ต่างมุมมองของไทย-ลาวบน “สมรภูมิร่มเกล้า” สงครามที่ไทยใช้งบกว่า 3,000 ล้านบาท

สมรภูมิร่มเกล้า บ้านร่มเกล้า

“สมรภูมิร่มเกล้า” คือเหตุการณ์ความขัดแย้งเขตแดนไทย-ลาว ที่ผ่านมาแล้วกว่าสามทศวรรษ อุบัติขึ้นที่ บริเวณ หมู่บ้านร่มเกล้า อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เกิดการปะทะกันด้วยกำลังทหารอย่างรุนแรง ทหารทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก 

ปมปัญหาความขัดแย้งพื้นที่พิพาท ต้องสืบย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อฝรั่งเศสและสยามได้มีการเจรจาปักปันเขตแดนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2447 ในพื้นที่เขตแดนระหว่างสยามและลาว (ขณะนั้นลาวเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส) การเจรจาได้กระทำเรื่อยมาจนกระทั่งวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) มีการทำสนธิสัญญาปักปันเขตแดนขึ้น โดยได้กำหนดเขตแดนไว้ว่า

“เขตรแดนเมืองหลวงพระบางนั้นตั้งแต่ทิศใต้ในแม่น้ำโขงที่ปากน้ำเหือง แล้วต่อไปตามลำน้ำเหืองนี้ จนถึงที่แรกเกิดน้ำนี้ที่เรียกชื่อว่าภูเมี่ยง ต่อนี้เขตรแดนไปตามเขาบันน้ำตกแม่น้ำโขงฝ่ายหนึ่งกับตกแม่น้ำเจ้าพระยาอิกฝ่ายหนึ่ง จนถึงที่ในลำแม่น้ำโขงที่เรียกว่า แก่งผาใด ตามเส้นพรมแดนที่กรรมการปักปันเขตรแดนได้ตกลงกันไว้แต่ วันที่ 16 มกราคม รัตนโกสินทรศก 124 คฤสตศักราช 1906”

ทว่า ในยุคต่อมาไทยกับลาวได้ตีความสนธิสัญญาต่างกัน เนื่องจากมีแม่น้ำเหืองสองสายคือ แม่น้ำเหืองป่าหมัน ต้นกำเนิดที่ภูสอยดาว (ลำน้ำด้านทิศตะวันตก) และแม่น้ำเหืองงา ต้นกำเนิดที่ภูเมี่ยง (ลำน้ำด้านทิศตะวันออก)

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ลาวยึดเอาแม่น้ำเหืองป่าหมันเป็นเส้นเขตแดน ส่วนไทยยึดเอาแม่น้ำเหืองงาเป็นเส้นเขตแดน บริเวณระหว่างแม่น้ำสองสายซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านร่มเกล้าจึงกลายเป็นพื้นที่พิพาทที่ต่างฝ่ายต่างอ้างเป็นของตน ซึ่งพื้นที่พิพาทมีพื้นที่ประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร โดยลาวระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตปกครองตาแสง นาบ่อน้อย เมืองบ่อแตน แขวงไชยะบุรี

สมรภูมิร่มเกล้า บ้านร่มเกล้า
แผนที่พิพาทบ้านร่มเกล้า (ภาพจาก วิศวมาศ ปาลสาร. “ความขัดแย้งระหว่างลาว-ไทย ที่บ้านร่มเกล้า ในทรรศนะหนังสือพิมพ์ลาว ช่วง ค.ศ. 1987-1988”. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์เอเชีย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2552.)

บ้านร่มเกล้า

บริเวณบ้านร่มเกล้าตั้งอยู่บนภูเขาสูง แต่เดิมเป็นฐานของคอมมิวนิสต์ หลังจากที่รัฐบาลไทยมีนโยบายนำคอมมิวนิสต์ออกจากป่า ด้วยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 โดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และผลักดันให้คอมมิวนิสต์กลายเป็นผู้เข้าร่วมพัฒนาชาติไทย รัฐบาลไทยจึงจัดสรรพื้นที่บริเวณรอยต่อจังหวัดพิษณุโลกกับจังหวัดเลยให้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวม้ง เมื่อราว พ.ศ. 2526 ให้ชื่อว่า “บ้านร่มเกล้า”

