12 ม.ค. 2550 สิ้น “ครูเลื่อน สุนทรวาทิน” ศิลปิน 4 แผ่นดินที่ไม่ได้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ”

ครูเลื่อน สุนทรวาทิน

“ครูเลื่อน สุนทรวาทิน” ศิลปิน 4 แผ่นดินที่มากความสามารถ “ผู้ไม่มีวาสนาเป็นศิลปินแห่งชาติ”

เมื่อเที่ยงวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2550 ครูเลื่อน สุนทรวาทิน ครูดนตรีไทยผู้ใหญ่แห่งสยามได้ล่วงลับไปอย่างเงียบๆ ด้วยวัย 97 ปี 9 เดือน ครูเป็นศิลปินดนตรีไทย 4 แผ่นดิน ตั้งแต่รัชกาลที่ 6-9 แต่ครูเกิดปลายรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2452

ครูเลื่อนเกิดในตระกูลดนตรีไทยที่ยิ่งใหญ่มากตระกูลหนึ่งของสยาม ปู่ทวดชื่อครูทั่ง เป็นคนรุ่นน้องสุนทรภู่ แต่งเพลงโหมโรงมหาชัยอันเป็นมงคลยิ่งไว้ ปู่คือครูช้อย (พ.ศ. 2378-ราว 2445) นั้นเป็นอัจฉริยบุคคลทางดนตรีไทย ตาบอดตั้งแต่ 3 ขวบ แต่เป็นเลิศด้วยฝีมือและวิชา แต่งเพลงอมตะไว้หลายเพลง เช่น เขมรปี่แก้ว 3 ชั้น แขกลพบุรี 3 ชั้น แขกโอด 3 ชั้น ใบ้คลั่ง 3 ชั้น เขมรโพธิสัตว์ เถา โหมโรงครอบจักรวาล

ครูช้อยยังมีความสามารถพิเศษอื่นอีก เช่น เลี้ยงนกฮูกไว้ตามลูกศิษย์ให้มาพบ ดีดเม็ดมะขามเตือนศิษย์ที่บรรเลงเพลงผิดพลาดได้อย่างแม่นยำราวกับจอมยุทธ์ซัดอาวุธลับ ความยิ่งใหญ่ในโลกดนตรีของครูช้อยสูงสุดยอด ทั้งมีศิษย์เป็นยอดฝีมือในยุทธจักรดนตรีไทยมากมาย

ถ้าครูมีแขก (พระประดิษฐไพเราะ) เพื่อนรุ่นน้องร่วมราชสำนักสุนทรภู่เป็นปรมาจารย์ตั๊กม้อแห่งเส้าหลิน ครูช้อยก็เทียบได้กับเตียซำฮง (จางซันเฟิง) แห่งบู๊ตึ้ง สำนักวัดกัลยาณมิตตราวาศของตระกูลพาทยโกศลก็เทียบได้กับสำนักง่อไบ๊ เรื่องของสำนักและครูดนตรีเหล่านี้สนุกไม่น้อย หากโอกาสอำนวยค่อยเขียนเล่าสู่กันฟังต่อไป

บิดาครูเลื่อนคือพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม พ.ศ. 2409-92) เป็นยอดฝีมือดนตรีไทยที่ผู้แต่งภาพยนตร์เรื่องโหมโรงเอาไปสร้างเป็นตัว “ขุนอินทร์” ท่านเป็นนักดนตรีแก้วคู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีฝีมือรอบตัวทุกเครื่องมือ เหนือเจ้าศรตัวจริงในเรื่องโหมโรง ฝีมือระนาดของท่านได้รับยกย่องว่าเป็นสุดยอดของ “ระนาดเจิดจ้าสง่างาม” ส่วน “ขุนเทียน” ในเรื่องโหมโรงหรือพระยาประสานดุริยศัพท์ (พ.ศ. 2403-67) เป็นยอดของ “ระนาดอ่อนหวานคมคาย” และ “เจ้าศร-หลวงประดิษฐไพเราะ” (พ.ศ. 2424-97) เป็นยอดของ “ระนาดวิจิตร พลิ้วไหว” เป็น 3 สุดยอดของระนาดแห่งสยาม

พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม) พ่อและครูดนตรีของครูเลื่อน

พระยาเสนาะดุริยางค์ยังเป็นเลิศเรื่องปี่และขับร้อง ลีลาปี่และขับร้องเพลงไทยเดิมตลอดจนทำนองเสภาที่แพร่หลายอยู่ทุกวันนี้เป็นผลงานของพระยาเสนาะดุริยางค์ “ขุนอินทร์ตัวจริง” ทั้งสิ้น

วงศ์ตระกูลของพระยาเสนาะดุริยางค์ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “สุนทรวาทิน” อ่านว่า สุน-ทะ-ระ-วา-ทิน แปลว่า “นักดนตรีผู้มีความไพเราะงดงาม” มาจากชื่อครูช้อยผู้เป็นบิดาพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม) คำว่า “ช้อย” แปลว่า “งดงาม” และชื่อ “แช่ม” ของผู้ขอพระราชทานนามสกุลก็แปลว่า “งดงาม”เมื่อซ้อนกับคำว่า “ช้อย” เป็น “แช่มช้อย” จะเห็นความหมายได้ชัดเจน ราชทินนาม “เสนาะดุริยางค์” ก็หมายถึง “ดนตรีอันไพเราะ” จึงทรงเอาความหมาย “งาม” ของคำว่า “แช่ม” กับ “ช้อย” รวมกับความหมายของคำ “เสนาะ” ออกมาเป็นคำ “สุนทร” อันหมายถึง “ดี งาม ไพเราะ” ส่วนคำ “วาทิน” ในที่นี้แปลว่า “นักดนตรี” “สุนทรวาทิน” ก็คือ “นักดนตรีผู้ดีงามไพเราะ” มีความ “เสนาะ” โดดเด่นเป็นเอก

