โรงพยาบาลกับสมุนไพร สมัยดึกดำบรรพ์ : จากจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่พบในประเทศไทย

ประติมากรรมสำริดภาพพระไภษัชยคุรุไวฑุรยประภา และ พระอวโลกิเตศวร สันนิษฐานว่า ใบหน้าถ่ายแบบมาจาก พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ประติมากรรมสำริดภาพพระไภษัชยคุรุไวฑุรยประภา และ พระอวโลกิเตศวร สันนิษฐานว่า ใบหน้าถ่ายแบบมาจาก พระเจ้าชัยวรมันที่ 7

โรงพยาบาล หรืออโรคยศาลา

ระหว่าง พ.ศ. 1724-1761 (?) ราชอาณาจักรเขมรโบราณอันมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพระนครหลวง ได้ถูกปกครองโดย พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของเขมรโบราณ

นอกเหนือจากการขยายราชอาณาจักรแล้ว พระองค์ได้สร้างสาธารณูปโภคและสาธารณูปการหลายประการ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในราชอาณาจักรของพระองค์ ได้แก่ การสร้างถนน จากทุกแคว้นในราชอาณาจักรมุ่งสู่เมืองพระนครหลวง การสร้างที่พักคนเดินทาง ที่เก็บไฟ การขุดสระน้ำ และการสร้างโรงพยาบาล หรือที่ปรากฏในจารึกว่า อโรคยศาลา

โดยเฉพาะโรงพยาบาลหรืออโรคยศาลานี้พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงสร้างไว้ทั้งสิ้น 102 แห่ง กระจายอยู่ทั่วราชอาณาจักร

โรงพยาบาลหรืออโรคยศาลานี้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นด้วยไม้ เนื่องจากอิฐ หิน หรือศิลาแลงนั้นสงวนไว้สำหรับสร้างศาสนสถานเท่านั้น ส่วนใหญ่จึงหักพังสูญหายไป คงเหลือแต่วิหารหรือศาสนสถานของโรงพยาบาล และศิลาจารึกไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น

จากลักษณะของศาสนสถานส่วนใหญ่สร้างขึ้นด้วยหิน หรือศิลาแลง ปราสาทประธานตรงกลางหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบรรณาลัยทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน บรรณาลัยจะหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ล้อมรอบด้วยกำแพงซึ่งมีซุ้มประตูหรือโคปุระอยู่ด้านหน้าและมีสระน้ำอยู่นอกกำแพง (เซเดส์ ยอร์ช. 2535, 207-208)

ปราสาทตาเมือนโต๊จ ศาสนสถานประจำอโรคยศาล สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ศิลาจารึกโรงพยาบาล

ศิลาจารึกที่พบบริเวณโรงพยาบาล หรือที่เรียกว่าศิลาจารึกโรงพยาบาล จะมีข้อความเกือบเหมือนกันทั้งหมด คือ จะกล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้า กษัตริย์ และกล่าวถึงการจัดระเบียบแบบแผนของสถานพยาบาล (มาดแลน จีโต. 2526, 64, เซเดส์ ยอร์ช. 2535, 208)

นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงการเบิกจ่ายอาหาร ยา จากท้องพระคลังหลวง และได้ระบุชื่อยา ชื่อสมุนไพร ตลอดจนจำนวนของแต่ละสิ่งไว้ในจารึก ซึ่งศิลาจารึกโรงพยาบาลนี้มีพบในประเทศไทยทั้งสิ้น 5 หลัก คือ ศิลาจารึกด่านประคำ พบที่ตำบลด่านประคพ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์, ศิลาจารึกเมืองพิมาย พบที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา, จารึกปราสาทตาเมือนโตจ พบที่ปราสาทตาเมือนโตจ อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์, จารึกปราสาท พบที่อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ และจารึกสุรินทร์ 2 ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ จารึกทั้ง 5 หลัก ได้อ่านและแปลโดย นายชะเอม แก้วคล้าย (ศิลปากร, กรม. 2529, 189-251)

พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา พระโพธิสัตว์ผู้รักษาโรคภัย

ในตอนต้นของจารึกเป็นคำกล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้าและพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา จากนั้นจึงกล่าวถึงพระอาทิตย์ พระจันทร์ และกษัตริย์ ซึ่งหมายถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระโอรสแห่งพระเจ้าธรณินทรวรมัน ซึ่งประสูติแต่เจ้าหญิงแห่งเมืองชยาทิตยปุระ ได้ชัยชนะจากการทำสงครามกับแว่นแคว้นต่าง ๆ แล้ว พระองค์ได้พิจารณาเห็นความทุกข์ด้วยโรคร้ายในหมู่ประชาชนของพระองค์ จึงได้ทรงสร้างโรงพยาบาลพร้อมด้วยวิหารขึ้น เพื่อประดิษฐานรูปพระโพธิสัตว์ไภษัชยคุรุฯ และเปิดให้บริการแก่คนในวรรณะทั้ง 4

