บันทึกของนายกเทศมนตรีเบลเยียม รำลึกถึงสยามและรัชกาลที่ 5

ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ริเริ่มการเสด็จฯ เยือนมิตรประเทศต่างๆ จึงพบเห็นเอกสารต่างชาติบันทึกเรื่องต่างๆของพระองค์อยู่เสมอ ดังเช่นครั้งนี้ที่ บทความชื่อหนึ่งชื่อ “Un Roi Asiatique Moderne” ที่เขียนโดยชาร์ลส์ บุลส์

ชาร์ลส์ บุลส์

ชาร์ลส์ บุลส์ เป็นชาวเบลเยียม เคยเป็นนายกเทศมนตรีเบลเยียม และเคยได้รับการทาบทามให้เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินสยาม ส่วนบันทึกดังกล่าวของเขาเขียนขึ้นหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อความรำลึกความหลังที่เขาเคยเดินทางมาสยามเมื่อปี 2443

Advertisement

ผู้พบเอกสารดังกล่าวคือ พิษณุ จันทร์วิทัน ซึ่งได้เรียบเรียงเป็นบทความชื่อ “นายกเทศมนตรีเบลเยียมกับ พระพุททเจ้าหลวง” (ศิลปวัฒนธรรม, กรกฎาคม 2538) ซึ่งคงตามต้นฉบับเดิมของนายบูลส์ ที่พิษณุได้แปลไว้ทั้งหมด (โดยจัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้น เพื่อความสะดวกในการอ่าน)ดังนี้

กษัตริย์เอเชียผู้ทันสมัย

ชาร์ลส์ บุลส์

การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระเจ้าแผ่นดินสยาม ทําให้ข้าพเจ้ารําลึกถึงความหลังที่ข้าพเจ้าได้มี โอกาสสัมผัสกับพระองค์ การรําลึกความหลังเช่นว่านี้อาจมีสาระอันควรแก่ความสนใจอยู่บ้าง เพราะช่วงนั้นเป็นเวลาที่เพื่อนร่วม ชาติชาวเบลเยียมของข้าพเจ้ากําลังดําเนินบทบาทอันสําคัญอยู่ ณ มุมหนึ่งของดินแดนตะวันออกไกลแห่งนั้น ซึ่งบทบาทของ บรรดาที่ปรึกษาชาวเบลเยียมเพื่อนร่วมชาติของข้าพเจ้านับว่า เป็นการถวายความรู้ให้แก่องค์พระมหากษัตริย์แห่งบูรพาทิศ พระองค์นี้ด้วย

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2442 ข้าพเจ้าได้ต้อนรับการเยือนของมิตรคนสําคัญผู้เป็นที่รู้จักกันดี คือ เมซิเออร์ รอลัง จากเกอแมงค์ [เจ้าพระยาอภัยราชา-ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน] ซึ่งหลังจากที่มิตรผู้นี้ทราบว่าข้าพเจ้าได้ตัดสินใจลาออกจากหน้าที่การงานในปลายปีนั้น ได้มีแก่ใจเชื้อเชิญ ให้ข้าพเจ้าไปเที่ยวบางกอก ข้าพเจ้าได้ถือโอกาสตอบรับคําเชิญนั้นด้วยความยินดีโดยมิได้ติดใจถึงสาเหตุในการเชื้อเชิญครั้งนี้แม้แต่น้อย เนื่องด้วยในกาลต่อมา ข้าพเจ้าก็ได้ทราบถึงจุดประสงค์ดังกล่าวโดยทันทีที่ข้าพเจ้าเดินทางถึงสยาม

ก่อนออกเดินทางจากเบลเยียม ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระลิโอโปลด์ที่ 2 เมื่อทรงทราบว่าข้าพเจ้ามีแผนการเดินทางไปกรุงสยาม ได้รับสั่งด้วยพระสุรเสียงดูหมิ่นว่า “ไปสยามน่ะ ไม่ได้ประโยชน์ใดจากพวกสยามดอก เพราะพวกนั้นไม่ใช่นักธุรกิจ ไม่เหมือนชาวญี่ปุ่น” จากนั้นทรงอธิบายว่า ชาวเบลเยียมจะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลหากร่วมมือกับชาวญี่ปุ่นดําเนินธุรกิจใหม่ๆ ในจีน