ที่มาของชื่อและชีวิตวัยเด็ก

ชื่อ “เลื่อน” ของครูได้รับประทานจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งนิยมเรียกกันว่า “สมเด็จวังบูรพา” ครูเล่าว่า วันหนึ่งพ่อฉันเข้าเฝ้าสมเด็จวังบูรพา ท่านรับสั่งถามว่า ‘แช่ม เมียออกลูกแล้วยัง’ ‘ออกแล้วพะย่ะค่ะ ผู้หญิง ชื่อเรียม’ ‘ไม่เอาให้ชื่อเลื่อนดีกว่า จะได้ร้องเพลงเพราะ อีกอย่างหนึ่งเอ็งก็ได้เลื่อนจากขุนเป็นหลวง สัญญาบัตรจะออกไม่กี่วันนี้’ ”

ครูเลื่อนเล่าแล้วหัวเราะบอกว่า “ชื่อฉันนี่มัน Double meaning นะ” แล้วครูเล่าต่อว่า “ฉันโตขึ้นมาก็ไม่เข้าใจว่าทำไมชื่อเลื่อนจะร้องเพลงเพราะ จนทีหลังจึงรู้ว่าเป็นภาษาสมัยสุโขทัย มีอยู่ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า ‘ใครจักมักเลื่อนเลื่อน ใครจักมักขับขับ’ เลื่อนก็คือ ‘ร้องเพลง, อ่านทำนองเสนาะ’ นั่นเอง”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้ประทานนามให้ว่า “เลื่อน”

วงศ์ตระกูลข้างมารดาและการศึกษาวิชาสามัญ

วงศ์ตระกูลข้างมารดาครูเลื่อนเป็นมอญอพยพมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ได้รับพระราชทานที่ให้อยู่ที่บ้านมอญ บางไส้ไก่ ย่านสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จ บ้านตาครูเลื่อนอยู่ตรงสระน้ำราชภัฏบ้านสมเด็จปัจจุบัน ครูเลื่อนเกิดและโตที่บ้านนี้ มารดาชื่อคุณหญิงเรือน เป็นลูกมอญ 100% ครูเลื่อนจึงพูดมอญเก่ง และร้องเพลงไทยสำเนียงมอญเพราะที่สุด ครูมีพี่สาวชื่อเลียบ บุณยรัตพันธุ์ เป็นพยาบาลรุ่นต้นๆ ของโรงพยาบาลศิริราช ขณะนี้อายุ 102 ปี น้องชายชื่อเชื้อ (ถึงแก่กรรม) และน้องสาวชื่อ อาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน ศิลปินแห่งชาติ

ครูเลื่อนเรียนหนังสือที่โรงเรียนศึกษานารี ซึ่งอยู่ข้างบ้านจนจบมัธยมปีที่ 6 สมัยนั้นซึ่งเท่ากับ ม.4 ในปัจจุบัน เดิมโรงเรียนศึกษานารีอยู่ตรงสถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จ ต่อมาแลกที่กับโรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จ และโรงเรียนฝึกหัดครูขยายบริเวณ คุณหญิงเรือนเลยยกที่บ้านให้หลวงไป แล้วย้ายมาอยู่ข้างวัดมอญ (ประดิษฐาราม) ต่อมาจนปัจจุบัน

พอเรียนจบ ม.6 แล้วครูเลื่อนไปขอเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมที่โรงเรียนซางตาครู้สซึ่งอยู่ใกล้บ้าน โดยช่วยสอนภาษาไทยช่วงเช้า บ่ายจึงเรียนภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน จึงมีความรู้ภาษาอังกฤษใช้การได้

เรียนดนตรีและเริ่มชีวิตนักดนตรี

เมื่อพระยาเสนาะดุริยางค์สมรสมาอยู่กินกับคุณหญิงเรือนที่บ้านมอญนั้น บ้านของท่านเป็นศูนย์กลางใหญ่ของดนตรีไทย มีลูกศิษย์ทั้งในกรุงและต่างจังหวัดมากินอยู่ศึกษาเล่าเรียน เสียงดนตรีจากบ้านท่านดังเจื้อยแจ้วจับใจคนย่านนั้น จนผู้คนถึงกับเรียกชื่อสะพานข้ามคลองหน้าบ้านท่านว่า “สะพานเพลิดเพลินดนตรี” จากสภาพแวดล้อมในบ้าน ครูเลื่อนจึงได้ยินเสียงขับร้องเสียงดนตรีมาแต่เกิด

การเรียนขับร้อง ซอ ขลุ่ย และจะเข้นั้น พระยาเสนาะฯ สอนตามหลักสูตรที่ครูบาอาจารย์ถ่ายทอดไว้เป็นแบบแผน โดยเริ่มจากตับต้นเพลงฉิ่ง 3 ชั้นก่อน คือ เพลงต้นเพลงฉิ่ง จะเข้เดินยาว ตวงพระธาตุ และนกขมิ้น โดยฝึกอย่างพิถีพิถันให้ได้ความประณีตงดงามทุกวรรคทุกตอนของทุกเพลง จนแตกฉานชำนิชำนาญ ขับร้องหรือบรรเลงได้ไพเราะงดงามตามแบบแผน จากนั้นก็ต่อเดี่ยวนกขมิ้น ส่วนการขับร้องก็เรียนเพลงอื่นต่อไป คนที่เรียนตามหลักสูตรนี้อย่างถูกแบบแผนจะมีรากฐานดีกว่าคนที่ไม่ได้เรียน น่าเสียดายที่เดี๋ยวนี้คนมักจะเรียนลัด ข้ามขั้น ไม่เรียนตับต้นเพลงฉิ่งก่อน

