ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงเป็นพระธิดาในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส ต้นราชสกุล “รัชนี”) และหม่อมเจ้าพรพิมลพรรณ (วรวรรณ) รัชนี ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463 ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รัชนี
เมื่อสิ้นพระชนม์ (16 กุมภาพันธ์ 2520) ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต โดย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2520
พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตทรงเป็นนางสนองพระโอษฐ์พิเศษในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยได้ตามเสด็จต่างประเทศหลายครั้ง และทรงเป็นนักประพันธ์ในพระนามปากกา ว.ณ ประมวลมารค มีผลงานที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเช่น “ปริศนา” ซึ่งเคยถูกนำมาดัดแปลงเป็นละครและภาพยนตร์มาแล้ว
ในช่วง 10 ปีสุดท้ายของพระชนม์ชีพ พระองค์ได้ทรงปฏิบัติภารกิจแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ พระองค์ทรงปฏิบัติภารกิจด้วยความอุตสาหะวิริยะ โดยไม่ทรงคำนึงถึงความลำบากและเหน็ดเหนื่อย แม้จะต้องเสด็จไปในที่กันดารก็ไม่ทรงย่อท้อ
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2520 พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตเสด็จไปเยี่ยมเยียนทหาร ตำรวจ และประชาชน ตามปกติที่อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ระหว่างการเดินทางกลับถูกซุ่มยิงโดยกลุ่มผู้ก่อการร้าย จนเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งต้องลงจอดฉุกเฉินที่สนามหน้าโรงเรียนวัดบ้านส้อง เพราะเครื่องชำรุดบินต่อไม่ได้ ส่วนพระองค์เองถูกกระสุนปืนของคนร้ายได้รับบาดเจ็บเป็นแผลฉกรรจ์
ระหว่างการเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ลำใหม่ที่เดินทางมารับพระองค์ไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี หลังได้ทรงฝากให้บุคคลใกล้ชิดกราบถวายบังคมลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ และครอบครัวของพระองค์แล้ว พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิตได้ทรงรับสั่งขึ้นว่า “สว่างแล้วๆ เห็นนิพพานแล้ว พระนิพพานมีความสวยสดงดงามแจ่มใสเหลือเกิน..” แล้วที่สุดก็สิ้นพระชนม์บนเฮลิคอปเตอร์นั้นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
หนังสือ จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ พระบรมราชวงศ์แห่งประเทศไทย โดย เจฟฟรี่ ไฟน์สโตน
เว็บไซต์มูลนิธิวิภาวดีรังสิต
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2561