เย็นวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 อันเป็นวันเดียวกับที่ข้าพเจ้าเดินทางถึงบางกอก ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมพิธีปลงพระศพเสนาบดีผู้บัญชาการทหารเรือ ณ ที่นั้นข้าพเจ้าได้รับการเบิกตัวเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าแผ่นดินสยาม หลังจากที่พระองค์ทรงทักทายข้าพเจ้าแล้ว ได้ตรัสว่า ทรงมีพระราชประสงค์ จะให้ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าฯ อีก หลังจากนั้นทรงมีพระบรมราชโองการให้ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าฯ ในพระบรมมหาราชวัง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ตรัสภาษาอังกฤษชัดเจนว่า ยินดีที่ได้พบข้าพเจ้าอีกครั้งหนึ่ง และได้ทรงกล่าวถึงงานเลี้ยงรับรองที่ศาลาว่าการนครบรัสเซลส์เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรป ทรงเห็นว่าบ้านเมืองของเราเป็นระเบียบเรียบร้อยและมีการบริหารที่ดี ทรงมีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ ไปอีก เพื่อทอดพระเนตรการปรับปรุงงานด้านสุขาภิบาลและการทํานุบํารุงบ้านเมือง ของเราอย่างละเอียดถี่ถ้วน

จากพระราชปฏิสันถารที่ทรงมีต่อข้าพเจ้าในวันนั้น พระองค์ทรงมีความปรารถนาที่จะทําให้พระราชอาณาจักรของพระองค์ได้รับประโยชน์จาก ความเจริญก้าวหน้าทั้งปวงที่พระองค์ทรงพบเห็นมาจากยุโรป ซึ่งในการนี้ได้ตรัสว่า

“การกระทําเรื่องนี้ค่อนข้างยาก เพราะคนสยามยังล้าหลัง ถึงแม้ว่าเราจะมีเสนาบดีที่ได้รับการศึกษาและมีสติปัญญาอยู่รอบข้าง แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจสิ่งที่เรากําลังทํา ทั้งการปฏิรูปการปกครองและงานด้านสุขาภิบาลยังต้องล่าช้า เพราะคนบางกอกจํานวนมากยังอาศัยสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งกงสุลต่างชาติพยายามเพิ่มจํานวนคนในบังคับขึ้นทุกทีเพื่อขยายอิทธิพล”

ในตอนท้ายตรัสถามว่า เมื่อข้าพเจ้าเดินทางกลับไปยังเบลเยี่ยมแล้ว ข้าพเจ้าจะกลับไปรับตําแหน่งนายกเทศมนตรีอีกหรือไม่ ครั้นข้าพเจ้ากราบทูลปฏิเสธ ได้ตรัสขึ้นว่า ข้าพเจ้าประสงค์จะมาอยู่ในภาคตะวันออกไกลบ้างหรือไม่

ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ในพระบรมมหาราชวังมิได้มีลักษณะตะวันออกแม้แต่น้อย ทั้งในเชิงสถาปัตยกรรมและในการประดับตกแต่ง สิ่งเดียวที่ข้าพเจ้า สังเกตเห็นว่าเป็นเครื่องใช้ของประเทศนี้ก็คือ พระสุพรรณราชทองเหลืองเงาใบใหญ่ ซึ่งคนที่นิยมเคี้ยวหมากใช้ บรรดากษัตริย์เอเชียที่เดินทางไปเยือนยุโรปล้วนถูกเอาเปรียบอย่างไร้ยางอายโดยพวกยุโรปที่เห็นแก่ได้ ทําให้ในวังต่างเต็มไปด้วยวัตถุสิ่งของซึ่งพวกเราเองไม่ต้องการไม่ว่าจะราคาถูกเท่าไร อาทิ รูปปั้น รูปหล่อครึ่งตัวหินอ่อนและบรอนซ์ รูปภาพของกษัตริย์ในพระราชวงศ์ซึ่งต้องซื้อหามาด้วยราคาที่แพงกว่าราคาจริงถึงสามเท่า

ในห้องรับประทานอาหารซึ่งเคยนึกภาพความตระการตาในแบบตะวันออก กลับตกแต่งด้วยสไตล์อิตาเลียนและเต็มไปด้วยเครื่องประดับสีทองอัน มิได้มีอะไรเป็นพิเศษ

