6 กันยายน 1976 นักบินโซเวียต “แปรพักตร์” ขับ “มิก-25” เข้าญี่ปุ่นก่อนขอลี้ภัยไปสหรัฐฯ

เครื่องบินมิก-25
เครื่องบินแบบ มิก-25 ฟ็อกซ์แบต (MIG-25 Foxbat) ของสหภาพโซเวียต (ภาพโดย กองทัพอากาศสหรัฐฯ)

6 กันยายน 1976 นักบินโซเวียต “แปรพักตร์” ขับ “มิก-25” เข้าญี่ปุ่นก่อนขอลี้ภัยไปสหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 1976 (พ.ศ. 2519) วิคเตอร์ เบเลนโก (Viktor Belenko) นักบินโซเวียต ในกองทัพอากาศสหภาพโซเวียต คู่แข่งอิทธิพลในช่วงสงครามเย็นของสหรัฐฯ ได้ลอบขับ เครื่องบินมิก-25 (MIG-25) เครื่องบินที่ล้ำสมัยที่สุดของประเทศในยุคนั้นลงจอดบนเกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ก่อนขอลี้ภัยทางการเมืองไปยังสหรัฐฯ

เอกสารระบุอัตลักษณ์ของ วิคเตอร์ เบเลนโก อดีตนักบินสหภาพโซเวียต (ภาพจากพิพิธภัณฑ์สำนักข่าวกรองกลาง หรือ CIA)
เอกสารระบุอัตลักษณ์ของ วิคเตอร์ เบเลนโก อดีตนักบินสหภาพโซเวียต (ภาพจากพิพิธภัณฑ์สำนักข่าวกรองกลาง หรือ CIA)

รายงานของ The New York Times กล่าวว่า เจอรัลด์ ฟอร์ด (Gerald Ford) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นได้อนุมัติการลี้ภัยให้กับนักบินรายนี้ ภายในหนึ่งวัน ก่อนที่เบเลนโกจะเดินทางถึงสหรัฐฯ ในวันที่ 9 กันยายน ปีเดียวกัน

Advertisement

นับเป็นครั้งแรกที่โลกตะวันตกได้มีโอกาสสัมผัส และทำการศึกษาเครื่องบินรุ่นล่าสุดที่ได้ชื่อว่า ทันสมัยและเร็วที่สุดของกองทัพโซเวียต และการได้ตัวนักบินโซเวียตที่ล่วงรู้ความลับภายในของกองทัพแดงยิ่งทำให้สหรัฐฯ ได้ข้อมูลที่มีค่ายิ่ง ขณะที่โซเวียตก็ต้องรู้สึกเสียหน้าอย่างแรง เมื่อถูกแฉถึงสภาพอันเลวร้ายของการปกครองในระบอบเผด็จการจากปากของผู้แปรพักตร์

แต่เมื่อผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐฯ ได้ตรวจสอบเครื่องบินลำนี้ก็พบว่า นอกจากความเร็วและความสามารถในการบินในระดับที่สูงมากแล้ว สมรรถนะอื่นๆ ของเครื่องบินกลับไม่ดีนัก และระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่มีความสลับซับซ้อน ซึ่งแหล่งข่าวของ The New York Times กล่าวว่า เครื่องบินลำนี้ควรเรียกว่าเป็น “จรวดคนขับ” มากกว่า

เว็บไซต์ History ได้ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การที่สหรัฐฯ ประเมินความสามารถทางการทหารของโซเวียตสูงจนเกินจริงอาจเป็นไปเพื่อหาข้ออ้างในการเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม

นักบินโซเวียต เครื่องบินแบบ มิก-25 ฟ็อกซ์แบต
เครื่องบินแบบ มิก-25 ฟ็อกซ์แบต (MIG-25 Foxbat) ของสหภาพโซเวียต (ภาพโดย กองทัพอากาศสหรัฐฯ)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน 2561