การเรียนขับร้องนั้น ส่วนมากจะเรียนช่วงเย็น โดยพระยาเสนาะฯ จะฝึกให้ลูกสาว 3 คนพร้อมกัน เมื่อจบตับต้นเพลงฉิ่งแล้วก็สามารถร้องเพลงอื่นๆ ได้ดี บางเพลงก็ไม่ได้ต่อโดยตรงจากบิดา แต่ร้องได้แทบทุกเพลง เพราะจำจากที่ท่านสอนศิษย์คนอื่นๆ เมื่อร้องได้แล้วท่านจะชี้แนะแก้ไขส่วนที่ยังบกพร่องให้ บางเพลงที่สำคัญและต้องร้องออกงาน ท่านก็ต่อให้ด้วยตนเอง

ครูเลื่อนได้เพลงจากสิ่งแวดล้อมทางบ้านมาก เช่น เมื่อครูยังเด็ก พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎฯ (ย่าทวดของ ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล) ส่งครูท้วม ประสิทธิกุล มาต่อเพลงในพระราชนิพนธ์เงาะป่าและเพลงอื่นๆ ที่บ้าน ครูเลื่อนก็พลอยได้เพลงเหล่านี้ไปด้วย

ด้วยการเรียนจากสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานแล้วบิดาฝึกสอนให้ด้วยตนเองอีกครั้งเช่นนี้ ทำให้ครูเลื่อนมีความรู้ด้านคีตศิลป์ (ขับร้อง) และดุริยางคศิลป์ (บรรเลง) ทั้งกว้างทั้งลึก คือได้เพลงมาก แม่นยำชำนิชำนาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขับร้อง ขลุ่ย จะเข้ และซออู้ ซอด้วงครูถนัดน้อยกว่าเครื่องชิ้นอื่น แต่ก็สีได้ดี

พอครูเลื่อนอายุราว 10 ปี เจ้าจอมมารดาโหมด ชนนีของกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ตั้งวงมโหรีส่วนตัวขึ้น เชิญพระยาเสนาะดุริยางค์ไปสอนและยังขาดนักดนตรี จึงเอาครูเลื่อนไปร่วมวง ทำหน้าที่สีซออู้ เป็นการเริ่มชีวิตนักดนตรีครั้งแรก

เจ้าจอมมารดาโหมด (ชนนีของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) เจ้าของวงมโหรี ที่ครูเลื่อนเริ่มชีวิตนักดนตรีเป็นครั้งแรก (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 ครูเลื่อนอายุ 15 ปี พระยาเสนาะดุริยางค์พาท่านไปถวายตัวเป็นนักร้องนักดนตรี

วงมโหรีหลวงในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการศึกษาเพิ่มเติมโดยฝึกฝนปฏิบัติไปด้วยในตัว ส่วนมากเป็นช่วงกลางคืน บางคืนก็ต้องนอนค้างในวังดังที่ครูเล่าว่า “กลางคืนเข้าวัง  กลางวันเรียนหนังสือ” ชีวิตในวังทำให้ความรู้และประสบการณ์ด้านดนตรีท่านแตกฉานยิ่งขึ้น ในรัชกาลนี้ครูได้เดี่ยวขลุ่ยถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เหตุที่ครูเลื่อนไม่ได้เป็นคนร้องในวงหลวงมาแต่แรก เพราะสมัยนั้นนิยมคนร้องที่เสียงสูงแหลม ครูเลื่อนเสียงใสจ้ากังวานแต่ไม่แหลม ประกอบกับคนขลุ่ยผู้หญิงหายากและครูเลื่อนเป่าได้ดีอยู่แล้วจึงเหมาะกว่าการเป็นคนร้อง

อนึ่งคนขลุ่ยมักถูกล้อเลียนไปทางหยาบคายถึงขนาดนายก้อนดินนักดนตรีกรมปี่พาทย์หลวงจะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ “ขุนคลอขลุ่ยคล่อง” ถึงกับขอย้ายสังกัดไปอยู่กองวิเสท (อาหาร) ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงวิเศษสุธารสเพราะมีฝีมือชงกาแฟดี

ชีวิตการงาน

ชีวิตการงานทั้งในฐานะศิลปินและครูของครูเลื่อนเริ่มขึ้นอย่างจริงจังตั้งแต่รัชกาลที่ 7 เป็นต้นมา ในฐานะศิลปินเป็นพนักงานมโหรีข้าหลวง พนักงานมโหรีชุดนี้ได้เป็นครูผู้ใหญ่ในวงการดนตรีไทยสืบมาหลายท่าน เช่น คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง นางมหาเทพกษัตริย์สมุห์ (บรรเลง ศิลปบรรเลง) ครูท้วม ประสิทธิกุล อาจารย์เจริญใจ สุนทรวาทิน ครูเลื่อนทำหน้าที่คนขลุ่ย เคยเดี่ยวขลุ่ยถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี บางครั้งก็ทำหน้าที่ร้องหรือขับเสภา เคยขับเสภาร่วมกับพระยาเสนาะฯ บิดาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บางครั้งก็ได้บรรเลงร่วมวงโดยพระเจ้าอยู่หัวทรงซออู้ สมเด็จพระบรมราชินีทรงซอด้วง ครูเลื่อนเป่าขลุ่ย ครูทำหน้าที่มโหรีหลวงด้วยดีตลอดมา จนได้รับพระราชทานเสมาทองคำ ร.พ. จากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

