25 กันยายน วันคล้ายวันเกิด “2 นักปฏิวัติปัญญาชน” : หลู่ซิ่น – จิตร ภูมิศักดิ์

หลู่ซิ่น จิตร ภูมิศักดิ์ นักปฏิวัติปัญญาชน

25 กันยายน วันคล้ายวันเกิด “2 นักปฏิวัติปัญญาชน” : หลู่ซิ่น จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้มีบทบาททางความคิดของชนรุ่นหลัง

หลู่ซิ่น เป็นนามปากกาของ โจวซู่เหริน (25 ก.ย. พ.ศ. 2424-19 ต.ค. พ.ศ. 2479 ) นักประพันธ์ที่ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของจีนใหม่ เขาใช้นามปากกาว่า หลู่ซิ่น ซึ่งมีที่มาจากชื่อสกุลหลู่ของครอบครัวฝ่ายแม่ที่เขาถูกส่งไปอยู่ด้วย เพราะครอบครัวฝ่ายพ่อประสบภาวะวิกฤติ เมื่อหลู่ซิ่นอายุ 23 ปีได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น เขาเลือกเรียนวิชาการแพทย์ด้วยความหวังที่จะเป็นเครื่องมือ “กู้ชาติ”

หลู่ซิ่น

แต่ภายหลังเขาก็เปลี่ยนมาศึกษาทางปรัชญาและวรรณคดี โดยให้เหตุผลว่า

“วิชาแพทย์ไม่มีความสำคัญอย่างที่คิดไว้เลย ในเมื่อประชาชนของประเทศที่อ่อนแอและล้าหลังแล้ว…ไม่ว่าจะตายลงไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บสักเพียงไรก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่น่าอนาถใจ และก็ไม่จำเป็นจะต้องถือว่าเป็นเรื่องเคราะห์กรรมอะไรเลยด้วยซ้ำไป เพราะเหตุนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดจึงได้แก่ การเปลี่ยนแปลงจิตใจของพวกเขา นับแต่นั้นเป็นต้นมาข้าพเจ้าก็มีความรู้สึกว่า วรรณคดีคือปัจจัยที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้”

ภายหลังกลับจากญี่ปุ่น หลู่ซิ่นทำงานเขียนไปพร้อมกับงานปฏิวัติตามอุดมการณ์เรื่อยมา เช่น ตั้งคณะโฆษณาของนักเรียนออกไปตระเวนอธิบายความหมายของการปฏิวัติและช่วยให้ประชาชนอยู่ในความสงบหลังการโค่นล้มราชวงศ์ชิง, ร่วมขบวนการ “4 พฤษภาคม” กับนักศึกษามหาวิทยาลัยปักกิ่งต่อต้านจักรวรรดินิยม, สนับสนุนนักศึกษาวิทยาครูหญิงปักกิ่งในการเคลื่อนไหวคัดค้านการศึกษาแบบเก่าสมัยศักดินา ฯลฯ

พ.ศ. 2461 นามปากกา “หลู่ซิ่น” ก็ปรากฏขึ้นเป็นครั้งในนิยายเรื่องสั้นชื่อ “บันทึกประจำวันของคนบ้า” เป็นนิยายสมัยใหม่เรื่องแรกที่โจมตีจริยธรรมของศักดินาอย่างตรงตัว หลังจากนั้นก็มีผลงานอื่นๆ ตามมา โดยผลงานเขียนโด่งดังของที่สุดของหลู่ซิ่นคือ “ประวัติจริงของอาคิว” ใน พ.ศ. 2464 ที่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ญี่ปุ่น, ไทย ฯลฯ  ประวัติจริงของอาคิวฉบับภาษาไทย พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2500 ที่สำนักพิมพ์เทวเวศม์ โดยผู้แปลคือ เดชะ บัญชาชัย

หลังหลู่ซิ่นเกิด 49 ปี ในวันที่ 25 กันยายนเช่นกันก็เกิด “นักปฏิวัติที่ใช้ปากกาเป็นอาวุธ” อีกคน คือ จิตร ภูมิศักดิ์

จิตร ภูมิศักดิ์ (25 ก.ย. พ.ศ. 2473-5 พ.ค. พ.ศ. 2509) เป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และภาษาศาสตร์, นักปฏิวัติทางความคิด จิตรสนใจและเรียนทางปรัชญาและวรรณกรรมเช่นเดียวกับหลู่ซิ่น

ทวีป วรดิลก เคยบันทึกถึงความนับถือที่ จิตร ภูมิศักดิ์ มีต่อหลู่ซิ่นว่า ที่บ้านของจิตรมีรูปของหลู่ซิ่นขนาด 12 นิ้ว ตั้งอยู่ ซึ่งแม่ของจิตรบอกว่าเวลาเพื่อนบ้านเห็นถามว่ารูปใคร เธอก็ตอบว่า “รูปพ่อของจิตร”

(ทีี่ 3 จากซ้าย) จิตร ภูิศักดิ์ ด้านขวามือที่อุ้มเด็ก คือ อิศรา อมันตกุล ถ่ายขณะถูกคุมขังที่ลาดยาว

จิตรเป็นนิสิตหัวก้าวหน้าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ถูก “โยนบก” และจุฬาฯ สั่งพักการเรียน แต่ก็จิตรอีกเช่นกันที่รณรงค์ให้นิสิตนำอาหารและเครื่องนุ่งห่มไปบริจาคแก่ผู้ประสบภัย หรือวัดต่างๆ ที่มีผู้อพยพชาวอีสานเข้ามาหางานทำ  หรือชักชวนให้นิสิตไปปฏิบัติงานตามหัวลำโพง, กรมแรงงาน, กรมประชาสงเคราะห์ในตอนเย็น ฯลฯ

ผลงานโดดเด่นของจิตรมีจำนวนมาก เช่น เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา, งานวิชาการอย่าง โฉมหน้าศักดินาไทย ความเป้ฯมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม  และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ฯลฯ, นวนิยายแปลเรื่อง แม่ ของแมกซิม กอร์กี้

ระหว่าง 2 นักปฏิวัติ ได้ฝากงานให้เป็นที่จดจำของผู้คน ด้วยฝีมือการเขียนหลู่ซิ่น และการแปลของจิตร ภูมิศักดิ์ ในบทกวีบทหนึ่งที่ว่า

แม้คนพันบัญชาชี้หน้าเย้ย   จงขวางคิ้วเย็นชาเฉยเถิดสหาย
ต่อผองเหล่านวชนเกิดกล่นราย   จงน้อมกายก้มหัวเป็นงัวงาน

หลู่ซิ่น และ จิตร ภูมิศักดิ์ 2 นักปฏิวัติปัญญาชน ยังคงอยู่ในความคิดของคนยุคปัจจุบันเสมอ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ทวีป วรดิลก. จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ผมรู้จัก, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก 2546

ทวีปวร. กวีนิพนธ์หลู่ซิ่น, สำนักพิมพสุขภาพใจ, มิถุนายน 2543


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2561