บ้านร่มเกล้า มีประชากรประมาณ 100 ครอบครัว กว่า 680 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวม้ง แต่ในช่วงนั้นยังไม่ได้รับการจัดตั้งจากทางราชการอย่างเป็นทางการตาม พรบ. ลักษณะปกครองท้องที่ จึงยังใช้การปกครองหมู่บ้านตามแบบชนเผ่าอยู่ โดยมีกองทัพภาคที่ 3 เข้ากำกับดูแลพื้นที่เพื่อความมั่นคง

ต่อมา พ.ศ. 2528 รัฐบาลไทยให้สัมปทานเปิดป่าในพื้นที่บ้านร่มเกล้า เพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้กับผู้เข้าร่วมพัฒนาชาติไทย โดยเป็นโครงการเปิดป่าของกองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ให้เอกชนเข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ ผู้ได้รับสัมปทานคือ บริษัทอุตรดิตถ์มอเตอร์เวิร์ค และบริษัทรุ่งตระการทำไม้

ในบริเวณที่มีการเปิดป่าทำไม้ ทางการไทยได้มอบหมายให้ทหารพรานคอยคุ้มกันดูแลความมั่นคงในพื้นที่ ต่อมา กองทัพภาคที่ 3 ถอนกำลังออกจากบ้านร่มเกล้า ส่งมอบให้กรมทหารพรานที่ 34 รับผิดชอบพื้นที่นี้ต่อ โดยกรมทหารพรานที่ 34 ได้จัดกองร้อยทหารพรานที่ 3405 เป็นหน่วยหลักในการตั้งฐานปฏิบัติการดูแลบ้านร่มเกล้านับแต่นั้น

ความขัดแย้งระหว่างไทยกับลาวเริ่มตึงเครียดหนัก เมื่อฝ่ายไทยได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากพื้นที่บริเวณนี้ ซึ่งทำให้ลาวไม่พอใจ เนื่ิองจากขณะนั้นมีการพบว่าแม่น้ำเหืองมีสองสายทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนขึ้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับสนธิสัญญาการปักปันเขตแดนของสยามกับฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2450 ที่ระบุให้ใช้แม่น้ำเหืองเป็นเส้นเขตแดน โดยต่างฝ่ายต่างก็อ้างสิทธิ์ในพื้นที่บริเวณบ้านร่มเกล้าเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตนเป็นสำคัญ

สมรภูมิร่มเกล้า

ก่อนหน้าที่จะเกิด สมรภูมิร่มเกล้า ไทยและลาวเคยขัดแย้งกันเรื่องการอ้างเขตแดนของ 3 หมู่บ้านบริเวณชายแดนที่อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ พ.ศ. 2527 จนเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันทางทหารขึ้น เหตุการณ์ครั้งนี้ลงเอยด้วยการเจราจาหยุดยิง แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของฝ่ายใด ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและลาวเลวร้าย

และด้วยเหตุที่ไทยเข้าไปทำสัมปทานป่าไม้ในพื้นที่ทับซ้อนบ้านร่มเกล้า ทหารลาวจึงคิดว่าไทยล่วงล้ำเขตแดนลาว กระทั่งในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 ทหารลาวได้เข้าโจมตีแคมป์คนงานบริษัททำไม้ ทำให้คนงานเสียชีวิต 1 คน รถแทรกเตอร์เสียหาย 3 คัน รถจี๊ปเสียหาย 1 คัน กองร้อยทหารพรานที่ 3405 จึงได้จัดกำลังเข้าช่วยเหลือ ทหารไทยปะทะกับทหารลาว ผลการปะทะทำให้ทหารไทยบาดเจ็บ 3 นาย ขณะที่ทหารลาวไม่มีรายงานการสูญเสีย

ต่อมาความตึงเครียดระหว่างสองประเทศเพิ่มมากขึ้น เมื่อชาวบ้านในอำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับบ้านร่มเกล้า เข้าไปทำเกษตรกรรมบริเวณชายแดน ซึ่งลาวอ้างว่ารุกล้ำเขตแดนลาว ทหารลาวจับตัวชาวบ้านไทยไป 7 คน ทว่าสามารถหนีรอดมาได้ 1 คน ถูกยิงเสียชีวิต 1 คน นายอำเภอนาแห้วพยายามเจรจากับทางการลาว โดยลาวยื่นข้อเสนอให้คนไทยเซ็นยอมรับการรุกล้ำเขตแดนลาว แต่ฝ่ายไทยไม่ยินยอม จึงถูกจับกุมตัวที่ประเทศลาว