ต่อมาได้มีการริเริ่มวงปี่พาทย์ของฝ่ายในขึ้น ครูเลื่อนได้รับหน้าที่คนปี่ โดยที่พระยาเสนาะดุริยางค์บิดาของท่านเป็นเอตทัคคะทางปี่ ครูเลื่อนจึงรู้เสียงรู้นิ้วปี่ดีอยู่แล้ว พอเริ่มหัดปี่ในก็ต่อเพลงเลยคือ เพลงเต่ากินผักบุ้งสำหรับบรรเลงรับพระและเพลงกราวสำหรับบรรเลงส่งพระ ส่วนปี่ชวา หัดจนเป่าบรรเลงร่วมวงเครื่องสายปี่ชวาได้ เช่น เพลงโหมโรงครอบจักรวาลและเพลงอื่นๆ อีกพอสมควร

ผู้หญิงที่เป่าปี่ได้ดีทั้งปี่ในและปี่ชวาเห็นจะมีท่านคนเดียว ท่านเป็นคนปี่หญิงของวังหลวงเพียงคนเดียว เพราะต่อมาสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ไม่ทรงเห็นด้วยที่ผู้หญิงเล่นปี่พาทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป่าปี่ ด้วยทรงเห็นว่า “ไม่งาม” วงปี่พาทย์หญิงจึงต้องล้มเลิกไป คงเหลือแต่วงมโหรี โดยครูเลื่อนทำหน้าที่หลักเป็นคนขลุ่ย

แต่ท่านก็มิได้ทิ้งการขับร้องอย่างเด็ดขาด ยังได้ร้องอยู่บ้าง แม้ในบางโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีทรงซอ ในคราวสมโภชช้างเผือกพระเศวตคชเดชน์ดิลก อันเป็นการพระราชพิธีครั้งสำคัญ ครูเลื่อนก็ได้เป็นผู้ขับร้องเพลงช้างประสานงาซึ่งมีบทร้องขึ้นต้นว่า อันสยามนิยมเศวตคช คู่พระยศ…”

ต่อมามีสถานีวิทยุกระจายเสียงเกิดขึ้น ครูเลื่อนก็ได้เป็นนักร้องออกวิทยุรุ่นแรกๆ ในฐานะนักร้องของวงดนตรีกรมมหรสพ ในยุคนี้เองพระยาเสนาะดุริยางค์ได้พัฒนาการร้องและศิลปะการขับร้องของวงดนตรีให้เหมาะกับเสียงต่ำของท่าน โดยที่บิดาของท่านเป็นผู้มีรสนิยมอันประณีต ประกอบกับอัจฉริยภาพทั้งทางด้านดุริยางคศิลป์และคีตศิลป์สูงส่งยิ่ง

ทางร้องและชั้นเชิงการร้องของครูเลื่อนจึงพัฒนาขึ้นถึงจุดสุดยอด จนกลายเป็นนักร้องชั้นนำมีชื่อเสียงโด่งดังยิ่งในยุคนั้นคนหนึ่ง เป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟังทั่วไป และนักดนตรีไทยผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น ครูเทวประสิทธิ์ พาทยโกศล ชอบเพลง “ขอมทรงเครื่อง” ของครูเลื่อนยิ่งนัก อาจารย์มนตรี ตราโมท ก็ชื่นชมศิลปะการร้องของครูเลื่อนถึงกับมาต่อเพลง “โสมส่องแสง” ที่ท่านแต่งขึ้นให้ด้วยตนเองที่บ้าน ขณะที่ครูเลื่อนยังอยู่ไฟ ท่านเป็นนักร้องหญิงคนแรกที่ร้องเพลงนี้ ส่วนนักร้องชายคือครูเชื้อ นักร้อง ปัจจุบันครูเลื่อนยังร้องเพลงโสมส่องแสงตามที่ต่อมาจากอาจารย์มนตรี ตราโมท โดยไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาแบบฉบับเดิม

การขับร้องเพลงไทยแต่เดิมมานั้น ทั้งครูผู้สอนและนักร้องยึดเสียงสูงเป็นหลัก ทางร้องที่ครูคิดขึ้นก็เหมาะกับคนเสียงสูงเท่านั้น คนเสียงต่ำร้องได้ยาก แต่พระยาเสนาะดุริยางค์ได้จับลักษณะเด่นของเสียงกลางและเสียงต่ำซึ่งสามารถทำให้ก้องกังวานมีพลังฟังดื่มด่ำไพเราะได้ จึงปรับปรุงทางร้องให้เหมาะกับคนเสียงกลางและเสียงต่ำด้วย และพัฒนาลีลาการร้อง มีการประคบคำ ประคบเสียงให้ลึกซึ้งนุ่มนวล สูงก็สูงอย่างเจิดจ้า ไม่ใช่แหลมจนบาดหู ต่ำก็ต่ำอย่างมีพลังก้องกังวาน และใช้เสียงกลางเป็นส่วนประกอบสำคัญ