พระเจ้าอยู่หัวตรัสภาษาอังกฤษชัดเจน พระองค์ทรงมีพระราชดํารัสอันนุ่มนวลกับทุกๆ คนในที่นั้น ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับบรรดาเสนาบดี พระเจ้าน้องยาเธอ และข้าราชการทั้งหลายบนฟากหนึ่งของโต๊ะอาหาร บุคคลที่นั่งด้านตรงข้ามหันหน้าเข้าหาพระองค์ได้แก่ เมซิเออร์ รอลัง จากเกอแมงค์ ซึ่งมีข้าพเจ้านั่งถัดมาทางด้านขวา ส่วนด้านซ้ายคือ เมซิเออร์ ชเลสแซร์ ที่ปรึกษากฎหมายผู้ทําหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์แก่ข้าพเจ้าในระหว่างการพํานักอยู่ในกรุงสยาม ด้านหลังแขกทุกคนมีพนักงานแต่งกายด้วยชุดสีแดง ยืนโบกพัดขนนกขนาดใหญ่ที่ทําให้อากาศซึ่งมีความร้อนอย่างเอกในขณะนั้นรู้สึกสบายขึ้น

เมนูอาหารที่พระราชทานเลี้ยง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2443

เมนูอาหารแบบยุโรปเขียนด้วยภาษาฝรั่งเศสอย่างหรู แทรกด้วยอาหารสยามอันได้แก่ แกงเผ็ดกับปลาทอด กุ้งผัดพริก นกและ ข้าวที่ปรุงด้วยเครื่องเทศกลิ่นแรง เนื้อชิ้นเล็กๆ กับหัวผักกาด ทรงแนะนําอาหารไทยต่างๆ แก่ข้าพเจ้า ซึ่งในไม่ช้านักปากของข้าพเจ้าก็รู้สึกเผ็ดร้อนเป็นอย่างยิ่ง ทรงเล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึง การเสด็จประพาสเบลเยียม และด้วยความทรงจําอันเลิศแบบชาวตะวันออก ทรงจําสถานที่ทุกแห่งที่เคยเสด็จฯ ได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะบรัสเซลส์ ถนนบูเลอวาร์ดูเรอจองด์ และถนนอะเวนิวหลุยส์ ซึ่งทรงนําแบบมาดัดแปลงสร้างถนนที่ตัดไปยังสวนดุสิต ซึ่งถึงตอนนี้ทรงเสริมว่า ต้นไม้ในสวนดุสิตยังเล็กไม่สามารถเทียบได้กับสวนป่าบัว เดอลากอมเบรอในบรัสเซลส์ได้

ตรัสชมความโอฬารของศาลยุติธรรมในกรุงบรัสเซลส์ ในข้อนี้ข้าพเจ้า เห็นว่าภายในพระทัยของพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นผู้สร้างสรรค์อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น สําหรับพระราชวังที่บรัสเซลส์นั้นพระองค์เห็นว่าอยู่ข้างไม่สู้งาม ซึ่งคงไม่ไร้เหตุผลในการตรัสเช่นนั้น นอกจากนี้ยังทรงรู้สึกตกพระทัยที่ทรงสังเกตเห็นว่าบรรดานักท่องเที่ยวที่มาพักในโรงแรมใหญ่ สามารถมองเข้ามาเห็นภายในที่ประทับได้

โดยแท้แล้วทรงวิจารณ์พระเจ้าลิโอโปลด์ที่ 2 ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ชาวตะวันออกนั้นนับได้ว่าเป็นครูของพวกเราชาวยุโรปในเรื่องกิริยามารยาท แต่อย่างไรก็ตาม เดาได้ว่าทรงมีความไม่พอพระทัยบางประการ ซึ่งเรื่องนี้บรรดาชาวเบลเยียมในบางกอกกล่าวกันว่า

ทรงเคืองพระทัยที่พระเจ้าลิโอโปลด์ที่ 2 ทรงนําเสด็จทอดพระเนตรงานแสดงนานาชาติ ในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อปี 2440 อย่างรีบร้อน ทําให้พระองค์ต้องเร่งรีบเสด็จฯ ตาม นอกจากนั้นทรงเสียความรู้สึกในการที่พระเจ้าลิโอโปลด์ที่ 2 ทรงคะยั้นคะยอขอสัมปทานเหมืองดีบุกในสยามอย่างออกนอกหน้า คํากล่าวต่าง ๆ นี้ทําให้ข้าพเจ้าทราบเหตุผลของการที่ทรงมีข้อดํารัสถึงพระเจ้าลิโอโปลด์ที่ 2 อย่างข้างจะดูแคลน

