ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
13 กันยายน 1971 “หลิน เปียว” เสียชีวิต จีนอ้างตายขณะหนีหลังแผนฆ่า “เหมา” ล้มเหลว
หลิน เปียว อดีตผู้นำหมายเลข 2 ของ “จีนคอมมิวนิสต์” และบุคคลที่ถูกวางตัวเป็นทายาททางการเมืองของ เหมา เจ๋อตุง ได้เสียชีวิตลงในวันที่ 13 กันยายน 1971 (พ.ศ. 2514) อย่างเป็นปริศนา จากเหตุเครื่องบินตกในมองโกเลียพร้อมกับลูกและภรรยา
เรื่องเล่าอย่างเป็นทางการของฝ่ายจีนอ้างว่า ภายหลังหลิน เปียว วางแผนลอบสังหาร เหมา เจ๋อตุง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เขากับพวกและครอบครัวจึงพยายามหลบหนีไปยังโซเวียต แต่เครื่องบินเกิดเชื้อเพลิงหมดและตกลงในมองโกเลีย ทำให้เขาและผู้สมรู้ร่วมคิดทั้งหมดเสียชีวิต

แต่การเปิดเผยของสื่อจีนก็ยังเต็มไปด้วยข้อกังขาของสื่อตะวันตกที่มองว่า รายละเอียดของเหตุการณ์ดังกล่าวดูตกหล่นไปมาก
ในทศวรรษที่ 80 มีหนังสือฉบับหนึ่งเขียนด้วยนามปากกา ซึ่งผู้เผยแพร่อ้างว่าจำเป็นต้องปกปิดตัวตนของผู้เขียนเพื่อความปลอดภัย ได้กล่าวหาว่า เหมาเป็นคนสั่งฆ่าหลิน เปียว โดยวางแผนล่อให้หลินกับภรรยามากินอาหารเย็นในคฤหาสน์หรูแห่งหนึ่งทางตะวันตกของกรุงปักกิ่ง ก่อนลอบยิงด้วยจรวดใส่รถลิมูซีนของหลินและภรรยา ส่วนเครื่องบินที่ตกในมองโกเลียเป็นเครื่องที่ผู้สมรู้ร่วมคิดของหลินโดยสารมา ซึ่งเครื่องดังกล่าวไม่ได้ตกเพราะเชื้อเพลิงหมด แต่ตกเพราะถูกจีนยิงก่อนข้ามน่านฟ้า
หลังจากนั้นอีกราว 10 ปี โอเชีย ซานดุยจาร์ (Ochir Sanduijar) เจ้าหน้าที่ทูตระดับสูงของมองโกเลียได้ออกมาเปิดเผยกับ The Financial Times of London ว่า เครื่องบินจีนที่ตกลงในมองโกเลียในปี 1971 นั้น ไม่มีหลักฐานใดที่จะยืนยันได้ว่าหลิน เปียว เป็นหนึ่งในผู้โดยสารมาด้วย
ดามซานซาป นิมบายาร์ (Damsansap Nyambayar) เจ้าหน้าที่ทหารอากาศระดับสูงของมองโกเลีย ก็ออกมาอ้างว่า ขณะเกิดเหตุเครื่องบินตก หลิน เปียว อยู่ในประเทศจีน ไม่ได้เป็นหนึ่งในเหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตก
ถึงปัจจุบัน ความตายของหลิน เปียว ยังคงมีข้อสงสัยที่ถูกตั้งคำถามมากมาย แต่ทางจีนเองก็มิได้ให้ความสนใจที่จะแก้ความเข้าใจที่ไม่ต้องตรงกันให้กระจ่างชัดขึ้นมาแต่อย่างใด
- เหยื่อรายสำคัญของการปฏิวัติวัฒนธรรม ที่บดบังบารมีประธานเหมา-เจียงชิง
- เหมาเจ๋อตง กับการกวาดล้างบรรดาผู้เห็นต่าง ตามแบบหลิวปัง-โกวเจี้ยน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“Lin Biao”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online. Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 12 Sep. 2016<https://global.britannica.com/biography/Lin-Biao>.
“New Twists in the Legend of Mao’s Onetime Heir”. The New York Times. <http://www.nytimes.com/1990/04/19/world/new-twists-in-the-legend-of-mao-s-onetime-heir.html>
“New Book Says Mao Ordered Lin Biao Killed”. The New York Times. <http://www.nytimes.com/1983/05/01/world/new-book-says-mao-ordered-lin-biao-killed.html>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2559