พระโพธิสัตว์ไภษัชยคุรุไวฑุรยประภา มีอานุภาพในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ บ้างถือกันว่าเป็นชยานิพุทธเจ้า บ้างก็ถือว่าเป็นมนุษยพุทธเจ้า (ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. 2503, 62) มักทำเป็นรูปพระพุทธรูปทรงเครื่องปางนาคปรก แม้ว่าบางรูปจะไม่ปรากฏพังพานนาค แต่ยังคงมีขนดหางนาค จะแตกต่างจากพระพุทธรูปนาคปรก ก็คือภายในพระหัตถ์ที่ประสานกันเหนือพระเพลา มีวัตถุรูปกรวยอยู่ภายในวัตถุนี้อาจเป็นยา หรือดอกไม้ หรือวัชระ (สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศ.ม.จ., 2551, 69)

รูปพระไภษัชยคุรุฯ จะประดิษฐานอยู่ในวิหารของสถานพยาบาล รูปพระไภษัชยคุรุฯ บางครั้ง พบว่าไม่ได้ทำเป็นพระพุทธรูปนาคปรก แต่จะทำเป็นปางสมาธิมีวัตถุรูปกรวยอยู่ในพระหัตถ์ ประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งลักษณะนี้มักจะพบเป็นบันแถลงประดับยอดปราสาท เช่นที่พบที่วัดพระพายหลวง จังหวัดสุโขทัย และที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

(ซ้าย) บันแถลงสลักภาพพระไภษัชยคุรุไวฑุรยประภา ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย (ขวา) ประติมากรรมสำริดภาพพระไภษัชยคุรุไวฑุรยประภา ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2537)

ระเบียบของสถานพยาบาล

ศิลาจารึกโรงพยาบาลได้กล่าวถึงระเบียบบริหารและบริการในโรงพยาบาลค่อนข้างละเอียดและคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ในการรักษาจะมีผู้ดูแล 4 คน แพทย์ 2 คน โดยมีบุรุษ 1 คน และสตรี 1 คนเป็นผู้ให้สถิติ (อาจหมายถึงผู้ช่วยของแพทย์) ในการดูแลทรัพย์ จ่ายยา รับข้าวเปลือก และฟืน ใช้บุรุษ 2 คน (จารึกตาเมือนโตจกล่าวว่าดูแลทรัพย์ หาข้าวเปลือก หายา และฟืน ใช้บุรุษ 1 คน) ในการหุงต้ม ทำความสะอาด จ่ายน้ำ หาดอกไม้และหญ้าบูชายัญ ใช้บุรุษ 2 คน ในการจัดพลีทาน ทำบัตร จ่ายบัตรสลาก และหาฟืนเพื่อต้มยา ใช้บุรุษ 2 คน

นอกจากนี้ยังปรากฏในศิลาจารึกถึงผู้ดูแลรักษาโรงพยาบาลและผู้ส่งยาให้แก่แพทย์เป็นบุรุษ 14 คน ผู้บดหรือโม่ยาที่สันดาปด้วยน้ำเป็นสตรี 6 คน ผู้ทำหน้าที่ตำข้าวเปลือก 2 คน และจำนวนรวมของผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่ปรากฏในจารึกแตกต่างกันคือ ในจารึกปราสาท และจารึกด่านประคำมีจำนวนคนรวม 22 คน ในจารึกตาเมือนโตจระบุว่าเป็นบุรุษ 24 คน เป็นสตรี 26 คน หรือรวมแล้ว 50 คน และในจารึกสุรินทร์ 2 ระบุจำนวนรวมทั้งหมด 98 คน (ศิลปากร, กรม. 2529, 189-251, เซเดส์ ยอร์ช. 2535, 209)

สมุนไพรในจารึก

จารึกโรงพยาบาลได้กล่าวถึงชื่อสิ่งของหลายอย่างที่เบิกจากพระคลังเพื่อบูชายัญ และเพื่อใช้ในการรักษา ในบรรดาสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดปรากฏชื่อพืชหรือผลิตผลของพืชหลายชนิด ซึ่งอาจใช้ในการรักษา ได้แก่

