ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2546 |
---|---|
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
เผยแพร่ |
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมปาณี รูปปั้นหล่อสัมฤทธิ์ที่แม้ชำรุด แต่ได้ชื่อว่างามที่สุดในสยาม พบที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในกรุงเทพฯ
ส่วนชำรุดของรูปปั้นหล่อสัมฤทธิ์ พระโพธิสัตว์ หักหายไปมากกว่าส่วนที่เหลืออยู่ แต่ส่วนที่เหลืออยู่คืออวโลกิเตศวรครึ่งองค์ตรงนาภี (สะดือ) พระกรหักหายไปทั้งสองข้าง เครื่องประดับศีรษะส่วนบนหายไปหมดเหลือแต่กะบังที่นลาฏ (หน้าผาก) เล็กน้อย
แต่แล้วส่วนที่เหลืออยู่ของ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมปาณี กลับเป็นส่วนงามที่สุด จนไม่แน่ใจว่าถ้าครบสมบูรณ์ทั้งองค์แล้วจะแลเห็นงาม “คลาสสิก” อย่างนี้หรือไม่
พระโพธิสัตว์องค์นี้คงปั้นและหล่อขึ้นในดินแดนแถบนี้เอง อาจเป็นที่เมืองไชยาหรือแห่งใดแห่งหนึ่งในภูมิภาคอุษาคเนย์ ตั้งแต่เขตสยามประเทศลงไปถึงเกาะชวาของอินโดนีเซีย เพราะเป็นบริเวณที่เกี่ยวข้องกับรัฐสำคัญที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “ศรีวิชัย” ที่นับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายาน มีพระโพธิสัตว์เป็นรูปเคารพสำคัญ และควรทำขึ้นในเรือน พ.ศ. 1318 เพราะพบข้อความในศิลาจารึกกล่าวถึงพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งไว้
ไม่มีถ้อยคำพรรณนาใดๆ จะกล่าวถึงความงามของรูปปั้นหล่อชำรุดงามที่สุดองค์นี้ได้ครบถ้วน เว้นแต่ ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม ได้รจนากถาถึงความงามของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรไว้ในหนังสือ “แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน” (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2493) ว่า
“ท่านจงพิจารณาดูภาพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรดูอีกครั้งหนึ่ง ท่านจะเห็นความงดงามของงานศิลปกรรมแบบปาละ นั่นไม่ใช่เพียงเท่านั้น. ความมุ่งหมายของการทำรูปอวโลกิเตศวรนั้น เขามุ่งหมายจะให้เห็น “การแสดงธรรม” ไปในตัวรูปนั้นเองด้วย ในเค้าหน้าของรูปปฏิมานั้น ต้องมีธรรม ๓ ประการเห็นอยู่ชัดเจน คือ ความเมตตา ความสุข ความฉลาด กลมกลืนเป็นอันเดียวกันอยู่. ใครอ่านหน้าพระอวโลกิเตศวรออก คนนั้นเห็นธรรม คือเมตตา ปัญญา และศานติ เป็นอย่างน้อย”
กรมดำรงทอดพระเนตร “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมปาณี” บนหลังช้าง
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จตรวจราชการตามมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศ และเมื่อเสด็จมณฑลปักษ์ใต้ ได้เสด็จไปนมัสการพระบรมธาตุที่วัดพระบรมธาตุไชยา ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพบรูปพระโพธิสัตว์องค์นี้
ความตื่นเต้นเมื่อแรกพบครั้งนั้น เป็นเรื่องที่เล่าขานกันสืบมา ดังที่ท่านพุทธทาสได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทับอยู่บนหลังช้างที่นั่ง สายพระเนตรทอดไปเห็นวัตถุสิ่งหนึ่งวางทิ้งอยู่ข้างทางเสด็จ ท่านพุทธทาสบันทึกต่อไปว่า
“อวโลกิเตศวร………. พบที่สนามหญ้าตรงหน้าบริเวณกำแพงพระบรมธาตุออกไป สมเด็จกรมพระยาดำรงเสด็จมาพบด้วยพระองค์เอง. ผู้ที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่ในเวลานั้น เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ท่านทอดพระเนตรเห็นตั้งแต่บนหลังช้าง ช้างยังไม่ทันจะทรุดตัวลงอย่างเรียบร้อย ท่านรีบลงมาอย่างกะว่าจะหล่นลงมา ตรงไปอุ้มรูปนี้ขึ้นด้วยพระองค์เอง. นี่แสดงว่าท่านเป็นนักศิลปกรรมและนักโบราณคดีเพียงใด.”
