ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ปราสาทตาเมือนธมและปราสาทตาควาย

ปราสาทประธานของปราสาทตาเมือนธมซึ่งมีมณฑปต่อยื่นออกมาทางด้านหน้า

พื้นที่ชายแดนระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยกับภาคเหนือของประเทศกัมพูชามีปราสาทหินและร่องรอยหลักฐานอื่นๆ จำนวนมากที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของผู้คนระหว่างดินแดนทั้งสอง เป็นประจักษ์พยานให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของผู้คน วัฒนธรรมความเชื่อ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนสองฟากเทือกเขาพนมดงรัก แต่น่าเสียดายที่หลักฐานจากอดีตนี้ในปัจจุบันได้กลับกลายเป็นปมปัญหาของทั้ง 2 ประเทศ

นอกเหนือไปจากปราสาทพระวิหารที่เป็นกรณีพิพาทกันมายาวนานแล้ว ในระยะไม่กี่ปีมานี้มีปราสาทหิน 2 แห่ง คือ ปราสาทตาเมือนธม อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ และปราสาทตาควายซึ่งไม่แน่ว่าอยู่ในดินแดนประเทศไทยหรือประเทศกัมพูชา ได้เป็นหนึ่งในปัญหาความขัดแย้ง จนกระทั่งบานปลายกลายเป็นสมรภูมิรบดังที่ได้ทราบกันดี

สวยัมภูลึงค์ รูปเคารพประธานของปราสาทตาเมือนธม

ปราสาทตาเมือนธม

ปราสาทตาเมือนธมตั้งอยู่บริเวณช่องตาเมือนซึ่งเป็นหนึ่งในช่องเขาสำคัญของเทือกเขาพนมดงรัก ผู้คนในอดีตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกับในประเทศกัมพูชาใช้ช่องตาเมือนเป็นหนึ่งในเส้นทางสำหรับติดต่อไปมาหาสู่กัน เส้นทางคมนาคมสายนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเสมือนเครื่องมือเชื่อมศูนย์กลางการเมืองการปกครองที่ประเทศกัมพูชาคือเมืองพระนคร กับชุมชนใหญ่ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อาทิ ชุมชนบริเวณเขาพนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ชุมชนเมืองพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

ในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-62) พระองค์โปรดให้สร้างบ้านมีไฟหรือที่พักคนเดินทางตามเส้นทางสายต่างๆ ทั่วอาณาจักร หนึ่งในนั้นคือเส้นทางที่เชื่อมระหว่างเมืองพระนครกับเมืองพิมายซึ่งต้องผ่านช่องตาเมือนนี้ โดยพระองค์โปรดให้สร้างบ้านมีไฟบนเส้นทางนี้ถึง 17 หลัง สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นเส้นทางสำคัญของอาณาจักรเขมรโบราณอย่างแท้จริง

หลักฐานที่เก่าที่สุดเท่าที่พบในปัจจุบันบริเวณปราสาทตาเมือนธม ได้แก่ จารึกปราสาทตาเมือนธม 1 เขียนอยู่บนพื้นหินธรรมชาติภายในลานปราสาทด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต กำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 เนื้อความเกี่ยวข้องกับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์และการบูชาให้พระศิวะ [1] ทำให้เชื่อได้ว่าตั้งแต่ระยะเวลานั้นพื้นที่แห่งนี้คงถูกใช้เป็นเทวสถานของพระศิวะแล้ว

แผนผังของปราสาทตาเมือนธม (ภาพจาก Smitthi Siribhadra and Elizabeth Moore. Palaces of The Gods: Khmer Art and Architecture in Thailand. Bangkok : River Books, 1992.)

นอกจากนี้ที่ปราสาทตาเมือนธมยังได้พบจารึกอีกจำนวนมาก ทำให้ทราบถึงกิจกรรมต่างๆ ที่กระทำกันในสถานที่แห่งนี้ได้ในระดับหนึ่ง เช่น จารึกปราสาทตาเมือนธม 9 ระบุมหาศักราชตรงกับ พ.ศ. 1421 จารึกขึ้นเพื่อชี้แจงเรื่องที่ดินของศาสนสถานตามทิศต่างๆ ที่มีอยู่ในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 3 (พ.ศ. 1393-1420) และภายหลังจากที่พระองค์สวรรคตไปแล้ว [2] ที่ดินเหล่านี้คงมีทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน จารึกปราสาทตาเมือนธม 4 ระบุมหาศักราชตรงกับ พ.ศ. 1556 รัชกาลพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1553-93) เนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวถึงการถวายที่ดินและปักหลักเขตที่ดินของศาสนสถานแห่งนี้ การถวายสิ่งของเพื่อสักการบูชาเทพเจ้า [3] และจารึกปราสาทตาเมือนธม 5 ระบุมหาศักราชตรงกับ พ.ศ. 1563 รัชกาลพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 เนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงการถวายสิ่งของและข้าทาสให้เทพเจ้า [4]

