เผยแพร่ |
---|
สงครามแองโกล-ซูลู เมื่อ ค.ศ. 1879 มีชนวนเหตุมาจากปัจจัยหลายประการ หนึ่งในนั้นคือความต้องการแรงงานชาวซูลูไปใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองเพชร และความต้องการจัดตั้งสหพันธรัฐแอฟริกาใต้ของจักรวรรดิอังกฤษ
ความตึงเครียดระหว่าง 2 ฝ่ายเริ่มมีมานานหลายปีก่อนหน้าจะเกิดสงคราม กระทั่ง ค.ศ. 1878 กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรซูลูพระนามว่า Cetshwayo ได้เริ่มระดมพลทหารเพิ่มจาก 40,000 นายเป็น 60,000 นาย ทำให้ฝ่ายจักรวรรดิอังกฤษไม่พอใจมาก ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1878 Sir Bartle Frere ข้าหลวงใหญ่ประจำแอฟริกาใต้จึงยื่นคำขาดให้กษัตริย์ Cetshwayo ยุติการระดมผลและเลิกการจัดการระบบทหารภายใน 30 วัน

การเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายแทบไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ดังนั้นฝ่ายจักรวรรดิอังกฤษจึงส่ง Lord Chelmsford เป็นผู้นำทหารบุกราชอาณาจักรซูลู ทว่ากษัตริย์ Cetshwayo ดำเนินพระบรมราโชบายอย่างระมัดระวังโดยหลีกเลี่ยงการปะทะเพราะพระองค์เชื่อว่ายังอาจมีหนทางสำหรับการเจรจาสันติภาพ
Lord Chelmsford นำกำลังทหารมาจัดตั้งที่ Isandlwana ซึ่งเป็นเนินเขากว้างและมีหญ้าสูงรกชัฏ (ปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้) แต่ฝ่ายอังกฤษชะล่าใจไม่จัดเครื่องป้องกันค่ายเพราะคิดว่าฝ่ายซูลูไม่กล้าบุกค่ายของตน เมื่อ Lord Chelmsford นำกำลังทหารของเขาออกจากค่าย เหลือทหารไว้ในค่ายแค่ 1 ใน 3 ฝ่ายซูลูจึงได้โอกาสโจมตี เมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1879 ในยุทธการที่ Isandlwana กำลังทหารฝ่ายซูลูกว่า 20,000 นายสังหารทหารฝ่ายจักรวรรดิอังกฤษไปกว่า 1,300 คน ซึ่งเป็นกองกำลังชาวอังกฤษ 800 และ อีก 500 เป็นของชาวแอฟริกัน
เมื่อข่าวความพ่ายแพ้นี้ไปถึงรัฐบาลที่ลอนดอนทำให้เกิดการ “เสียหน้า” เป็นอย่างมาก นับเป็นความอับอายที่ใหญ่หลวงของจักรวรรดิอังกฤษในศตวรรษที่ 19 รัฐบาลอังกฤษตอบโต้อย่างรุนแรงโดยส่งกำลังทหารจำนวนมากพร้อมยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยมา “ล้างอาย” จนเอาชนะราชอาณาจักรซูลูได้อย่างเบ็ดเสร็จ การรบที่ Gingindlovu ในเดือนเมษายน ทหารซูลูเสียชีวิตไปกว่า 1,000 นาย และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันก็จับกุมกษัตริย์ Cetshwayo ได้ในที่สุด

Encyclopaedia Britannica. (2019). Anglo-Zulu War, from www.britannica.com/event/Anglo-Zulu-War.