ตามรอย “ราชมรรคา” ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายแห่งกรุงยโสธรปุระ

พระอวโลกิเตศวร พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
พระอวโลกิเตศวร สันนิษฐานว่า ใบหน้าถ่ายแบบมาจาก พระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ตามรอย “ราชมรรคา” ของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 7” มหาราชองค์สุดท้ายแห่ง “กรุงยโสธรปุระ”

นครวัด-นครธม หรือถ้าจะเรียกชื่อให้ถูกต้อง คือ “กรุงศรียโสธรปุระ” หรือ “เมืองพระนคร” นั้นเป็นทั้งสิ่งมหัศจรรย์ของโลก และเป็นทั้ง “ความลี้ลับ” มานานนับศตวรรษ

คำถามที่เรามักจะได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ ก็คือ มหานครปราสาทหินทรายนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? และเสื่อมสลายไปได้อย่างไร? ขอมผู้สร้าง “นครวัด-นครธม” คือใคร? สูญหายสลายเผ่าพันธุ์ไปจนสิ้น หรือว่าสืบลูกหลานมาจนถึง “เขมร” แห่งกัมพูชาในปัจจุบัน?

และที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายแห่ง “กรุงยโสธรปุระ” นั้น พระองค์เป็นใคร? เหตุไฉนจึงได้ชื่อว่าเป็น “พุทธราชา” ผู้ยิ่งใหญ่ พระพักตร์ที่ปรากฏที่ประตูทั้ง 4 ทิศของเมืองพระนครธมนั้นเป็นพระพักตร์ของพระองค์เอง หรือเป็นพรหมพักตร์กันแน่?

บรรดาปราสาทขอมที่ปรากฏอยู่ในประเทศไทยทั้งในอีสานและภาคกลางของเรานั้น ส่อให้เห็นถึงอิทธิพลอำนาจบารมีของพระองค์เหนือดินแดนแห่งนี้หรือไม่? มี “ราชมรรคา” ของพระองค์เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายจากเขมรต่ำ (หรือในภาษาเขมรว่า ขแมร์กรอม อันเป็นคำที่กร่อนไปกลายเป็นคำว่า “ขอม” ในภาษาไทย) ขึ้นมายังอีสาน เลยไปจนกระทั่งข้ามโขงไปยังจัมปาสัก และ/หรือเวียงจันกระนั้นหรือ?

ทั้งความลี้ลับและความบันดาลใจนานัปการดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค หรือ อบศ.5 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เชิญอาจารย์สุรัสวดี อิฐรัตน์ จากโรงเรียนจิตรลดา ผู้จบการศึกษาปริญญาตรีและโททางด้านจารึกภาษาโบราณจากมหาวิทยาลัยศิลปากร และจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย ซอร์บอนน์ ประเทศฝรั่งเศส โดยได้ทุนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาเสวนาในหัวข้อ “ราชมรรคา : เส้นทางสายพระบาทสมเด็จพระเจ้าชัยวรมันที่ 7”

อาจารย์สุรัสวดีสนใจในเส้นทางของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นพิเศษ เนื่องจากพระเจ้าชัยวรมันนั้น เราทราบดีว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในดินแดนอุษาคเนย์ ทรงแผ่อิทธิพลทางการเมืองของพระองค์จากเวียดนามจรดไทย มีข้อความปรากฏใน “จารึกปราสาทพระขรรค์” ที่ “เมืองพระนคร” ว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงสร้างถนนไว้ 3 สาย จากเมืองพระนครไปในดินแดนต่างๆ รวมทั้งในไทย

เส้นทางที่จารึกไว้นี้ทำให้อาจารย์สุรัสวดีต้องการแกะรอย จะค้นหาหลักฐานที่อาจจะหลงเหลืออยู่บ้างในปัจจุบัน

ตามข้อความในจารึกปราสาทพระขรรค์ กล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงทำถนนไว้ 3 เส้นทาง แต่ละเส้นทางมีสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า “บ้านมีไฟ” หรือที่คนในยุคต่อมาเรียกว่า “ที่พักคนเดินทาง” อยู่เป็นระยะๆ