ทำให้การร้องมีเฉดเสียงกว้างขึ้น สามารถทำเม็ดพรายได้มากขึ้น เปิดโอกาสให้คนร้องใช้ลักษณะเด่นในคุณภาพเสียงของตนสร้างความไพเราะอย่างเหมาะสม ไม่ฝืนตัวเอง ศิลปะการขับร้องเพลงไทยจึงพัฒนาก้าวหน้าไปมากที่สุดยิ่งกว่ายุคใดๆ โดยมีบุตรีทั้งสองของท่าน เป็นตัวแทนของนักร้องเสียงสูงและเสียงต่ำ คือ อาจารย์เจริญใจร้องเสียงสูงได้อย่างเจิดจ้า มีพลัง แฝงด้วยความอ่อนหวานคมคาย ส่วนครูเลื่อนเสียงต่ำก้องกังวาน มีพลังแฝงด้วยความเข้มแข็งคมคาย เป็นสุดยอดของนักร้องเสียงต่ำ มีผู้กล่าวว่าอาจารย์เจริญใจเหมาะกับร้องวงมโหรี ส่วนครูเลื่อนเหมาะกับวงปี่พาทย์ไม้แข็ง เพราะเสียงมีพลัง ดังก้องกังวานแต่ละเมียดละไมไพเราะล้ำ ตามแบบฉบับของศิลปะการร้องสำนัก “เสนาะดุริยางค์” อันเป็นสุดยอดของ “ทางร้อง” ในวงการดนตรีไทย

ในช่วงที่เป็นนักร้องโด่งดังมานี้เอง ครูเลื่อนได้ร้องอัดแผ่นเสียงไว้ไม่น้อย เท่าที่จำได้ มีร้องเรื่องพระอภัยมณีตอนศึกเก้าทัพในนามคณะสุนทรวาทิน ร่วมกับอาจารย์เจริญใจน้องสาว โดยที่พระเสนาะดุริยางค์บิดา คุมวงและเป่าปี่ ครูฉัตร สุนทรวาทิน (ลูกครูชื่น น้องพระยาเสนาะดุริยางค์) ตีระนาด ห้างรัตนมาลา (ยุคก่อนห้างสุธาดิลก) อัดแผ่นจำหน่าย ปัจจุบันยังมีตัวอย่างเพลงที่ครูเลื่อนขับร้องเหลืออยู่บ้างบางส่วน นอกจากนี้ได้ร่วมร้องกับคณะพาทยโกศลอีกบ้าง ทั้งเพลงตับ เพลงสามชั้น และเพลงประกอบรำ

พ.ศ. 2474 ครูเลื่อน สุนทรวาทิน ได้รับคัดเลือกเป็นนักร้องอัดแผ่นเสียงของราชบัณฑิตยสภา การอัดแผ่นเสียงครั้งนี้เป็นงานใหญ่ของประเทศชาติเกิดขึ้นด้วยการริเริ่มของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อรักษาเพลงสำคัญของชาติที่ขับร้องบรรเลงด้วยนักร้องนักดนตรีผู้มีฝีมือในยุคนั้น การได้รับคัดเลือกในครั้งนั้น เป็นประกาศนียบัตรอันยิ่งใหญ่ว่าการขับร้องของครูเลื่อน เป็นแบบฉบับมาตรฐาน ไพเราะถึงขั้นบันทึกเสียงไว้เป็นแบบอย่างได้ จัดเป็นนักร้องระดับชาติคนหนึ่ง แม้ว่าขณะนั้นครูเลื่อนเพิ่งมีอายุเพียง 21  ปีก็ตาม

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กรมมหรสพถูกยุบ ครูเลื่อนต้องพ้นจากหน้าที่ราชการออกมาเป็นศิลปินอิสระ สอนพิเศษที่สามัคยาจารย์สมาคม โรงเรียนสตรีโชติเวชและโรงเรียนเบญจมราชาลัย  จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงแล้ว ครูเลื่อน สุนทรวาทิน ได้ร่วมงานละครกับพระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคลซึ่งมีคณะละครส่วนพระองค์ บางครั้งก็เล่นปิดวิกให้คนทั่วไปได้เข้าชมด้วย ละครที่เล่นมีทั้งละครใน ละครดึกดำบรรพ์ ละครพันทาง งานละครที่นี่ครูเลื่อนได้ใช้ความรู้ที่สั่งสมมาอย่างเต็มที่

พระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรมงคล เจ้าของคณะละครส่วนพระองค์ที่ครูเลื่อนไปร่วมงาน (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

ในช่วงที่สอนละครและขับร้องอยู่นี้ ครูเลื่อนยังคงร้องเพลงมโหรีปี่พาทย์อยู่เสมอ ส่วนมากร้องกับวงของกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) และวง “ศิษย์เสนาะฯ” ซึ่งมีครูคงศักดิ์ คำศิริ ศิษย์ของพระยาเสนาะดุริยางค์เป็นหัวแรงสำคัญ นอกจากนี้ยังได้ออกร้องกับวงอื่นๆ และร้องเปิดบายศรีในพิธีทำขวัญนาคจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วทั้งในพระนครและต่างจังหวัด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกปี่พาทย์และหมอทำขวัญแบบจังหวัดสมุทรสงครามนิยมมาหา “ครูเลื่อน” ไปเป็นคนร้อง ถึงกับบางถิ่นที่รู้จักครูเลื่อนแต่ชื่อ ยังไม่เคยเห็นตัวจริง มีผู้เอาคนอื่นไปร้องแทนเพราะครูเลื่อนติดงานไปไม่ได้ แต่ก็แอบอ้างว่าคือ “ครูเลื่อน” จนกระทั่งครูเลื่อนตัวจริงได้ไปร้องในงานหลังความจึงแตก