ตำแหน่งที่ทรงค้นพบ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมปาณี นั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงบันทึกไว้ใน “จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ. 121” เมื่อคราวพระองค์เสด็จไปยังวัดพระบรมธาตุไชยาว่า
“นอกกำแพงชั้นนอกทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีโบสถ์พราหมณ์ พระพุทธปฏิมากรและรูปต่างๆ คือรูปพระโพธิสัตว์ รูปพระอิศวร ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ให้นำไปเก็บไว้ที่กรุงเทพฯ” และในแผนผังวัดพระบรมธาตุไชยาที่ทรงวาดไว้ มีกรอบสี่เหลี่ยมเล็กๆ อยู่ใกล้กับวิหารพระศิลาแดง 3 องค์ ซึ่ง อาจารย์มานิต วัลลิโภดม สันนิษฐานว่า นี่อาจจะเป็นตำแหน่งที่ท่านระบุว่าเป็นจุดที่ค้นพบรูปพระโพธิสัตว์ก็เป็นได้
ในหนังสือ “แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน” ของท่านพุทธทาส ยังเล่าไว้อีกว่า เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้ค้นพบเทวรูปองค์นี้แล้ว ก็นำเข้าถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพฯ และความงดงามของเทวรูปก็ทำให้ตื่นเต้นกันยกใหญ่
“เมื่อพาเข้าไปกรุงเทพแล้ว ถึงวันที่สมเด็จกรมพระยาดำรงจะต้องเข้าประชุมเสนาบดีตามปกติ ซึ่งมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชชกาลที่ 5 ทรงเป็นประธานในที่ประชุม สมเด็จกรมพระยาแกล้งเสด็จสายไม่น้อยกว่า 30 นาที ถึงกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบ่นไม่พอพระทัยและกระสับกระส่าย และทรงบ่นว่าไม่เคยพลาดเวลามาสายเลย ครั้งสมเด็จกรมพระยาไปถึง มีมหาดเล็กอุ้มอวโลกิเตศวรสำริดองค์นี้ตามไปด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจ้องอย่างตื่นเต้น และตรัสด้วยความตื่นเต้นว่า ‘อะไรของเธอๆ ดำรง’ …….คือว่าวันนั้นเลยไม่ต้องประชุมข้อราชการ กลายเป็นเรื่องชม และวิพากษ์วิจารณ์รูปปฏิมาอวโลกิเตศวรสำริดองค์นี้กันเสียจนหมดเวลา”
จากนั้นพระโพธิสัตว์องค์นี้ก็ถูกเก็บรักษาไว้ภายในพระบรมมหาราชวัง จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานให้นำมาตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระโพธิสัตว์องค์ใด: คำถามภายหลังการค้นพบ
ปัญหาที่ตามมาภายหลังการค้นพบ คือ เทวรูปองค์นี้เป็นรูปของพระโพธิสัตว์องค์ใด? นักวิชาการทั้งหลายได้ลงความเห็นร่วมกันว่า เทวรูปองค์นี้เป็นรูปของ “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร”
ในคติพุทธศาสนามหายาน นับถือและให้ความสำคัญกับพระโพธิสัตว์มาก เชื่อกันว่าพระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่บำเพ็ญเพียรและประพฤติธรรมจนสามารถเข้าสู่นิพพานได้แล้ว แต่ด้วยความเมตตาจึงไม่เสด็จไปสู่นิพพาน ยังคงโปรดสัตว์โลกทั้งหลายเพื่อให้พ้นจากสังสารวัฏ แล้วจึงจะเสด็จสู่นิพพานเป็นองค์สุดท้าย จำนวนของพระโพธิสัตว์มีมากมายดุจเม็ดทรายในมหาสมุทร เช่น พระโพธิสัตว์วัชรปาณี พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี พระโพธิสัตว์วิศวปาณี ฯลฯ
แต่องค์ที่สำคัญ ยิ่งใหญ่ และมีผู้นับถือแพร่หลายที่สุดคือ “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร”