8 สิงหาคม พ.ศ. 2530 กองร้อยทหารพรานที่ 3405 ปะทะกับทหารลาวประมาณ 200-300 คน บริเวณฐานปฏิบัติการบ้านร่มเกล้า ทหารไทยได้รับบาดเจ็บ ส่วนทหารลาวเสียชีวิต 11 คน สถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจจึงเริ่มเสริมกำลังมากขึ้น กองทัพภาคที่ 3 ส่งกองพันทหารม้าที่ 7 มาเป็นกำลังเสริมเพิ่มเติม ก่อนจะส่งมอบภารกิจให้กำลังทหารพรานจู่โจม ค่ายปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 5 กองร้อย เข้าปฏิบัติการในพื้นที่ และนับแต่เดือนกันยายนถึงตุลาคม ทหารพรานจู่โจมได้ลาดตระเวนและมีการยิงปะทะกันมาโดยตลอด

การปะทะเริ่มรุนแรงขึ้น เมื่อทหารไทยลาดตระเวนพบทหารลาวเข้ามาตั้งกองกำลังในเขตแดนไทย จึงเริ่มปฏิบัติการ “ยุทธการสอยดาว 01” เพื่อพยายามผลักดันทหารลาว ด้วยการเสริมกำลังจากกองร้อยทหารปืนใหญ่ แต่ทหารลาวอยู่ในจุดได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์มากกว่า ปฏิบัติการนี้จึงไม่สำเร็จเท่าใดนัก ได้เพียงตรึงกำลังเผชิญหน้ากันอยู่

และนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2530 ยังไม่สามารถผลักดันทหารลาวได้ อีกทั้งยังลาดตระเวนพบว่า ทหารลาวได้ตั้งฐานที่มั่นบนเนิน 1428, 1182, 1370 และ 905 อย่างเข้มแข็ง ฝ่ายไทยจึงเริ่มปฏิบัติการ “ยุทธการสอยดาว 02” ด้วยการสนับสนุนกำลังทหารจากกองพันทหารม้าที่ 18 อีกหนึ่งกองพัน และมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการผลักดันทหารลาวออกไป

เข้าสู่เดือนมกราคม พ.ศ. 2531 การปะทะกันเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ทหารไทยพยายามผลักดันทหารลาวอย่างหนัก แต่เนื่องจากทหารลาวปฏิบัติการบนจุดยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบกว่าทหารไทย และได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่ 3 การปะทะจึงเป็นไปอย่างดุเดือด

ต่อมา ทหารไทยได้ยึดพื้นที่ได้กว่า 70% เหลือเพียงบริเวณเนิน 1428 และ 1182 และเนินใกล้เคียง 3-4 เนิน ทหารไทยพยายามบุกยึดเนินที่เหลือโดยได้รับการสนับสนุนการโจมตีจากเครื่องบิน เอฟ 5 อี แต่ก็ไม่สามารถยึดได้เพราะเสียเปรียบด้านภูมิประเทศ และทหารลาวได้วางกับดักระเบิดจำนวนมาก

พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก จึงได้อนุมัติให้กองทัพทำการรุกออกนอกประเทศไทยได้ และประกาศว่าจะทำทุกวิธีให้ข้าศึกออกจากพื้นที่ โดยจะใช้วิธีแบบฝ่ายตรงข้าม นั่นคือไม่สนใจขอบเขตของการรบและยุทธวิธี โดยกล่าวว่า

“เป็นที่ประจักษ์โดยแน่ชัดแล้วนะครับว่า ประเทศลาวก็ตาม ประเทศที่สนับสนุนก็ตาม ได้เลือกใช้วิธีปฏิบัติทุกหนทาง หนทางที่กำลังใช้อยู่ในขณะนี้ก็ได้มีการแทรกซึมเข้ามาเป็นจำนวนมาก เข้ามาในพื้นที่ของเราแล้วสร้างปัญหาต่าง ๆ ให้แก่พี่น้องประชาชนคนไทยโดยทั่วไป…เราจะปล่อยให้สถานการณ์นี้เนิ่นนานไปไม่ได้ แต่เราจะต้องใช้วิธีแบบฝ่ายตรงข้าม ก็คือไม่คำนึงถึงขอบเขตและวิธีการทั้งสิ้น ซึ่งกองทัพบกจะเริ่มดำเนินการในลักษณะเต็มที่ในระยะเวลาที่จะถึงนี้”