ปราสาทประธานของปราสาทตาเมือนธมและแนวท่อโสมสูตร

ข้อมูลที่ได้จากจารึกตามที่กล่าวถึงไปข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของปราสาทตาเมือนธมในฐานะศูนย์กลางของความเชื่อถือศรัทธาของผู้คนได้เป็นอย่างดี ซึ่งนอกเหนือไปจากความสำคัญต่อชุมชนโดยรอบแล้ว น่าจะมีความสำคัญต่อส่วนกลางของอาณาจักรด้วย เพราะจารึกข้างต้นกล่าวถึงกษัตริย์พระองค์ต่างๆ ถวายสิ่งของหรือที่ดินแก่ศาสนสถานอยู่เนืองๆ

อย่างไรก็ตาม ปราสาทองค์ที่เก่าไปจนถึงพุทธศตวรรษที่ 12-13 ร่วมสมัยกับจารึกปราสาทตาเมือนธม 1 ไม่เหลือให้เห็นแล้ว ปราสาทตาเมือนธมองค์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1500-1600 สังเกตได้จากลวดลายที่พบตามส่วนต่างๆ ของปราสาทเป็นลวดลายตรงตามศิลปะเขมรแบบบาปวน เป็นไปได้มากที่ปราสาทองค์นี้จะสร้างขึ้นทดแทนปราสาทองค์ที่เก่ากว่า แต่ทั้งนี้รูปเคารพประธานคือสวยัมภูลึงค์น่าจะเป็นรูปเคารพที่มีมาแต่เดิม

สวยัมภูลึงค์ คือหินธรรมชาติที่มีรูปลักษณ์คล้ายอวัยวะเพศชาย ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ถือว่าเกิดขึ้นจากพระประสงค์ของพระศิวะ ทำให้ลึงค์ประเภทนี้มีความศักดิ์สิทธิ์และได้รับการนับถือบูชาเป็นอย่างยิ่ง สำหรับสวยัมภูลึงค์ของปราสาทตาเมือนธมประดิษฐานอยู่ภายในห้องครรภคฤหะของปราสาทประธาน มีลักษณะเป็นแท่งหินธรรมชาติที่ถูกขัดแต่งให้อยู่ในผังกลม เจตนาให้เป็นรูปลักษณ์ของปลายลึงค์ เชื่อมต่อเป็นชิ้นเดียวกันกับพื้นห้อง (หรือโยนี) ซึ่งพื้นห้องดังกล่าวนี้ก็คือพื้นหินธรรมชาติที่รองรับตัวปราสาทนั่นเอง จารึกที่พบจากปราสาทแห่งนี้เอ่ยถึงการถวายที่ดินและสิ่งของแก่พระกัมรเตงชคัตศิวบาท อาจเป็นไปได้ว่าพระนามดังกล่าวเป็นพระนามของสวยัมภูลึงค์องค์นี้

ปราสาทตาเมือน ศาสนสถานประจำที่พักคนเดินทาง สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗

ปราสาทตาเมือนธมหันหน้าไปทางทิศใต้ องค์ประกอบที่พบในปัจจุบันประกอบด้วยปราสาทประธานซึ่งมีมณฑปต่อยื่นออกมาทางด้านหน้า ปราสาทบริวาร 2 องค์ตั้งอยู่ทางมุมด้านหลังของปราสาทประธาน มีอาคารรูปสี่เหลี่ยม ร่องรองหลุมเสา และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ กระจายตัวอยู่โดยรอบ ทั้งหมดปิดล้อมด้วยแนวระเบียงคด นอกแนวระเบียงคดทางด้านทิศใต้มีบันไดทางขึ้นสู่ศาสนสถาน แม้ว่าโครงสร้างจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ลวดลายสลักมีสมบูรณ์แต่เพียงบริเวณห้องประดิษฐานรูปเคารพประธานเท่านั้น ส่วนอื่นๆ ของปราสาทยังสลักไม่แล้วเสร็จ อาจเป็นไปได้ว่าช่างสลักมีจำนวนน้อยและมีความจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งจึงต้องละทิ้งงานไป

ความสำคัญของปราสาทตาเมือนธมยังคงมีอยู่สืบเนื่องต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 หรือรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพราะตั้งอยู่บริเวณช่องตาเมือนอันเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางราชมรรคาที่เชื่อมระหว่างเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา กับเมืองพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ในระยะนี้นี่เองที่มีการสร้างปราสาทสำคัญ 2 องค์ตามพระราชโองการของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คือ ปราสาทตาเมือนและปราสาทตาเมือนโต๊จ อันเป็นศาสนสถานประจำที่พักคนเดินทางและอโรคยศาลตามลำดับ ปราสาททั้งสองอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทตาเมือนธมไม่ไกลนัก เหล่านี้เป็นประจักษ์พยานให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของชุมชนโบราณที่มีปราสาทตาเมือนธมเป็นศูนย์กลางความเชื่อถือศรัทธาได้เป็นอย่างดี

ปราสาทตาเมือนโต๊จ ศาสนสถานประจำอโรคยศาล สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗

ปราสาทตาควาย

ปราสาทตาควาย ตัวปราสาทก่อด้วยหินทราย แม้จะเป็นเพียงก่อขึ้นรูปไว้ แต่ก็ยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่มาก ชั้นหลังคายังอยู่ครบ มีผังเพิ่มมุม มีมุขทางเข้าที่ด้านทั้งสี่ คือแบบแผนทั่วไปของปราสาทหินในสมัยเมืองพระนคร แต่เนื่องจากไม่มีลวดลายสลักทำให้การกำหนดอายุทำได้เพียงคร่าวๆ ว่าอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ (เอื้อเฟื้อภาพโดย กรมศิลปากร)

ศาสนสถานขนาดเล็กแห่งนี้เพิ่งเป็นที่รู้จักเมื่อไม่นานมานี้ ชื่อปราสาทเรียกตามชื่อช่องเขาอันเป็นที่ตั้งคือช่องตาควาย จากการสำรวจของคณะกองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ซึ่งเป็นการสำรวจที่ให้ข้อมูลของปราสาทองค์นี้ได้ดีที่สุดในปัจจุบัน [5] ทำให้ได้ข้อมูลว่าปราสาทตาควายเป็นปราสาทหินทรายองค์เดียวโดดๆ ไม่พบหลักฐานของอาคารชนิดอื่นๆ และศิลาจารึกที่จะช่วยอธิบายประวัติความเป็นมาได้

องค์ปราสาทสร้างขึ้นตามแบบแผนทั่วไปของปราสาทหินในสมัยเมืองพระนคร เช่น ผังเพิ่มมุม มีมุขทางเข้าที่ด้านทั้งสี่ เนื่องจากไม่มีลวดลายสลักจึงทำให้การกำหนดอายุทำได้เพียงคร่าวๆ ว่าอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-18 ที่น่าสนใจคือ ภายในห้องครรภคฤหะซึ่งประดิษฐานรูปเคารพประธานพบแท่งหินธรรมชาติคล้ายศิวลึงค์ตั้งอยู่ หากหินแท่งนี้เป็นศิวลึงค์จริงย่อมหมายความว่าปราสาทตาควายสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ และเป็นสวยัมภูลึงค์อันศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกันกับที่ปราสาทตาเมือนธม

ปราสาทตาเมือนธมและปราสาทตาควายแห่งเทือกเขาพนมดงรักเป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่อศรัทธาของผู้คนในอดีตที่มีต่อเทพเจ้า ไม่แบ่งแยกว่าเป็นผู้คนจากดินแดนใด เป็นที่น่าเสียดายเมื่อขีดเส้นแบ่งดินแดนออกเป็นประเทศไทยและประเทศกัมพูชาโดยใช้เขาพนมดงรักเป็นแนวเขตแดนธรรมชาติ ปราสาททั้งสองซึ่งอยู่ใกล้เส้นพรมแดนเป็นอย่างยิ่งจึงกลายสภาพเป็นสมรภูมิรบ มนุษย์ปัจจุบันเห็นค่าของเส้นพรมแดนที่ตัดผ่านป่าเขาไร้ผู้คนว่ามีความสำคัญยิ่ง ทำให้ความสำคัญและคุณค่าที่แท้จริงซึ่งโยงใยอยู่กับศรัทธาในศาสนามลายหายไป เมื่อเป็นเช่นนี้สันติสุขคงเกิดขึ้นได้ยาก

 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ก่องแก้ว วีระประจักษ์. “อารยธรรมที่ปราสาทตาเมือนธมจากหลักฐานจารึก,” ใน ศิลปากร. ปีที่ 51 ฉบับที่ 5 (กันยายน-ตุลาคม 2551), น. 74.

[2] ชะเอม แก้วคล้าย. “จารึกปราสาทตาเมือนธม,” ใน ศิลปากร. ปีที่ 42 ฉบับที่ 2 (มีนาคม-เมษายน 2542), น. 72-73.

[3] เรื่องเดียวกัน, น. 84-86.

[4] เรื่องเดียวกัน, น. 77-78.

[5] ศรัณย์ ทองปาน. “ตาควาย ปราสาทร้างกลางความคลุมเครือ,” ใน เมืองโบราณ. ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2547), น. 10-15.

บรรณานุกรม :

ก่องแก้ว วีระประจักษ์. “อารยธรรมที่ปราสาทตาเมือนธมจากหลักฐานจารึก,” ใน ศิลปากร. ปีที่ 51 ฉบับที่ 5 กันยายน-ตุลาคม 2551.

ชะเอม แก้วคล้าย. “จารึกปราสาทตาเมือนธม,” ใน ศิลปากร. ปีที่ 42 ฉบับที่ 2 มีนาคม-เมษายน 2542.

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ปราสาทขอมในดินแดนไทย ความเป็นมาและข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551.

ศรัณย์ ทองปาน. “ตาควาย ปราสาทร้างกลางความคลุมเครือ,” ใน เมืองโบราณ. ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2547.

สุเจน กรรพฤทธิ์. “บันทึกการเดินทางตามหา ‘ราชมรรคา’ ถนนแห่งศรัทธาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7,” ใน เมืองโบราณ. ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2551.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กรกฎาคม 2560