ทรงเล่าว่า หลังจากที่พระองค์เสด็จออกจากกรุงบรัสเซลส์อย่างเป็นทางการตามหมายกําหนดการแล้ว ได้เสด็จฯ กลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่เปิดเผยพระองค์พร้อมกับหมอไรเตอร์ชาวเบลเยียม หมอไรเตอร์นําเสด็จฯ ไปเสวยพระกระยาหารกลางวันที่ร้านอาหาร “La Faille Dechiree” ซึ่ง ณ ที่นั้นได้เสวยหอยนางรมถึง 5 โหล และทรงพระเกษมสําราญยิ่ง พระองค์ทรงพระสรวลด้วยความรู้สึกขบขันเมื่อทรงเล่าถึงตอนที่ทรงหลงทางในระหว่างที่พยายามหารูปปั้นเมนาคิน พีส ในค่ำวันนั้น

กรมพระยาเทวะวงศ์ฯ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศทรงเล่าว่า ครั้งหนึ่งในขณะที่ประทับอยู่ที่ปารีส เกิดมีการประท้วงการแสดงโอเปร่า โลอองแกรง ซึ่งองค์เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศทรงไม่เข้าใจความคิดของบรรดาผู้คนที่ลุกขึ้นกระทําการประท้วงการแสดงเพียงเรื่องเดียวเช่นนั้น ทรงเห็นว่าการกระทําเช่นว่านี้เป็นการกระทําที่โง่เขลาใกล้ๆ กับความบ้าคลั่ง

หลังอาหารค่ำวันนั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงนําข้าพเจ้าไปยังห้องสูบบุหรี่ และตรัสขึ้นว่า “เรารู้จากเมซิเออร์ รอลัง ว่าคุณไม่สูบบุหรี่และไม่ขอรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จึงต้องขอโทษที่ไม่สามารถจะให้บุหรี่หรือเครื่องราชฯ แก่คุณ” หลังจากนั้นได้นําข้าพเจ้าเลี่ยงออกไปเสียทางหนึ่งและทรงมีพระราชปฏิสันถารกับข้าพเจ้าเรื่องงาน ประการแรก ทรงกล่าวถึงพระราชประสงค์ที่จะปรับปรุงพระนครของพระองค์ให้สะอาดสวยงาม

แต่เดิมการสัญจรในบางกอกมีแต่โดยทางแม่น้ำลําคลองสายต่างๆ จนถึงบัดนี้ มีถนนสายใหญ่ที่เรียกกันว่า ถนนเบลเยี่ยม ตัดตรงจากพระราชวังไปยังสวนดุสิต และอีกสายหนึ่งตัดไปยังบริเวณสถานกงสุลและท่าเรือ ทรงมีพระราชดําริว่า ควรตัดถนนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องมีการเวนคืนที่ดินและอาคารต่างๆ ที่เป็นทรัพย์สินของคนในบังคับต่างชาติ ซึ่งทําให้ต้องจ่ายเงินทดแทนจํานวนมากกว่าราคาของทรัพย์สินเหล่านั้น

ความจําเป็นเร่งด่วนอีกประการหนึ่งได้แก่การจัดหาน้ำดื่ม ทั้งนี้เนื่องจากชาวสยามดื่มน้ำจากลําคลองซึ่งสกปรกทําให้เกิดอหิวาตกโรคระบาดในบางกอก นอกจากนี้แล้วบริเวณฝั่งชายเลนรอบพระนครควรมีการปล่อยน้ำชะล้างเพื่อถ่ายเทสิ่ง สกปรกอย่างสม่ำเสมอ และพื้นที่ราบอันกว้างใหญ่สองฝั่งแม่น้ำ ควรจะมีการชลประทานเพื่อการทํานาและแก้ปัญหาฝนแล้งซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว

ข้าพเจ้ากราบทูลว่า ในระหว่างที่พํานักในสยาม ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าฟังการพิจารณาคดีแลได้ไปเบี่มชมเรือนจำ ข้าพเจ้าได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากองค์เสนาบดียุติธรรม ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า ความทรงคุณวุฒิของผู้พิพากษา ตลอดจนความเที่ยงธรรมที่ปรากฏย่อมเป็นหลักประกันว่าในไม่ช้ามหาอำนาจยุโรปจะพากันยกเลิกการใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตดังเช่นที่ได้กระทำในญี่ปุ่น

สำหรับงานด้านการสุขาภิบาลต่างๆ นั้น มาตรการแรกจำต้องจัดทำระบบสำมะโนประชากร ตามแบบยุโรปเพื่อให้รู้ว่ามีโรคระบาดตลอดจนสาเหตุของโรค ซึ่งเมื่อได้ทราบแล้วจะทําให้การขจัดโรคร้ายต่างๆ เป็นไปอย่างได้ผลโดยไม่สิ้นเงินของแผ่นดินโดยปราศจากความจําเป็น ทุกวันนี้ในบางกอกยังไม่สามารถทราบได้ว่าประชากรเกิด-ตาย จํานวนเท่าใด การรู้ว่ามีโรคระบาดก็ต่อเมื่อมีงานศพบ่อยครั้งเพียงไรเท่านั้น

สําหรับการชลประทานที่ราบลุ่มน้ำ จะต้องมีการจัดทําแผนที่อย่างชัดเจนแสดงระดับความสูงของชายฝั่งแม่น้ำเสียก่อน เรื่องนี้ข้าพเจ้ากราบทูล คําแนะนําว่าขอให้ทรงปรึกษากับวิศวกรชาวดัตช์ ซึ่งได้รับการแนะนําจากทางการเพื่อดําเนินการดังกล่าว

จากนั้นได้ตรัสถึงสถานการณ์ทางการเมืองและความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสด้วยความโทมนัส ถึงตอนนี้ทรงเคร่งเครียดเมื่อตรัสถึงข้อเรียกร้องกันไม่ชอบธรรมของฝรั่งเศส ซึ่งทําให้พระองค์ทรงรู้สึกเสียพระทัยในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศเอกราชผู้ทรงไว้ซึ่งพระเกียรติยศ สิ่งนี้ทําให้พระองค์ทรงไร้พละกําลังในการดําเนินโครงการต่างๆ เพื่อพระนครและพสกนิกร

เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ฝรั่งเศสก่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2436 นําไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ ซึ่งพระองค์จําต้องยอมตามเพื่อมิให้ต่างชาติถือเป็นเหตุเข้าแทรกแซง ถึงกระนั้นฝรั่งเศสก็ยังหาเหตุเข้ายึดครองจันทบูร เพื่อเพิ่มข้อเรียกร้องต่างๆ

ด้วยการแนะนําของเมซิเออร์ รอลัง บรรดานักการทูตสยามได้ดําเนินการต่อสู้ทางการทูตอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดนสยาม การที่ชาวสยามลุกขึ้นต่อต้านประกอบกับการที่บรรดาที่ปรึกษาต่างชาติในสยามเข้าร่วมด้วยนี้ ทําให้อัครราชทูตฝรั่งเศสในบางกอกล้มเลิกการเจรจาเสีย กลางคันและออกเดินทางไปยุโรป [1]

หลังจากที่รับสั่งถามแผนการเดินทางของข้าพเจ้าแล้ว รับสั่งให้กรมพระยาดํารงฯ ประทานความอนุเคราะห์เรื่องต่างๆ แก่ข้าพเจ้า พระราชวังของพระองค์นับเป็นสถานที่อันมีอากาศร้อนที่สุดแห่งหนึ่งใน และสมควรแก่เวลาที่ข้าพเจ้าจะออกจากที่นั้นได้แล้ว

ในระหว่างที่เรากําลังเดินทางกลับไปยังบ้านของเมซิเออร์ รอลัง โดยรถม้าซึ่งมีสารถีชาวลาว เราทั้งสองได้สนทนากันโดย ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงความรู้สึกของข้าพเจ้าที่มีต่อองค์พระเจ้าแผ่นดินสยาม ข้าพเจ้าเห็นชัดว่าทรงมีความจริงใจและทรงตั้ง พระทัยทํานุบํารุงบ้านของพระองค์อย่างแท้จริง เมซิเออร์ รอลัง เล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงการที่พระองค์ทรงเป็นผู้เปิดศักราชใหม่แห่งราชประเพณี ด้วยการเสด็จฯ ชวาในปี พ.ศ. 2414 อินเดียเมื่อปี พ.ศ. 2451 และเสด็จประพาสยุโรปเมื่อปีพ.ศ. 2440