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเป็นเทพที่ทรงไว้ซึ่งความเมตตากรุณา ต้องการนำพามวลมนุษย์ไปสู่นิพพาน สัญลักษณ์สำคัญของพระองค์คือรูปจำลอง “พระอมิตาภะ” หรือพระพุทธเจ้าปางสมาธิ ประทับนั่งอยู่บนยอดมงกุฎ ในสมัย “ศรีวิชัย” นับถือพระโพธิสัตว์องค์นี้อย่างแพร่หลาย และได้พบรูปพระโพธิสัตว์องค์นี้หลายองค์ในคาบสมุทรภาคใต้ รวมทั้งบริเวณเกาะสุมาตรา เกาะชวาในอินโดนีเซียด้วย
แม้จะทราบว่าเป็นพระโพธิสัตว์องค์นี้ แต่ก็ยังติดขัดว่าทรงแสดงปางอะไร เพราะพระกรหักหายไปทั้งสองข้าง จึงเรียกกันแต่เพียงว่าพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเท่านั้น
ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ เป็นผู้อธิบายว่า พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรองค์นี้ น่าจะเป็น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมปาณี หมายถึงอวโลกิเตศวรผู้ถือดอกบัว โดยอาศัยหลักฐานสำคัญคือ จารึกหลักที่ 23 พบที่วัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สลักขึ้นในปี พ.ศ. 1318 ข้อความในด้านที่ 1 กล่าวถึงพระเจ้ากรุงศรีวิชัยทรงสร้างปราสาทอิฐบูชาเทพ 3 องค์ว่า
“พระเจ้ากรุงศรีวิชัยผู้เป็นเจ้าแห่งพระราชาทั้งหลายในโลกทั้งปวงได้ทรงสร้างปราสาทอิฐทั้งสามหลังนี้ เป็นที่บูชาพระโพธิสัตว์เจ้าผู้ถือดอกบัว (คือปทุมปาณิ) พระผู้ผจญพระยามาร และพระโพธิสัตว์เจ้าผู้ถือวชิระ (คือวชรปาณี)
ปราสาททั้งสามนี้งามราวกับเพชรในภูเขาอันเป็นมลทินของโลกทั้งปวง แลเป็นที่บังเกิดความรุ่งเรืองแก่ไตรโลก พระองค์ได้ถวายแก่พระชินราช ประกอบด้วยพระสิริอันเลิศกว่าพระชินะทั้งหลายซึ่งสถิตอยู่ในทศทิศ”
ข้อความดังกล่าวสอดคล้องกับคัมภีร์มัญชุศรีมูลกัลปักษ์ ซึ่งรวบรวมขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1250-1450 กล่าวว่า พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรทรงมีฐานะเป็นหัวหน้าของเทพในกลุ่มดอกบัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวิธีการที่จะนำไปสู่ปัญญาและโพธิญาณ ในขณะที่พระโพธิสัตว์วัชรปาณีทรงเป็นสัญลักษณ์ของปัญญา และพระพุทธเจ้ามหาไวโรจนะทรงเป็นสัญลักษณ์ของพระโพธิญาณ
ความเชื่อนี้ทำให้มีการบูชาเทพทั้ง 3 องค์ร่วมกัน เช่น ที่จันทิเมนดุตในชวาภาคกลาง ได้ทำรูปพระพุทธเจ้ามหาไวโรจนะไว้ตรงกลาง เบื้องซ้ายเป็นรูปพระโพธิสัตว์วัชรปาณี และเบื้องขวาคือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 2 กร นามว่าปัทมปาณี ทรงถือปัทมะหรือดอกบัวในพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานพร
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมปาณีที่พบ มักจะเป็นรูปประทับยืน เช่นเดียวกับรูปพระโพธิสัตว์ปัทมปาณีอีกองค์อื่นที่พบทางภาคใต้ และพบว่ามีเทวรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่ Kurkihor ทางตะวันออกของอินเดีย มีลักษณะคล้ายคลึงกันมากที่สุด แม้ว่าเทวรูปองค์นั้นจะมี 4 กร แต่ก็เป็นไปได้ว่า พระโพธิสัตว์องค์ที่พบที่ไชยาจะมีลักษณะคล้ายกัน คือประทับยืนตริภังค์ พระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานพร พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัว และบนพระเศียรมีรูปพระธยานิพุทธประทับนั่งขัดสมาธิ
“งามที่สุดในสยาม” มาแต่ไหน? ใครสร้าง?