กองทัพภาคที่ 3 มีคำสั่งให้กองพลทหารราบที่ 4 จัดกำลัง 1 กองพันทหารราบ เข้าเสริมกำลังในพื้นที่ กระทั่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 กองทัพบกไทยได้ตัดสินใจเพิ่มความรุนแรงของปฏิบัติการ โดยทุ่มกำลังโจมตีที่มั่นทหารลาวอย่างหนัก พร้อมด้วยการสนับสนุนทางอากาศจากกองทัพอากาศ ต่อมากองทัพบกแถลงการณ์ว่า ได้ยึดเนิน 1370 และ 1146 ไว้ได้ แต่เนิน 1428 ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญนั้นยึดได้เพียงบางส่วน และกำลังระดมกำลังเข้าโจมตีอย่างหนักเพื่อจะยึดครองให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

เนิน 1428 ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการรบที่ บ้านร่มเกล้า เพราะทหารลาวสามารถใช้ปืนทุกชนิดยิงลงมาได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็น ปืนกล อาร์พีจี ระเบิดมือ ในขณะที่ทหารไทยต้องไต่เนินบุกขึ้นไป จึงเสียเปรียบอย่างมาก

การปะทะกันจากนั้นทำให้ทั้งสองฝ่ายสูญเสียอย่างหนัก ฝ่ายไทยส่งทหารราบ ทหารปืนใหญ่ และทหารพราน และกองทัพภาคที่ 3 เสริมกองพันทหารม้าอีก 1 กองพันรุกเพื่อยึดเนิน 1428 แม้จะได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ แต่ทหารลาวใช้ปืนต่อต้านอากาศยานและจรวดแซมยิง เครื่องบิน เอฟ-5 อี และโอวี 10 ของไทยร่วงอย่างละ 1 ลำ

สถานการณ์ดำเนินไปอย่างไม่มีทีท่าว่าฝ่ายใดจะได้รับชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จ จนกระทั่ง พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายวงศ์ พลนิกร อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปประเทศลาวอย่างเงียบ ๆ เข้าพบนายไกรสอน พรหมวิหาร นายกรัฐมนตรีลาว เพื่อปูทางเจรจาหยุดยิง

ต่อมา วันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 ตัวแทนของทั้งสองฝ่ายได้แก่ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก และพลเอก สีสะหวาด แก้วบุนพัน ประธานคณะเสนาธิการทหารสูงสุด กองทัพประชาชนลาว เปิดเจรจากันที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ และได้ข้อตกลงให้หยุดยิงเวลา 08.00 น. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531

สมรภูมิร่มเกล้า บ้านร่มเกล้า
สมรภูมิร่มเกล้า (ภาพจากหนังสือ นักรบเลือดไทย)

สมรภูมิร่มเกล้า ในมุมมองลาว

เหตุการณ์ที่บ้านร่มเกล้า ฝ่ายลาวเรียกว่า “สถานการณ์บ่อแตน” สาเหตุสำคัญของความขัดแย้งในสมรภูมิบ้านร่มเกล้าคือการถือแผนที่และตีความสนธิสัญญากันคนละแบบ ไทยยึดเอาแม่น้ำเหืองที่มีต้นกำเนิดจากภูเขาเมี่ยงว่าเป็นแม่น้ำเหืองงานั้นเป็นเส้นเขตแดน แต่ขณะที่ลาวมองว่าแม่น้ำเหืองงาสายนั้นเป็นเพียงลำน้ำสาขาของแม่น้ำเหืองที่ลาวใช้เป็นเส้นเขตแดน

หนังสือพิมพ์ “เวียงจันใหม่” ของลาวมองว่า การที่ไทยเอาแม่น้ำเหืองงาเป็นเส้นเขตแดน “เป็นการเสกสันปั้นแต่งขึ้นมาของคนกุ่มหนึ่งในวงกานกำอำนาดไท ที่เดินตามแนวคิดไทใหญ่” ซึ่งแม่น้ำเหืองงานั้นอยู่ห่างจากเส้นเขตแดนของลาวเข้ามาในดินแดนลาว 8-10 กิโลเมตร ซึ่งลาวยืนยันว่าไม่มีเอกสารตามสนธิสัญญาใดที่ระบุว่าใช้แม่น้ำเหืองงาเป็นเส้นเขตแดน

สำหรับการทำสัมปทานป่าไม้ แน่นอนว่าลาวต้องถือว่าไทยเข้ามาทำป่าไม้ในพื้นที่ของตน และเป็นการรุกล้ำหาประโยชน์โดยผิดกฎหมายลาว เช่นหนังสือพิมพ์เวียงจันใหม่ของลาวได้กล่าวว่า

