20 ต.ค. 2501 จอมพลสฤษดิ์รัฐประหาร สู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก ยุทธศาสตร์ที่ไม่อาจสัมฤทธิ์ผล!?

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ยุทธศาสตร์พัฒนาชาติเป็นเหมือนสิ่งจำเป็นสำหรับทิศทางการนำประเทศไปสู่ความก้าวหน้าในอนาคต แต่ดูเหมือนว่านับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก พ.ศ. 2504-2509 ในยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีปัญหาในตัวเองแล้ว วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ กระทำการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ระบบการเมืองใหม่ที่จอมพลสฤษดิ์ พยายามสร้างเป็นสิ่งที่นักวิชาการไทยและต่างชาติวิเคราะห์กันว่าพยายามให้เป็นลักษณะ “ไทยๆ” มากขึ้น

การศึกษาของ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ นักวิชาการด้านการเมือง และอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกถ่ายทอดในหนังสือ “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” ผู้เขียนหนังสือมองว่า การปฏิวัติ พ.ศ. 2501 เป็น “ความเคลื่อนไหวที่จะนำประเทศกลับสู่แนวคิดแบบโบราณในด้านรากฐานของประเทศและรัฐบาล”

จากการศึกษาวิเคราะห์นโยบายและทิศทางพฤติกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ผู้เขียนหนังสือมองว่า ผู้นำทหารแสวงหาความชอบธรรมในหนทางที่จะนำระบบพ่อปกครองลูกสมัยสุโขทัยมาใช้ เห็นได้จากวาทะ สุนทรพจน์ และความเคลื่อนไหวในการลงพื้นที่ ไปจนถึงนโยบาย นัยยะของสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ มักพบการเทียบเคียงการปกครองของนายกรัฐมนตรีที่ดูแลประเทศ กับพ่อดูแลลูก

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ข้อความส่วนหนึ่งในสุนทรพจน์ ของจอมพลสฤษดิ์ มีใจความว่า “…นายกรัฐมนตรีคือพ่อบ้านของครอบครัวใหญ่ที่สุด มีความรับผิดชอบกว้างขวางที่สุด และต้องดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องร่วมชาติร่วมประเทศอย่างใกล้ชิดที่สุด”  

ทักษ์ มองว่า เมื่อการพัฒนาอยู่ภายใต้ฐานแนวคิดนี้ การพัฒนาจึงอยู่ในรูปแบบพยายามเพิ่มสมรรถภาพของรัฐบาลเพื่อให้สามารถทำหน้าที่การปกครองประชาชนได้เหมือนพ่อปกครองลูก จอมพลสฤษดิ์ ไม่ได้มองว่าตัวเองเองเป็นนักการเมืองตามความหมายของตะวันตก จอมพลสฤษดิ์ ที่อยู่ในระบบราชการแบบสายบังคับบัญชา การสั่งการ-ปฏิบัติตาม เป็นอีกส่วนที่ทำให้นักวิชาการมองว่าจอมพลสฤษดิ์เชื่อว่าระบบราชการและรัฐบาลสำคัญมากกว่ารัฐสภา

เมื่อระบบคิดเป็นเช่นนี้ การพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์ในการสร้างประเทศให้ทันสมัยจึงเป็นไปในรูปแบบเชิงอนุรักษนิยม ความปักใจในเรื่องความใสสะอาด ความเรียบร้อย ความเป็นอารยประเทศ และที่มีน้ำหนักคือลักษณะแบบพ่อบ้าน/พ่อเมือง

ขณะเดียวกันในช่วง 2501-2506 อิทธิพลจากอเมริกันเข้ามาเกี่ยวข้องกับแนวคิดการพัฒนาประเทศมากพอสมควร ถึงแม้การร่างแผนพัฒนาชาติระหว่าง 2502-2504 จะมีแนวคิดดั้งเดิมของจอมพลสฤษดิ์ หลายส่วน แต่ก็ต้องยอมรับว่าอิทธิพลของนโยบายจากสหรัฐอเมริกาที่มีต่อภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้นั้นก็ส่งผลสำคัญมากพอสมควร

หลังสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อกลางปี พ.ศ. 2495 แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก พ.ศ. 2504-2509 ก็ถูกเสนอขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ มองว่า เนื้อหาในแผนฉบับนี้ไม่ได้แตกต่างจากข้อแนะนำของธนาคารโลก ไม่ว่าจะเป็น ยกมาตรฐานการครองชีพ เพิ่มรายได้ของสินค้าและบริการต่อหัว กระจายการเพิ่มรายได้ให้ทั่วถึง ส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในภาคเอกชน สร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศทั้งด้านชลประทาน ปรับปรุงถนน ระบบคมนาคม พลังงาน

เป้าหมายของการพัฒนากับทฤษฏีการพัฒนาแบบสากลดูจะเข้ากัน แต่แนวคิดของนักวิชาการมองว่า เป้าหมายเหล่านี้ไม่อาจสัมฤทธิ์ผลได้!! ด้วยข้อกังวลว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้กับเป้าหมายที่แท้จริงของรัฐบาลไม่สอดคล้องกัน

จอมพลสฤษดิ์มีแนวคิดเรื่องการปกครองแบบพ่อลูก และให้น้ำหนักกับเชิงสังคม ศีลธรรม กับความต้องการประจำวันของประชาชน นักวิชาการมองว่า

“จอมพลสฤษดิ์ไม่ใคร่สนใจจะเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม จึงปล่อยมือให้แก่บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับเลือกขึ้นมา ซึ่งก็มักมาจากข้าราชการหรือพวกผู้นำที่มั่งคั่งในกรุงเทพฯ”

“โครงการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ โดยหลักแล้ว โครงการนี้ไม่มีวัตถุประสงค์ ระยะยาวที่ชัดเจนและแท้จริง มิได้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นด้านโครงสร้างสังคมหรือเศรษฐกิจของประเทศเลย… จอมพลสฤษดิ์มิได้เล็งเห็นความสำคัญในแง่นามธรรมว่าเป็นการสร้างพื้นฐานของสังคมสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น ดูเหมือนว่า จอมพลสฤษดิ์มีความจริงใจในความพยายามที่จะทำให้ความต้องการที่แท้จริง ของประชาชนในชนบทบรรลุผลมากกว่าเป้าหมายระยะยาวตามเกณฑ์สถิติ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 2526


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม 2561