ด้วยลักษณะที่งดงามแสดงฝีมือช่างชั้นสูง ทำให้ผู้สนใจหลายท่านคิดว่า พระโพธิสัตว์องค์นี้เป็นของที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศอินเดีย
ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุข อินทราวุธ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า
“ไม่น่าจะเป็นของที่นำเข้ามาจากอินเดีย เพราะอินเดียที่ร่วมสมัยกันคือนาลันทา จะเก่งเรื่องสลักหินมากกว่าหล่อสำริด”
“พระโพธิสัตว์องค์นี้เป็นศิลปะศรีวิชัยอิทธิพลชวาภาคกลาง และพบที่ไชยาซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญของอาณาจักรศรีวิชัยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17
แต่ในประเด็นที่ว่าจะมีการหล่อที่ไหนนั่น ยังไม่มีการค้นพบหลักฐานชัดเจน เพราะยังมีการขุดค้นทางภาคใต้ไม่มากนัก จากหลักฐานที่พบในปัจจุบันจึงบอกได้แต่เพียงว่า เป็นเทวรูปที่มีอิทธิพลศิลปะชวาภาคกลาง ซึ่งอาจเป็นได้ว่ามีการหล่อขึ้นที่ไชยาเลยก็ได้ เพราะได้พบพระโพธิสัตว์สำริดฝีมือดีเช่นนี้ที่ไชยาอีกหลายองค์”
ส่วนผสมของโลหะก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อโต้แย้ง เพราะผลการวิเคราะห์ของกรมทรัพยากรธรณี ปรากฏว่า ประติมากรรมสำริดที่พบบนแหลมมลายูนั้น ส่วนผสมส่วนใหญ่เป็นทองแดง มีดีบุกผสมอยู่เพียง 7.55% เท่านั้น ทั้งที่ดีบุกเป็นสินแร่ที่มีมากบนคาบสมุทรมลายู จึงอาจเป็นไปได้ว่าประติมากรรมเหล่านี้ถูกนำเข้ามาจากอินโดนีเซีย ซึ่ง ดร.ผาสุข มีความเห็นว่า “แต่ถึงแม้จะมีการหล่อขึ้นที่หมู่เกาะชวาหรืออินโดนีเซียก็ไม่เป็นปัญหา เพราะในอดีตเป็นพื้นที่ของอาณาจักรศรีวิชัยเช่นเดียวกัน เราต้องนึกถึงภาพอาณาจักรในอดีตเป็นหลัก ไม่ใช้เส้นเขตแดนอย่างในปัจจุบัน”
ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้น ยังคงเป็นประเด็นที่นักวิชาการจะต้องค้นคว้าและถกเถียงกันต่อไป
แต่สิ่งสำคัญคือการค้นพบ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมปาณี องค์นี้ที่ไชยา เป็นประจักษ์พยานถึงความเจริญรุ่งเรืองของรัฐที่ชื่อ “ศรีวิชัย” ในคาบสมุทรภาคใต้ จนสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่งดงามทรงคุณค่าได้เช่นนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- เมื่อ “เช-ลิ-โฟ-ชิ” ไม่ใช่ “ไชยา” เมืองหลวงของ “อาณาจักรศรีวิชัย” จะอยู่ที่ไหน?
- โบสถ์พราหมณ์ของเรา หัวใจอีกดวงหนึ่งของพระนคร
- “อโรคยศาล” สถานที่รักษาโรคทางกาย-จิต ผลงานเขมรสมัยพระนคร ยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มิถุนายน 2560