาวสยามยังคงตระหนักและระลึกถึงคุณงามความดีต่างๆ ที่นายกุสตาฟ โรแลง ยัคแมงส์ หรือเจ้าพระยาอภัยราชา และคณะที่ปรึกษากฎหมายชาวเบลเยียมสร้างไว้ให้กับสยาม

นาย Jottrand ได้กราบทูลพระเจ้าโบดวงอย่างตรงไปตรงมาด้วยว่า จากการเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ ประเทศไทยอยู่ในความประทับใจของเขาเป็นอันดับแรก เพราะความมีมารยาทงดงามของชาวสยามที่หาอะไรมาเทียบได้ยาก ความรวดเร็วและง่ายดายในการเรียนรู้วิชาการต่างประเทศ รวมทั้งการแสดงไมตรีจิตและน้ำใจต่อผู้อื่นในเรื่องต่างๆ แทบทุกเรื่องไม่ว่าดีหรือไม่ดี ชาวสยามจะมีวิธีการแสดงออกที่งดงามเสมอ (มาดามเก็บสำเนาจดหมายตอบไว้อย่างดี)

ในบรรดาของสะสมที่มาดามเก็บไว้นั้น มีข่าวในหนังสือพิมพ์ La Libre Belgique ฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม 1974 ลงข้อเขียนของนาย Jo Gerard นักเขียนที่เชี่ยวชาญเรื่องเอเชีย ชื่อหัวข้อว่า Ces Prince Belges Du Siam หรือ เจ้าชายเบลเยียมแห่งสยาม

ข้อเขียนชิ้นนี้เล่าประวัติความสัมพันธ์ระหว่างเบลเยียมกับสยาม และบทบาทของชาวเบลเยียมกลุ่มหนึ่งอันนำโดยนายกุสตาฟ โรแลง ยัคแมงส์ ที่ปรึกษาต่างชาติของรัชกาลที่ 5 เนื้อหายังกล่าวถึงนายแพทย์ชาวเบลเยียมอีกท่านคือ Eugene Francois Reytter แพทย์ประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 5 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาประเสริฐศาสตร์ดำรงค์ และบทบาททหารเบลเยียมชื่อ Jules Carton รับงานสร้างป้อมริมแม่น้ำเจ้าพระยาเตรียมต่อสู้กับการบุกของฝรั่งเศส

ข้อเขียนสรุปตอนท้ายว่า ในปีค.ศ. 1897 มีชาวเบลเยียมพำนักในสยามถึง 25 คน ทุกคนมีหน้าที่และบทบาทในหน่วยงานสำคัญของสยาม และสร้างผลงานมากมาย … แต่ในปัจจุบันนี้จะมีใครบ้างที่ระลึกถึงเจ้าชายเบลเยียมของบางกอกเหล่านี้

มาดามยังมีอัลบั้มซึ่งเก็บรักษาสิ่งของหายากหลายอย่าง ซึ่งช่วยให้จินตนาการสภาพความเป็นอยู่ของสยามในยุคนั้นได้ อาทิ บัตรเชิญงานเลี้ยง ตั๋วรถราง เมนูอาหาร ตั๋วชมละคร แสตมป์ภาษีอากรในรัชกาลที่ 5 ตราของหน่วยงานต่างๆ ข่าวหนังสือพิมพ์ตัด ฯลฯ

ภรรยาของ Jottrand และแมวตัวโปรด (ภาพจาก พลเดช วรฉัตร/ศิลปวัฒนธรรม)

หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงจากบทความ “ย้อนอดีตสยามกับทายาท ‘นายยอดตรัง’ (Emile Jottrand) ที่ปรึกษากฎหมายชาวเบลเยียมในสมัยรัชกาลที่ 5” โดยพลเดช วรฉัตร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม พ.ศ. 2545


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 เมษายน 2563