สิ่งก่อสร้างนี้นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสเรียกว่า “บ้านมีไฟ” (โดยใช้คำในภาษาฝรั่งเศสว่า maison du feu คำว่า maison แปลว่า “บ้าน” ส่วน feu แปลว่า “ไฟ” สันนิษฐานกันว่าใช้สำหรับเป็นที่ไว้ไฟ เนื่องจากในการเดินทางแต่ละครั้ง จะต้องนำไฟไปในที่ต่างๆ และบ้านนี้น่าจะเป็นบ้านที่พักของไฟ จึงเรียกว่าบ้านมีไฟ)

แต่ในระยะต่อมามีทฤษฎีคัดค้านความเชื่อดั้งเดิมของนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส โดยไม่เชื่อว่าบ้านมีไฟนั้นเป็นที่เก็บไฟ เชื่อกันว่าบ้านมีไฟน่าจะเป็นที่พักคนเดินทาง หรือที่เรียกว่า “ธรรมศาลา” มากกว่า (คำในภาษาฝรั่งเศสใช้ว่า Dharma Sala และ S ตัวนี้ความจริงคือตัว C มีหางในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งถอดมาจากภาษาสันสกฤตในจารึกอีกต่อหนึ่ง)

ข้อความในจารึกพระขรรค์กล่าวว่า ตลอดระยะทาง 3 เส้นนี้ จะพบบ้านมีไฟไปเป็นระยะๆ นอกจากนี้ในจารึกยังกล่าวว่า 3 เส้นทางทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นจากเมืองพระนครของเขมร

เส้นทางแรก ไปยังอาณาจักรจามปา จุดหมายปลายทาง คือ เมืองวิชัย (หรือบินห์ดินในเวียดนามปัจจุบัน)

เส้นที่ 2 จากเมืองพระนครมายังเมืองพิมาย บนที่ราบสูงโคราช

ส่วนเส้นทางที่ 3 นักปราชญ์ฝรั่งเศสยังไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าอยู่ตรงที่ใด เพราะในจารึกแม้จะกล่าวถึงสถานที่ต่างๆ แต่ก็ยังไม่พบเส้นทางนั้น

นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสที่เข้าไปทำงานในเขมรในสมัยก่อนๆ ต่างก็พยายามที่จะตามรอยเพื่อหาเส้นทางเดินสมัยโบราณ ซึ่งเชื่อว่ามิใช่มีเพียงแค่สามสายนี้เท่านั้น จากการค้นคว้าก็พบเส้นทางเดินอีกมากมาย ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใช้สืบต่อกันเรื่อยมานับแต่อดีตบางเส้นทางก็ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน

ตามรอยราชมรรคา “พระเจ้าชัยวรมันที่ 7”

จุดเริ่มต้นของการตามหาร่องรอยเส้นทางชัยวรมันที่ 7 นี้เริ่มจากที่อาจารย์สุรัสวดีตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าหนึ่งในเส้นทางของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีมาถึงเมืองพิมายจริงๆ เส้นทางนี้น่าจะยังใช้อยู่ในปัจจุบันและน่าจะพบหลักฐานหลงเหลืออยู่บ้างในประเทศไทย แต่ก็กลับไม่มีรายงานใดๆ ที่กล่าวถึงเส้นทางนี้ในภาคอีสานของประเทศไทยเลย และนี่ก็เป็นจุดที่ทำให้สนใจว่าเส้นทางนี้มีจริงๆ หรือเปล่า หรือว่ากล่าวไว้ในจารึกอย่างลอยๆ เท่านั้นเอง หรืออาจจะหายไปแล้วก็ได้ หรือว่าเพราะเราจะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นบนภาคพื้นดิน

ซึ่งในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ปรมาจารย์แห่งวิชาจารึกเขมร เคยกล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง “เมืองพระนคร นครวัด นครธม” ว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นอกจากจะทรงสร้างนครธม และปราสาทอีกมากมายแล้ว ยังได้สร้าง

“ที่พักคนเดินทางจำนวน 121 แห่งไว้สำหรับนักแสวงบุญตามสายทางเดินบนถนนที่ยกสูงขึ้นเป็นระยะๆ ถนนเหล่านี้หลายสายสร้างขึ้นในรัชกาลของพระองค์ อีกทั้งมีโรงพยาบาล 102 แห่ง กระจายไปทั้ง 4 ทิศทั่วราชอาณาจักร”

จากคำถามและข้อมูลเอกสารที่มีอยู่เพียงเล็กน้อย อาจารย์สุรัสวดีก็ เริ่มทำการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีด้านภาพถ่ายดาวเทียมเข้ามาช่วยในการตามหาร่องรอยของเส้นทาง “ราชมรรคา” พระเจ้าชัยวรมันที่ 7

การศึกษาโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมนี้ ช่วยได้อย่างมากในการใช้ศึกษาจุดหรือพื้นที่ที่ไม่สามารถเดินเท้าเข้าไปได้ ทั้งยังใช้ศึกษาร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ ทำให้เห็นสิ่งก่อสร้างหรืออะไรก็ตามที่อยู่บนดินได้

นอกจากภาพถ่ายดาวเทียมแล้วยังมีภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งทำให้เราสามารถศึกษาทางน้ำ และการตั้งอยู่ของชุมชน รวมทั้งศึกษาในเรื่องของการใช้ที่ดิน ลักษณะของที่ดิน ทิศทาง การวางตัวของแปลงที่ดิน ขนาดของที่ดิน สามารถศึกษาได้ว่าบริเวณไหนเป็นบริเวณเก่าแก่ที่สุด อยู่มาแต่กาลก่อนและอยู่ต่อมาเรื่อยๆ สามารถบอกอายุของโบราณสถาน และบอกอายุของการตั้งชุมชนบริเวณนั้นๆ

อาจารย์สุรัสวดีชี้ให้ดูตัวอย่างภาพถ่ายดาวเทียมในเขมร ซึ่งจากภาพจะมองเห็นบารายตะวันตก และสี่เหลี่ยมจัตุรัสของตัวเมืองพระนคร ซึ่งในจารึกเขมรกล่าวว่ามีเส้นทางออกจากเมืองพระนครตรงมุมบาราย โยงไปกับเส้นทางของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเชื่อกันว่านี่คือจุดเริ่มต้นของเส้นทางที่จะไปสู่เมืองพิมาย ส่วนเส้นทางไปยังอาณาจักรจามปา จะออกมาทางด้านทิศตะวันออก เส้นทางจามปานั้นในปัจจุบันยังอยู่อย่างสมบูรณ์ และมีไปจนถึงเวียดนาม สามารถเดินไปตามเส้นทางที่กล่าวในจารึกนี้ได้ ผู้คนปัจจุบันก็ยังใช้เส้นทางนี้อยู่

นอกจากนี้ในภาพถ่ายดาวเทียมอีกชิ้นหนึ่งที่ได้ถ่ายไว้ จะเห็นบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ส่วนที่เป็นดินแดนเขมร กับส่วนที่เป็นประเทศไทย คือแถบอำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ บริเวณนี้พบปราสาทใหญ่ 3 หลัง คือ ตาเมือน ตาเมือนธม และตาเมือนโต๊ด สันนิษฐานกันว่าเป็นช่องทางที่เขมรจะเข้ามายังที่ราบสูงโคราช ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นสระน้ำสี่เหลี่ยมมากมายในแถบนี้ จุดตรงนี้นี่เองที่นักโบราณคดีฝรั่งเศสสมัยโบราณสันนิษฐานว่าเส้นทางพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตัดผ่านขึ้นมาจากเมืองพระนคร เส้นทางลากผ่านเทือกเขาพนมดงรัก ตรงช่องตาเมือน และมาผ่านปราสาทใหญ่คือปราสาทหินพนมรุ้ง มุ่งตรงไปยังเมืองพิมาย

เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสขีดขึ้นไว้โดยการอ่านจากศิลาจารึก ก่อนที่จะมีภาพถ่ายทางอากาศ หรือดาวเทียม

แกะปริศนา “บ้านมีไฟ”

ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการสำรวจถนนหรือเส้นทางนี้อย่างจริงจัง แต่หากจะโยงกับข้อความในจารึกที่บอกถึงเส้นทางนี้ ถ้าเป็นเส้นทาง “ราชมรรคา” ของพระเจ้าชัยวรมันตามที่จารึกไว้ในปราสาทพระขรรค์จริงๆ ก็จะต้องมี “บ้านมีไฟ” อยู่ จากตรงนี้เองที่ทำให้นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสขีดเส้นตรงนี้ และสันนิษฐานว่า ปราสาทตาเมือนก็คือ “บ้านมีไฟ” หลังหนึ่งนั่นเอง

