ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สมรภูมิบ้านร่มเกล้า เป็นกรณีความขัดแย้งระหว่างไทยและลาวบริเวณชายแดน อันเนื่องมาจากข้อพิพาทในการกำหนดเส้นแบ่งดินแดน ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างทหารพรานไทยและลาวหลายครั้งตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2530 เมื่อทหารลาวได้เข้าทำลายรถแทรกเตอร์ของเอกชนไทย ทำให้คนงานเสียชีวิตหนึ่งราย ในพื้นที่ซึ่งลาวอ้างว่าอยู่ในเขตตาแสงของแขวงไชยะบุรี พร้อมระบุว่าบ้านร่มเกล้าอยู่เข้าลึกไปในเขตลาว 2 กิโลเมตร
ด้านกองทัพภาคที่ 3 ได้ส่งกองกำลังหลักเข้าผลักดันกองกำลังลาว ที่เข้ามายึดพื้นที่ยุทธศาสตร์หลายแห่ง โดย “ยุทธการบ้านร่มเกล้า” ได้เริ่มขึ้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 เมื่อ พล. อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ. ทบ. (ในขณะนั้น) ประกาศจะผลักดันกองกำลังต่างชาติที่เข้ามายึดครองพื้นที่ในเขตไทยทุกรูปแบบด้วยการใช้กำลังทหาร จึงทำให้เกิดการสู้รบอย่างดุเดือด (คลิกอ่านเพิ่มเติม : การปฏิบัติการทางทหารของกองทัพภาคที่ 3)
ทหารไทยได้รุกตอบโต้ยึดที่มั่นต่างๆ ที่ลาวครองไว้กลับมาได้เป็นส่วนมาก รวมทั้งได้ทำการโอบล้อมบริเวณตีนเนิน 1428 ไว้ได้ แต่ไม่สามารถบุกขึ้นไปถึงยอดเนิน ซึ่งทหารลาวใช้เป็นฐานต่อต้านได้ ไทยต้องเสียเครื่องบินรบแบบเอฟ-5 หนึ่งลำ และโอวี-10 อีกหนึ่งลำ พร้อมกับชีวิตทหารอีกนับร้อยนายในการศึกครั้งนี้
หลังการสู้รบดำเนินไปอย่างดุเดือด ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2531 นายไกสอน พมวิหาร นายกรัฐมนตรีลาวในขณะนั้น ได้ส่งสาส์นถึง พล. อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น เสนอให้หยุดยิง พร้อมตั้งคณะกรรมการพิสูจน์เขตแดน และติดต่อสหประชาชาติให้ช่วยเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย ซึ่งพล. อ. เปรมตอบรับ
นำไปสู่การเจรจา และได้ข้อตกลงโดยทั้งสองฝ่ายจะหยุดยิงในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2531 เวลา 08.00 น. และถอยจากแนวปะทะฝ่ายละ 3 กิโลเมตร
ประภาส รวมรส อดีตทหารพรานได้เล่าประสบการณ์การรบ ช่วง “สมรภูมิบ้านร่มเกล้า” ให้นิตยสารสารคดีฟังว่า “เราเสียเปรียบเรื่องการสนับสนุนจากปืนใหญ่ บอกตรงๆว่า กองทัพภาคที่ 3 ยิงไม่แม่น รบไม่เก่งเท่ากองทัพภาคที่ 2 ซึ่งรบบ่อยกว่า การส่งกำลังบำรุงของกองทัพภาคที่ 3 ก็แย่มาก เสบียงส่วนมากไม่ถึงแนวหน้า มีการคอร์รัปชันทุกอย่าง”
“ตลอดการรบเราต้องกินมาม่า หยวกกล้วย มะเขือยาว ดีหน่อยคือเนื้อทอดกับข้าวเหนียว แน่นอนผมเป็นทหารรับจ้าง โวยวายไม่ได้มากนักเพราะชีวิตราคาถูก” ประภาสกล่าวตัดพ้อ
ด้าน น.อ.ไพโรจน์ เป้าประยูร อดีตนักบินโอวี-10 ที่ถูกยิงตก และโดนจับเป็นเชลยอยู่ในลาว 12 วันก็ได้ให้สัมภาษณ์ภับสารคดีเช่นกัน โดยอ้างว่าทางกองทัพอากาศได้บันทึกบทเรียนศึกร่มเกล้า “คลาดเคลื่อน” เช่นกรณีเครื่องของเขาที่ถูกยิงตกนั้นเป็นเพราะความผิดพลาดจากการวางแผนที่ใช้แผนเดิมซ้ำๆ จึงถูกยิงตก ไม่ใช่เพราะบินวนรอตามที่กองทัพกล่าวอ้าง
“มันเกิดจากความผิดพลาดในการวางแผนที่ใช้แผนเดิมในวันต่อมา เขาดักรออยู่แล้ว ผมไม่คิดร้องเรียนก็ให้ผิดอย่างนั้น เขาพยายามปกปิดบางอย่าง อาจพยายามปกป้องคนบางคน” น.อ.ไพโรจน์กล่าว
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
บันทึก “ศึกร่มเกล้า” ยี่สิบสามปีตำนานสมรภูมิ 1428. นิตยสารสารคดี ปีที่ 27 ฉบับที่ 317 (กรกฎาคม 2554) หน้า 146-171.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2561