ผลตำลึง, กฤษณา, ข้าวบาร์เลย์, ดีปลี, บุนนาค, ผลจันทน์เทศ, ผลกระวานเล็ก, ขิงแห้ง, พริกไทย, ผักทอดยอด, อบเชย, หญ้ากระด้าง, กระเทียม, พริกขี้หนู, พุทรา, ข้าวสาร, ถั่ว, การบูร, เมล็ดธานี, ถั่วฝักยาว, ยางสน, มิตรเทวะ, ทารวเฉท, ดอกไม้ ฯลฯ

สมุนไพรเหล่านี้สามารถเบิกจากท้องพระคลังได้ปีละ 3 ครั้ง เพื่อบูชายัญและส่วนที่เหลือจะบริจาคให้คนไข้ ชื่อสมุนไพรที่ปรากฏในจารึกคงไม่ใช่สมุนไพรทั้งหมดที่ใช้ในอโรคยศาลา ส่วนหนึ่งของสมุนไพรคงได้จากการเก็บหาดังปรากฏในจารึกที่ว่า “ผู้มอบ…บุรุษคนหนึ่งเป็นผู้ดูแลทรัพย์เป็นผู้หาข้าวเปลือก ยา และพืน” (ศิลปากร, กรม. 2528, 225) แสดงให้เห็นว่านอกจากจะเบิกจากท้องพระคลังได้แล้วยาส่วนหนึ่งยังต้องเก็บหามาใช้ จึงไม่สามารถบอกได้ว่าอโรคยศาลาในอดีตใช้สมุนไพรใดรักษาโรคให้คนไข้ เนื่องจากข้อมูลที่กล่าวไว้ในจารึกจะเป็นเรื่องบูชา และเรื่องของกษัตริย์เป็นส่วนใหญ่ รายชื่อสมุนไพรที่ปรากฏอยู่ก็เป็นสมุนไพรเฉพาะที่กษัตริย์พระราชทานให้ประชาชน

สาเหตุที่กษัตริย์พระราชทานเฉพาะสมุนไพรที่กล่าวไว้ในจารึกนั้นอาจสันนิษฐานได้ว่า การเข้ามาของวัฒนธรรมอินเดียโบราณภายใต้อิทธิพลศาสนาพราหมณ์ได้นำเอาความรู้วิชาแพทย์แบบอายุรเวทมาด้วย ความรู้แบบนี้เป็นการแพทย์แบบทฤษฎีธาตุ เป็นส่วนหนึ่งในอาถรรพเวทของคัมภีร์พระเวท การแพทย์แบบอายุรเวทนี้ได้รับการอุปถัมภ์จากราชสำนักมาโดยตลอด แม้ว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งทรงสร้างอโรคยศาลาจะนับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายานก็ตาม แต่ระบบการแพทย์ที่สืบทอดกันมายังคงเป็นแบบเดิม คือ ยึดถือทฤษฎีธาตุซึ่งอธิบายภาวะการเจ็บป่วยของมนุษย์ว่าเกิดจากความไม่สมดุลของธาตุต่าง ๆ ในร่างกาย อันได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ

สมุนไพรที่ปรากฏอยู่ในจารึกส่วนใหญ่จะเป็นสมุนไพรที่ใช้ปรับธาตุต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลในร่างกาย ดังปรากฏในจารึกปราสาทที่กล่าวว่า “…เภษัชที่ทำให้ร้อนด้วยพริกผงและบุนนาคก็เท่ากัน…” (ศิลปากร, กรม. 2529, 241) และสมุนไพรบางชนิดจะเป็นเครื่องเทศที่ใช้ประกอบอาหาร อย่างไรก็ตามรายชื่อของพืชบางชนิดยังมีข้อชวนสงสัยกล่าวคือ ผักทอดยอดที่ปรากฏในจารึกเมืองพิมายและจารึกปราสาทตาเมือนโตจ เป็นราชาศัพท์แปลได้ว่า ผักบุ้ง นั้น อาจหมายถึง เถาสะค้าน ซึ่งเป็นสมุนไพรประจำธาตุลม มีลักษณะทอดยอดไปตามต้นไม้ใหญ่ ข้อสงสัยที่ยกตัวอย่างขึ้นมากล่าวนี้อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการแปลมีโอกาสที่จะคลาดเคลื่อนได้ในหลาย ๆ ตอน นับตั้งแต่การถอดความเป็นคำอ่านที่หนึ่ง และแปลจากคำอ่านมาอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีพืชบางชนิด เช่นข้าวบาร์เลย์ หรือหญ้ากระด้าง ก็ยังน่าสงสัยว่าจะแปลได้ตรงความหมายหรือไม่ เพราะในตำราทางอายุรเวทไม่ปรากฏชื่อสมุนไพรทั้งสองชนิดนี้เลย และพืชบางชนิดที่อ่านได้จากจารึก เช่น มิตรเทวะ การวเฉท ผู้แปลก็ยังได้ให้หมายเหตุไว้ว่า ไม่ทราบความหมายภาษาไทย ดังนั้น โอกาสที่จะมีความคลาดเคลื่อนในการแปลจึงเป็นไปได้มาก