พ.ศ. 2493 รัฐบาลไทยส่งทหารไปร่วมรบในเกาหลี กรมโฆษณาการได้อัดเสียงเพลงไทยส่งไปกล่อมขวัญทหารในสนามรบ ครูเลื่อนได้ร่วมร้องด้วยความตั้งใจอย่างยิ่ง เพราะลูกของท่านคนหนึ่งได้ไปรบในเกาหลีด้วย ท่านเล่าว่า “ไม่รู้ว่าลูกเป็นตายร้ายดีอย่างไร แต่ก็ขอร้องส่งเสียงไปให้ลูกรู้ว่าแม่ยังอยู่”

จากนั้นดนตรีและนาฏศิลป์ก็ค่อยๆ ซบเซาลงด้วยเหตุหลายประการ ศิลปินด้านนี้ต่างต้องหาอาชีพอื่นเสริมหรือไม่ก็เปลี่ยนอาชีพไปเรื่อย ชื่อของครูเลื่อนจึงค่อยๆ เลือนหายไป ตามสภาพการณ์ของยุคสมัยด้วย จนกระทั่ง พ.ศ. 2503 ครูเลื่อนจึงไปสอบเป็นครูประชาบาลที่จังหวัดสุโขทัย เริ่มรับราชการที่โรงเรียนศรีอินทราทิตย์ สอนอยู่ 5 ปี สุดท้ายไปสอนที่โรงเรียนหร่ำวิทยานุกูล จังหวัดปราจีนบุรี จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ. 2513

หลังจากนั้นครูกลับมาอยู่บ้านเลี้ยงหลานดูแลแม่ จนหลานโตแม่ล่วงลับ ครูจึงหวนกลับเข้าวงการใหม่ ทีแรกไปช่วยปรับวงและสอนขับร้องเพลง ให้กับวงวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จ จนชนะเลิศการประกวดใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2525 ทางวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเลยเชิญครูเป็นอาจารย์พิเศษสอนขับร้องและดนตรีไทยตลอดมาจนครูถึงแก่กรรม

อนึ่งงานของครูเลื่อนยังมีอีกมากมายขอนำมาเป็นตัวอย่างเพียงเท่านี้ก่อน

คุณวิเศษของครูเลื่อน

ถ้าเพียงเห็นหรือรู้จักอย่างฉาบฉวยมิได้ใกล้ชิดจะรู้สึกว่าครูเลื่อนเป็นคนขวางโลก ทำอะไรบางอย่างสวนกระแสคนทั่วไป แต่ถ้าได้คุ้นเคยแล้วจะเห็นความประเสริฐวิเศษของครูเลื่อนหลายอย่าง

ประการแรกครูเป็นคนใจกว้าง ใฝ่รู้ เช่นคราวหนึ่งครูซ้อมร้องเพลงพระอาทิตย์ชิงดวงคร่อม ทีแรกไม่มีคนกล้าบอก แต่พอมีคนบอกครูเอ็ดเอาว่า “ฉันน่ะแก่แล้ว ถ้าฉันทำอะไรไม่ถูกไม่ต้อง คร่อมบ้าง ขาดบ้าง เกินบ้าง เธอต้องบอกฉันสิ ปล่อยไปก็เสียกันหมด” ศิษย์ทุกคนจึงเรียนและทำงานกับครูด้วยความสบายใจ กล้าทักท้วง เพราะครูรับฟัง ครูศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา

หรือเมื่อครูแปลบทร้องเพลงตับมอญคละ (มอญกละ) ได้ไม่กระจ่าง พอได้รู้จักมหาช่วง โชติปาโล วัดอาวุธวิกสิตาราม ผู้เชี่ยวชาญภาษามอญ ครูก็ไถ่ถามและร่วมกันศึกษากับท่าน จนทำคำแปลให้สถาบันไทยคดีฯ ได้สมบูรณ์ ครูเคยสงสัยความหมายของคำ “สอดส่อง” ในบทร้องเพลงลาวคำหอมที่ว่า “เจาะหูสองข้าง หูใส่ต่างแต่ล้วนทอง สายสร้อยสอดส่อง เจ้ากรองแต่พวงมาลัยเอย” ฝากลูกศิษย์ไปถาม ดร. ประเสริฐ ณ นคร จนได้คำแปลมาว่า “สอดส่อง” ในที่นี้คือ “สดส่อง” คือดอกไม้สดมากจนราวกับมีแสงส่องออกมา และด้วยความใฝ่รู้นี้ครูจึงต่อร้องเพลง “ทยอยเดี่ยว” จาก อาจารย์บรรเลง ศิลปบรรเลง เอาเมื่ออายุ 90 ปี

ประการที่ 2 ครูเป็นเลิศในศิลปะการดนตรีไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขับร้อง ครูร้องเพราะมากมาตั้งแต่ยังสาว เสียงใสจ้า มีพลัง อายุมากแล้วแม้ความใสของเสียงจะหายไป แต่พลังเสียงยังดีมาก ชั้นเชิงยิ่งไพเราะมากขึ้น ครูร่วมงานร้องสำคัญมามากและบันทึกเสียงไว้ไม่น้อย ครูปรับเปลี่ยนทางร้องให้เหมาะกับบทร้องได้วิเศษสุด