“ตามข่าวจากท้องถิ่น ผู้บันชากานกองทัพพากสามของไทย ได้สมรู้ร่วมคิดกับพวกพ่อค้าไม้เถื่อนลักเข้ามาลอบตัดไม้ในดินแดนลาว ขนเข้าไปในดินแดนไท เพื่อป้องกันพวกขะบวนการลักลอบตัดไม้กองทัพพากที่สามของไท จึงจัดตั้งค่ายทะหานเสือป่า (คงหมายถึงฐานปฏิบัติการของทหารพราน 3405 ที่บ้านร่มเกล้า -วิศวมาศ ปาลสาร, 2552) ขึ้นเพื่อปกปักรักษาผนปะโหยด ของพ่อค้าไม้เถื่อนดังกล่าว”

ส่วนการตั้งบ้านร่มเกล้าที่มีชาวม้งเป็นส่วนใหญ่ ลาวมองว่าชาวม้งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เคยต่อต้านรัฐบาลลาว เมื่อมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้ จึงถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงต่อลาว อีกทั้งการที่ไทยทำถนนสาย 1268 เลียบชายแดนและตัดผ่านบ้านร่มเกล้า ยิ่งทำให้ลาวให้ความสนใจกับบ้านร่มเกล้าอย่างยิ่ง ดังที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศลาวแถลงเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2531 ความว่า

“กองทัพภาคที่ 3 ของไทย ได้นำเอาพวกม้งที่เป็นอดีตผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มาอยู่ในหมู่บ้านยุทธศาสตร์ และเสริมด้วยค่ายทหารพรานในปี 1986 ก็ได้ตัดถนนจากไทย ข้ามน้ำเหืองเข้ามาในเขตนั้นเพื่อสมทบกับพ่อค้าไทยลักลอบตัดเอาไม้ค่าของลาว คณะปกครองเมืองบ่อแตนได้เตือนเจ้าหน้าที่ไทยหลายครั้ง แต่ฝ่ายไทยไม่ทำตาม จึงเกิดการปะทะกันขึ้น ในปี 1987 ฝ่ายไทยยิ่งเพิ่มทวีการลักลอบตัดไม้ขนาดใหญ่ โดยมีทหารจากกองทัพภาคที่ 3 ให้ความคุ้มครอง อันเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันขึ้นอีก กับกองกำลังท้องถิ่นลาว”

ส่วนเหตุการณ์ในวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ไทยอ้างว่าทหารลาวบุกโจมตีแคมป์คนงานบริษัททำไม้และได้ปะทะกับทหารไทย หนังสือพิมพ์ประชาชนของลาวรายงานว่า ไทยเป็นฝ่ายกล่าวหาลาวในการปฏิบัติการครั้งนี้ โดยยืนยันว่า “ข่าวดังก่าวแม่นการเสกสันปั้นเลื่องอย่างบ่อมีมูนความจริง” และ

“เมื่อวันที่ 31 พืดสะพานี้ พวกปะติการขวาจัดไท ได้ปั้นเลื่องขึ้น และตู่หาสาทาละนะลัดปะชาทิปะไตปะชาชนลาวว่ามีทะหานลาวจำนวนหนึ่งได้ไปปิดล้อมบ้านร่มเก้า ในแขวงนานของไท และได้ยิงปืนใส่บ้านดังกล่าว เฮ็ดให้ทะหานพานของไท บาดเจ็บสามคน และปะชาชนบ้านดังก่าวตายผู้หนึ่ง”

ต่อมา หนังสือพิมพ์ลาวได้รายงานข่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะทหารลาวต้องดำเนินปฏิบัติการทางทหารในการปกป้องดินแดนและทรัพยากรของลาว ซึ่งมองว่าฝ่ายไทยเป็นผู้ละเมิดอำนาจอธิปไตยของลาว

แน่นอนว่า เมื่อการปะทะกันเกิดขึ้น ต่างฝ่ายต่างก็นำเสนอข้อมูลคนละด้าน เช่น ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2530 ลาวแถลงว่า ฝ่ายไทยสร้างเหตุการณ์ร้ายแรงตามแนวชายแดนตั้งแต่กรณี 3 หมู่บ้าน การลักลอบตัดไม้ มาจนถึงเหตุการณ์ปะทะหลังวันที่ 31 พฤษภาคมเป็นต้นมานั้น ทหารไทยได้โจมตีบริเวณดังกล่าวขนานใหญ่ รวมถึงไทยได้ใช้อาวุธเคมียิงใส่ทหารลาว ซึ่งฝ่ายไทยปฏิเสธเรื่องนี้เช่นกัน