อนึ่ง บริเวณใกล้เคียงยังมีปราสาทอีกหลังหนึ่ง คือ ปราสาททะมอร์ และก่อนที่จะไปถึงเขาพนมรุ้ง ตรงเชิงเขาพนมรุ้ง “บ้านมีไฟ” อีกหลังหนึ่ง และจุดสุดท้ายของเส้นทาง คือตัวเมืองพิมาย พบ “บ้านมีไฟ” อีกหลังหนึ่งที่บริเวณนี้

ดังนั้นชาวฝรั่งเศสสมัยก่อนจึงคิดว่าเส้นทางของชัยวรมันที่ 7 แห่ง กรุงยโสธรปุระ ที่เข้ามาถึงพิมาย “น่าจะ” เป็นเส้นนี้แน่ๆ จึงขีดเส้นทางนี้เอาไว้

แต่หลังจากที่อาจารย์สุรัสวดีได้ลองศึกษาโดยการใช้ภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายดาวเทียม ศึกษาบริเวณที่มีความสำคัญที่สุด คือบริเวณปราสาทหินพนมรุ้ง เนื่องจากพนมรุ้งนั้นถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นศาสนสถานที่สำคัญในสมัยโบราณ ดังนั้นหากเส้นทางนี้มีจริงจะต้องพบทางเก่าแก่ที่จะมายังพนมรุ้ง เมื่อทำการศึกษาแล้วก็พบว่า มี “บ้านมีไฟ” อยู่บริเวณนี้จริงและพบ “โรงพยาบาล” ด้วย ดังที่ทราบกันแล้วว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงให้สร้าง “บ้านมีไฟ” และโรงพยาบาล หรือ “อโรคยาศาล” ทั่วพระราชอาณาจักรในรัชสมัยของพระองค์ ดังนั้นเราจะพบ “อโรคยาศาล” และ “บ้านมีไฟ” อยู่ทั่วไปหมดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ของไทยในปัจจุบัน)

โดยรูปลักษณะของ “บ้านมีไฟ” แล้วจะต่างกับ “อโรคยาศาล” เห็นได้เด่นชัด ทั้งแผนผัง ทิศที่หันหน้า และส่วนประกอบล้วนแต่มีลักษณะต่างกัน อย่างเช่นที่ปราสาทตาเมือนธม และตาเมือนโต๊ด หลังหนึ่งเป็นอโรคยาศาล อีกหลังหนึ่งเป็น “บ้านมีไฟ” ลักษณะผังไม่เหมือนกัน ตัวอาคารข้างใน หน้าต่างหลอกหน้าต่างจริง ก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเป็น “บ้านมีไฟ” ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ไม่ว่าจะในเขมร ในลาว จะเป็นแบบผังเดียวกันหมด นอกจากนี้ลักษณะเด่นของสิ่งที่เรียกว่า “เส้นทางพระเจ้าชัยวรมัน” นั้นคือต้องมี “บ้านมีไฟ” ส่วนอโรคยาศาลนั้นพบได้ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องอยู่บนเส้นทางก็ได้

ดังนั้นในการศึกษาหาเส้นทางของพระองค์เจ้าชัยวรมันนั้น จึงจำเป็นต้องใช้ “บ้านมีไฟ” เป็นเกณฑ์ สำหรับบริเวณปราสาทหินเมืองต่ำ และบารายอีกอันหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลกันนัก บริเวณนั้นมีโรงพยาบาลด้วย แสดงว่าอิทธิพลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 น่าจะมีมากทีเดียว เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไม่พบสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในสมัยพระองค์มากมายเช่นนี้ และเส้นทางของพระองค์ก็น่าจะผ่านบริเวณนี้ (ปราสาทหินพนมรุ้ง) แต่จะผ่านมาอย่างไร จะผ่านตรงลงมาจากข้างล่างหรือจะผ่านมาทางซ้าย-ขวาก็ยังไม่อาจทราบได้แน่ชัด

จากการศึกษาเส้นทางทั้งหมดนี้ มีบางเส้นที่เป็นถนนปัจจุบัน ซึ่งถนนนั้นสร้างทับเส้นทางโบราณ เราจะเห็นร่องรอยออกจากบารายปราสาทเมืองต่ำ และจะเห็นเส้นทางอีกเส้นหนึ่งจริงๆ แล้วมันจะเชื่อมต่อกันหมด ชุมชนปราสาทเมืองต่ำเองก็เคยเป็นชุมชนใหญ่ เส้นทางช่วงนี้พบว่า เป็นเส้นทางโบราณแน่ๆ ที่จะเดินไปพนมรุ้งจากปราสาทเมืองต่ำ ปัญหาคือเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางที่กล่าวในจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือไม่