นอกจากนี้คุณวิเศษอันเป็นเลิศของครูเลื่อนคือรอบรู้และเข้าใจวิถีชีวิตไทยอย่างลึกซึ้ง ครูทำอาหารไทยเก่งมาก ทั้งเข้าใจคุณค่าสาระสำคัญที่แฝงอยู่อย่างชัดเจน ครูบอกว่า อาหารงานแต่งมักทำยาก ต้องพิถีพิถัน และใช้คนหลายคนช่วยกัน เพราะชีวิตคู่ต้องพิถีพิถันระมัดระวังและอดทน จึงต้องทำอาหารที่ประณีต ขนมก็ไม่ใช้กะทิเพราะบูดง่าย ต้องใช้น้ำเชื่อมเอาเคล็ด “หวานชื่น” และ “เชื่อม” ชีวิตคู่ ทั้งเป็นการสอนคู่สมรสไปด้วยในตัวว่าต้อง “เชื่อม” ความรักและชีวิตครอบครัวไว้ให้มั่นคง ไม่ปล่อยให้ล่มสลายไปเพราะความขัดแย้งและอารมณ์ฝ่ายร้าย

แม้แต่ของว่างอย่างเมี่ยงคำ ครูก็อธิบายคุณค่าที่แฝงอยู่ว่าช่วยทำให้ปากหอมจากกลิ่นข่าป่นที่ใส่ในน้ำเมี่ยงและกลิ่นผิวมะนาว ตำรับเมี่ยงคำของครูก็วิเศษมาก ครูเห็นน้ำพริกลงเรือของบางคน ครูก็หัวเราะบอกว่า “น้ำพริกลงเรือเป็นอาหารจานด่วนของเจ้านายนะ ทำไมทำกันเสียวุ่นวาย กินก็ยาก”

เรื่องยาไทยครูก็เรียนจากตา ครูมีตำรายาดีๆ มาก แต่ครูย้ำนักย้ำหนาว่าต้องเรียนกับครูบาอาจารย์ให้มีความรู้พื้นฐานด้วย มิฉะนั้นอาจไม่เข้าใจฤทธิ์ของสมุนไพร ใช้ผิดชนิดหรือผิดพิกัดเป็นอันตรายได้ ครูบอกว่าตนเดี๋ยวนี้พอเห่อยาสมุนไพรก็เห็นเป็นยาวิเศษ “ใครว่าสมุนไพรไม่มีโทษ ท้องเดินอยู่แล้วไปกินยาดำ ดูซิว่าจะตายไหม” ครูยกตัวอย่าง

เรื่องวิถีชีวิตไทยนี้ครูแตกฉานจริงๆ ทำได้เหมาะกับกาลเทศะ ไม่ใช่ทำให้เป็นเรื่องยากไปเสียหมด เช่น ปอกมะม่วงถวายพระหรือรับแขกต้องสวย ปอกกินเองเอาความสะดวกเป็นหลัก ครูรักษาวิถีไทยได้สอดคล้องกับความจริง ใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่เพียงเพื่อ “อนุรักษ์” อย่างไร้สติปัญญา

คุณวิเศษที่น่าเคารพอีกประการหนึ่งของครูก็คือ ครูมีน้ำใจและมีมารยาทมาก ปกติวันพระครูจะรักษาอุโบสถศีล ถ้าคนมาขอต่อเพลง ครูก็จะบอกว่าครูไม่อยากเสียศีล แต่ถ้าเป็นกรณีเร่งด่วน จำเป็นจริงๆ ครูก็จะไป “ลาศีล ข้อ 7” กับพระพุทธรูปในโบสถ์ บอกว่า “ต้องขอลาศีลข้อนี้ ไปให้ความรู้เป็นวิทยาทานแก่เขา” ครูคิดถึง “คนอื่น” มากกว่า “ตัวเอง” กับคนคุ้นเคยในยามปกติครูจะพูดโผงผาง แต่ในโอกาสที่ต้องมีมารยาทครูกลับรักษามารยาทมาก ยิ่งกับผู้ใหญ่และเจ้านายแล้วครูวางตัวดีมาก

คราวหนึ่งครูร่วมโต๊ะเสวยกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมกับครูดนตรีไทยท่านอื่น สมเด็จพระเทพฯ รับสั่งถามครูขับร้องที่เป็นศิลปินแห่งชาติว่า คำมอญในบทร้องเพลงพระอาทิตย์ชิงดวงที่ว่า “เตะกกกะมงนาย นายกกกะมงยาน…” แปลว่าอะไร ท่านผู้นั้นทูลว่าไม่ทราบ พอเสด็จกลับแล้วมีคนถามครูเลื่อนว่าทราบความหมายไหม ครูตอบว่าทราบ เขาถามต่อว่า “แล้วเมื่อกี้ทำไมไม่ทูล” ครูตอบว่า “ไม่ได้มีรับสั่งถามฉันนี่ ฉันจะไปทูลเสนอเอาหน้า ข้ามหน้าคนอื่นได้อย่างไร”