และแม้จะทรงยึดถือประเพณีนิยมโดยทรงครองผ้าเหลืองออกผนวชใช้ชีวิตเป็นพระภิกษุอยู่ถึงปีหนึ่ง แต่ก็ทรงปราศจาก ความเชื่องมงาย แบบชาวพุทธโดยสิ้นเชิง ในระหว่างเสด็จประพาสลังกา พระองค์ทรงยืนกรานที่จะไม่บูชาพระเขี้ยวแก้วซึ่งมีชื่อเสียง เพราะไม่ทรงเชื่อว่าเป็นพระทนต์อันศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระพุทธเจ้า [2] โดยพวกนักพรตชาวสิงหลในลังกาจัดขบวนแห่ถวายพระเกียรติ ซึ่งจะต้องลอดใต้เฉลียงโรงแรมที่ประทับ ตอนเช้าพระองค์ทรงแต่งฉลองพระองค์แบบสามัญชนปะปนกับฝูงชนซึ่งกําลังโห่ร้องต้อนรับขบวนพระเจ้าแผ่นดินสยามซึ่งมีผู้แต่งกายปลอมให้เหมือนพระองค์ อยู่ในขบวนนั้นแทน

ประเทศสยามไม่มีชนชั้นกลาง ซึ่งในยุโรปเป็นชนชั้นที่เป็นฝ่ายริเริ่ม การเรียกร้องประชาธิปไตย ดังนั้น ในการวางรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในสยาม พระองค์จึงทรงขาดแรงสนับสนุนจากประชาชนในเรื่องนี้ ทั้งยังต้องต่อสู้กับความไม่เห็นด้วยของบรรดาเสนาบดีและขุนนางซึ่งด้อยการศึกษากว่า

พระองค์ได้ทรงแสดงน้ำพระทัยอันกว้างขวางด้วยการเป็นฝ่ายริเริ่มการจํากัดพระราชอํานาจขององค์พระมหากษัตริย์เสียเอง อันปรากฏชัด จากการโปรดเกล้าฯ ให้แยกเงินของแผ่นดินกับทรัพย์สินของพระคลังข้างที่ออกเสียจากกันและโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินทุกปี เพื่อให้สื่อมวลชนสามารถวิจารณ์ให้ข้อคิดเห็นได้อย่างเสรี ซึ่งก็ปรากฏว่า หนังสือพิมพ์สยามฟรีเพรสในบางกอก ก็ได้กระทําการเช่นว่านั้น

แม้ว่าเราได้กล่าวไปบ้างแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าจะกล่าวเพิ่มเติมสักเล็กน้อยถึงภารกิจอันเหนื่อยยากของเมซิเออร์ รอลัง จากเกอแมงค์ และบรรดาผู้ ช่วยชาวเบลเยียมในขณะนั้นอันประกอบด้วย เอ็ม เซ ชเลสแชร์ อาโดชเซ ซีมอง อา อองโว ซี จอดตรองท์ เดอ บุชแชร์ โบดูร์ และโรงลิ่ง [3] ภารกิจของบรรดาคนเหล่านี้ได้แก่ การทําให้ชาวสยามซึ่งกําลังถูกคุมคามได้ตระหนักถึงความสําคัญของคุณค่าในการธำรงอยู่อย่างเป็นเอกราช

การติดอาวุธด้านความรู้ทางกฎหมายยุโรปเพื่อให้ชนชาวสยามสามารถใช้เป็นเหตุผลในการขัดขวางการรุกรานจากตะวันตกโดยอาศัยหลักนิติศาสตร์แบบตะวันตก การช่วยจัดกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ชาวสยามสามารถจะเรียกร้องความไม่ชอบธรรมเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้ในอนาคต การช่วยดําเนินการจัดระเบียบการบริหารเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างมีแบบแผน

