“อโรคยศาล” สถานที่รักษาโรคทางกาย-จิต ผลงานเขมรสมัยพระนคร ยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ประติมากรรมรูปหน้าขนาดใหญ่อันโด่งดังที่ปราสาทบายน ภายในอุทยานประวัติศาสตร์นครวัด ภาพถ่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2007 (AFP PHOTO / VOISHMEL)

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงเป็นกษัตริย์เขมรในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ทรงสถาปนาพุทธศาสนสถานขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วพระราชอาณาจักร พร้อมกับการสร้างเมืองนครธมให้เป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของอาณาจักร ซึ่งประกอบด้วยคูคลอง กำแพงเมืองและซุ้มประตูทั้งห้า รวมทั้ง “อโรคยศาล” สถานที่รักษาโรคทางกายและจิตใจ

สำหรับภายนอกรอบพระราชอาณาจักร ทรงวางรากฐานด้านการคมนาคมและสาธารณสุขด้วยการสร้าง “ธรรมศาลา” หรือที่พักคนเดินทาง 121 แห่งตามเส้นทางโบราณจากศูนย์กลางเมืองพระนครไปยังเมืองโดยรอบ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเมืองพิมายในเขตประเทศไทยปัจจุบัน และยังโปรดให้สร้าง “อโรคยศาล” อีก 102 แห่งตามเมืองต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร ดังที่ปรากฏในจารึกปราสาทตาพรหมและปราสาทพระขรรค์

การสร้างอโรคยศาลของพระองค์อาจมีสาเหตุดังปรากฏในจารึกจํานวนมากที่พบในประเทศไทย เช่น จารึกด่านประคำ จารึกปราสาท จารึกพิมาย และจารึกปราสาทตาเมียนโตจ ซึ่งข้อความของจารึกก็เหมือนหรือคล้ายกัน โดยกล่าวสรรเสริญพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ดังความตอนหนึ่งว่า

“โรคทางกายของปวงชนนี้ เป็นโรคทางใจที่เจ็บปวดยิ่ง แม้มิใช่ความทุกข์ของพระองค์เอง แต่ความทุกข์ของราษฎร์เปรียบเหมือนความทุกข์ของผู้ปกครอง”

ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ เชื่อว่า การสร้างอโรคยศาลของพระองค์อาจเป็นส่วนหนึ่งของการบำเพ็ญพระราชกุศลเพื่อพระองค์เอง หรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่ประชวรด้วยโรคร้าย จากการสันนิษฐานภาพสลักบนหน้าบันศาสนสถานในอโรคยศาล ทางทิศตะวันออกของปราสาทตาแก้วในเมืองพระนคร ซึ่งคล้ายกับที่พบในปราสาทบายน เป็นภาพของการบำบัดรักษาโรคเรื้อนด้วยลูกกระเบา สมุนไพรที่ใช้รักษาโรคนี้ตามการแพทย์แผนโบราณ ดังนั้น โรคร้ายดังกล่าวอาจเป็นโรคเรื้อน

พระอวโลกิเตศวร สันนิษฐานว่า ใบหน้าถ่ายแบบมาจาก พระเจ้าชัยวรมันที่ 7

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงตั้งปณิธานที่จะช่วยสัตว์โลกทั้งหลายให้พ้นจากภพชาติด้วยความดีของพระองค์เอง ในปัจจุบันพบศาสนสถานในอโรคยศาลเหล่านี้จำนวนกว่า 30 แห่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พร้อมกับจารึกประจำอโรคยศาลที่มีข้อความคล้ายคลึงกันอีกหลายหลัก

อโรคยศาลมีลักษณะเป็นอาคารทรงปราสาทขนาดเล็ก และเรียกกันในท้องถิ่นโดยทั่วไปว่า ปรางค์กู่ หรือ กู่ สันนิษฐานว่าอาคารเหล่านี้เป็นศาสนสถานในบริเวณอโรคยศาล ซึ่งมีรูปแบบแผนผังในระเบียบ เดียวกันทั้งหมด ประกอบด้วยปราสาทประธานขนาดเล็กก่อด้วยศิลาแลง และมีองค์ประกอบบางส่วนทำจากหินทราย ปราสาทตั้งอยู่ตรงกลางหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งอาจเรียกว่า บรรณศาลา ล้อมรอบด้วยกำแพงและมีซุ้มประตูทางเข้าด้านเดียวทางทิศตะวันออก อาจมีสระน้ำที่ก่อขอบด้วยหินทรายหรือศิลาแลงภายในหรือด้านนอกกำแพง

นอกจากนี้ ในอโรคยาศาลยังพบรูปเคารพประดิษฐานไว้สำหรับบูชา ซึ่งมีจารึกระบุข้อความแสดงความนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าผู้มีกายทั้งสาม คือ นิรมาณกาย ธรรมกาย และสัมโภคกาย และคำนมัสการอื่น ๆ อีก และมีการกล่าวถึงพระกรณียกิจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในการสร้างอโรคยศาล และระบุจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำอโรคยศาล และรายการสมุนไพรที่ใช้ไว้อย่างละเอียด

ดังนั้น อโรคยศาลจึงเปรียบเหมือนสถานที่รักษาโรคทางกายและทางจิต เป็นการรักษาโรคแผนโบราณที่มีอิทธิพลของการเคารพบูชาพระพุทธเจ้า อโรคยศาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงเป็นศูนย์รวมของความศรัทธาและการรักษาโรคในท้องถิ่นที่ดูแลรักษาโดยคนในชุมชนเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วรรณวิภา สุเนต์ตา. (2548). ชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรกัมพูชา ผู้เนรมิตสถาปนาปราสาทบายน และเมืองนครธม. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤษภาคม 2564