การที่กษัตริย์ทรงอุปถัมภ์การแพทย์แบบอายุรเวทนั้น เมื่อจำเป็นต้องใช้สมุนไพรชนิดใดที่ไม่อาจเก็บหาได้ง่าย กษัตริย์จึงทรงให้เบิกจากท้องพระคลัง ซึ่งจะเห็นได้ว่าสมุนไพรที่ปรากฏอยู่ในจารึกเป็นสมุนไพรที่นิยมใช้กันทั่วโลกในสมัยนั้น และบางชนิดเป็นของต่างประเทศ เช่น จันทน์เทศ (NUTMEG) พืชพื้นเมืองแถบเกาะ MOLUCCAS ใช้เป็นยากระตุ้นหรือยาขับลม

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าสมุนไพรที่ปรากฏในจารึกจะเป็นสมุนไพรต้องส่งเข้ามาจากต่างประเทศ เป็นสมุนไพรที่หายาก หรือเป็นสมุนไพรที่มีเฉพาะฤดูกาลซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในพระคลัง ส่วนสมุนไพรที่สามารถเก็บหาได้ทั่ว ๆ ไปไม่ต้องเบิกจากพระคลัง จึงไม่มีชื่อระบุไว้ในจารึก เราจึงไม่สามารถรู้ว่าสมุนไพรทุกชนิดที่ใช้ในอโรคยศาลามีอะไรบ้าง

(ซ้าย) ประติมากรรมสำริดภาพพระไภษัชยคุรุไวฑุรยประภา ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ (ขวา) บันแถลงภาพพระไภษัชยคุรุไวฑุรยประภา ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2537)

ยาและศรัทธาในจารึก

จารึกที่กล่าวมาแล้วข้างต้นไม่ได้หมายความว่าการแพทย์เขมรในสมัยนั้นจะมีเฉพาะการแพทย์แบบอายุรเวทเพียงอย่างเดียว แต่น่าจะมีการผสมผสานการแพทย์จากประสบการณ์ของท้องถิ่นซึ่งมีการใช้สมุนไพรในท้องถิ่นตามประสบการณ์ของบรรพบุรุษ และลักษณะการแพทย์แบบนี้จะไม่มีการถ่ายทอดกันอย่างเปิดเผยเป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจากตำรายามักจะเป็นที่หวงแหนไม่ถ่ายทอดกันง่าย ๆ หากไม่ได้ทำพิธีเรียนต่อครูนั้นถือว่าผิดครู

คำว่าครูของเขมรนั้นเป็นชื่อที่ใช้เรียกหมอมาจนถึงปัจจุบัน ครูในลักษณะนี้จะไม่ใช่หมอรักษาโรคเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีพลังลึกลับ อำนาจเหนือธรรมชาติ และเวทมนตร์ ควบคู่ไปกับการรักษาโดยใช้ยา พร้อมกันนั้นครูจะต้องมีคุณธรรมเป็นวัตรปฏิบัติ ซึ่งมักจะพบหลักฐานระบุคำว่า บรมครู ในจารึกต่าง ๆ เช่น “…ผู้ประกอบพิธีบูชายัญ สองคน ผู้เป็นโหราจารย์หนึ่งคน คนทั้งสามเหล่านั้น เป็นผู้ทรงคุณธรรม และอยู่ในการบังคับของบรมครูแห่งศรีราชวิหาร…” (ศิลปากร, กรม. 2529, 227 และ 242) ยาและศรัทธาจึงประกอบกันเป็นอโรคยศาลา

ในการรักษาพยาบาล การจัดระบบในโรงพยาบาลและการจัดหายามาบริการนั้น ทางการแพทย์ตะวันตกจะถือว่าเพียงพอในการดำเนินงาน แต่ในเขมรแล้วยังไม่เพียงพอไม่ว่าจะเป็นเมื่อพันปีที่แล้วหรือแม้แต่ในปัจจุบัน สิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ คือ อำนาจเหนือธรรมชาติ เวทมนตร์ และอาจรวมไปถึงการสร้างพระไภษัชยคุรุฯ เพื่อให้บารมีจากพระองค์แผ่เมตตาต่อคนไข้ในอโรคยศาลา จนไม่อาจกล่าวได้ว่าระหว่างการรักษาพยาบาล และศรัทธานั้นส่วนไหนจะสำคัญมากกว่ากัน

