10 คำถามร้อน ๆ ของคนอังกฤษต่อบรรพชนอังกฤษ กรณีจักรวรรดิอังกฤษ

กวางตุ้ง เมืองชายทะเล จีนเรือรบ อังกฤษ ถล่ม สงครามฝิ่นครั้งที่ 2
กวางตุ้งเมืองชายทะเลของจีนถูกเรือรบอังกฤษถล่ม ขณะเกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 2-ภาพจาก ILLUSTRATED TIMES, 21 March 1857 (ภาพจากไกรฤกษ์ นานา)

“อังกฤษจักรวรรดิที่ดวงอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” คำพูดที่ประกาศความยิ่งใหญ่ อังกฤษ ที่ไม่จำเป็นบรรยายเพิ่ม แต่วันหนึ่งความยิ่งใหญ่ที่ว่านั้นก็ถูกตั้งคำถามจากคนอังกฤษด้วยกันเอง ข้อมูลในเรื่องดังกล่าว ไกรฤกษ์ นานา ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์นอกตำรา สยามรัฐตามทรรศนะโลกตะวันตก” (สนพ.มติชน กุมภาพันธ์ 2560) สรุปพอสังเขปได้ว่า

History Magazine นิตยสารแนวประวัติชื่อดังของอังกฤษ ซึ่งเป็นกิจการในเครือ BBC เสนอบทความขึ้นปกด้วยการตั้งคำถามกับบรรพชนว่า The Big Questions of Britain’s Empire-คําถามใหญ่ของจักรวรรดินิยมอังกฤษ ในนิตยสาร History Magazine ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021

ด้วยการระดมมันสมองนักวิชาการกระแสหลักของอังกฤษสมัยปัจจุบันให้ช่วยสังเคราะห์ความสําเร็จ-ความล้มเหลวของรัฐบาลอังกฤษในยุค Victorian Heyday (ค.ศ. 1838-1901) อันเป็นยุคที่อังกฤษสามารถสร้างตัวจนผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าอาณานิคมครอบคลุมพื้นที่ต่างในโลก จนเป็นที่คำพูดที่ว่า “อังกฤษจักรวรรดิที่ดวงอาทิตย์ไม่เคยตกดิน”

นักวิชาการรุ่นใหม่มิได้เกิดในยุควิกตอเรีย มีอิสระทางความคิดอย่างเต็มที่ เปิดกว้างมากขึ้นที่จะวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย โดยไม่ใช้สถานภาพของความเป็นคนอังกฤษเป็นเกณฑ์ตัดสินดังเช่นคนในยุคก่อน  และสรุปเป็นประเด็นคำถาม 10 ข้อ ดังนี้

  1. ความทะเยอทะยานของราชสํานัก (อังกฤษ) ในอดีตส่งผลต่อชีวิตคนอังกฤษในปัจจุบันอย่างไร?
  2. จักรวรรดิอังกฤษโบราณใหญ่โตแค่ไหนกันแน่?
  3. จักรวรรดิอังกฤษเป็นของอังกฤษจริงหรือ?
  4. พ่อค้าอังกฤษยุคแรกๆ มีความสําคัญต่อจักรวรรดิขนาดไหน
  5. สงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา ส่งผลอย่างไรต่อฐานะของจักรวรรดิอังกฤษ?
  6. อินเดียมีค่าอย่างไรต่ออังกฤษ?
  7. “ฝิ่น” ช่วยให้อังกฤษคุ้มทุนจริงหรือ?
  8. อังกฤษร่ำรวยขึ้นในขณะที่จักรวรรดิจนลงจริงหรือ?
  9. คนในอาณานิคมมองตนเองอย่างไรในฐานะพลเมืองอังกฤษ?
  10. การสิ้นสุดยุคอาณานิคมกระทบฐานะของอังกฤษอย่างไร?

รายละเอียดของคําถามหนึ่งข้างต้น ในข้อที่ 7 “’ฝิ่น’ ช่วยให้อังกฤษคุ้มทุนจริงหรือ?” ดอกเตอร์จูเลีย โลเวลล์ (Dr. Julia Lovell) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยลอนดอน เขียนอธิบายรายละเอียดไว้บทความเรื่อง “Did Opium bankroll the British Empire?” ใน History Magazine ว่า [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำ โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

“การค้าฝิ่นเป็นความล้มเหลวที่ถูกลืมของจักรวรรดิอังกฤษ เรายังจดจําความผิดพลาดที่น่าอายจากอดีตอย่างการค้าทาสและการเหยียดสีผิวเป็นวาระแห่งชาติที่อังกฤษเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แต่การค้าฝิ่นและสงครามฝิ่นระหว่างอังกฤษกับจีนในช่วงทศวรรษ 1840 และ 1850 ที่จริงเป็นการเปิดหน้ากากให้เห็นความเห็นแก่ตัวของคนอังกฤษมากกว่าความผิดใดๆ ที่กระทําต่อชาวต่างชาติสําหรับคนในยุคปัจจุบัน