จากตรงนี้อาจารย์สุรัสวดีศึกษาต่อไปยังเส้นทางข้างบนที่จะไปยังพิมาย น่าประหลาดที่ช่วงตรงบริเวณนั้นเส้นทางจะขาดหายไป และไปพบอีกช่วงหนึ่งคือ ตรงที่ออกจากพิมายพบเส้นทางอีกหนึ่งช่วง ซึ่งทำให้สันนิษฐานได้ว่ามันจะต้องออกจากพิมายจริงๆ แต่ว่าเส้นทางนี้จะไปทิศทางใดก็ไม่ทราบ ภาพถ่ายมันเลือนไปอาจจะถูกตัดไปในการดัดแปลงภูมิประเทศปัจจุบันก็เป็นได้

“บ้านมีไฟ” สันนิษฐานได้ว่าอาจจะตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนเดิม หรืออาจจะตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว ถ้ามีความเชื่อว่า “บ้านมีไฟ” เป็นที่พักคนเดินทาง อาจจะไม่จำเป็นต้องอยู่ในหมู่บ้านก็ได้ จะต้องอยู่ริมทางเดิน จากการที่เราศึกษา “บ้านมีไฟ” ทั้งหลาย จะพบว่า “บ้านมีไฟ” นั้นส่วนใหญ่จะต้องมีชุมชนประกอบ หรือมีการตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนั้นด้วย การตั้งถิ่นฐานนั้นจะอยู่ตลอดไป หรือจะเป็นชั่วเวลาหนึ่งก็แล้วแต่

แต่ในบริเวณพนมรุ้ง เราพบว่ามีการตั้งถิ่นฐานซ้ำซ้อนค่อนข้างมาก อาจจะตั้งมาก่อนสมัยชัยวรมันที่ 7 เพราะตัวปราสาทพนมรุ้งมีมาก่อนแล้ว บารายก็มีมาแล้ว เพราะฉะนั้นการตั้งถิ่นฐานของคนก็ควรจะมีอยู่แล้วด้วยเช่นกัน “บ้านมีไฟ” นั้นควรจะอยู่ในชุมชน หรือโดยทั่วไปควรจะอยู่ริมทางเดิน หรือใกล้กับริมทางเดิน

ในจารึกปราสาทพระขรรค์จะบอกไว้เลยว่า เส้นทางจากเขมรมาถึงพิมายนั้น มีบ้านมีไฟ 17 แห่ง ซึ่งขณะนี้พบเพียงแค่ 8 แห่งเท่านั้นในบริเวณประเทศไทย ที่เหลือยังหาไม่พบ การหาไม่พบอาจจะเป็นไปได้ว่าถูกทำลายไปหมดแล้ว หรือว่าไม่มีใครบันทึกเอาไว้

จากการศึกษาครั้งนี้ อาจารย์สุรัสวดีจึงทดลองใช้เครื่องมือวัดระยะทางที่เรียกว่า GPS (Geography Position System) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดทิศทางและระยะทางจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง ในความเป็นจริงแล้วเป็นเครื่องมือของพวกเดินเรือที่จะใช้หาตำแหน่งที่อยู่ในทะเล เครื่องมือ GPS ถูกนำมาใช้หาตำแหน่งและทิศทางของเส้นทางสายราชมรรคานี้ ซึ่งทำให้พบว่าเส้นทางจากเมืองพระนครมายังพิมายจริงๆ ถ้าลากเป็นเส้นตรงดิ่งจริงๆ จะเฉียงประมาณ 144 องศา แต่จากการที่ลองวัดเปรียบเทียบเส้นทางที่นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสขีดเอาไว้ พบว่ามันไม่ได้อยู่ในระยะ 144 องศาเลย

เมื่อพบระยะที่ไม่ตรงกันเช่นนี้ ทำให้อาจารย์สุรัสวดีลองตั้งสมมติฐานใหม่ว่า ถ้าอย่างนั้นเส้นทางที่มันเป็น 144 องศานั้น มีบ้านมีไฟอยู่บ้างไหม พบว่ามีเพียงบางแห่งเท่านั้นใน 4 หลัง ตรงนี้นี่เองทำให้สันนิษฐานว่า เป็นไปได้ไหมว่าเส้นทางที่ฝรั่งเศสขีดเอาไว้นั้นไม่ใช่ หรือใช่ไม่หมด นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสอาจจะใช้วิธีง่ายๆ ขีดลากผ่านพนมรุ้งไปเลย เพราะพนมรุ้งเป็นจุดสำคัญของเขมรในที่ราบสูง แล้วก็ลากตรงไปยังพิมาย