ดูเหมือนว่าศรัทธาจะมีความสำคัญมากกว่า เพราะว่าหลักฐานที่ปรากฏทำให้คนรับรู้ส่วนที่เป็นศรัทธามากกว่ายา เนื่องจากพื้นฐานของวัฒนธรรมพราหมณ์นั้น เชื่อว่าเทพต่าง ๆ มีอิทธิฤทธิ์ และสามารถกำจัดอำนาจชั่วร้ายได้ ความเชื่อนี้เข้ามาพร้อม ๆ กับความรู้ทางการแพทย์แบบอายุรเวท และฝังรากลึกมาก แม้ว่าเขมรจะรับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาก็ได้สร้างพระไภษัชยคุรุฯ ทดแทนเทพเจ้าของพราหมณ์ จนกลายเป็นพระโพธิสัตว์ หรือพระพุทธเจ้าแห่งการรักษาโรคไป

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือครูผู้รักษาคนไข้ ซึ่งจะต้องมีคุณธรรมซึ่งแม้กระทั่งปัจจุบันแนวความคิดแบบนี้ก็ยังคงมีอยู่

จึงอาจสรุปได้ว่าการรักษานั้นจะประกอบด้วยยาหรือสมุนไพร ด้วยศรัทธาและความเคารพนับถือในคุณธรรมของครู และด้วยบารมีของพระไภษัชยคุรุฯ

จากเอกสารของคณะกรรมการประเมินผลเทคโนโลยี (TECHNOLOGY ASSESSMENT BOARD) ของรัฐสภาอเมริกันกล่าวว่า การหายจากโรคที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์นั้น มีไม่ถึงร้อยละ 20 นอกจากนั้นหายเพราะเหตุอื่น เช่น หายเอง หายเพราะความเชื่อหรือศรัทธา หายเพราะการได้รับความเอาใจใส่ หากเราได้เรียนรู้วัฒนธรรมการแพทย์เขมรจากหลักฐานที่ได้จากอโรคยศาลาแล้ว จะเห็นได้ว่า แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมานับพันปี แต่ศรัทธาความเชื่อก็ยังฝังลึกและถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ในปัจจุบันมักมองกันว่าศรัทธาเป็นเรื่องงมงายเหลวไหลน่าจะกำจัดให้สาบสูญไป โดยลืมไปว่าในขณะเดียวกันการหลงหรือคลั่งไคล้ในเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาจจะเป็นศรัทธาที่สิ้นเปลืองกว่าการศรัทธาในองค์พระไภษัชยคุรุฯ หรือความนับถือเชื่อมั่นในครู

เราจึงได้แต่เพียงหวังว่าเขมรจะหันมามองอโรคยศาลา และปรับปรุงใช้ให้เหมาะสมกับยุคสมัย อย่าได้บริโภคยากล่อมประสาทหรือมีสารพัดยามากมายเท่าเมืองไทย หรือประเทศที่พัฒนารุ่งเรืองสุดขีดเช่นสหรัฐอเมริกาเลย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


บรรณานุกรม :

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา “ตำนานพระพุทธเจดีย์”. (พระนคร : ศิวพร), 2503

มาดแลน จีโต, ศ. “ประวัติเมืองพระนคร (ANGKOR) ของขอม” ศ.มล.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปล. (กรุงเทพฯ : บริษัทจันวาณิชย์ จำกัด), 2526

ยอร์ช เซเดส์, ศ. “เมืองพระนคร นครวัด นครธม” ปรานี วงษ์เทศ แปล. (กรุงเทพฯ : พิฆเณศพริ้นติ้ง เซ็นเตอร์), 2535

ศิลปากร, กรม “จารึกในประเทศไทย เล่ม 4″. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ภาพพิมพ์), 2529

สุภัทรดิศ ดิศกุล, ศ.ม.จ. “ประติมากรรมขอม” บทความใน นิตยสารศิลปากร ปีที่ 12 เล่ม 4 พ.ศ. 2511


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “โรงพยาบาลกับสมุนไพร สมัยดึกดำบรรพ์ : จากจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่พบในประเทศไทย” เขียนโดย พีรพน พิสณุพงศ์ และสุภาภรณ์ ปิติพร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2537


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ตุลาคม 2565