ฝิ่นเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของอาณานิคมในเครือจักรภพโดยตรง เพราะมันปลูกในอินเดียภายใต้การบริหารของชาวอังกฤษ เพื่อขายให้กับชาวเอเชียตะวันออก พ่อค้าอังกฤษใช้เงินที่ขายฝิ่นได้ไปซื้อใบชา ให้ชาวอังกฤษดื่ม ขนาดที่สามารถทําให้การดื่มชากลายเป็นวัฒนธรรมประจําชาติของอังกฤษเลยทีเดียว

นอกจากนี้รัฐบาลอังกฤษยังกินหัวคิวเก็บภาษีอากรใบชาไปอุดหนุนระบบราชการอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการดูแลอาณานิคมอันได้แก่กระทรวงราชนาวี ดังนั้น การค้าฝิ่นจึงจําเป็นและดําเนินอยู่ได้ในยุควิกตอเรีย (Victorian Heyday) และพ่อค้าฝิ่นในตลาดมืดก็ลอยนวลอยู่ได้โดยไม่ผิดกฎหมายอังกฤษ

กระทรวงอาณานิคมของอังกฤษในลอนดอนมีงบประมาณลับ ซึ่งได้รับการอุดหนุนจากการค้าฝิ่นและการที่คนอังกฤษผูกขาดการขายฝิ่นอย่างเอิกเกริก เนื่องจากเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แม้นว่าจะขัดความรู้สึกของคนอังกฤษภายในประเทศก็ตาม

ตัวอย่างเช่นในช่วงทศวรรษ 1850 รายได้จากภาษีฝิ่นอย่างเดียวมีค่าเท่ากับ 20% ของรายได้เข้างบประมาณแผ่นดินของอังกฤษ ไม่นับรายได้อื่นๆ จากอินเดีย ซึ่งทําให้อังกฤษร่ำรวยขึ้นอย่างมหาศาล จากโครงสร้างอาณานิคมและจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 2 เท่า ถ้าสามารถทําให้คนเอเชียติดฝิ่นมากขึ้น

ธุรกิจการค้าฝิ่นในจีนเพียงอย่างเดียวก็ทําให้เศรษฐกิจของอังกฤษเพื่องฟูโดยไม่จําเป็นต้องยึดครองจีนมาเป็นอาณานิคมอย่างอินเดีย แต่ใช้อินเดียเป็นฐานในการต่อยอดกําไรให้อังกฤษก็เหลือเฟือแล้ว

ระหว่างปี ค.ศ. 1800-1839 ยอดการขายฝิ่นของอังกฤษให้จีนพุ่งขึ้น 10 เท่าตัว โดยใน ค.ศ. 1800 พ่อค้าอังกฤษขายฝิ่นได้ 4,000 หีบ ให้ชาวจีน แต่ใน ค.ศ. 1839 ขายได้เป็น 40,000 หีบ จีนจึงเป็นลูกค้ารายใหญ่ของอังกฤษไม่นับการขายฝิ่นปลีกย่อยให้ชาวเอเชียชาติอื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม อังกฤษก็รับไปเต็มๆ

และเมื่อรัฐบาลจีนเริ่มเห็นพิษภัยจากฝิ่นที่กําลังกัดกินสังคมจีน จึงหันมาปฏิเสธการซื้อฝิ่นจากพ่อค้าอังกฤษ และกวาดล้างสินค้าอัปรีย์ของอังกฤษอย่างจริงจัง โดยนําฝิ่นมาเผาทิ้งเพื่อทําลาย รัฐบาลอังกฤษจึงตอบโต้รัฐบาลจีนด้วยการเปิดศึกครั้งใหญ่กับจีนถึง 2 ครั้ง ในช่วง ค.ศ. 1839-1842 และ ค.ศ. 1856-1860 เรียกสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 โดยอังกฤษตั้งความหวังจะทําให้ฝิ่นเป็นสินค้าถูกกฎหมาย และค้าขายกันได้อย่างเสรีในจีน (และเอเชีย)

นักวิเคราะห์ประวัติศาสตร์กล่าวว่านโยบายต่างประเทศของอังกฤษในสมัยนั้นเป็น “ยุคมืด” ที่คนอังกฤษสร้างขึ้นด้วยการสมรู้ร่วมคิดของนักการเมืองและนายทุนที่สร้างความฉาวโฉ่ให้กับคนอังกฤษ มากกว่าการกดขี่ข่มเหงมนุษยชาติด้านอื่น เช่น การค้าทาสและการเหยียดสีผิว ซึ่งอังกฤษไม่เคยยอมรับผิดแม้จนทุกวันนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยุโรปในยุคสมัยต่อๆ มา ล้วนแปดเปื้อนและมีมลทินมาจากความเห็นแก่ตัวและการทําสนธิสัญญาที่ทําให้อังกฤษได้เปรียบในเชิงการค้า และตักตวงผลกำไรจากความอ่อนแอและเสียเปรียบของชาวเอเชียทั้งสิ้น”

นี่คือคำถามของคนรุ่นหลังถึงคนอังกฤษในอดีตที่ผ่าน ต่อความสําเร็จอันยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิอังกฤษ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤษภาคม 2564