ทั้งหลายทั้งปวงที่ข้าพเจ้ากล่าวมานี้เป็นการฟูมฟักให้ประเทศเล็กๆ อันเป็นประดุจทารกได้เติบใหญ่เป็นรัฐที่มั่นคงในภายหน้า โดยตระหนักถึงสิทธิต่างๆ ของตน รวมทั้งมีความสามารถในการปกป้องสิทธินั้นๆ ด้วยข้าพเจ้าเห็นว่าภารกิจเหล่านี้นับเป็นสิ่งอันสมควรแก่การยกย่อง ทั้งบรรดาที่ปรึกษาเหล่านี้ล้วนมีความกล้าหาญและอดทนในการมาอยู่เสียในดินแดนอันห่างไกลบ้านเกิดเมืองนอน นอกจากนี้ยังต้องเสี่ยงต่อสภาวะอากาศอันร้อนระอุและไม่เอื้ออํานวยต่อสุขภาพเช่นในสยาม

ก่อนที่ข้าพเจ้าจะเดินทางออกจากประเทศสยาม 2-3 วัน ขณะที่เรากําลังเดินเล่นอยู่บริเวณระเบียงบ้าน เมซิเออร์ รอลัง เปิดเผยว่า การที่ได้เชื้อเชิญให้ข้าพเจ้าเดินทางมาเที่ยวประเทศสยามก็ด้วยความหวังว่าข้าพเจ้าจะเกิดความสนใจที่จะ สานต่องานอันท้าทายนี้ โดยรับตําแหน่งหัวหน้าคณะที่ปรึกษา ต่อจากเมซิเออร์ รอลัง ซึ่งในเวลานั้นรู้สึกเหน็ดเหนื่อย ประกอบกับสุขภาพที่ทรุดลงจึงมีความประสงค์ที่จะมอบตําแหน่งแก่คน รุ่นใหม่เช่นข้าพเจ้า

ข้าพเจ้ากล่าวตอบว่า ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูง หากไม่อาจรับข้อเสนอนี้ได้ เนื่องจากข้าพเจ้าได้ตั้งใจไว้ว่าข้าพเจ้าจะกลับไปดําเนินงานด้านการศึกษาของประเทศเรา ซึ่งในทรรศนะของข้าพเจ้าเห็นว่าจะก่อประโยชน์แก่ประเทศของข้าพเจ้ามากกว่าการสร้างความเจริญรุดหน้าและการปลดแอกประเทศสยาม ทั้งนี้เนื่องจากชาวเบลเยียมเองยังคงต้องการเจริญรุดหน้าและการปลดตัวเองจากแอกแห่งความเขลาอันเป็นอุปสรรคขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของประเทศเช่นกัน

การเดินทางของข้าพเจ้าในสยามก็เป็นอันยุติลง ด้วยประการฉะนี้เหลือไว้เพียงความทรงจําอันประทับใจ ถึงการที่บุคคลสําคัญผู้หนึ่งได้มอบความไว้วางใจอันใหญ่หลวงแก่ข้าพเจ้า และเป็นผู้ที่ทําให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเยือนดินแดนอันน่ารู้น่าสนใจด้วยความสะดวก สบายอันดีเยี่ยม

[1] เมื่อข้าพเจ้าเดินทางกลับแล้ว แม้ว่าสนธิสัญญาที่กระทําขึ้นในปี พ.ศ.2445 จะทําให้สถานการณ์ยุ่งยากทั้งปวงยุติลงก็ตาม หากสยามต้องเสียดินแดนครั้งใหม่อันได้แก่ การสูญเสียจังหวัดหนึ่งบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงระหว่างจําปาศักดิ์และนครวัด นอกจากนี้ยังสูญเสียดินแดนส่วนหนึ่งของหลวงพระบาง ซึ่งเดิมเป็นเขตแดนระหว่างชาวเมืองสยามฝ่ายเหนือและลาว

[2] ในหนังสือเรื่อง “Croquis Siamois” ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงทรรศนะ ของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งไม่ทรงเชื่อเรื่องนี้เช่นกัน และทรงประทานความเห็นว่าความงมงายเป็นสิ่งซึ่งแสดง ถึงความด้อยปัญญา

[3] ขณะที่ข้าพเจ้าอยู่ในบางกอก เมซิเออร์ เคิร์กแพททริก ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ส่วนเมซิเออร์ โอร์ต และการ์ติเอร์ ในขณะนั้นได้เดินทางกลับไป ยังเบลเยียมแล้ว


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ :  4 กันยายน 2562