นี่จึงทำให้สันนิษฐานว่า เป็นไปได้ไหมที่เส้นทางนี้ไม่ได้เป็นเส้นทางตรง เส้นทางจากเขมรมายังพิมายอาจจะไม่ได้ตรงแบบนั้น แต่อาจคดเคี้ยวไปตามภูมิประเทศ ต้องผ่านเส้นทางที่เป็นลำน้ำสองลำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณนั้นจะเป็นบริเวณที่ลุ่ม และในฤดูน้ำน้ำท่วม ถ้าเพื่อลากเส้นตรงอย่างฝรั่งเศส ไม่ทราบว่าจะผ่านฤดูน้ำหลากไปได้อย่างไร จึงทำให้ตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่าอาจจะเป็นอีกเส้นหนึ่ง เส้นทางของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จริงๆ อาจจะไม่ตรงเช่นนี้ อาจมีลดเลี้ยวคดเคี้ยวไป นอกจากนี้เราก็พบ “บ้านมีไฟ” เพียงบางแห่งเท่านั้นเอง

นี่เป็นข้อที่อาจารย์สุรัสวดีพยายามศึกษา โดยสมมติฐานที่ว่า หากเราเชื่อในเรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ว่าสามารถจะวัดระยะทางได้จริง แล้วมาดูว่าในระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร นั้น มี “บ้านมีไฟ” ทั้งหมดกี่แห่ง จากนั้นก็คำนวณว่าบ้านแต่ละแห่งนั้น ใช้ระยะเวลาในการเดินทางเท่าไร เพื่อที่ว่าเราอาจจะพบ “บ้านมีไฟ” หลังอื่นๆ ที่เรายังหาไม่พบก็ได้? นอกจากนี้มีเส้นทางอื่นอีกหรือไม่?

ซึ่งจากการศึกษาแล้วก็ทำให้เห็นความเป็นไปได้ว่า เส้นทางนี้ที่นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสขีดไว้นั้นอาจจะไม่ใช่เส้นทางสายชัยวรมันจริงๆ ก็ได้ หรือเป็นไปได้อีกว่าเส้นทางของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในเขตประเทศไทยยังไม่มีการสร้าง เป็นแต่เพียง “โครงการ” เท่านั้นที่กล่าวไว้ในจารึกว่ามีสามเส้นทาง ในขณะที่ในประเทศเขมร เราพบตลอด และก็ยังครบบริบูรณ์ ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า หากในเขมรสามารถที่จะรักษาไว้ได้ครบบริบูรณ์ เหตุใดในเมืองไทยที่ห่างกันไม่กี่กิโลเมตร จึงไม่พบเห็นเส้นทางดังกล่าว และเป็นไปได้หรือ ที่มันจะเลือนหายไปหมดตลอดเส้นทาง ในเมื่อในเขมรยังรักษาไว้ได้ สภาพอากาศ สภาพของคนก็คล้ายๆ กับประเทศไทย

ดังนั้นเส้นทางสายชัยวรมันที่ 7 ก็อาจจะยังไม่เสร็จ เป็นเพียง “โครงการ” (project) ที่จะต้องมี แล้วก็มาสร้าง “บ้านมี ไฟ” เอาไว้ก่อน เพื่อที่จะกำหนดเส้นทางเอาไว้ก็เป็นไปได้

แม้ว่าจะยังไม่สามารถชี้ชัดไปได้แน่นอนว่าเส้นทางสายพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียง project ที่คิดจะสร้างในอนาคต แต่อย่างน้อยอาจารย์สุรัสวดีก็ได้เริ่มต้นที่จะลองตามหารากรอยของเส้นทางดังกล่าว และได้รู้ว่ายังมีคำถามอีกมากมายที่รอคอยนักโบราณคดีรุ่นหลังให้ก้าวไปค้นคว้าศึกษาต่อไป

หมายเหตุ: เพิ่มหัวข้อย่อยโดย กอง บก. ออนไลน์ เพื่อความสะดวกในการอ่าน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ตุลาคม 2565