ในการปะทะกันอย่างหนักหน่วงช่วงปลายเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 กระทรวงการต่างประเทศลาวแถลงว่า ทหารไทยได้โจมตีขนานใหญ่ด้วยการสนับสนุนจากปืนใหญ่และเครื่องบินรบ โดยเครื่องบิน เอฟ 5 ได้บินลึกเข้าไปในเขตแดนลาวลึกกว่า 30 กิโลเมตร ได้กล่าวประนามต่อการบุกครั้งนี้ และขอให้รัฐบาลไทยต้องเจรจาโดยเร็วเพื่อยุติการปะทะ

กระทั่งในช่วงที่เริ่มมีการเจรจาระหว่างกัน หนังสือพิมพ์ลาวก็รายงานในลักษณะคล้ายคลึงกับฝ่ายไทย และยังมีการรายการสถานการณ์การปะทะกันตามชายแดนอยู่ ภายหลังการหยุดยิง มีการเจรจาหลายครั้ง ลาวก็รายงานข่าวความคืบหน้าไม่ต่างจากฝ่ายไทย ซึ่งปัญหาก็ยังไม่ได้ข้อยุติเพราะมีจุดยืนคนละทาง

ความขัดแย้งที่บ้านร่มเกล้าจากหนังสือพิมพ์ลาว จะเห็นมุมมองของฝ่ายลาวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดมาจากทหารไทยได้รุกล้ำเข้าไปในเขตแดนลาว ฝ่ายลาวจึงต้องผลักดันทหารไทยออกจากพื้นที่ จึงเกิดความขัดแย้งขึ้น ตลอดการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ลาวนำเสนอไปในทางที่ว่า ทหารไทยรุกล้ำไปในเขตแดนลาวเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้การนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ลาวได้นำเอาหลักฐานพวกแผนที่มานำเสนอให้เห็นว่าบริเวณดังกล่าวเป็นเขตแดนลาว และไทยเป็นฝ่ายรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนลาว

สมรภูมิร่มเกล้า บ้านร่มเกล้า
เนิน 1428 ที่เคยเกิดปัญหากรณีพิพาทระหว่างไทยและลาวในสมรภูมิบ้านร่มเกล้า ปัจจุบันยังไม่มีข้อยุติว่าเป็นของฝ่ายใด ภาพถ่ายจากจุดชมวิวอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว จังหวัดอุตรดิตถ์ By เทวประภาส มากคล้าย, Via Wikimedia Commons

บทสรุป

ตลอดการปะทะกับบนสมรภูมิร่มเกล้า ทหารไทยเสียชีวิต 147 คน บาดเจ็บ 166 คน ขณะที่กองทัพภาคที่ 3 รายงานจำนวนผู้บาดเจ็บต่างออกไปคือ บาดเจ็บสาหัส 167 คน บาดเจ็บเล็กน้อย 550 คน และทุพพลภาพ 55 คน ไทยใช้งบประมาณในสมรภูมิร่มเกล้าไปราว 3,000 ล้านบาท

ขณะที่ตัวเลขความสูญเสียของลาวนั้นไม่แน่ชัด ประมาณว่าทหารลาวเสียชีวิตประมาณ 300-400 คน บาดเจ็บประมาณ 200-300 คน และเชื่อว่ามีทหารต่างชาติของโซเวียต เวียดนาม และคิวบา รวมอยู่ด้วย (ไทยเชื่อว่าฝ่ายลาวมีทหารต่างชาติมาช่วยรบและสนับสนุนแต่ลาวปฏิเสธเรื่องนี้)

แม้ สมรภูมิร่มเกล้า จะผ่านมานานนับ 30 กว่าปีแล้ว แต่ข้อยุติเรื่องเขตแดนยังคงหาข้อสรุปไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วิศวมาศ ปาลสาร. “ความขัดแย้งระหว่างลาว-ไทย ที่บ้านร่มเกล้า ในทรรศนะหนังสือพิมพ์ลาว ช่วง ค.ศ. 1987-1988”. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์เอเชีย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2552.   

289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษหนังสือพิมพ์มติชน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มติชน, 2550

บันทึก “ศึกร่มเกล้า” 23 ปี ตำนานสมรภูมิ 1428. สารคดี ปีที่ 27 ฉบับที่ 317 (กรกฎาคม 2554) หน้า 146-171.

เขตแดนไทย-ลาว บริเวณบ้านร่มเกล้า. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 24 ฉบับที่ 4 (กุมภาพันธ์ 2546) หน้า 21-22.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2563