ครูเป็นคนเปี่ยมปัญญา เข้าใจอะไรได้รวดเร็วและไม่ติดกระแสหรือหลงกระแส ครูเป็นหม้ายตั้งแต่อายุ 28 ต้องเลี้ยงลูกชาย 5 คน ครูจึงไม่เข้ารับราชการเสียตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะเงินเดือนข้าราชการสมัยนั้นน้อยมาก สวัสดิการก็ไม่มีเหมือนเดี๋ยวนี้ ครูต้องเป็นนักร้องนักดนตรีอาชีพ อาศัยที่มีฝีมือและชื่อเสียงจึงได้ค่าตัวสูง นอกจากนี้ครูก็สอนโรงเรียนราษฎร์ซึ่งเงินเดือนสูง เมื่อลูกๆ เป็นหลักเป็นฐานหมดแล้วครูจึงเข้ารับราชการเมื่ออายุย่างเข้า 51 ปี ครูเข้าใจสัจธรรมของชีวิตดีมาก ไม่ติดกับความทุกข์ ไม่ระเริงกับความสุข มีสติพิจารณาความจริงของชีวิตอยู่ตลอด

ที่น่าชมมากคือครูไม่หลงกระแสอะไรทั้งสิ้น เข้าใจตามความจริงด้วยปัญญาตลอด ครูเล่าว่าเมื่อช่วงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงหมั้นพระวรกัญญาปทาน สาวๆ ก็พากันนุ่งผ้ากรอมข้อเท้าตามพระคู่หมั้น แต่ครูนุ่งอย่างเดิมของครู ใครถามเหตุผลครูก็ไม่บอกเพราะเสียมารยาท แต่ครูบอกลูกศิษย์ว่า “ท่านขาลาย รูปร่างและผิวพรรณส่วนอื่นงามน่ารัก เสียอยู่ที่เดียว ฉันจะไปนุ่งตามท่านทำไมล่ะ ฉันขาไม่ลายนี่”

ครูได้อะไรดีๆ จากเจ้าคุณพ่อมาก เพราะเป็นลูกที่อยู่กับท่านมาตลอด ครูได้นำมาถ่ายทอดไว้แก่สังคมหมดในช่วงหลังนี้ เพลงสุดท้ายคือ “ปลาทอง 3 ชั้น” บทร้องพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาเสนาะดุริยางค์เอาทำนองเพลงโบราณมาใส่ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้พระยาเสนาะดุริยางค์ฝึกซ้อมทั้งวงปี่พาทย์และวงมโหรี หากพระประสูติกาลเป็นเจ้าฟ้าชายให้บรรเลงปี่พาทย์และร้องเพลงปลาทอง แต่ถ้าเป็นเจ้าฟ้าหญิงให้บรรเลงเพลงมโหรีโดยไม่ต้องร้องเพลง (เนื่องจากเนื้อร้องแต่งสำหรับเจ้าฟ้าชาย)

ครูพูดติดตลกว่า “เพลงนี้ไม่มีโอกาสได้ร้องเลยจนเจ้าของเพลง [คือสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา] พระชันษา 80 แล้ว เหลือฉันซึ่งร้องได้และร้องไหวอยู่คนเดียว” ครูจึงนำมาร้องในวันสมโภชพระประสูติกาลพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ และบันทึกเสียงนำขึ้นถวายตามพระราชประสงค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร(พระอิสริยศขณะนั้น) ตอนนั้นครูอายุย่างเข้า 97 ปีแล้ว

ครูสอนร้องดีมาก คนที่เสียงไม่ดี หรือร้องไม่ดี ถ้าเรียนกับครูจริงจังสักปีเดียวจะร้องดีกว่าเดิมเป็นคนละคนไปเลย เรียนร้องกับครูได้ความรู้เรื่องอื่นๆ ที่ครูเล่าให้ฟังอีกมากมาย ครูเป็นขุมคลังอันวิเศษของเรื่องในอดีตและวิถีชีวิตไทย ครูมีความทรงจำดีเป็นเลิศ เวลานั่งแท็กซี่กับลูกศิษย์ โชเฟอร์ก็จะฟังเพลินไปด้วย ผ่านตรงไหนครูต้องเล่าเรื่องของที่นั่น หรือคนที่นั่นในอดีตให้ฟัง จนเริ่มป่วยครั้งสุดท้ายแล้วครูก็ยังแก้ “ทางเพลง” และเม็ดพรายให้ลูกศิษย์ที่ไปเยี่ยมได้ดีอยู่

แต่ครูอาภัพมากในเรื่องชื่อเสียง

ครูเชื้อ ดนตรีรส ศิลปินแห่งชาติปี พ.ศ. 2543 เคยบ่นว่า “เขาให้ผม แต่ทำไมไม่ยอมให้ป้าเลื่อน ไม่รู้” ครูเคยได้รับการเสนอชื่อไปถึง 5 ครั้ง ครั้งที่ 4 ควรจะได้แต่ก็มีคนค้านเอาไปให้คนอื่น ครั้งสุดท้ายปี พ.ศ. 2550 นี้ ทราบจากวงในว่าครูเลื่อนได้แน่ เพราะชื่อมาอันดับ 1 ในสาขาศิลปะการแสดงทุกรอบแต่ครูก็มาล่วงลับไปเสียก่อนประกาศเพียง 2 สัปดาห์ ครูเลื่อนจึงเป็นได้แค่ “ผู้ไม่มีวาสนาเป็นศิลปินแห่งชาติ” แต่ความเชี่ยวชาญทางการขับร้อง ดนตรีไทยและวิถีชีวิตไทยของครูยิ่งใหญ่อยู่ในใจคนที่รู้จักครูอย่างแท้จริงตลอดเวลา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ศิษย์ครูเลื่อน. “ครูเลื่อน ศิลปิน 4 แผ่นดิน ผู้ดำรงวิถีชีวิตไทย”, ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มกราคม 2562