27 สิงหาคม 2426 ภูเขาไฟ “กรากาตัว” ระเบิด ได้ยินถึงอยุธยา สะเทือนถึงยุโรป

ภูเขาไฟ กรากาตัว ระเบิด
ภาพพิมพ์หินแสดงการระเบิดของภูเขาไฟกรากาตัว พ.ศ. 2426 วาดในปี พ.ศ. 2431 (ภาพจากวิกิพีเดีย)

ภูเขาไฟ “กรากาตัว” ที่ตั้งอยู่ระหว่างเกาะชวา และเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนิเซีย บนแนววงแหวนแห่งไฟ ภูเขาไฟแห่งนี้เคยระเบิดครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2426

เริ่มจากการระเบิดรุนแรงในวันที่ 20 พฤษภาคม 2426 แต่เหตุการณ์ก็สงบ แม้จะมีการระเบิดในระดับไม่รุนแรงอีกหลายครั้งซึ่งไม่มีใครคิดว่านี้เป็นสัญญานเตือนภัย

วันที่ 26 สิงหาคม 2426 เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง และการระเบิดระดับกลางติดต่อกันอีกหลายครั้ง

เศษซาก จาก ระเบิด ของ ภูเขาไฟ กรากาตัว
เศษซากประการัง, ก้อนหิน, ต้นไม้ ฯลฯ ที่ได้รับความเสียหายจากการระบิดของกรากาตัว (ภาพจากวิกิพีเดีย)

วันที่ 27 สิงหาคม 2426 เกิดการระเบิดครั้งใหญ่ที่สุด แรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เถ้าถ่านจำนวนหลายล้านตันบดบังแสงอาทิตย์จนมืดมิด เสียงระเบิดดังกึกก้องไปไกลถึงออสเตรเลีย ผลจากการระเบิดยังทำให้เกิดคลื่นสึนามิสูงกว่า 30 เมตร ซากปะการัง, เศษหิน และวัสดุต่างๆ ประมาณ 600 ตัน ถูกคลื่นหอบขึ้นฝั่ง มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ประมาณ 36,000 คน

ภูเขาไฟ กรากาตัว ระเบิด
ภาพพิมพ์หินแสดงการระเบิดของภูเขาไฟกรากาตัว พ.ศ. 2426 วาดในปี พ.ศ. 2431 (ภาพจากวิกิพีเดีย)
ด้านหลังธนบัตรชนิด 100 รูเปียห์ ของอินโดนีเซีย พิมพ์ภาพภูเขาไฟกรากาตัวระเบิด (ภาพจาพวิกิพีเดีย)

ความรุนแรงครั้งนั้นส่งผลกระทบไปไกลเพียงใด

ในประเทศไทยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพขณะดำรงพระยศเป็น “พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร” ทรงบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ใน “ประวัติอาจารย์” (พระนิพนธ์ประวัติของพระยาพฤฒาธิบดีศรีสัตยานุการ (อ่อน โกมลวรรธนะ) ซึ่งเคยเป็น เจ้าอาวาสวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ) ขณะนั้นพระองค์ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และประทับที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ บางปะอิน อยุธยา ว่า

“เมื่อเดือนสิงหาคมจะเป็นวันใดข้าพเจ้าไม่ได้จดไว้ แต่อยู่ในระหว่างวันที่ 27 จนถึงวันที่ 30 เวลาบ่าย ข้าพเจ้านั่งอยู่ที่ ตำหนักได้ยินเสียงดังเหมือนยิงปืนใหญ่ไกลหลายนัด นึกในใจว่าคงยิงสลุตรับแขกเมืองที่เข้ามากรุงเทพฯ ครั้นเวลาเย็นลงไปนั่งเล่นที่สะพานท่าน้ำตามเคย ไปพูดขึ้นกับพระที่อยู่มาก่อน ท่านบอกว่าที่วัดนิเวศน์ฯ ไม่เคยได้ยินเสียงปืนใหญ่ยิงในกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าไม่เห็นเป็นการสำคัญก็ไม่ค้นหาเหตุผลต่อไป

ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง เห็นแสงแดดเป็นสีเขียวตลอดวัน คนทั้งหลายพากันพิศวงทั่วไปในท้องถิ่น ที่ตื่นตกใจก็มี แต่ในวันต่อมาก็กลับเป็นปกติตามเดิม เป็นหลายวันจึงทราบข่าวว่าภูเขาไฟระเบิดที่เกาะกระกะเตา ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะชวาและเกาะสุมาตรา คนตายหลายหมื่น เสียงภูเขาไฟระเบิดและไอที่ออกบังแสงแดด ทั้งละลอกน้ำในท้องทะเลแผ่ไปถึงนานาประเทศ ไกลกว่าที่เคยปรากฏมาแต่ก่อน”

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ภาพจากสมุดภาพประวัติและพระกรณียกิจของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

ความรุนแรงสร้างแรงบันดาลใจ

เอ็ดเวิร์ด มุงค์ (Edvard Munch) ศิลปินชาวนอร์เวย์ ผู้วาดภาพ “The Scream” หนึ่งในผลงานที่มีชื่อของเขา มุงค์เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ว่า วันหนึ่งในช่วงเย็นเขาและเพื่อนสองคนกำลังเดินอยู่บนถนนเลียบภูเขาใกล้เมือง Christiania (ปัจจุบันคือ Oslo) ได้เห็นท้องฟ้าเป็นสีเลือด เมฆก็ดูเป็นสีเหลืองจ้า และแดงคล้ำ เพื่อนๆ รีบเดินกลับบ้าน แต่เขายังยืนอยู่คนเดียวบนถนนด้วยความรู้สึกกังวลกลัว จนอยากจะร้องตะโกนออกมา เพราะบรรยากาศโดยรอบน่ากลัวมาก

The Scream ภาพที่มีแรงบันดาลใจจากการระเบิดของกรากาตัว (ภาพจากวิกิพีเดีย)

บทสัมภาษณ์นี้ทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลป์สันนิษฐานว่า The Scream ของเขาน่าจะมีแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ ภูเขาไฟ กรากาตัว ระเบิดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2426 ท้องฟ้าสีแดงในรูปของเขาเกิดจากเถ้าถ่าน ฝุ่นละอองที่ภูเขาไฟพ่นขึ้นไปในบรรยากาศ ทำให้คนทั่วโลกเห็นท้องฟ้าในสีที่แตกต่่างไปจากปกติ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ปล. การระเบิดครั้งล่าสุดของภูเขาไฟ “กรากาตัว” เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2561 แรงระเบิดทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูเขาไฟถล่มลงในทะเลจนเกิดคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มบริเวณชายฝั่งของเกาะสุมาตราและเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 400 คน และไร้ที่อยู่อาศัยกว่า 40,000 คน


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 สิงหาคม 2561